โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กัญชง กัญชา กับฤทธิ์กันชักโรคลมบ้าหมู (1)

ไทยรัฐออนไลน์ - Social

เผยแพร่ 19 พ.ค. 2562 เวลา 00.01 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

เป็นเรื่องร้อนของบ้านเราเลยมีแต่คนอยากปลูก อยากใช้ฉะนั้นเลยเอาบทความมาแปลและเรียบเรียงโดย นพ.ภาสิน เหมะจุฑา ให้อ่านว่า Cannabidiol (CBD) ใช้ในลมชักอย่างไร และต้องระวังอะไรบ้าง บทความนี้ลงใน Pediatric pharmacology 2018 ชื่อ ‘Cannabidiol Use in Refractory Epilepsy’ จาก Dr.Marcia Buck นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทางด้านการใช้ยาในเด็กจากอเมริกา

CBD นี้เป็นสารธรรมชาติที่มาจากกัญชาโดยเฉพาะสายพันธุ์ซาติว่า (Cannabis sativa) โดยได้รับการสกัดครั้งแรกตั้งแต่ปี 1963 โดยนายMechoulam และ Shvo หลังจากนั้นอีก 15 ปีก็ได้ตีพิมพ์ฤทธิ์ของ CBD ในการช่วยควบคุมโรคลมชัก เรารู้กันตั้งแต่ปี 1978 แล้วนะครับ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร CBD นั้นต่างจาก Tetrahydrocannabinol (THC) อย่างมาก กลไกในการออกฤทธิ์ในร่างกายก็ต่างกัน

โดย CBD มันมีสัมพรรคภาพ (affinity) กับตัวจับสัญญาณกัญชา cannabinoid receptors (CB1 และ CB2) ต่ำมาก ตัวจับสัญญาณสองตัวนี้เป็นตัวที่ THC จับได้อย่างดีและเป็นส่วนทำให้เสพติดและเกิดการมึนเมา นอกจาก CBD จะไม่จับตัวจับสัญญาณแล้วมันยังไปลดการส่งสัญญาณของ CB1 อีก ผลลัพธ์ก็คือสมองจะสั่งการให้เพิ่มการปล่อย GABA ซึ่งเป็นสารกดระบบไฟฟ้าของสมองและน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยคุมโรคลมชัก ลดการกระวนกระวายและช่วยลดปวดอีกด้วย (อาจจะเพราะมีฤทธิ์ที่ 5-HT1A, TRPV1 และ A2AAR ด้วย)

ในอเมริกาก่อนหน้านี้ CBD เป็น schedule 1 (สารที่มีโอกาสใช้เสพติดสูงและการใช้ทางการแพทย์ต่ำ) จาก ป.ป.ส.อเมริกา แต่ขณะนี้ถูกจัดเป็น schedule 5 (โอกาสที่ใช้เสพติดต่ำมากและมีการใช้แพร่หลายทางการแพทย์) ในปีที่แล้วนั้น ก็เพราะว่ามีการศึกษาโอกาสการเสพติดโดยโอกาสติดนั้นต่ำกว่า alprazolam และ dronabinol เสียอีกถึงจะใช้โดส CBD ที่สูงมาก นอกจากนั้น CBD ยังไม่มีผลต่อความเฉียบแหลมของสมองและการบังคับร่างกาย

เริ่มจากในปี 2018 CBD เหลวสำหรับใช้ทางปาก (Oral solution) ยี่ห้อ Epidiolex ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของอเมริกา (US FDA) สำหรับใช้ในโรคลมชักจาก Lennox Gastaut syndrome (LGS) และ Dravet syndrome สำหรับคนไข้อายุสองขวบหรือมากกว่า เพราะพบว่า CBD เป็นยาที่ดีถ้าเกิดคุมการชักด้วยยาตัวแรกไม่ได้แล้วการดูดซึมจากลำไส้เวลาทานเข้าไปล่ะ ดูดซึมได้ดีเลยทีเดียวและพบว่ายาจะถึงระดับสูงสุดในเลือดประมาณ 2.5 ถึง 5 ชั่วโมงหลังรับประทาน มีการบอกอีกด้วยว่าถ้าทานพร้อมกับอาหารไขมันสูงดูดซึมได้ดีกว่าและจะได้ระดับที่สูงมากกว่าถึง 5 เท่า ถึงยังไงจะใช้พร้อมอาหารหรือไม่ก็พบว่าระดับยาก็สูงพอที่จะได้ผลในการช่วยควบคุมการชักอยู่ดี CBD นั้นกระจายตัวในร่างกายได้ดี

ส่วนการเมตาบอลิซึมใช้ตับในการขับออกเป็นหลักโดยใช้เอนไซม์กลุ่ม CYP ส่วนครึ่งค่าชีวิตของยา (elimination half life) หรือการที่ระดับยาถูกลดไปครึ่งหนึ่งนั้นอยู่ประมาณ 60 ชั่วโมง

กัญชานั้นอยู่คู่โลกมานานแสนนานแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นยาน้องใหม่ในวงการแพทย์สากล ก็ได้มีการประเมินประสิทธิผล (efficacy) กับความปลอดภัยของ CBD สำหรับลมชักในสามวิจัย ทั้งหมดเป็นเฟส 3 (Phase 3 randomized double-blind, placebo-controlled trials) ในทั้งสองการวิจัยใช้เวลา 14 อาทิตย์ มีคนไข้อายุตั้งแต่ 2 ขวบถึง 55 ปี วิจัยแรกคนไข้จำนวน 171 คน แบ่งกลุ่มให้ CBD 20mg/kg/day เทียบกับยาเทียม (placebo) ส่วนวิจัยสองคนไข้ 225 คน แบ่งกลุ่มใช้ 10, 20mg/kg/day และยาเทียม

ในการวิจัยทั้งสอง หลังจากตรวจทั่วไปแล้วก็ได้มีการเพิ่มยาขึ้นเรื่อยๆ จนถึงโดสที่กำหนดในเวลาสองอาทิตย์แรก จากนั้นก็ให้ต่อเนื่องเป็นเวลา 12 อาทิตย์ คนไข้ที่เข้าร่วมการวิจัยนั้น 94% กินยากันลมชักอยู่แล้วอย่างน้อย 1 ตัว โดยยาที่ใช้อยู่เรียงจากมากไปน้อยที่สุดคือ Clobazam, valproate, levetiracetam, lamotrigine และ rufinamide

การวิจัยนี้ดูความถี่ของการชักเมื่อเทียบกับก่อนใช้ CBD ทั้งสองวิจัยพบว่าอัตราการชักน้อยลงโดยถึง 44% และ 42% ในกลุ่ม CBD 20mg/kg/day ในกลุ่มที่ได้ยาปลอมนั้นก็ลดลง แต่ชักลดลงน้อยกว่าเยอะก็คือ 22% และ 17% ความแตกต่างนี้เห็นตั้งแต่เดือนแรกและประสิทธิภาพนั้นคงอยู่จนจบการทดลอง ประมาณ 4% ของคนไข้นั้นหลังจากได้ CBD แล้วไม่มีอาการชักอีกเลยในช่วงการทดลอง

ในการทดลองสุดท้ายนั้นดูในเด็กที่เป็น Dravet syndrome หรือโรคที่มีความผิดปกติทางยีนที่เกี่ยวกับการควบคุมสารโซเดียมและทำให้ไม่สามารถปล่อย GABA ได้ดี ทำให้เริ่มชักตั้งแต่ประมาณ 6 เดือนแรก คนไข้ทั้งหมด 120 คนที่เข้าร่วมมีการชักต่อเนื่องที่คุมไม่ได้ด้วยยาหรือกระตุ้นเส้นประสาท (vagal nerve stimulation) หรือกินคีโต (ketogenic diet) แบ่งเป็นสองกลุ่มโดยแบ่ง CBD 20mg/kg/day เทียบกับยาเทียม (placebo) การเพิ่มยาก็เหมือนกับที่อธิบายในสองวิจัยแรก กลุ่มที่ได้ CBD มีการชักลดลงถึง 39% เมื่อเทียบกับ 13% ในกลุ่มยาปลอมและ 6.7% ในกลุ่มCBD นั้นไม่มีอาการชักเลยระหว่างทดลองซึ่งเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก

เรื่อง…กัญชง กัญชา กับฤทธิ์กันชักโรคลมบ้าหมู ยังไม่จบ เอาไว้ว่ากัน ต่อตอนที่ 2 สัปดาห์หน้านะครับ.

หมอดื้อ

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0