โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

กลยุทธ์แบ่งไม้ซื้อหุ้นคุณค่า ช่วงตลาดขาลง

SET ตลาดหลักทรัพย์ฯ

อัพเดต 04 เม.ย. 2563 เวลา 10.23 น. • เผยแพร่ 04 เม.ย. 2563 เวลา 10.23 น. • SET Education

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยลบจะยังคอยรบกวนบรรยากาศการลงทุน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจัยทั้งหลายจะทำให้ราคาหุ้นหลายตัว รวมถึงหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง หุ้นปันผล หรือหุ้นคุณค่า ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

มีคำถามตามมาว่า ราคาหุ้นที่ปรับลดลงระดับนี้ควรช้อนซื้อหรือไม่ เพราะนักลงทุนเริ่มมองว่าน่าจะเป็นราคา “ใกล้ Low มากที่สุด” แต่ในโลกการลงทุนไม่มีใครประเมินตลาดหุ้นได้อย่างแม่นยำ เพราะฉะนั้น กลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ ค่อยๆ ทยอยซื้อ หรือเรียกว่า แบ่งไม้ซื้อ

 

การแบ่งไม้ซื้อหุ้น จะได้ผลก็ต่อเมื่อนักลงทุนมองว่า

1. ราคาหุ้นยังมีโอกาสปรับลดลงได้อีก

2. ไม่รู้ว่าราคาต่ำสุด (Low) อยู่ตรงไหน

 

ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องอาศัยกลยุทธ์ถอยรับลงไปเรื่อยๆ คือ แบ่งซื้อหลายๆ ไม้ ซึ่งวิธีที่นิยม ได้แก่

 

1. ดูสถิติราคาย้อนหลัง

ก่อนตัดสินใจแบ่งไม้ซื้อ อาจกลับไปดูสถิติราคาหุ้นย้อนหลังในช่วงเกิดวิกฤติรอบที่ผ่านมา เช่น วิกฤติซับไพร์ม ว่าปรับลดลงไปในลักษณะแบบไหนและลดลงต่ำสุดที่เท่าไหร่

 

เช่น หุ้น XYZ ซื้อขายที่ระดับราคา 100 บาท และเมื่อเกิดวิกฤติซับไพร์ม ราคาปรับลดลงอย่างรวดเร็วไปซื้อขายกันที่ 80 บาท จากนั้นราคาก็ปรับลดลงไปที่ 70 บาท และอีกไม่กี่วันก็ไปซื้อขายที่ราคา 50 บาท ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด

 

ดังนั้น กลยุทธ์การแบ่งไม้ซื้อหุ้น XYZ ในช่วงวิกฤติเชื้อไวรัส COVID-19 คือ ไม้แรกให้ซื้อที่ราคาแถวๆ 80 บาท ถ้าราคายังปรับลดลง ไม้ที่สองก็ซื้อที่ราคา 70 บาท และหากราคายังปรับลดลงต่อก็ให้รอซื้อเป็นไม้สุดท้ายที่ราคา 50 – 55 บาท 

 

อย่างไรก็ตาม วิกฤติรอบนี้ไม่รู้ว่าจะควบคุมเชื้อไวรัส COVID-19 ได้เมื่อไหร่ ดังนั้น นักลงทุนอาจแบ่งไม้ซื้อ ซึ่งเป็นไม้ที่ 4 ในราคาต่ำกว่าราคาที่เคยต่ำสุดของวิกฤติรอบก่อนหน้าก็ได้ เช่น 40 – 45 บาท  

 

2. วิเคราะห์ทางเทคนิค

นอกจากดูสถิติราคาหุ้นย้อนหลังในช่วงเกิดวิกฤติรอบที่ผ่านมาแล้ว อีกกลยุทธ์หนึ่งที่นิยม คือ การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค โดยใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) รายสัปดาห์เป็นหลักในการวิเคราะห์ ด้วยการตีเส้นหาแนวรับแต่ละระดับตามจำนวนไม้ที่แบ่งซื้อ เช่น มีเป้าหมายแบ่งซื้อ 4 ไม้ ก็หาแนวรับที่ 1, 2, 3 และ 4 เป็นต้น

 

จากนั้นก็แบ่งเงินลงทุนตามแนวรับ (สมมติว่ามีเงินลงทุน 300,000 บาท) โดยแนวรับที่ 1 ซื้อ 10% ของวงเงินลงทุน (30,000 บาท) เมื่อราคาหุ้นปรับลดลงมาชนแนวรับที่ 2 ก็ซื้อ 15% ของวงเงินลงทุน (45,000 บาท) ถ้าราคาหุ้นลดลงสู่แนวรับที่ 3 ก็ซื้อ 25% ของวงเงินลงทุน (75,000 บาท) และถ้าราคาลดลงมาถึงแนวรับที่ 4 ก็ซื้อ 50% ของวงเงินลงทุน (150,000 บาท)

 

เมื่อถึงแนวรับที่ 4 นักลงทุนก็ซื้อหุ้นได้ครบตามวงเงินลงทุนที่วางเอาไว้ และสังเกตว่าถ้าราคาหุ้นปรับลดลงมาถึงแนวรับที่ 4 จะซื้อหุ้นครั้งนี้ได้ในราคาต้นทุนต่ำที่สุด ดังนั้น จึงควรแบ่งเงินลงทุนให้กับไม้สุดท้ายในจำนวนมากกว่าการซื้อไม้อื่นๆ

 

เหมาะกับหุ้นประเภทไหน

กลยุทธ์แบ่งไม้ซื้อหุ้น คือ การมองว่าหุ้นที่ซื้อไปนั้น “ราคาสูงไป” และราคาหุ้นมีโอกาสปรับลดลงได้อีก จึงต้องแบ่งเงินลงทุนออกเป็นหลายๆ ก้อน ดังนั้น อาจเหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญต้องเน้นลงทุนหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี หุ้นปันผล หุ้นคุณค่า และเน้นลงทุนระยะยาว เพียงแต่ว่าในช่วงวิกฤติ ราคาหุ้นเหล่านี้ปรับลดลงตามสถานการณ์โดยรวม ขณะที่พื้นฐานการดำเนินธุรกิจในระยะยาวไม่เปลี่ยนแปลง

 

ยกตัวอย่างเช่น ซื้อหุ้น XYZ เพราะให้อัตราปันผลตอบแทน (Dividend Yield) 5% ต่อปี แต่เมื่อเกิดวิกฤติ ราคาหุ้น XYZ ปรับลดลง ทำให้อัตราปันผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 7% ก็ควรซื้อหุ้นตัวนี้เพิ่ม และหากราคาหุ้นปรับลดลงไปอีกก็ซื้อเพิ่ม เพราะเป้าหมายของการลงทุน คือ เงินปันผล แต่จะทำการขายหุ้น XYZ ก็ต่อเมื่ออัตราปันผลตอบแทนต่ำกว่า 5%

 

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจใช้กลยุทธ์แบ่งไม้ซื้อ อันดับแรกต้องคัดกรองหุ้นให้ได้ก่อน โดยต้องเป็นหุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง สามารถถือลงทุนในระยะยาวได้ หรือเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น จึงสังเกตเห็นว่ายิ่งราคาหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีปรับลดลง นักลงทุนยิ่งต้องการซื้อ เพราะเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ราคาหุ้นก็จะปรับขึ้นได้

 

ตรงกันข้ามถ้าเลือกหุ้นที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ธุรกิจอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติและไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าแบ่งไม้ซื้อกับหุ้นที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ นักลงทุนมีโอกาสติดหุ้นได้

 

หมายเหตุ: บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

 

ฐิติเมธ โภคชัย

ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

อ่านบทความอื่นๆ ต่อได้ที่ >> https://setga.page.link/ds4rghK8pyNH5ZUZ6

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0