โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

การประท้วงในวัน Prime Day ของพนักงานหมดใจ ฝันร้ายรอบใหม่ที่ Amazon ต้องเผชิญ

Brandbuffet

เผยแพร่ 15 ก.ค. 2562 เวลา 22.59 น. • Brand Move !!
ขอบคุณภาพจาก Techcrunch
ขอบคุณภาพจาก Techcrunch

ต้องบอกว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทย เมื่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon กำลังได้รับผลกระทบในระดับที่ไม่คาดคิดจากปัญหาที่สะสมมายาวนานในองค์กร รวมถึงบริการส่งสินค้าแบบ One-Day Delivery หลังมีพนักงาน Amazon จำนวนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี สเปน และโปแลนด์ ออกมาประท้วงหยุดงานในวัน Prime Day วันที่ Amazon อยากจะสร้างประวัติศาสตร์การช้อปแห่งโลกตะวันตกขึ้นมาเสียอย่างนั้น โดยผู้ประท้วงได้มีการชักชวนให้ผู้บริโภคร่วมบอยคอตสินค้าของบริษัทอย่าง Amazon.com, Amazon Prime Video, Whole Foods, Kindle, Twitch, IMDb, AWS ฯลฯ กันด้วย

สำหรับสิ่งที่พนักงาน Amazon เรียกร้องจากการประท้วงครั้งนี้ก็คือ ขอให้บริษัทให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงานให้มากขึ้น นอกเหนือไปจากเรื่องของค่าแรงและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หลังจากบริษัทมีการขยายเวลาเทศกาล Prime Day ออกเป็นสองวัน และสัญญากับลูกค้าว่าจะจัดส่งแบบ One-Day Delivery ซึ่งในมุมของพนักงานมองว่าเป็นเรื่องที่เกินขีดจำกัดในการให้บริการไปแล้ว ต่อให้พวกเขาถูกเทรนมาระดับเดียวกับนักวิ่งไตรกีฬาก็ตาม

ด้าน Amazon ได้ออกมาตอบโต้สหภาพแรงงานว่า กำลังกล่าวหาบริษัทเกินจริง และให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องต่อสาธารณชน อีกทั้งยังระบุว่า Amazon เป็นบริษัทที่จ่ายค่าแรง สวัสดิการ ฯลฯ ในระดับแถวหน้าของวงการ และมีสภาพในการทำงานที่ปลอดภัยกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

โดยตัวแทนจาก Amazon ให้ข้อมูลว่า บริษัทมีการจ่ายค่าแรงในการทำงานที่ 16.25 - 20.80 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง อีกทั้งยังมีสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับพนักงาน, สามารถลาคลอดได้นานถึง 20 สัปดาห์, มีงบประมาณสนับสนุนการศึกษา (เช่นโครงการอบรมพนักงาน 100,000 คนให้มีทักษะใหม่ ๆ เช่น การเขียนโปรแกรม) และอื่น ๆ อีกมากมาย พร้อมบอกว่า หากนำข้อมูลเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ในมิเนโซต้า หรือในระดับประเทศด้วยกันแล้ว ก็จะเห็นความแตกต่างได้เอง

ขอบคุณภาพจาก Techcrunch
ขอบคุณภาพจาก Techcrunch

หยุดงาน 6 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี การประท้วงก็ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยพนักงานในคลังสินค้าที่มิเนโซต้า สหรัฐอเมริกาออกมาประกาศว่าพวกเขาจะหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 6 ชั่วโมงในวัน Prime Day (เวลาในประเทศไทยก็คือเมื่อคืนที่ผ่านมา) และมีพนักงานในยุโรปประกาศเข้าร่วมแล้วเช่นกัน

ที่สำคัญ งานนี้ไม่ได้มีแต่พนักงานระดับแรงงานเท่านั้นที่ประท้วง เพราะพนักงานกลุ่มวิศวกรซอฟต์แวร์ก็มีหลายคนที่แสดงออกว่าจะเข้าร่วมการประท้วงร่วมกับพนักงานในมิเนโซต้าด้วย

โดยสิ่งที่ได้รับการบอกเล่าจากพนักงาน Amazon รายหนึ่งชื่อว่า William Stolz ก็คือ เขาอยากให้การประท้วงครั้งนี้ได้ถ่ายทอดเบื้องหลังของการจัดส่งสินค้าว่าพนักงานต้องเจอกับอะไรบ้าง เช่น ไม่มีแม้เวลาพักเข้าห้องน้ำ - ดื่มน้ำ ในขณะที่เบื้องหน้าบริษัทสามารถสร้างภาพว่าตนเองนั้นประสบความสำเร็จกับการจัดส่งสินค้าได้ภายใน 1 วัน

สอดคล้องกับ Stuart Appelbaum ประธานสหภาพแรงงานที่กล่าวถึง Amazon ว่า บริษัทควรจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อรักษามาตรฐานด้านความเร็วในการจัดส่ง แต่สิ่งที่สหภาพแรงงานเห็นก็คือการไม่สนใจในสวัสดิภาพของพนักงานเท่าที่ควร

ในอีกด้านหนึ่ง Nancy Urban พนักงานฝ่ายเทคโนโลยีของ Amazon ซึ่งปัจจุบันได้เข้าร่วมในการประท้วงครั้งนี้เผยว่า ในฐานะที่เป็นวิศวกรด้าน Fulfillment ของ Amazon เธอพบว่าโควต้าที่บริษัทตั้งไว้ให้กับพนักงานส่งสินค้าเป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรม เนื่องจากเป็นเป้าที่สูงมาก ยากที่มนุษย์จะสามารถทำได้ตามความคาดหวังนั้น เช่นเดียวกับ Joey Siracusa อีกหนึ่งพนักงาน Amazon ที่ตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้เพื่อขอสนับสนุนการเรียกร้องของพนักงานคลังสินค้าในการปรับลดโควต้าการส่งสินค้าให้น้อยลง

ระบบอัตโนมัติที่ไล่พนักงานออกได้ 300 คนต่อปี

ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้านี้มีสื่ออย่าง Business Insider ได้เคยรายงานว่า บริษัทมีการใช้ระบบอัตโนมัติตรวจจับการทำงานของพนักงานในคลังสินค้าว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการปลดพนักงานในบัลติมอร์ที่ทำไม่ได้ตามเป้าหมายมาแล้วมากถึง 300 คนใน 1 ปี โดยไม่ต้องพึ่งพาพนักงานที่มีระดับอาวุโสกว่าในการประเมิน ซึ่งทางบริษัทยอมรับว่าเกิดขึ้นจริงเช่นกัน

สำหรับยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซจากซีกโลกตะวันออก ซึ่งจะมีแคมเปญลดแลกแจกแถมกันในช่วงปลายปี นี่คงเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่ดีให้ได้เตรียมรับมือ แต่สำหรับ Amazon งานนี้คงเป็นอีกหนึ่งฝันร้าย เพราะแทนที่หน้าประวัติศาสตร์จะได้บันทึกเรื่องราวความสำเร็จรอบใหม่ที่บริษัทตั้งใจจะสร้างให้เกิดขึ้นตลอด 2 วัน (15 - 16 กรกฎาคม 2019) ของแคมเปญ Prime Day กลับกลายเป็นว่า Prime Day ในปีนี้เป็นวันที่บริษัทต้องกลับมาแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่า นั่นคือ สภาพจิตใจของพนักงานที่ไม่พร้อมจะ "Prime" เพื่อองค์กรอีกต่อไปแล้วนั่นเอง

Source

Source

Source

Source

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0