โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กษัตริย์ : ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2562

Khaosod

อัพเดต 08 ธ.ค. 2562 เวลา 07.32 น. • เผยแพร่ 08 ธ.ค. 2562 เวลา 07.32 น.
_107302828_7c89d2ee-faa5--e57d69e85b296f87a2a4fb74f044eecf028f3a72

กษัตริย์ : ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2562 – BBCไทย

2562 เป็นปีที่มีข่าวคราวเกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์ทั่วโลกเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องที่น่าปลื้มปีติ ไปจนถึงเรื่องอื้อฉาวที่กลายเป็นข่าวครึกโครมสั่นคลอนชื่อเสียงของราชวงศ์ บีบีซีไทยได้ประมวลข่าวเด่นราชวงศ์โลกในรอบปีนี้มาให้อ่านกัน

ราชวงศ์ในเอเชีย

ในปีนี้นับเป็นปีมหามงคลสำหรับราชวงศ์ในเอเชีย โดยทั้งประเทศไทย มาเลเซีย และญี่ปุ่นต่างก้าวเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งการ “ผลัดแผ่นดิน” ได้ชื่นชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์พระองค์ใหม่ และพระราชพิธีขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่

ในหลวงร.10
ในหลวงร.10

ในไทยนั้น เกือบทั้งปี 2562 คนไทยได้ชมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีโดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย พระราชพิธีเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย ดำเนินไประหว่างเดือน เม.ย.ไปจนถึงเดือน ธ.ค. โดยมีการเลื่อนพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 24 ต.ค. ไปเป็นวันที่ 12 ธ.ค. ด้วยเหตุผลหลายประการเพื่อให้สามารถควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในแบบแผนตามโบราณราชประเพณีได้

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายประการคือ การสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ การสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสุทิดา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

เมื่อเดือน ก.ค.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พลตรีหญิง ท่านผู้หญิงสินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์ ขึ้นเป็น เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ก่อนที่ในเดือน ต.ค. จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี พ้นจากตำแหน่ง ถอดฐานันดรศักดิ์ และยศทหาร ตลอดจนเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา เนื่องจากกระทำความผิดราชสวัสดิ์ และไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ที่ 126
สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ที่ 126

ในญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ที่ 126 ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ที่ทรงสละราชสมบัติเนื่องจากเหตุผลด้านพระราชพลานามัย กลายเป็นกษัตริย์ญี่ปุ่นพระองค์แรกที่สละราชสมบัติในรอบกว่า 200 ปี

รัชสมัย “เรวะ” ซึ่งมีความหมายว่า “ความสันติปรองดองอันรุ่งเรือง” ของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ พระชนมพรรษา 59 พรรษา ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ท่ามกลางความคาดหวังของชาวญี่ปุ่นว่า สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ที่ถือได้ว่าทรงเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีพระจริยวัตรแตกต่างออกไปจากองค์สมเด็จพระจักรพรรดิและพระราชวงศ์ญี่ปุ่นรุ่นก่อน ๆ โดยทรงให้ความสำคัญกับชีวิตครอบครัวส่วนพระองค์และงานวิชาการที่ทรงโปรดปรานมาเป็นอันดับแรก จะทรงนำพาความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ตามกระแสโลกมาสู่สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นได้หรือไม่

กษัตริย์มาเลเซีย
กษัตริย์มาเลเซีย

ส่วนในมาเลเซียนั้น สุลต่านอับดุลเลาะห์ แห่งรัฐปะหัง ทรงได้รับเลือกจากสภาผู้ปกครองมาเลเซีย ให้เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่ และประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

สุลต่านอับดุลเลาะห์ ทรงเป็น “ยังดีเปอร์ตวนอากง” หรือ กษัตริย์ ลำดับที่ 16 ของมาเลเซีย ต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 ที่ทรงประกาศสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 6 ม.ค. หลังจากครองราชย์ได้ 2 ปี ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มาเลเซียที่กษัตริย์ประกาศสละราชสมบัติก่อนถึงวาระครบกำหนด 5 ปี

ราชวงศ์ในยุโรป

รอบปีนี้ราชวงศ์วินด์เซอร์ของอังกฤษ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นราชวงศ์ที่โด่งดังและถูกเฝ้าจับตามองมากที่สุดในโลก ก็มีข่าวคราวปรากฏอยู่ตามสื่อเกือบตลอดทั้งปี ทั้งข่าวดีและเรื่องราวอื้อฉาวที่สั่นคลอนชื่อเสียงของราชวงศ์

ในปีนี้ราชวงศ์วินด์เซอร์ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ “อาร์ชี แฮร์ริสัน เมานต์แบตเทน-วินด์เซอร์” พระโอรสในเจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ และ เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชายา ที่ประสูติเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นองค์รัชทายาทลำดับที่ 7 แห่งราชบัลลังก์อังกฤษ

แม้ 2562 จะเป็นปีที่น่ายินดีสำหรับเจ้าชายแฮร์รี และเมแกน พระชายา แต่ก็เป็นปีที่ทั้งคู่ต้องเผชิญมรสุมลูกใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ทั้งสองพระองค์ใช้เงินจากภาษีประชาชนไปในการบูรณะ ฟร็อกมอร์ คอตเทจ (Frogmore Cottage) พระตำหนักที่ประทับแห่งใหม่ไปราว 2.4 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 94 ล้านบาท รวมทั้งเรื่องที่ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ทรงเปิดศึกฟ้องร้องดำเนินคดีต่อหนังสือพิมพ์เมลออนซันเดย์ ฐานเผยแพร่จดหมายส่วนพระองค์ที่ส่งถึงนายโธมัส มาร์เคิล บิดา โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เจ้าชายแฮร์รีระบุว่า สื่อแท็บลอยด์ทำข่าวโจมตีพระชายาของพระองค์อย่างไม่หยุดหย่อนตลอดช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงที่ทรงครรภ์ และช่วงที่เลี้ยงดูพระโอรส
เจ้าชายแฮร์รีระบุว่า สื่อแท็บลอยด์ทำข่าวโจมตีพระชายาของพระองค์อย่างไม่หยุดหย่อนตลอดช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงที่ทรงครรภ์ และช่วงที่เลี้ยงดูพระโอรส

ด้านเจ้าชายแฮร์รี ทรงออกแถลงการณ์ตำหนิสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ที่ออกข่าวเชิงลบโจมตีพระชายาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงที่ทรงครรภ์ และช่วงที่เลี้ยงดูพระโอรส พร้อมแสดงความกังวลว่าจะเกิด “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระมารดาที่สิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กรุงปารีสเมื่อปี 1997 หลังถูกบรรดาปาปารัสซีขับขี่รถจักรยานยนต์ตามไล่ล่าถ่ายภาพพระองค์

หลังมีข่าวพิพาทกับสื่อมวลชนได้ไม่นาน เจ้าชายแฮร์รีและพระชายาก็ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งอีกครั้ง หลังทรงออกสารคดี Harry & Meghan: An African Journey ทางช่องไอทีวีของอังกฤษ โดยดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ทรงเผยถึงความยากลำบากที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากสื่อหัวสี

ในขณะที่เจ้าชายแฮร์รี ทรงประกาศจะปกป้องครอบครัวของพระองค์ไม่ให้ถูกสื่อระรานจนเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยพระมารดาขึ้นมาอีก นอกจากนี้ ยังตรัสถึงเรื่องสุขภาพจิต และทรงยอมรับว่าพระองค์กับเจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ พระเชษฐา ไม่ได้สนิทสนมกันเหมือนเดิมแล้ว ตอกย้ำกระแสข่าวเรื่องความแตกแยกระหว่างสองพี่น้องที่มีออกมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้

ส่วนสมาชิกราชวงศ์อังกฤษอีกคนที่มีข่าวฉาวส่งท้ายปลายปีก็คือ เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก พระราชโอรสองค์กลางในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองที่มีข่าวพัวพันกับนายเจฟฟรีย์ เอปสตีน นักการเงินทรงอิทธิพลที่ฆ่าตัวตายในเรือนจำ ระหว่างรอพิจารณาคดีค้าประเวณีเด็กหญิงเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

เมื่อเดือน พ.ย. เจ้าชายแอนดรูว์ ได้ประทานสัมภาษณ์พิเศษในรายการนิวส์ไนท์ ของบีบีซีเป็นที่แรก ถึงกรณีอื้อฉาวที่ทรงไปเกี่ยวข้องกับนายเอปสตีน และข้อกล่าวหาของนางเวอร์จิเนีย จุฟเฟร ชาวอเมริกันวัย 36 ปี ซึ่งระบุว่าเธอถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับเจ้าชายแอนดรูว์ ขณะเป็นผู้เยาว์ 3 ครั้ง ระหว่างปี 2001-2002

ในการให้สัมภาษณ์กับรายการนิวส์ไนท์ เจ้าชายแอนดรูว์ ทรงยอมรับว่า”ทำผิด”และทำราชวงศ์ “ผิดหวัง”ที่ยังทรงคบค้าสมาคมกับบุคคลอย่างนายเอปสตีนต่อ แม้ว่าเขาได้ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดทางเพศเมื่อปี 2008 อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงปฏิเสธข้อกล่าวหาของนางจุฟเฟรอย่างสิ้นเชิง

หลายฝ่ายมองว่าบทสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็น “หายนะทางภาพลักษณ์” ของพระองค์มากกว่าการลบล้างข้อกล่าวหา ส่งผลให้ในเวลาต่อมาเจ้าชายแอนดรูว์ทรงประกาศงดเว้นการปฏิบัติพระกรณียกิจ “ไปสักระยะ” อีกทั้งยังทำให้บริษัทหลายแห่งประกาศยุติการสนับสนุนองค์กรการกุศลที่พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์

ขณะเดียวกัน ผู้หญิง 5 คนที่ระบุว่าเคยตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศของนายเอปสตีน ได้ออกมาเปิดเผยว่า เจ้าชายแอนดรูว์ทรงเคยเห็นเด็กสาวให้บริการ “นวด” แก่ลูกค้าที่บ้านพักของนายเอปสตีน

ด้านทนายความของผู้หญิงทั้งห้าได้เรียกร้องให้เจ้าชายแอนดรูว์เข้าให้การต่อทางการสหรัฐฯ และเตรียมเดินเรื่องให้ศาลมีคำสั่งเรียกพระองค์เข้าให้การในฐานะพยานในคดีความของผู้หญิงทั้งห้าคนนี้ โดยชี้ว่า เจ้าชายแอนดรูว์น่าจะมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีของนายเอปสตีน

พระราชโองการของกษัตริย์สวีเดนนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ราชวงศ์
พระราชโองการของกษัตริย์สวีเดนนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ราชวงศ์

ส่วนราชวงศ์แห่งสวีเดน ได้ปรับตัวเองไปตามโลกยุคปัจจุบัน หลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพระราชวงศ์ที่เพิ่มจำนวนขึ้น และรัฐบาลต้องถวายเงินรายปีเพื่อการออกปฏิบัติพระกรณียกิจมากขึ้น

กระแสสังคมดังกล่าวส่งผลให้ สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ มีพระราชโองการให้ถอดพระราชนัดดา (หลาน) 5 พระองค์จากการเป็นพระบรมวงศ์ ซึ่งหมายความว่าพระราชนัดดาทั้งห้าจะไม่ได้ดำรงพระยศเป็นสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูง ที่จะต้องออกปฏิบัติพระกรณียกิจต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ รวมทั้งจะไม่ได้รับเงินรายปีที่รัฐบาลจัดถวายจากเงินภาษีของประชาชนอีกด้วย

พระราชนัดดา 5 พระองค์ที่พ้นจากการเป็นพระบรมวงศ์ (Royal House) จะไม่ได้ดำรงพระยศขั้น HRH (His/Her Royal Highness) อีกต่อไป แต่ยังคงนับว่าเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงในราชวงศ์สวีเดนอยู่ และจะยังคงมีฐานันดรเป็นดยุคหรือดัชเชสอยู่เช่นเดิม

พระราชโองการนี้ไม่ได้หมายรวมถึงพระราชโอรสและพระราชธิดาในเจ้าหญิงวิกตอเรีย องค์มกุฎราชกุมารี ซึ่งเป็นผู้สืบสันตติวงศ์สายตรง

ราชวงศ์ในตะวันออกกลาง

ตลอดปี 2562 คงไม่มีสมาชิกราชวงศ์ตะวันออกกลางชาติใดที่ถูกจับตามองจากผู้คนทั่วโลกได้เท่ากับ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ที่นับแต่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารเมื่อ 2 ปีก่อน ก็ทรงก้าวขึ้นมามีบทบาทเป็น “ผู้ปกครองสูงสุดในทางพฤตินัย” ของซาอุดีอาระเบีย และทรงพยายามแผ่ขยายอิทธิพลในเวทีโลก

จ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย มีบทบาทเป็น “ผู้ปกครองสูงสุดในทางพฤตินัย” ของซาอุดีอาระเบีย
จ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย มีบทบาทเป็น “ผู้ปกครองสูงสุดในทางพฤตินัย” ของซาอุดีอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม มกุฎราชกุมารผู้ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามย่อ MBS กลับทรงเผชิญข่าวเชิงลบมากมายในรอบปีนี้ จากกรณีอื้อฉาวการฆาตกรรม นายจามาล คาชูจกิ นักข่าวและนักวิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถูกสายลับของซาอุดีอาระเบียสังหารในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูล ของตุรกี เมื่อเดือนตุลาคมปี 2561

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ทรงตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้บงการให้สังหารนายคาชูจกิ โดยเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ซึ่งได้รับเชิญจากทางการตุรกีให้เข้าฟังเทปที่ดักฟังขณะเกิดเหตุในสถานกงสุล ระบุว่า ข้อสรุปที่ได้คือ “เป็นเรื่องแน่นอนระดับกลางถึงสูง” ว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด ทรงอยู่เบื้องหลังการสังหารนี้

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ ระบุว่ามีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการอีกหลายคน ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนายคาชูจกิ

ในเวลาต่อมา เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ทรงปฏิเสธไม่ได้ออกคำสั่งให้สังหาร นายคาชูจกิ อย่างไรก็ตาม ทรงขอรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้นในฐานะผู้นำประเทศ

เจ้าหญิงฮายา หลบหนีพระสวามีออกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปอยู่ในกรุงลอนดอน
เจ้าหญิงฮายา หลบหนีพระสวามีออกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปอยู่ในกรุงลอนดอน

อีกราชวงศ์ในตะวันออกกลางที่ตกเป็นข่าวครึกโครมไม่แพ้กันก็คือ เชค โมฮัมเหม็ด บิน อัล มักตูม เจ้าผู้ครองนครดูไบ และเจ้าหญิงฮายา บินต์ อัล ฮุสเซน พระชายา ซึ่งได้เริ่มกระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายเรื่อง “สวัสดิภาพของพระโอรสและพระธิดา” ของทั้งคู่ที่ศาลสูงในกรุงลอนดอน หลังจากเจ้าหญิงฮายา ทรงพาพระโอรสและพระธิดาหลบหนีพระสวามีออกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ไปพำนักในกรุงลอนดอนเมื่อช่วงกลางปีนี้

เชค โมฮัมเหม็ด พระชันษา 69 ปี หนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลและร่ำรวยที่สุดในโลก ทรงโพสต์บทกวีผ่านทางอินสตาแกรมซึ่งมีเนื้อหาเกรี้ยวกราดกล่าวหา “หญิงนิรนาม” ว่าเป็นผู้ “ทรยศและหักหลัง”

ในขณะที่เจ้าหญิงฮายา พระชันษา 45 ปี พระชายา “คนสุดท้อง” ของเจ้าผู้ครองนครดูไบ ตรัสว่าทรงวิตกเรื่องความปลอดภัยในชีวิตหลังหลบหนีออกมา

แหล่งข่าวใกล้ชิดหลายรายเปิดเผยว่า เจ้าหญิงฮายา ทรงหลบหนีออกมา เพราะได้ทราบข้อเท็จจริงที่น่าตกใจเบื้องหลังเหตุการณ์ที่เจ้าหญิงลาติฟา พระธิดาของเชค โมฮัมเหม็ด ทรงถูกบังคับนำตัวกลับดูไบ หลังทรงหลบหนีออกจากวังด้วยความหวังจะขอลี้ภัยในต่างแดน เพื่อแสวงหาชีวิตที่มีอิสระ เมื่อปี 2561

องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนดำเนินโครงการ FreeLatifa เพื่อเรียกร้องให้สหประชาชาติกดดันยูเออีให้ปล่อยตัวเจ้าหญิง ขณะที่ทางการยูเออี ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเจ้าหญิงลาติฟา โดยอ้างว่าเจ้าหญิงพำนักอยู่ที่พระราชวังกับครอบครัวของพระองค์

นี่คือเรื่องราวข่าวเด่นของราชวงศ์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นในรอบปี 2562 ซึ่งบีบีซีไทยคัดสรรมาให้อ่านกัน ติดตามข่าวสารและสาระน่ารู้ที่เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศได้ทางเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก ของบีบีซีไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0