โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

การจัดการเงินสำหรับคนที่มีครอบครัว

Stock2morrow

อัพเดต 24 พ.ค. 2562 เวลา 10.05 น. • เผยแพร่ 24 พ.ค. 2562 เวลา 10.01 น. • Stock2morrow
การจัดการเงินสำหรับคนที่มีครอบครัว
การจัดการเงินสำหรับคนที่มีครอบครัว

ถ้าพูดถึงเรื่องเงินแล้ว ไม่มีช่วงไหนในชีวิตเลยที่เราไม่เกี่ยวข้องกับเงิน เกิดก็ต้องใช้เงิน โตขึ้นมา เรียนหนังสือก็ต้องใช้เงิน แต่งงานก็ยิ่งต้องใช้เงิน แม้แต่ตอนตายก็ยังต้องใช้เงินเพื่อจัดงานศพ เพราะฉะนั้นเงินเข้ามาเกี่ยวข้องกับทุกช่วงชีวิตของเรา ซึ่งแนวทางในการบริหารเงินถูกแบ่งออกเป็น 4 เรื่องหลักๆดังนี้

               

แนวทางแรก คือ การสร้างความมั่งคั่ง หรือ Wealth Creation เทคนิคที่จะทำให้คุณสร้างความมั่งคั่งได้คือ คุณต้องรู้จัการทำบัญชีครับ!! หลายคนอาจคิดว่า ทำไมต้องทำบัญชี ? ลองนึกดูว่ามีบริษัทไหนที่ทำธุรกิจแล้วไม่ทำบัญชีไหม ถ้ามีบริษัทนั้นจะต้องมีปัญหาไม่ช้าก็เร็วแน่นอน แต่ในทางกลับกัน ถ้าถามคนส่วนใหญ่ว่าได้ทำบัญชีส่วนตัวไหม เชื่อได้เลยว่าไม่ แต่การทำบัญชีในที่นี้ไม่จำเป็นต้องทำให้ยากเหมือนบริษัทครับ หลักสำคัญคือ เราต้องทำเพื่อรู้ว่าเรามีเงินไหลเข้าและออกเท่าไหร่ แล้วควรเหลือเก็บเท่าไหร่ และเมื่อเห็นจำนวนเงินที่น่าจะเก็บได้แล้ว แนะนำให้คุณเริ่มหาที่ตัดเงินก้อนนั้นเข้าไปเก็บเลย เก็บในบัญชีที่แยกออกจากบัญชีที่คุณใช้เป็นประจำ วิธีการนี้เรียกว่าเก็บก่อนใช้ แล้วถ้าทำได้สม่ำเสมอ วิธีนี้จะทำให้คุณมีเงินเหลือกิน เหลือใช้ในอนาคตครับ

             *   *

แนวทางที่ 2 คือ การปกป้องความมั่งคั่งที่คุณหามาได้  หรือ Wealth Protection เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ไม่คาดฝันในชีวิตมาทำให้ความมั่งคั่งของคุณหายไป วิธีการที่ดีที่สุดในการปกป้องความมั่งคั่งก็คือการซื้อประกันปิดความเสี่ยงนั่นเอง แต่คำถามที่ต้องถามในการซื้อประกันก็คือ ซื้อเท่าไรถึงจะพอ ??? เพราะถ้าซื้อเยอะก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันเยอะ เดี๋ยวจะไม่มีเงินเหลือเก็บพอดี หลักในการตัดสินใจซื้อประกันนั้น ถ้าเราไม่ได้มีงบประมาณในการซื้อประกันเพื่อปิดความเสี่ยงทั้งหมด เราอาจเลือกซื้อประกันที่ช่วยปิดความเสี่ยงสำคัญๆที่จะทำให้คุณสามารถสูญเสียเงินจำนวนมากๆได้ ยกตัวอย่างเช่น การเจ็บป่วยหนักๆด้วยโรคร้ายแรง เช่นโรคมะเร็ง หรือ โรคหัวใจ เป็นต้น เพราะโรคเหล่านี้สามารถทำให้คุณต้องหมดเงินเป็นหลักแสน หลักล้านได้ ถ้ามันเกิดขึ้นกับคุณ แต่สำหรับการซื้อประกันนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำคู่กันคือคุณต้องวางแผนการจ่ายเบี้ยประกันด้วย เพราะยิ่งอายุเยอะค่าเบี้ยประกันจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆตามความเสี่ยงที่มากขึ้น เพราะฉะนั้นเพื่อให้การปิดความเสี่ยงนั้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์ เราต้องวางแผนเรื่องการลงทุนเพื่อจ่ายเบี้ยควบคู่กันไป เพราะจะได้มั่นใจว่า เมื่อเราอายุมากขึ้น เราก็ยังมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายเบี้ยประกัน

 

อีกมุมนึงของการปิดความเสี่ยงที่ต้องทำคือ การมีทุนประกันชีวิตตามภาระในชีวิตของคุณ ภาระในชีวิตหมายถึง คุณต้องรับผิดชอบชีวิตใครบ้างนั้นเอง ??? ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆคือ วันนี้รายได้ของคุณถูกใช้ไปเพื่อสนับสนุนใครในการดำรงชีวิตบ้าง ??? แล้วถ้าวันนึง คุณไม่อยู่สนับสนุนค่าใช้จ่ายเหล่านั้นให้พวกเขา คนเหล่านั้นยังใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมไหม ลูกยังได้เรียนหนังสือตามที่วางแผนไว้ไหม คุณพ่อ คุณแม่ ภรรยา มีเงินใช้เพื่อดำรงชีวิตได้เพียงพอไหม ถ้าคำตอบคือไม่ !!! สิ่งที่คุณควรทำก็คือ คุณควรมีทุนประกันเพื่อคนที่คุณรักครับ ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ควบการลงทุนที่สามารถให้ทุนประกันที่สูง และให้คุณได้ลงทุนเพื่อเก็บเงินไปในตัวด้วย ลองไปหาข้อมูลดูกันนะครับ

               

แนวทางที่ 3 คือ การเพิ่มพูนความมั่งคั่ง หรือ Wealth Accumulation คือการบริหารเงินผ่านการลงทุน จุดประสงค์หลักสำหรับคนที่มีครอบครัวคือการเตรียมเงินเพื่อการศึกษาของลูกในอนาคต สิ่งสำคัญที่คุณต้องคำนึงในเรื่องค่าใช้จ่ายของลูกก็คือ อัตราค่าเรียนของบุตรหลานมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6% ต่อปีโดยเฉลี่ย ดังนั้นถ้าคุณลงทุนหรือเก็บเงินในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า 6%ต่อปี เงินของคุณจะโตไม่ทันค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน และนอกจากจะเตรียมเงินให้ลูกหลานแล้ว อย่าลืมเตรียมเงินให้ตัวคุณเองในอนาคตด้วย วันหนึ่งเราก็ต้องหยุดทำงาน แล้วเราจะใช้เงินจากไหน ดังนั้นเพื่อให้เงินของคุณเติบโตได้ทันค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น การวางแผนการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงมีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอและมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานเพียงพอจะทำให้เงินของคุณเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต

 

ดังนั้นคุณควรเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่วันนี้ เพราะมันจะช่วยทุ่นแรงในการเก็บเงินได้อย่างมาก เช่น ถ้าคุณมีเวลาเก็บเงิน 30 ปี เพื่อใช้หลังเกษียณเป็นเวลา 20 ปี และคุณลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 8% ถ้าคุณอยากจะใช้เงินเดือนละ 30,000 บาทหลังเกษียณ คุณควรเก็บเดือนละ 7,500 บาท หรือ 1 ใน 4 ของเงินที่คุณต้องการใช้ คุณก็จะมีเงินเพียงพอ แต่ถ้าคุณมีเวลาเก็บเงินแค่ 20 ปี คุณจะต้องเก็บเงินเดือนละ 15,000 บาท หรือ 1 ใน 2 ของเงินที่คุณต้องการใช้ แต่ถ้าคุณเหลือเวลาเก็บเงินแค่ 10 ปี คุณจะต้องเก็บเงินเดือนละ 37,500 บาท ซึ่งมากกว่าเงินที่คุณอยากใช้ถึง 25% เพราะฉะนั้นเวลาคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องการลงทุน ถ้าคุณยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไร คุณก็จะได้ประโยชน์มากเท่านั้น

                

แนวทางที่ 4 คือ ในการบริหารเงินก็คือ การส่งต่อความมั่งคั่ง หรือ Wealth Distribution แนวทางนี้คือการส่งต่อความมั่งคั่งให้คนในรุ่นถัดไปนั่นเอง หลายคนอาจคิดว่าคนรวยไม่เห็นมีเรื่องต้องห่วง ถึงเวลาถ้าเราไม่อยู่เงินก็ถูกส่งต่อให้คนรุ่นถัดไปอยู่แล้ว แต่จริงๆแล้วการส่งต่อความมั่งคั่งนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก การส่งต่อความมั่งคั่งนั้นเป็นมากกว่าการส่งเงิน ไม่ใช่แค่การบริหารภาษีมรดก มีครอบครัวมากมายที่มีสินทรัพย์มหาศาลพอให้คนในรุ่นถัดไปเพียงพอใช้ถึง 2-3 รุ่นด้วยกัน แต่ประเด็นคือเมื่อคุณไม่อยู่ และไม่ได้วางแผนการส่งต่อให้ดี คนรุ่นถัดไปที่ไม่ได้เป็นคนหาความมั่งคั่งมาด้วยตัวเอง เมื่อเขาได้รับความมั่งคั่งเกินกว่าความสามารถในการบริหารจัดการ ก็จะไม่ต่างกับสามล้อถูกหวย 70-80% ของคนเคยจนที่เผอิญถูกล็อตเตอรี่ วันหนึ่งก็จะกลับไปจนเหมือนเดิม เพราะเขาไม่สามารถบริหารจัดการความมั่งคั่งที่ไม่เหมาะสมกับตัวเองได้ หรือเมื่อครอบครัวเริ่มใหญ่ขึ้น แต่แนวทางในการจัดการและบริหารสินทรัพย์ของครอบครัวไม่ได้ถูกวางไว้ สุดท้ายหลายๆครอบครัว ถึงมีการลงเอยด้วยการฟ้องร้อง ต่อสู้ แย่งชิงสมบัติกัน แนวทางในการจัดการเรื่องเหล่านี้ก็คือการวางแผนการส่งต่ออย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้รับสามารถดำรงความมั่งคั่งของครอบครัวไว้ได้สืบไป

 

ดังนั้น เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน เราต้องเตรียมความพร้อมตาม 4 แนวทางการบริหารเงินให้เรียบร้อย แล้วคุณจะหมดปัญหาในเรื่องเงินอย่างแน่นอนครับ

รุ่งโรจน์ แก้วกาญจนา

อดีตผู้บริหารจากบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน
Executive Director and Co-Founder บริษัท Union Wealth  Key Person ในการพัฒนาระบบ Nomura iFUND ที่รวมกองทุนจากทุก บลจ. ไว้ใน Platform เดียว ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทุนและการเงิน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0