โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การค้าเป็นเหตุ! เจงกิสข่านนำทัพม้าบดขยี้แดนตะวันตก สู่การเปิดฉากใหม่จักรวรรดิมองโกล

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 19 ธ.ค. 2566 เวลา 01.42 น. • เผยแพร่ 12 ธ.ค. 2566 เวลา 04.49 น.
ภาพปก-มองโกล
ภาพวาด ทหารม้า มองโกล จักรวรรดิมองโกล

จักรวรรดิมองโกล(Mongol Empire) ในคริสต์ศตวรรษที่13 ถือเป็นจักรวรรดินักรบบนหลังม้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ กว่าที่จักรวรรดิจะก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ขนาดนี้ต้องแลกมาด้วยการเข่นฆ่า และสงครามที่สร้างภาพลักษณ์ความโหดเหี้ยมแก่ทัพมองโกล ปฐมกษัตริย์หรือข่านผู้ก่อตั้ง คือ เจงกิสข่าน นักการทหารที่ประสบความสำเร็จในการพิชิตดินแดนตั้งแต่ทุ่งหิมะในไซบีเรีย ผ่านลุ่มแม่น้ำฮวงโห เอเชียกลาง เปอร์เซีย ไปถึงที่ราบเขตร้อนในอินเดีย ดินแดนที่ทัพม้าของเจงกิสข่านเคยเหยียบย่ำไปถึงมีกว่าสามสิบประเทศหากเทียบกับแผนที่ยุคปัจจุบัน

ใน ค.ศ. 1219 เจงกิสข่านในวัยเกือบ 60 ปี ประสบความสำเร็จทั้งทางทหารและการค้า กองทัพมองโกลมีศักยภาพสูงและไร้คู่ต่อกร ท่านข่านรวมทุกชนเผ่าในทุ่งหญ้าสเตปป์ของมองโกเลีย ครอบครองบริเวณมณฑลกานซู่ และภาคเหนือของจีน ความมั่งคั่งของอาณาจักรที่เพียรสร้างมานี้ มากพอให้พระองค์และทายาทใช้ชีวิตอย่างสุขสบายตราบที่ราชตระกูลของท่านยังรักษาไว้ได้ แต่หากเป็นตามนั้นโลกก็จะไม่รู้จักความน่ากลัวของทัพม้ามองโกล

แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้กองทัพของเจงกิสข่านตะลุยออกไปทำลายแหล่งอารยธรรมอันเก่าแก่ทางตะวันตก ตั้งแต่เอเชียกลางไปถึงยุโรปตะวันออก จนสามารถสร้างเป็น “จักรวรรดิมองโกล” ดูเหมือนมหันตภัยที่มองโกลนำไปนี้มีต้นเหตุจากการขาดความยั้งคิดของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

การได้อาณาจักรแถบกานซู่เป็นรัฐในอาณัติ ทำให้ท่านข่านสามารถคุมเส้นทางสายไหม แนวการค้าทางบกที่สำคัญระหว่างจีนกับมุสลิมได้อย่างสมบูรณ์ การได้ควบคุมสินค้าปริมาณมหาศาลจากจีนทำให้เจงกิสข่านเห็นเป็นโอกาสที่จะค้าขายกับอาณาจักรมุสลิมทางตะวันตก ซึ่งมีดินแดนกว้างใหญ่ระหว่างทะเลดำและเทือกเขาในอัฟกานิสถาน อันเป็นที่ตั้งของจักรวรรดิมุสลิมเติร์กที่ร่ำรวย ชื่อ ควาเรสซ์(Khwarazmian Empire) ปกครองโดย สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่2 (Ala ad-Din Muhammad II)

จักรวรรดิควาเรสซ์ มีอายุมากกว่าชาติมองโกลไม่นาน และถูกพูดถึงไม่มากนักเมื่อเทียบกับ รัฐคอลีฟะฮ์ ที่มีศูนย์กลางในนครแบกแดด แต่รัฐมุสลิมทั้งหลายในศตวรรษที่13 ประกอบด้วยอารยธรรมอาหรับ เติร์ก เปอร์เซีย ที่ทั้งร่ำรวยและรอบรู้ในวิทยาการ ชาวมุสลิมจึงเข้าใกล้ความเป็นอารยธรรมระดับโลกอย่างมาก

ด้วยความตั้งใจแสวงหาความมั่งคั่งจากภายนอก เจงกิสข่านผันตัวจากกษัตริย์นักรบเป็นผู้ปกครองนักค้า ท่านข่านได้ส่งทูตไปหาสุลต่านแห่งจักรวรรดิควาเรสซ์ เพื่อขอทำสัญญาการค้าอย่างเป็นทางการ เปตีส์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้อธิบายว่า

“…จักรพรรดิพระองค์นี้ไม่มีอะไรต้องกริ่งเกรงไม่ว่าจากตะวันออก ตะวันตก หรือตอนเหนือของเอเชีย ทรงพยายามสร้างมิตรภาพอย่างจริงใจกับกษัตริย์แห่งควาเรสซ์ ดังนั้น ในครึ่งหลังของปี1217 องค์จักรพรรดิจึงส่งทูตสามคน พร้อมกับของกำนันไปยังพระองค์…เพื่อร้องขอ…ให้ประชาชนของพวกเขาสามารถค้าขายร่วมกันอย่างปลอดภัยและร่วมมือกันอย่างสมบูรณ์ เพื่อความสงบสุขและความอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นคำอำนวยพรอันยอดปรารถนาสำหรับอาณาจักรทั้งปวง”

เจงกิสข่านมีพระราชสาส์นถึงสุลต่านว่า“ข้ามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะอยู่ร่วมกับเจ้าอย่างสันติ ข้าจะปฏิบัติต่อเจ้าเหมือนเป็นบุตรของข้า สำหรับเจ้าแล้วไม่ต้องกังวลแต่อย่างใดที่ข้าได้พิชิตตอนเหนือของจีนและปกครองทุกชนเผ่าทางตอนเหนือ เจ้ารู้ดีว่าประเทศของข้าเป็นแหล่งรวมของเหล่านักรบ เป็นเหมืองแร่เงิน และข้าไม่มีความจำเป็นที่จะละโมบแผ่นดินอื่น เรามีผลประโยชน์เท่าเทียมกันในการส่งเสริมการค้าระหว่างผู้ใต้ปกครองของเรา”

จะเห็นว่าในการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้านี้ เจงกิสข่านวางพระองค์อยู่เหนือสุลต่าน ตามแนวคิดจักรพรรดิผู้มีอำนาจเหนือกษัตริย์ทั้งปวง แต่ก็แสดงเจตนาใฝ่สันติชัดเจน

สุลต่านต้อนรับทูตมองโกลอย่างไม่ค่อยเต็มพระทัยนัก และทรงหวาดระแวงในการค้าระหว่างสองจักรวรรดิ จากนั้น เจงกิสข่านจึงมอบหมายให้พ่อค้ามุสลิมและฮินดูในดินแดนของท่านเองเดินทางไปควาเรสซ์ เพราะคนเหล่านี้เก่งกาจเรื่องค้าขายมากกว่าชาวมองโกล ในคาราวานบรรทุกสิ่งของหรูหราอย่าง ผ้าหนังอูฐขาว ผ้าไหมจีน เงินแท่ง และหยกดิบ

เมื่อคาราวานพ่อค้าและผู้ติดตาม450 คนจากจักรวรรดิมองโกลเคลื่อนสู่มณฑลออตราร์ พรมแดนของจักรวรรดิควาเรสซ์ กลับเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ข้าหลวงของมณฑลซึ่งเป็นคนเย่อหยิ่งและละโมบ ได้ยึดสินค้าและสังหารคณะพ่อค้าทั้งหมด และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นหายนะของจักรวรรดิควาเรสซ์

หลังเจงกิสข่านทราบข่าวการสังหารหมู่ ท่านข่านส่งทูตไปเรียกร้องให้สุลต่านลงโทษขุนนางผู้ก่อการ แต่เป็นที่รู้ว่าขุนนางผู้นั้นคือปิตุลา(อา) ของสุลต่านเอง ผลคือสุลต่านโมฮัมเหม็ดที่2 ด่าทอท่านข่านกลับด้วยถ้อยคำรุนแรงและหยิ่งยะโส หนึ่งในทูตถูกสังหารและอีกคนถูกทรมานก่อนส่งกลับมองโกล

เจงกิสข่านไม่เหลือความเมตตา บดขยี้จักรวรรดิควาเรสซ์ด้วยกองทัพม้ามองโกลที่เกรียงไกร นับจาก ค.ศ.1220-1224 กองทัพมองโกลยึดเมืองหลักของจักรวรรดิควาเรสซ์ทุกเมือง ขณะที่สุลต่านสิ้นพระชนม์อย่างเวทนาบนเกาะเล็ก ๆ ในทะเลสาบแคสเปียน

กองทัพของท่านข่านทำลายทุกกองกำลังที่พบ ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยถึงคอเคซัส จากแม่น้ำสินธุถึงแม่น้ำโวลกา ไม่มีเมืองหรือป้อมปราการใดต้านทานพวกเขาได้

หลังสุดสิ้นจักรวรรดิควาเรสซ์ เจงกิสข่านอยู่บนจุดสูงสุดของอำนาจในบั้นปลายชีวิต ต่อมาเหล่าทายาทของท่านล้วนสานต่อการพิชิตดินแดน ตอกย้ำ “จักรวรรดิมองโกล” กองทัพมองโกลบางส่วนบุกไปถึงยุโรป บ้างเปิดศึกกับราชวงศ์ซ้องของจีน อีกกลุ่มก็บุกไปรบกับรัฐคอลีฟะฮ์ในตะวันออกใกล้ เหตุแห่งความทะเยอทะยานเหล่านี้จึงเสมือนฉนวนที่ถูกจุดขึ้นจากการแตกหักระหว่างเจงกิสข่านกับสุลต่านโมฮัมเหม็ดที่2 นี้เอง

ขณะที่อาชญากรรมและความโหดเหี้ยมถูกขยาย เจงกิสข่านกลายเป็นต้นแบบของอนารยชนคนเถื่อนที่กระหายเลือด และผู้พิชิตที่อำมหิต แต่สิ่งสำคัญคือการพิชิตดินแดนมากมาย ทำให้อารยธรรมที่อยู่คนละฟากทวีปเชื่อมต่อกันภายใต้ จักรวรรดิมองโกล ชนเผ่าเร่ร่อนในยูเรเซีย-ที่ราบมองโกเลีย ชาวเติร์ก ชาวมุสลิมอาหรับ–เปอร์เซีย ชาวจีน ชาวฮินดู ฯลฯ สินค้า และวิทยาการความรู้ของชนชาติเหล่านี้ แลกเปลี่ยนเผยแพร่ไปมาอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นี่จึงดูเหมือนหนึ่งในความสำเร็จของเจงกิสข่านและชาวมองโกลที่ถูกลืมเลือนไปแล้ว

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

แจ๊ก เวเธอร์ฟอร์ด. (2553). เจงกิสข่าน มหาบุรุษผู้เปลี่ยนโลก. เรืองชัย รักศรีอักษร, ผู้แปล. กรุงเทพฯ: มติชน.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มิถุนายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0