โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

การบินไทย ขายหุ้น-หั่นเงินเดือนพนักงาน 10-50% ปลด 10,000 คน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 05 ส.ค. 2565 เวลา 06.37 น. • เผยแพร่ 23 พ.ค. 2563 เวลา 05.00 น.
การบินไทย
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ผู้สื่อข่าวรายงาน แผนการฟื้นฟูกิจการ การบินไทย จะดำเนินการคู่ขนานกับการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง พร้อมกับลดค่าใช้จ่ายทุกด้าน รวมทั้งการปรับลดพนักงาน ลดเงินเดือนตามลำดับ

หั่นเงินเดือน 10-50%

สำหรับในแผนฟื้นฟูจะต้องทำทุกเรื่อง เช่น การเพิ่มทุน ปรัลลดพนักงาน การทำแผนธุรกิจเพิ่มรายได้ ทิศทางของไทยสมายล์ และต้องเป็นแผนฟื้นฟูที่ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ซึ่งคีย์สำคัญจะทำให้แผนฟื้นฟูการบินไทยประสบความสำเร็จเร็วหรือช้า อยู่ที่ผู้ทำแผน และผู้บริหารแผน

นายจักรกฤศฏิ์กล่าวอีกว่า ขยายเวลาการปรับลดเงินเดือนผู้บริหารและพนักงานเฉลี่ย 10-50% ออกไปไม่มีกำหนด จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.นี้ รวมถึงเจรจาเจ้าหนี้ขอยืดเครดิตการชำระหนี้ที่จะครบดีล จากมูลหนี้ทั้งหมดกว่า 2 แสนล้านบาท ส่วนการปรับลดพนักงาน คาดว่าจะดำเนินการในช่วงเข้าฟื้นฟูไปแล้ว โดยผู้ทำแผนจะเป็นผู้กำหนด

แหล่งข่าวจากคมนาคมเปิดเผยเพิ่มเติมว่า การปรับลดพนักงานคงจะไม่มีการเปิดให้สมัครใจออก เนื่องจากมีภาระค่าชดเชยจำนวนมาก ชี้คลังไม่แทรกแซงขายหุ้นบินไทย

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ประเด็นเรื่องราคาหุ้น บมจ.การบินไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลอยู่แล้วซึ่งการขายหุ้นการบินไทยในส่วนของกระทรวงการคลัง เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะขายให้นักลงทุนรายเดียว คือ กองทุนรวมวายุภักษ์ เพื่อลดสถานะการบินไทยออกจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวขึ้น เนื่องจากกองทุนวายุภักษ์เป็นนิติบุคคล ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ คลังลงทุนในกองทุนวายุภักษ์เพียง 15%

ส่วนประเด็นขายหุ้นราคาต่ำกว่าต้นทุนที่ซื้อมานั้น เป็นเรื่องที่บอร์ดกองทุนวายุภักษ์จะพิจารณาสภาพคล่องอยู่ได้ถึงตอนยื่นศาล สภาพคล่องระยะสั้นของการบินไทยปัจจุบันยังมีอยู่ และระยะสั้นอยู่ได้ถึงขั้นตอนการยื่นศาลล้มละลายกลาง เพื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟู เมื่อศาลเห็นชอบและแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟู ผู้บริหารแผนจะเข้ามาดูแลทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องการเจรจากับเจ้าหนี้

“การคัดเลือกผู้บริหารแผนจะเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคมนาคมแล้ว กระแสข่าวว่ามีการคัดเลือก นายชาติชาย พยุหนาวีชัย นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ฯลฯ เข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูตนไม่ทราบและไม่ได้วางตัวใครไว้”

ขายหุ้น 22 พ.ค. สิ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า คลังกับกองทุนรวมวายุภักษ์จะทำรายการซื้อขายหุ้น บมจ.การบินไทย วันที่ 22 พ.ค. ทำให้การบินไทยสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากสัดส่วนหุ้นที่ภาครัฐ คือ คลังรวมกับรัฐวิสาหกิจ (ธนาคารออมสิน) ต่ำกว่า 50% พนักงานการบินไทยจะสิ้นสภาพการจ้างจากการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจลงทันที จากนั้น 26 พ.ค. จะยื่นคำร้องขอฟื้นฟู และเสนอตัวเองเป็นผู้ทำแผนต่อศาล โดยการบินไทยจะตั้งคณะทำงานเจรจาเจ้าหนี้ ซึ่งต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจว่าจะเลือกใครบ้าง

ลดพนักงาน 50% หยุดเลือดไหล

ในส่วนของการปรับโครงสร้างองค์กรที่มีข่าวว่าจะลดพนักงาน 30% นั้น คงไม่เพียงพอที่จะหยุดเลือดไม่ให้ไหลต่อ ต้องปรับลด 50% หรืออย่างน้อย 10,000 คน โดยเฉพาะตำแหน่งนักบินที่มีอยู่มากกว่า 1,000 คน จนเกินพอดี ขณะที่แอร์โฮสเตสมี 7,000-8,000 คน การชดเชยต้องเหมาะสมเป็นไปตามมาตรฐานธุรกิจการบิน ต้องเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์จูงใจพนักงานด้วย

“การปรับโครงสร้างพนักงานต้องทำอย่างมีเหตุมีผล จ่ายไม่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งตามธรรมเนียมควรเป็นไปตามมาตรฐานธุรกิจการบิน อย่างน้อยต้องมากกว่าที่กฎหมายกำหนด 2 เท่า โดยเงินที่จะจ่ายสำรองไว้อยู่แล้ว”

เปิดผลศึกษาลดคน 40%

แหล่งข่าวจาก บมจ.การบินไทยเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้บริหารของบริษัทได้มอบหมายให้แต่ละส่วนงานทำการศึกษาเพื่อหาแนวทางลดขนาดองค์กรทั้งในด้านบุคลากร ฝูงบินที่เหมาะสมและสอดรับกับสภาพตลาดปัจจุบัน และแผนการฟื้นฟูที่กำลังจะเกิดขึ้น เบื้องต้นพบว่า บริษัทควรปรับลดจำนวนพนักงานทั้งหมด 40% จากปัจจุบันมีอยู่ 21,367 คน เหลือ 12,000-13,000 คน ลดลง 8,000 คน ภายใน 2-3 ปีนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับสายการบินอินเตอร์ชั้นนำของโลกขนาดฝูงบินปัจจุบัน การบินไทยมีฝูงบินราว 100 ลำ ตามแผนจะลดเหลือ 70 ลำ พร้อมลดจำนวนแบบเครื่องบินให้น้อยลงเหลือ 6 แบบ อาทิ แอร์บัส A320, แอร์บัส A330, แอร์บัส A350, โบอิ้ง B777-200 ER และ B777-300 ER ให้ง่ายต่อการบริหารจัดการต้นทุนและสอดรับกับเรื่องของดีมานด์-ซัพพลายของตลาดในอนาคต

“การคำนวณจำนวนคนทำงานจะเทียบกับมาตรฐานของสายการบินชั้นนำทั่วไปที่ใช้นักบิน 18 คนต่อลำ กรณีสิงคโปร์แอร์ไลน์ใช้เฉลี่ย 17.5 คนต่อลำ หากเทียบกับการบินช่วงก่อนโควิดที่ยังบิน 100 ลำ เราจะใช้จำนวนนักบิน 14.3 คนต่อลำ แต่หลังปรับโครงสร้างแล้วเหลือฝูงบิน 70 ลำ หากเทียบค่ามาตรฐานทั่วไปที่จำนวน 80 คนต่อลำ เรามีความจำเป็นต้องการนักบินที่ 1,260 คน เท่ากับส่วนของนักบินต้องตัดออก 170-200 คน”

ขณะที่ส่วนของลูกเรือ ปัจจุบันมีพนักงานรวม 5,749 คน อยู่ในอัตราที่ไม่สูงเกินไป เนื่องจากกฎระเบียบขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) และมาตรฐานความปลอดภัยการบินยุโรป (EASA) ขององค์การบินของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้ลูกเรือ 1 คน ไม่สามารถให้บริการหรือทำการบินได้เกิน 3 แบบเท่านั้น บวกกับจำนวนแบบเครื่องบินก่อนหน้านี้ของการบินไทยที่มีหลายแบบ จึงจำเป็นต้องใช้ลูกเรือจำนวนมาก คนล้นทั้งแบ็กออฟฟิศ-ฝ่ายช่าง

แหล่งข่าวกล่าวว่า แผนกที่เป็นประเด็นปัญหาและน่าจะลดลงได้อีก คือ ฝ่ายช่าง ปัจจุบันมี 3,461 คน ดูแลเครื่องบินรวม 250 ลำต่อปี เป็นเครื่องบินของการบินไทย 100 ลำ และของคู่ค้า 150 ลำ เฉลี่ยใช้ช่าง 13.8 คนต่อลำ เทียบกับสายการบินลุฟท์ฮันซ่า มีช่างราว 6,000 คน ดูแลเครื่องบินทั้งหมด 900 ลำ ใช้ช่าง 6.6 คนต่อลำ ที่สำคัญการบินไทยมีค่าใช้จ่ายค่าล่วงเวลาให้ฝ่ายช่างเฉลี่ยปีละ 1.6 พันล้านบาท นอกจากนี้ ที่น่าจะลดพนักงานได้มากที่สุดถึง 50% คือ ส่วนงานธุรกิจ สำนักงาน และทั่วไป ที่ปัจจุบันมีพนักงาน 10,725 คน

“สายการบินหลายแห่งจะรวมพนักงานทั่วไปกับฝ่ายช่างไว้ด้วยกัน มีมาตรฐานการใช้พนักงานส่วนนี้เฉลี่ยไม่ถึง 100 คนต่อลำ เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์อยู่ที่ 80 คนต่อลำ ในโครงสร้างใหม่เราจะมีเครื่อง 70 ลำ ดังนั้นต้องทำให้พนักงานส่วนนี้เหลือ 5,000-6,000 คน”

นอกจากนี้ หากปรับลดส่วนต่าง ๆ แล้วยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะใช้วิธีตัดพนักงานระดับบนและระดับล่าง คือ เลือกเลิกจ้างกลุ่มพนักงานอายุตั้งแต่ 57-58 ปีขึ้นไป พนักงานใหม่และที่ยังไม่ผ่านการทดลองงาน เป็นต้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0