โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การซื้อเสื้อผ้าเกินจำเป็น ส่วนหนึ่งของ "วัฒนธรรมทิ้งขว้าง" ที่กำลังทำลายโลก

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 10 ธ.ค. 2562 เวลา 06.07 น. • เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2562 เวลา 04.10 น.
Angels Costumiers Houses The Largest Set Of Costumes In The World

“Throwaway Culture” หรือ “วัฒนธรรมทิ้งขว้าง” เป็นปัญหาที่มีอยู่ในสังคม ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาระดับโลกมาอย่างยาวนาน มีสาเหตุมาจากสังคมบริโภคนิยม การบริโภคมากเกินไป ทำให้มีการผลิตมากเกินความจำเป็น เมื่อมีการผลิตมากเกินความจำเป็น ก็จะมีของ “เหลือทิ้ง” ทำให้มีขยะมากเกินกว่าที่จะกำจัดได้ ไม่แปลกใจที่เราจะเห็นข่าววาฬเกยตื้นที่มีขยะอยู่ในท้องกว่า 100 กิโลกรัม หรือกวางตายเพราะกินกางเกงในพลาสติกเข้าไป

เสื้อผ้าเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่น่ากังวล และมีส่วนอย่างมากในวัฒนธรรมทิ้งขว้างนี้ ซึ่งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและความต้องการเชื้อเพลิง ในขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้าจะมีการปล่อยคาร์บอนเป็นปริมาณมหาศาล แต่ละปีอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสร้างมลพิษมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน และทำให้เกิดขยะมากกว่า 10 ล้านตัน/ปี อีกทั้งยังต้องใช้พลังงานอย่างมากเพื่อการกำจัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนโดยตรง

สำนักข่าวรอยเตอร์สได้สัมภาษณ์ แอนนา วินทัวร์ (Anna Wintour) เจ้าแม่แห่งวงการแฟชั่น หัวเรือใหญ่แห่งกองบรรณาธิการนิตยสารโว้ก (Vogue) เธอเรียกร้องให้มีการตระหนักถึงคุณค่าของเสื้อผ้าที่สวมใส่ ตระหนักถึงการนำเสื้อผ้ากลับมาใส่ซ้ำ หรือแม้กระทั่งการส่งต่อเสื้อผ้าให้คนรุ่นต่อไปใช้ เพื่อลดวัฒนธรรมการใช้สิ่งของอย่างทิ้งขว้าง

แอนนากล่าวว่า “เราทุกคนควรใส่ใจในงานฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ และลดแนวคิดสำหรับเสื้อผ้าที่ใช้แล้วทิ้ง

“ทั้งหมดนี้อยู่ที่ว่าเราจะสื่อสารกับผู้อ่านนิตยสารอย่างไร ให้พวกเขาไม่ใช้เสื้อผ้าอย่างทิ้งขว้าง ให้คุณค่าแก่เสื้อผ้า และการเลือกใส่เสื้อผ้าที่มีอยู่ แทนที่จะซื้อใหม่ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งส่งต่อไปยังคนรุ่นลูกรุ่นหลาน หรืออะไรก็ตามที่พอจะทำได้” หัวเรือใหญ่แห่งนิตยสารโว้กกล่าวเสริม

จากรายงานเมื่อปี ค.ศ. 2016 โดย บริษัทแมคคินซี แอนด์ คอมปานี (McKinsey & Company) บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระบุว่า การผลิตเสื้อผ้าทั่วโลกได้เพิ่มทวีเป็นเท่าตัว นับจากปี ค.ศ. 2000 ถึงปี ค.ศ. 2014 และปริมาณการซื้อเสื้อผ้าต่อคนเพิ่มขึ้นถึง 60% ต่อปี

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย มีผลการวิจัยจาก YouGov เมื่อปี ค.ศ. 2017 ระบุว่า ราว 1 ใน 5 หรือ 17% ของคนไทย ทิ้งเสื้อผ้าที่ไม่ต้องการแล้วลงถังขยะ

ผลเสียจากวัฒนธรรมการทิ้งขว้างในเสื้อผ้ายังมีมากกว่านั้น อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) เชื่อหรือไม่ว่า เสื้อที่ทำจากผ้าฝ้าย 1 ตัว ต้องใช้น้ำในการปลูกฝ้ายถึง 2,700 ลิตร ซึ่งปริมาณน้ำขนาดนี้เพียงพอให้คน 1 คน ใช้ได้ถึง 2 ปีครึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ในหนึ่งปีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมสิ่งทอ คิดเป็น 10% ของคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งโลก มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตเนื้อวัวถึง 50%

จะเห็นได้ว่าแค่เพียงเราซื้อเสื้อผ้าเพิ่มอีกเพียงตัวหนึ่งนั้น กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คิดไว้มาก อย่างไรก็ตาม เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดวัฒนธรรมทิ้งขว้างนี้ลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมุมมองของเราเองที่มีต่อการใส่เสื้อผ้า การใส่เสื้อผ้าตัวเดิม เพื่อลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ที่ไม่จำเป็น การคัดแยกเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วที่ยังสภาพดีอยู่ เพื่อส่งต่อให้คนที่ต้องการผ่านทางมูลนิธิต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการซ่อมแซมและย้อมเสื้อผ้าตัวโปรดให้กลับมาสภาพดีอีกครั้ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0