โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

การบินไทยมีเงินสดอยู่ได้ 3 เดือน เจรจา ‘เจ้าหนี้’ ลอตแรกฉลุย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 05 ส.ค. 2565 เวลา 06.34 น. • เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2563 เวลา 07.30 น.
เครื่องบินการบินไทย
แฟ้มภาพ

“การบินไทย” เปิดเกมเจรจาเจ้าหนี้เช่าเครื่องบินลอตแรกสำเร็จ ทำข้อตกลงไม่ยึดเครื่องบิน 6 ลำ เร่งเคลียร์ข้อมูลเจ้าหนี้และไส้ในข้อตกลงต่าง ๆ แจงกลุ่มเจ้าหนี้ที่เป็นลูกค้าซื้อตั๋วล่วงหน้ากว่า 3 แสนราย ยืนยันการบินไทยมีสภาพคล่องในมือราว 9 พันล้าน อยู่ได้ 3 เดือน หลังขอฟื้นฟูได้สิทธิ “พักหนี้” ทั้งหมด ยื่นศาลส่งชื่อ “ชาญศิลป์” เป็นผู้ทำแผนเพิ่มอีกคน

แหล่งข่าวจาก บมจ.การบินไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงเวลาเกือบ 3 เดือน ก่อนถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ที่ศาลนัดไต่สวน ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท (เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่) แและที่ปรึกษาการเงิน (บล.ฟินันซ่า จำกัด) ร่วมกันทำงาน โดยเฉพาะต้องเร่งเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้รายใหญ่ เพื่อให้เห็นชอบกับคำขอฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยจะต้องได้เสียงมากกว่า 50% ของมูลหนี้ ซึ่งจะมีรายละเอียดในการจัดกลุ่มลูกหนี้

โดยหลักการเจรจาก็ต้องให้เจ้าหนี้มองเห็นโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้คืนจากการฟื้นฟูกิจการ แต่ขณะเดียวกันเจ้าหนี้ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะต้องถูกตัดลดหนี้ (แฮร์คัต) ด้วย แต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าจะปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย เพราะโอกาสที่จะได้เงินคืนจะน้อยกว่าในการฟื้นฟูกิจการ เพราะการบินไทยก็ถือว่าเป็นสายการบินที่มีศักยภาพ รวมทั้งประเทศไทยเป็นโลเกชั่นของศูนย์กลางการบินที่ดี

ตอนนี้ประเด็นสำคัญคือจะต้องตรวจสอบสัญญาข้อตกลงต่าง ๆ ของการบินไทยกับเจ้าหนี้แต่ละรายว่ามีข้อตกลงอะไรบ้าง ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นตามที่ บมจ.การบินไทยแจ้งในที่ประชุม (ไม่เป็นทางการ) มูลหนี้อยู่ที่ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเจ้าหนี้ในประเทศ 50% และเจ้าหนี้ต่างประเทศ 50% สัดส่วนใกล้เคียงกัน

เจรจาเจ้าหนี้สำเร็จ 2 ลำ

ทั้งนี้จากที่การบินไทยมีเครื่องที่ใช้งานอยู่ 102 ลำ แต่ที่การบินไทยเป็นเจ้าของ 28 ลำ ส่วนอีก 74 ลำเป็นของเจ้าหนี้ให้เช่า ทั้งแบบสัญญาเช่าทางการเงินกับแบงก์ต่างประเทศ 21 แห่ง จำนวน 32 ลำ และสัญญาเช่าดำเนินการ 42 ลำ ซึ่งขณะนี้ทีมที่ปรึกษากฎหมายของการบินไทยได้เจรจากับเจ้าหนี้ให้เห็นชอบกับการฟื้นฟูกิจการ และได้ทำข้อตกลงที่จะไม่ยึดเครื่องบิน (stand still) สำเร็จแล้ว 2 ลำ และเห็นชอบในหลักการแล้วอีก 4 ลำ

“ช่วงนี้เป็นการเจรจากับเจ้าหนี้ให้เช่าเครื่องบิน เพื่อให้การบินไทยสามารถให้บริการไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ได้ตามแผน โดยไม่ถูกยึดเครื่องบิน โดยเบื้องต้นจะมีการยื่นต่อศาล 9 ประเทศหลักที่การบินไทยจะเปิดให้บริการ”

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับแผนการขายเครื่องบินซึ่งการบินไทยเป็นเจ้าของจำนวน 28 ลำ ซึ่งตามแผนเดิมจะมีการตัดขายประมาณ 20 ลำนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขณะนี้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกประสบปัญหา สายการบินนับสิบรายเข้าฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย เครื่องบินรอขายเต็มตลาด นี่คือความยากที่แตกต่างกับเหมือนเมื่อครั้ง JAL ฟื้นฟูและตัดขายเครื่องบิน เพราะเวลานั้นอุตสาหกรรมการบินไม่ได้มีวิกฤตเหมือนวันนี้

เจ้าหนี้ตั๋วล่วงหน้า 3 แสนราย

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นเจ้าหนี้ของการบินไทยมีมากกว่า 1 ล้านราย แบ่งเป็นกลุ่มสมาชิกรอยัล ออคิด พลัส (ROP) ที่แอ็กทีฟมีอยู่ประมาณ 1 ล้านราย ขณะที่เจ้าหนี้ส่วนที่เป็นลูกค้าซื้อตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า ที่ยังไม่สามารถเดินทางได้อีกราว 3-4 แสนราย ขณะที่เจ้าหนี้รายใหญ่ทั้งสถาบันการเงินและเจ้าหนี้เช่าเครื่องบิน และเจ้าหนี้การค้าอื่น ๆ รวมประมาณ 200 ราย

สำหรับกระแสเงินสดของการบินไทยขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 9 พันล้านบาท ซึ่งจากที่ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูต่อศาลล้มละลาย จึงได้รับการคุ้มครองในการพักชำระหนี้ ทำให้ภาระรายจ่ายของบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินการของบริษัท ซึ่งแต่ละเดือนจะใช้ กระแสเงินสดประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ทำให้สภาพคล่องที่มีอยู่เพียงพอสำหรับดำเนินการต่อได้อีก 3 เดือน จนถึงวันที่ศาลนัดไต่สวนการเข้าฟื้นฟูต่อไป

ตั้ง “ชาญศิลป์” ผู้ทำแผน

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่ บมจ.การบินไทย มีการประชุมบอร์ดนัดพิเศษเมื่อ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติแต่งตั้งนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บมจ.ปตท. เป็นกรรมการบริษัทแทนนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร มีผลตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป และขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อเสนอชื่อนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ทำแผนเพิ่มอีก 1 คน จากเดิมที่ได้เสนอชื่อ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ร่วมกับบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด

หากศาลล้มละลายมีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน ผู้ทำแผนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลจะมีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0