โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การป้องกัน “โรคโควิด-19” ในทัศนะทางพระพุทธศาสนา

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 26 พ.ค. 2564 เวลา 05.54 น. • เผยแพร่ 26 พ.ค. 2564 เวลา 04.36 น.
พระพุทธเจ้า

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งสอนให้บุคคลมองความจริงทุกอย่างเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมตกอยู่ในสภาวะของกฏนั่นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจ็บป่วยซึ่งแน่นอนว่าหากบุคคลผู้ศึกษาในพุทธประวัติจะพบว่า พระพุทธองค์มีพระโรคเหมือนกับคนทั่วไป แต่ทรงมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาสุขภาพและความเจ็บป่วยดังแสดงให้เห็นจากพระไตรปิฎกว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีสุขภาพดี มีพระชนมายุ แปดสิบพรรษา สามารถทำงานเผยแผ่ศาสนาวันหนึ่ง 1620 ชั่วโมง ใครๆที่มาเฝ้าพระองค์ มักจะกล่าวสรรเสริญหรือถามพระองค์ถึงเรื่องความมีอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง ทรงพระกำลังกระปรี้กระเปร่า ทรงพระสำราญอยู่เสมอๆ (พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ. (2543,น.7)

ด้วยพระมหากรุณาคุณของพระพุทธองค์ในด้านการทรงเป็นแบบอย่างของผู้รักษาสุขภาพที่ดีจนแสดงออกมาถึงเหล่าพระภิกษุสงฆ์ที่ทรงรับเข้ามาภายใต้พระธรรมวินัยที่ทรงบัญญัติด้วยพระสัพพัญญุตญาณจึงทำสังฆะของพระพุทธองค์มีการดูแลสุขภาพร่างกาย จิตใจอยู่ในสภาพปกติ หรือจะเรียกด้วยศัพท์ทางการแพทย์ปัจจุบันเรียกว่า “การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม” ด้วยเหตุผลนี้พระพุทธองค์จึงปรากฏพระนามตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า “มหากรุณิโก สตฺถา สพฺพโลกติกิจฺฉโก” แปลว่า “พระศาสดา ทรงมีพระกรุณาอย่างใหญ่หลวง ทรงเยียวยารักษาสัตว์โลกทั้งมวล (ขุ.เถร. (บาลี) 26/722/369), (ขุ.เถร (ไทย)26/722/462) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นนายแพทย์ผู้รักษาโรค

คำว่า “โรค” ในทางพระพุทธศาสนามาจากรากศัพท์ภาษาบาลีว่า “รุช” แปลว่า เสียดแทง มีความหมายว่า สิ่งที่เสียดแทงให้เจ็บปวด คำศัพท์ที่มีความหมายถึงความเจ็บปวดหรือโรค ได้แก่ โรคาพาธ หมายถึง ความเจ็บไข้ที่เกิดจากเชื้อโรค “อาพาธ” หมายถึง ความเจ็บป่วย “พยาธิ” หมายถึง ความเจ็บป่วย “อามัย” หมายถึง ความไม่สบาย ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า “อนามัย” คือ ความสบายนั่นเอง และโรคในทางพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือโรคทางกาย (กายิกโรโค) และโรคทางใจ (เจตสิกโรโค)

สำหรับสาเหตุของโรคทางกาย มีหลายสาเหตุ คือ โรคเกิดจากดี เสมหะ ลม ไข้สันนิบาต ฤดูแปรปรวน การบริหารไม่สม่ำเสมอ การใช้ความเพียรเกินกำลัง ผลของกรรม หนาว ร้อน หิวกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ(องฺ ทสก. (ไทย) 24/60/129-131) ธาตุ ๔ ไม่สมดุล (ที.ปา. (ไทย) 11/31306-307),(องฺ ทสก.(ไทย) 24/11/1) การไม่รู้ประมาณในการบริโภค (ขุ.ธ.(ไทย) 25/325/234) การถูกสัมผัสจากเหลือบยุงและสัตว์เลื้อยคลาน (องฺ จตุกฺก (ไทย) 21/157/281) การถูกทำร้าย และการมีอายุมาก ส่วนโรคทางใจนั่น สาเหตุล้วนเกิดมาจากกิเลส ตัณหา ครอบงำจิตใจดังปรากฏมีในพระไตรปิฎกความว่า “สัตว์ผู้อ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางกายตลอดระยะเวลา 1 ปีบ้าง 2 ปีบ้าง 3 ปีบ้าง 4 ปีบ้าง 5 ปีบ้าง 10 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง 30 ปีบ้าง 40 ปีบ้าง 50 ปีบ้าง แม้ยิ่งกว่า 100 ปีบ้าง ยังพอมีอยู่ แต่สัตว์ผู้กล่าวอ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางใจตลอดระยะเวลา แม้ครู่เดียวหาได้โดยยาก ยกเว้นท่านผู้หมดกิเลสแล้ว” (องฺ. จตุกฺก (ไทย) 21/157/127)

ดังนั้น โรคทั้งหลายที่ปรากฏในบุคคลจึงไม่พ้นสาเหตุมาจาก 2 โรคดังกล่าวข้างต้น แม้ในปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ที่ปรากฏทั่วทุกหย่อมหญ้าของทุกประเทศบนโลกใบนี้จึงจำเป็นที่จะต้องใช้หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนามาช่วยบรรเทาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในสภาวะนี้

โดยนำหลักธรรมที่สำคัญได้แก่ พรหมวิหาร, อิทธิบาทธรรม, โพชฌงค์ เป็นต้นมาเป็นวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เพราะผู้คนต่างหวาดกลัว มีความระแวง ขาดความเชื่อมั่นความไว้วางใจกันกับการป้องกัน รักษาโรคชนิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้ที่รู้ตัวว่าติดเชื้อโรคนี้” ซึ่งอยู่ในสถานภาพของ “ผู้ป่วย” ซึ่งต้องมี “คุณธรรมของผู้ป่วย” คอยกำกับดูแลดังที่พระพุทธองค์แสดงไว้ว่า คุณธรรมหรือข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่พยาบาลได้ง่ายมี 5 ประการ คือ 1.ทำความสบาย 2.รู้ประมาณในความสบาย 3.รับประทานยา 4.บอกอาการไข้ตามความจริงแก่พยาบาลไข้ที่มุ่งประโยชน์ คือ บอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่ 5. เป็นคนอดทนความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น เป็นทุกข์แสนสาหัสกล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต (วิ.ม. (ไทย) 5/366/214-243) ส่วนคนไข้ที่พยาบาลได้ยากอีก 5 ประการนั้น มีคุณสมบัติตรงข้ามกับที่ทรงบัญญัติไว้

วิธีการที่จะป้องกันการแพร่การระบาดในครั้งนี้นอกจาก การอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติแล้วนั้น พุทธศาสนสุภาษิตของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร ได้แสดงไว้ว่า สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา (ว.ว.) สติเป็นที่ปรารถนาในทุกที่ หรือแปลให้เข้าใจง่ายๆ คือ “สติ จำเป็นต้องใช้ในทุกๆ ที่ เพราะสติจะช่วยให้ระลึกว่าควรจะทำอะไรก่อนหลัง ทางที่เราจะรอดได้ต้องทำให้รู้ทันและรอบรู้นั่นเอง

อ้างอิง

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2535). พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 30 มีนาคม พ.ศ.2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0