โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

กฤศธนัช ทำนาค : เจ้าของอาณาจักรร้านของเล่นที่ได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูนสึบาสะ

Main Stand

อัพเดต 30 ม.ค. 2563 เวลา 09.50 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง

พูดถึงการ์ตูนฟุตบอล คงไม่มีใครไม่นึกถึง “กัปตันสึบาสะ” การ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่นที่สร้างอิทธิพลและแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนมากมายทั่วโลก 

 

ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เด็กชายจำนวนนับล้าน เอ่ยปากอยากเป็นนักฟุตบอล ทันทีที่ได้จับการ์ตูนกัปตันสึบาสะ แต่ชายหนุ่มคนหนึ่งในประเทศไทย ใช้แรงบันดาลใจที่ได้จากกัปตันสึบาสะ เปิดร้านของเล่นเป็นของตัวเอง

พบกับเรื่องราวของ เต้ - กฤศธนัช ทำนาค ชายหนุ่มผู้เปิดร้านขายของเล่น ที่กล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่ามีความสุขกับชีวิตในทุกวันของการทำงาน

การ์ตูน “กัปตันสึบาสะ” มอบแรงบันดาลใจอะไรให้แก่ผู้ชายคนนี้ เราเดินทางมาถึงออฟฟิศย่านธนบุรี เพื่อรับฟังคำตอบทั้งหมดจากปากของเขาเอง

 

สึบาสะย่านฝั่งธน

“ผมเริ่มชอบอ่านการ์ตูนตอนอยู่มัธยม ตอนนั้นผมเรียนอยู่โรงเรียนทวีธาภิเศก มันเป็นโรงเรียนชายล้วน แถวนั้นเลยมีร้านขายการ์ตูนเยอะ เพื่อนสนิทคนหนึ่งเป็นคนแนะนำให้ผมเสียเงินซื้อหนังสือการ์ตูน ผมก็เริ่มอ่านการ์ตูนมาตั้งแต่ตอนนั้น” กฤศธนัช ทำนาค กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่หลงรักการ์ตูนญี่ปุ่น

“ตอนนั้นเป็นยุค 80’s การ์ตูนดังมันก็มีเยอะ ซิตี้ฮันเตอร์, หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ, ขุนพลประจัญบาน, คินิคุแมน, เซนต์ไซย่า คือการ์ตูนสมัยก่อน มันสนุกทุกเรื่องจริงๆ มีน้อยมากที่จะไม่สนุก ผมเลยซื้อการ์ตูนอ่านเป็น 10 เรื่อง”

“ผมเก็บหนังสือการ์ตูนเยอะมาก เก็บเป็นงานอดิเรกเลยละ ด้วยความที่ผมชอบการ์ตูนมาก ผมซื้อการ์ตูนมาอ่าน ผมไม่เช่าเหมือนคนอื่น เพราะผมคิดว่าถ้าผมเก็บการ์ตูนที่อ่านตอนเด็กไว้เยอะๆ พอเวลาผ่านไป ถ้าผมแก่ ผมจะเอาการ์ตูนพวกนี้มาตีพิมพ์ใหม่”

ย้อนกลับไปในยุค 80’s การ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศไทยกำลังรุ่งเรืองสุดขีด เนื่องด้วยช่วงเวลานั้น การถือครองลิขสิทธิ์ถูกต้องยังไม่เข้มงวด การ์ตูนญี่ปุ่นทุกเรื่องที่ว่าเด่นว่าดี จึงหลั่งไหลเข้ามาตีพิมพ์ในประเทศไทยเป็นเทน้ำเทท่า การ์ตูนเรื่องเดียวกัน ถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ถึงสามสำนัก ออกวางแผงต่อเนื่องกันชนิดว่าคนอ่านแทบจะติดตามกันไม่ไหว

คอบร้า เห่าไฟสายฟ้า, ไอ้เขี้ยวเงิน, เซนต์ไซย่า หรือ เทพเจ้าหมัดดาวเหนือ ทั้งหมดนี้คือการ์ตูนที่วัยรุ่นในยุค 80’s ทุกคนต้องรู้จัก กฤศธนัช เปิดเผยว่าเขาเก็บหนังสือการ์ตูนเรื่องเหล่านี้ทุกเล่ม แต่ถึงกระนั้น รายชื่อการ์ตูนทั้งหมดที่กล่าวมา ยังไม่ใช่การ์ตูนหมายเลขหนึ่งในใจของ กฤศธนัช แต่อย่างใด

“ผมเป็นคนชอบเตะฟุตบอล ตอนนั้นผมเตะเพื่อจะเข้าสังคม คือผมอยู่โรงเรียนชายล้วน มันต้องมีกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อน เอาง่ายๆเลย คุณก็ต้องไปเล่นบอล”

“ตอนแรกผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมชอบเล่นตำแหน่งอะไร แต่ผมชอบเล่นฟุตบอลนะ ก็อยากลองหาการ์ตูนเกี่ยวกับฟุตบอลอ่านดู เลยไปถามเพื่อนสนิทที่อ่านการ์ตูนมาก่อนว่า การ์ตูนฟุตบอลเรื่องไหนคือเบอร์หนึ่ง”

“เพราะสมัยก่อนผมก็ไม่ได้มีฐานะดี เวลาซื้อการ์ตูนมันก็ต้องเลือก แล้วร้านการ์ตูนมันไม่ให้เปิดอ่านก่อน ถ้าเพื่อนบอกว่าเล่มนี้ดี ผมก็ต้องเชื่อ เพราะเขาซื้อมาก่อน อ่านมาก่อน”

“เพื่อนผมเขาก็แนะนำการ์ตูนบอลให้รู้จัก คือตอนนั้นมันมีอยู่สามสี่เรื่อง แล้วมันยังไม่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง การ์ตูนมันก็ออกมาเยอะ มีทั้ง อิตโต้ นักเตะเลือดกังฟู, ชิเงรุ นักเตะจอมทะเล้น อะไรพวกนี้ แต่ผมเลือกอ่านได้แค่เล่มเดียว เพื่อนก็บอกว่า กัปตันสึบาสะ ดีที่สุด ผมก็เลยเลือกซื้อกัปตันสึบาสะ”

ทันทีที่ กฤศธนัช เปิดอ่าน กัปตันสึบาสะ เขาตกหลุมรักมันแบบถอนตัวไม่ขึ้น ทั้งเนื้อเรื่องแสนเข้มข้น, ท่าไม้ตายสุดเวอร์วังอลังการ และ มิตรภาพของผองเพื่อนทีมชาติญี่ปุ่น ที่ร่วมฝ่าฝันอุปสรรคเพื่อความฝัน 

เรื่องราวทั้งหมดที่อัดแน่นอยู่ในหนังสือการ์ตูน กัปตันสึบาสะ จึงเหมือนกระจกที่สะท้อนภาพจินตนาการของ กฤศธนัช ให้แสดงออกมาผ่านหนังสือการ์ตูนที่วางอยู่เบื้องหน้า

“พอผมได้อ่านสึบาสะ คราวนี้พอกลับไปเล่นฟุตบอล ผมอยากทำอย่างในการ์ตูน ก็จะมีการแย่งกันว่า ใครจะเป็นตัวละครไหน ผมอยากเป็นแบบสึบาสะ ผมก็จองเป็นสึบาสะตลอด ส่วนเพื่อนสนิทผม ก็ต้องเป็นมิซากิ เพื่อนสึบาสะไป”

“จากที่ไม่เคยรู้ว่าอยากเล่นตำแหน่งไหน หลังจากนั้น ผมเล่นกองหน้าตลอด เพราะสึบาสะเล่นกองหน้า ผมเป็นสึบาสะ ผมก็ต้องเล่นกองหน้า มันเป็นอารมณ์ว่า ผมอยากยิงประตูได้แบบสึบาสะ อยากดูเท่ห์แบบสึบาสะ อะไรประมาณนี้”

 

นักวาดหน้าปกการ์ตูน

เวลาผ่านไป ความชื่นชอบในการ์ตูนญี่ปุ่นของกฤศธนัช ค่อยพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ จากเด็กชายที่ชอบอ่านหนังสือการ์ตูน กลายเป็นซื้อหนังสือการ์ตูนเก็บสะสม กลายเป็นคนที่เลียนแบบคาแรกเตอร์การ์ตูนในสนามบอล ไม่นานนัก กฤศธนัชก้าวไปสู่บันไดขั้นต่อไปที่คนรักการ์ตูนทุกคนต้องเคยผ่าน นั่นคือการวาดการ์ตูนเป็นของตัวเอง

“ผมคิดว่าเวลาอ่านการ์ตูน มันสนุกมาก แล้วผมวาดรูปได้ ผมก็ถามตัวเองว่า ทำไมไม่ลองเขียนการ์ตูนมาแจกเพื่อนอ่าน”

“ผมก็เขียนการ์ตูนขึ้นมา เล่มหนึ่งยาวแค่เจ็ดหรือแปดหน้า เสร็จแล้วก็เอาไปถ่ายเอกสาร ขายเล่มละบาท เพื่อนผมมันก็ชอบนะ อ่านจบแล้ว มันก็จะมาขอให้ผมเขียนต่อ ผมก็เขียนต่อไปเรื่อยๆ”

“การ์ตูนตอนนั้นที่ผมวาด มันผสมผสานกันมั่วเลยนะ (หัวเราะ) เรื่องเดียวมีทุกแนว ทั้งกีฬา ทั้งแนวฮีโร่ ผมผสมเข้ากันหมด หน้าตาเป็นสึบาสะ มีกล้ามแบบเคนชิโร่ (ตัวละครในเทพเจ้าหมัดดาวเหนือ) ใส่เกราะเซนต์ไซย่า ทุกอย่างที่ชอบมันมารวมกันหมด”

“ผมเคยเขียนสึบาสะเจอกับทีมคนไทยด้วยนะ คือมันไม่มีใครเขียนให้เราได้ แล้วผมก็เขียนการ์ตูนได้ ผมก็เขียนเอง ผมจำได้ว่าเคยเขียนทีมโรงเรียนทวีธาภิเศกเจอกับทีมของสึบาสะ เอาเพื่อนในชีวิตจริงของผมเนี่ยแหละ มาเป็นตัวละครเจอกับสึบาสะในการ์ตูนที่เราเขียน”

หยดหมึก และ ลายเส้น ที่บรรจงลงไปในแผ่นกระดาษ ค่อยๆก่อสร้างความฝันใหม่ในใจของกฤศธนัช จากการเขียนการ์ตูนแจกเพื่อนอ่านขำๆ 

กฤศธนัชเบนเป้าเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักวาดการ์ตูนอย่างเต็มตัว หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศีกษาปีที่ 3 กฤศธนัชบอกลากลุ่มเพื่อนที่ผูกพันในโรงเรียนทวีทาภิเศก เพื่อเดินหน้าสู่การเรียนศิลปะในสายอาชีพอย่างเต็มตัว

“ผมเติบโตมาในครอบครัวข้าราชการทหาร ซึ่งผมไม่ชอบ ผมมองว่ามันเป็นงานที่ซีเรียสเกินไป คราวนี้พอผมวาดรูปได้ ผมเลยรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพที่ใกล้ตัว ผมทำมันได้โดยที่ใช้แค่ความสามารถตัวเอง”

“วันหยุด ปิดเทอม ผมวาดรูปส่งประกวดตลอด ส่งไปทุกรายการที่เขามีประกวดนั่นแหละ คือใจผมมันไปด้านนั้น ผมทำงานอะไรก็ได้ที่มันเกี่ยวกับการ์ตูน เพราะผมชอบอ่านการ์ตูน”

“ความฝันแรกของผม คือผมอยากมีโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง เพราะผมคิดว่าถ้าผมได้เปิดโรงพิมพ์ ผมก็ได้วาดรูป ได้เขียนการ์ตูน เอาง่ายๆคือมันเหมือนได้ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เราชอบ อันนั้นมันคือความฝันแรกของผม ผมคิดว่าถ้าผมได้มัน ผมคงอยู่กับมันได้เต็มร้อย”

เมื่อคนเราเติบโตขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง จึงจะรู้ว่าชีวิตจริงไม่ได้เป็นเหมือนดั่งฝันเสมอไป กฤศธนัช รู้ความจริงข้อนี้ดีเมื่อเข้ามาศึกษาในระดับปวช. เขาถูกตัดขาดจากครอบครัว เนื่องจากที่บ้านไม่สนับสนุนให้เรียนสายศิลปะ

กฤศธนัชจึงต้องเริ่มต้นหาเงินมาใช้จ่ายด้วยตัวเอง แม้ว่าจะยังเรียนไม่จบ ความฝันในการเปิดโรงพิมพ์กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เขาไม่มีเงินทุนมากขนาดนั้น อันที่จริงแม้แต่เงินซื้อดินสอหรือสีมาวาดรูป กฤศธนัชยังหาได้ลำบาก 

เขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นที่จะประคองตัวเองอยู่บนเส้นทางแห่งความฝัน นอกจากการวาดรูปส่งประกวด ในทุกเวทีที่มีการแข่งขัน

“ก่อนผมจะเรียนจบอาชีวะ ช่วงนั้นมันมีประกวดวาดรูปเยอะมาก ประกอบกับที่ผมไม่ค่อยมีเงิน อยากได้ดินสอ อยากได้สีมาวาดภาพ ผมต้องประกวดเพื่อเอาของพวกนี้มา ผมก็เลยส่งประกวดเรื่อยๆ ได้ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม สลับกันไป”

“ผมส่งประกวดกับสำนักพิมพ์จนจะเรียนจบปวช. ทางสำนักพิมพ์เขาก็เลยเห็นผลงานผมบ่อยมาก วันหนึ่งเขาก็เลยบอกผมว่า คุณไม่ต้องส่งผลงานมาแล้ว เดี๋ยวคุณมาเขียนรูปปกการ์ตูนที่นี่เลย”

ไม่ว่าจะเป็นเพราะฝีมือหรือโชควาสนา กฤศธนัชเขามารับงานเป็นลูกจ้างวาดภาพให้กับบริษัท บริษัท อนิเมท พริ้นท์ แอนด์ ดีไซน์ บริษัทโรงพิมพ์ที่รับตีพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น อันถือเป็นก้าวแรกที่ชักพาให้ กฤศธนัช เข้ามาใกล้ชิดสิ่งที่ตัวเองรัก ในฐานะผู้ประกอบอาชีพที่สามารถหารายได้จากงานตรงนี้ได้จริง

“ตอนไปช่วงแรกผมไมได้เขียนปกการ์ตูนเลยสักทีเดียว ตอนนั้นเขาตีพิมพ์การ์ตูนที่ไม่มีลิขสิทธิ์ ผมก็เข้าไปเขียนภาพประกอบในเล่ม คือตอนนั้นมันจะมีคนเขียนปกประจำอยู่แล้ว แล้วมันจะมีช่วงที่เขาเขียนไม่ทัน ผมก็ไปแทรกเขียนแทนเขา รับจ้างเป็นมือปืนเขียนรูป”

“ช่วงนั้นผมทำงานไม่ได้กลับบ้านเลยนะ ผมก็กินนอนอยู่โรงพิมพ์ เขียนวันละสามปก ปกหนึ่งได้ค่าแรง 500 บาท ผมเขียนสามปกได้เงินวันละ 1,500 บาท แล้ววาดเสร็จเบิกเงินเลย คือในยุค 20 กว่าปีก่อน ถือว่าเป็นงานที่หาเงินง่ายมาก ผมเลยเลิกคิดทำงานในออฟฟิศมาตั้งแต่ตอนนั้น ยึดอาชีพเขียนปกไปนี่แหละ”

กฤศธนัชทำงานวาดปกการ์ตูนอยู่นานหลายปี จนชื่อและผลงานของเขาติดตลาด กฤศธนัชเริ่มรับงานวาดเป็นฟรีแลนซ์ ทำให้เขามีเงินเก็บมากพอสมควร สามารถนำเงินไปซื้อของสะสมต่างๆที่เขาชื่อนชอบ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อวงดนตรี หรือ ของเล่นจากการ์ตูน ได้อย่างสบายแบบไม่ขาดมือ

ชีวิตของกฤศธนัชกำลังไปได้สวย เขาได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก เขาได้มีรายได้ที่ดี แต่อีกไม่นานนัก ชีวิตของเขาจะพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้กฤศธนัชต้องเปลี่ยนมาเดินบนเส้นทางสายอาชีพใหม่ ที่เขาไม่เคยคิดฝันว่าจะทำมาก่อน

 

ขายของเล่นด้วยใจ

“มันมีจุดเปลี่ยนตรงที่ว่า วันหนึ่งลิขสิทธิ์เข้ามา การ์ตูนทั้งประเทศไม่มีปกให้เขียน ตอนนั้นเป็นครั้งแรกในชีวิตเลยนะ ที่ผมรู้สึกว่าตกงาน” กฤศธนัช เล่าถึงช่วงเวลาพลิกผันของชีวิต

พ.ศ. 2535 สำนักพิมพ์แอดวานซ์คอมมูนิเคชัน ส่งจดหมายเตือนไปยังทุกสำนักพิมพ์ในไทย ให้หยุดตีพิมพ์การ์ตูนผิดลิขสิทธิ์ 

การส่งคำเตือนครั้งนั้นสร้างความปั่นป่วนในวงการการ์ตูนไทย หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นหายไปจากแผงหนังสือนาน 8 เดือน ก่อนที่สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ จะซื้อลิขสิทธิ์เรื่อง จิ๋วพลังอึด มาตีพิมพ์เป็นการ์ตูนถูกลิขสิทธิ์เรื่องแรกในประเทศไทย

การ์ตูนผิดลิขสิทธิ์ยังคงตีพิมพ์ได้ต่อเนื่องมาจนถึง วันที่ 21 มีนาคม 2538 ได้มีการประกาศผลบังคับใช้ของกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแก้ไขใหม่ ถือให้การตีพิมพ์การ์ตูนที่ไม่ได้ลิขสิทธิ์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย อาชีพรับจ้างวาดปกการ์ตูน จึงล้มหายตายจากประเทศไทย นับตั้งแต่วันนั้น

“ตอนนั้นบริษัทมีอีกหลายแผนก ผมก็ย้ายไปอยู่แผนกทำโมเดล ชีวิตตอนนั้นมันก็คล้ายพนักงานเงินเดือนทั่วไปแล้ว ทำไปสองสามปี ผมก็เริ่มเบื่อ ผมก็ย้ายงานอีก”

ชีวิตของกฤศธนัชหลังเลิกรับจ้างเขียนปก เหมือนเรือที่แล่นไปตามทะเลแบบไร้จุดหมาย กฤศธนัชทำงานให้กับโรงภาพยนตร์ชื่อดัง และ ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ แต่ไม่ว่าจะไปทำงานที่ใด เขาก็จะอยู่ได้ไม่นาน และตัดสินใจลาออกมาหางานใหม่ เพราะไม่มีงานไหนที่จะทำให้เขามีความสุข เหมือนกับงานวาดปกการ์ตูนได้เลย

“ผมก็ทำหลายอย่างมาก เหมือนผมกำลังหาตัวเองอยู่ แล้วทุกครั้งที่ผมไปทำงานอะไรก็ตามแต่ มันจะมีจุดเหมือนกันว่า ผมกำหนดชีวิตตัวเองไม่ได้ ผมมีงานและเงินเดือนตายตัว มันไม่เหมือนตอนเขียนปกที่เรากำหนดงานและเงินของตัวเองได้ ผมเหมือนชอบอิสระตรงนั้น”

“มันคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมคิดจะออกมาทำอะไรเอง ตอนนั้นก็รู้นะว่ามันยาก จะให้ไปเปิดเฮาส์ทำโฆษณา มันก็ใช้เงินเยอะ ผมก็เลยมองหาสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดตอนนั้น คิดไปมา เราสะสมของเล่นไว้เต็มบ้านเลยนี่ ผมก็เลยตัดสินใจเปิดร้านขายของเล่น”

กฤศธนัชทุ่มเงินเก็บทั้งหมดที่ได้จากชีวิตการทำงาน เช่าแผงขายของเล่นอยู่ที่ตลาดสะพานเหล็กในปี 2542 โดยตั้งชื่อร้านว่า “ไอ แอม ทอยส์” โดยมีคติในการทำร้านขายของเล่นนี้ว่า ของเล่นทุกชิ้นที่เอามาขาย กฤศธนัชจะลงทุนเดินทางไปที่ฮ่องกง เพื่อเลือกของเล่นทุกชิ้นกับมือด้วยตัวเอง

“ผมเป็นคนชอบอ่านการ์ตูน บวกกับทำงานศิลปะด้วย พอผมไปเจอของเล่น ผมจะรู้ว่าของเล่นชิ้นไหนสวย แล้วถ้าเราไปเอามาใครจะซื้อ ผมก็จะเห็นเลยว่าอันไหนสวยไม่สวย อันไหนดีไม่ดี ผมเลือกของเล่นทุกชิ้นที่เอามาขายด้วยตัวเอง”

“ผมไม่รู้นะว่ามันถูกไหม แต่ผมซื้อของเล่นมาขายตามที่ผมชอบ ถ้าของเล่นบางตัว ผมรู้จัก ผมรู้ว่ามันขายได้ แต่ถ้าผมไม่ชอบ ผมก็ไม่เอามาขาย เพราะผมไม่อินกับเขา ผมต้องซื้อของเล่นที่เอามาโม้กับลูกค้าได้ ถ้าโม้กับลูกค้าไม่สนุก มันก็ไม่ดีนะ เพราะเมื่อก่อนลูกค้าชอบคุยกับพ่อค้า ซื้อของเล่นชิ้นหนึ่งต้องคุยกันครึ่งชั่วโมง”

“ช่วงนั้นไอ้มดแดงกลับมาทำใหม่ ผมไม่ชอบเลยนะ ผมชอบมดแดงยุคเก่า พวกยุคโชวะอะไรทำนองนั้น แต่ผมก็ต้องดูมดแดงยุคใหม่ เพราะผมต้องทำการบ้าน ในการที่จะเอาของเล่นพวกนี้มาขาย การ์ตูนบางเรื่องผมต้องไปขุดซีดี ดีวีดี มาดู หรือถามเพื่อนที่ยังดูการ์ตูนอยู่ว่า ไอ้เรื่องนี้มันเป็นยังไง จะได้รู้ว่าการ์ตูนเรื่องไหนดีไม่ดี”

“ผมกล้าพูดเลยว่า ผมรู้จักของเล่นทุกตัวที่ผมเอามาขาย มันไม่เหมือนกับบางคนที่เขาเปิดร้านขายของเล่น แล้วไม่สามารถบอกได้ว่า ของเล่นตัวนี้คืออะไร ที่มามันเป็นอย่างไร มันเป็นจุดที่ทำให้ผมรู้สึกว่าร้านของเล่นที่ผมเปิด เป็นอาชีพที่ตอบโจทย์ที่สุดละ ในอาชีพที่พี่ต้องดำเนินต่อไป”

 

ภาพวาด 140,000 บาท

ด้วยความรักในอาชีพ และ ความใส่ใจที่มีต่อลูกค้าทุกชิ้นที่วางขาย ธุรกิจของกฤศธนัชจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากร้ายขายของเล่นเช่าแผงที่ตลาดสะพานเหล็ก กฤศธนัชเปิดธุรกิจร้าน “Kingdom Come” ผู้ถือลิขสิทธิ์ของเล่นยี่ห้อ Hot Toys ในประเทศไทย สร้างรายได้มหาศาลให้กับธุรกิจของเขาในแต่ละเดือน

กฤศธนัช เปิดเผยกับเราว่า ชีวิตของเขามีพร้อมทุกอย่าง ทั้ง เงินทอง, ความสำเร็จในชีวิต และ การประกอบอาชีพในสิ่งที่ตัวเองรัก 

แต่ถึงแม้ว่าจะมีทุกอย่างรอบกาย กฤศธนัชรู้ดีว่าตัวเขายังมีความฝันในใจที่ต้องการเติมเต็ม ช่องว่างที่เงินหรือของเล่นนับล้าน ก็ไม่อาจเข้าไปอยู่ในส่วนลึกของหัวใจได้

“มันเหมือนกับชอบดารา ชอบนักร้อง ผมก็อยากเจอตัวจริงของอาจารย์ที่วาดการ์ตูนที่ผมชอบ อยากเห็นผลงานจริง อยากไปทานข้าวร่วมกับเขา มันเป็นความฝันในใจผมมาตั้งแต่เด็กเลยนะ” กฤศธนัช เล่าถึงความฝันสูงสุดในจิตใจ

“ช่วงนั้นผมก็เก็บของเล่นเยอะแล้ว เสียเงินซื้อมาเป็นหลักล้าน มันเหมือนกับว่า ผมได้ซื้อของเล่นแล้ว ผมมีทุกอย่างที่ผมอยากได้ แต่มันยังเหลือบางอย่างในใจ ที่มันยังทำให้ผมไปไม่สุด”

“ผมบอกตัวเองตลอดว่า วันหนึ่ง วันหนึ่ง วันหนึ่ง สิ่งที่ผมฝันเอาไว้จะเป็นจริง จนเวลาผ่านไปสิบปีกว่า มันถึงจุดที่ผมมีเงินส่วนหนึ่งที่จะเจียดออกมาทำความฝันของตัวเอง โดยที่ไม่เดือดร้อนทางธุรกิจ เพราะพูดตามตรง มันเหมือนเงินที่เอามาทิ้ง เพราะความฝันของผมมันไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องของกำไร”

“แต่วันนี้ผมมีพร้อมแล้ว มีบริษัทของตัวเอง มีเงินเดือนเลี้ยงพนักงาน ผมไม่ติดหนี้ใคร มันก็น่าจะถึงเวลาแล้ว (ที่จะได้ทำตามความฝัน)”

กฤศธนัช ไม่รอช้า เขาขนเงินจำนวนหนึ่งไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนเรื่อง คอบร้า เห่าไฟสายฟ้า มาทำเป็นของเล่นแบบซอฟต์ ไวนิล กฤศธนัชบอกเล่าความในใจ ว่าตัวเขาชื่อชอบการ์ตูนเรื่องนี้มากแค่ไหนในวัยเด็ก

ความรู้สึกที่พรั่งพรูออกมาอย่างจริงใจของกฤศธนัช ไม่ทำให้เขาได้ลิขสิทธิ์การ์ตูนคอบร้า ไว้ในครอบครองเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เขาได้โอกาสร่วมทานข้าวกับ บูอิจิ เทราซาวะ อาจารย์ผู้เขียนการ์ตูนคอบร้าแบบตัวเป็นๆ

“มันเป็นครั้งแรกที่ผมได้ไปเจอกับนักเขียน คือพอได้เจอตัวจริงอาจารย์เทราซาวะ มันเต็มเติมสิ่งที่ขาดในใจเรามาก คืออาจารย์แกเขียนรูปใส่กระดาษขอบทองให้ผม มันเป็นลายเส้นที่เราเห็นตอนเด็กๆ แล้ววินาทีนั้น อาจารย์กำลังเขียนลายเส้นพวกนี้ต่อหน้าเรา มันเป็นความรู้สึกที่แบบว่า ย้อนกลับไปตอนเด็ก ไม่มีใครเชื่อหรอกว่า เราจะมาอยู่จุดนี้”

“วันนั้นผมไปทำข้าวผัดให้แกกินเลยนะ เรียกว่าแบกข้าวไปผัดให้อาจารย์ทาน แกก็วาดภาพกลับคืนมาให้เรา มันเป็นความรู้สึกที่อิ่มมาก พอผมกลับมาที่ไทย มันมีแรงที่จะสู้ เราต้องทำของเล่นออกมาให้ดี เพราะนี่คือลายเส้นที่อาจารย์เคยมอบให้กับเรา ผมรู้สึกว่ามีไฟ มีกำลังใจที่จะถ่ายทอดผลงานของแกให้ดีที่สุด”

กฤศธนัช สานฝันในวัยเด็กของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เขาทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนในวัยเด็กเข้ามายังประเทศไทย เช่น คินิคุแมน โดยไม่สนใจว่าการ์ตูนที่ซื้อไป จะสร้างผลกำไรตอบแทนกลับมาหรือไม่ เพียงเพื่อให้ลายเส้นที่เคยอ่านเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา กลับมาโลดแล่นบนหน้ากระดาษอีกครั้ง

ช่วงเวลาผ่านมาหลายปี กฤศธนัช เจอนักเขียนการ์ตูนมากมายอีกหลายคน แต่จนแล้วจนรอด เขายังไม่มีโอกาสได้พบกับ โยอิจิ ทาคาฮาชิ นักเขียนการ์ตูนอันดับหนึ่งในใจอย่างกัปตันสึบาสะแบบตัวเป็นๆสักครั้ง จนกระทั่งโอกาสมาเคาะประตูหน้าบ้าน แบบที่ กฤศธนัช ไม่ทันได้ตั้งตัว

“ผมจำได้เลยวันนั้น ผมทำงานอยู่ตรงออฟฟิศที่ท่าพระ แล้วมีพี่ที่ทำงานด้วยกันบอกว่า เดี๋ยวจะไปเขาไปเจออาจารย์ที่เขียนสึบาสะ ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าแกมาเมืองไทยด้วยซ้ำ เพิ่งมารู้วันนั้นเลยว่าจะมีประมูลภาพวาด เจออาจารย์บนเวที” กฤศธนัช ย้อนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าว

“ผมก็ตัดสินใจนั่งวินไปเลย เพราะงานมันจัดแถวรัชดา นั่งรถไปไม่ทันแน่ พอมาถึงที่จัดงานปุ๊บ เกือบ 5 นาที เขาก็เริ่มประมูลภาพแรก ผมคิดในใจเลยว่า ฉิวเฉียดมากเลย (ยิ้ม)”

โยอิจิ ทาคาฮาชิ เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 เพื่อเข้าร่วมงานชมฟุตบอลทีมชาติไทย กับ ทีมชาติญี่ปุ่น ในศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก ซึ่งในงานดังกล่าว อ.ทาคาฮาชิ จะวาดภาพสดขึ้นมา 3 ภาพ เพื่อประมูลหารายได้เข้าการกุศล

“ผมเคยได้รูปลายเซ็นอาจารย์มาแล้วนะ แต่เป็นการซื้อทางออนไลน์ ซึ่งก็แพงอยู่ แต่ไม่ได้แพงขนาดที่ผมจะประมูล คือตอนนี้ผมได้เห็นอาจารย์เขียนสดบนเวที มันเป็นการเขียนเพื่องานนี้ ถ้าเราได้ภาพนี้มา มันก็เหมือนว่าอาจารย์เขียนเพื่อเรา”

“ตอนผมเห็นทั้ง 3 รูปที่อาจารย์วาด ผมก็มีรูปอยู่ในใจแล้ว มันเป็นรูปของสึบาสะกับมิซากิ ซึ่งมันตรงกับเรื่องของผมในวัยเด็ก ที่เวลาเตะบอล ผมต้องเป็นสึบาสะ เพื่อนผมเป็นมิซากิ ผมเลยตั้งใจว่าจะเอาภาพนี้ ภาพอื่นก็ปล่อย ถ้าผมตั้งใจเอาภาพนี้ ต้องภาพนี้เท่านั้น”

ของประมูลชิ้นแล้วชิ้นเล่าผ่านไป กฤศธนัช แฝงตัวเงียบอยู่ในงานโดยไม่ยกมือแม้แต่ครั้งเดียว 

สองภาพแรกที่ อ.ทาคาฮาชิ ถูกประมูลออกไปด้วยราคาไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาททั้งสองภาพ

 จนกระทั่ง ภาพไฮไลต์ของงานถูกนำออกมาวางเบื้องหน้า ภาพของ โอโซระ สึบาสะ กับ มิซากิ ทาโร่ สองเพื่อนซี้ในเรื่องกัปตันสึบาสะ ที่พร้อมเข้าสู่การประมูลในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า กฤศธนัช จึงเผยโฉมต่อหน้าผู้ประมูลรายอื่น

“ผมคิดในใจแล้วว่า เต็มที่ภาพนี้ไม่น่าเกินสามหมื่น เพราะผมเคยเห็นประมูลที่ญี่ปุ่น ภาพเก่ามาก ราคาก็ไม่ถึงแสน แต่ไปมา กลายเป็นว่าภาพที่ผมกำลังประมูล  ราคามันพุ่งไปถึงหนึ่งแสนแล้ว”

“หนึ่งแสนนี่คือราคาที่ผมประมูลไปนะ ผมก็คิดว่าราคานี้ไม่น่ามีใครสู้แล้วละ แล้วดันมีน้องคนหนึ่งที่นั่งอยู่แถวนั้น ประมูลขึ้นมาแสนหนึ่ง วินาทีนั้น ผมก็คิดในใจแล้วว่า เอาไงดีวะ (หัวเราะ)”

“ความจริงคือคือ ผมสามารถเจออาจารย์ทาคาฮาชินอกรอบได้ ให้แกเขียนภาพให้เราได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินขนาดนี้ ด้วยเส้นสายที่มีอยู่มันพอทำได้ แต่ด้วยอารมณ์ตอนนั้นนะ มันต้องไปให้สุด เรายอมไม่ได้”

“ตอนนั้นผมเปิดดูในบัญชีเลยนะว่า ผมสามารถกดเงินสดออกมาได้มากแค่ไหน พอเห็นแล้วว่ามีเงินอยู่แสนสี่ ผมก็ใส่เลยแสนสี่ เพราะถ้ามากกว่านี้ผมไม่มีจ่ายแล้ว คือถ้ามันราคาสูงกว่านี้ คุณเอาไปเลย (หัวเราะ)”

โชคดีของกฤศธนัช ราคาภาพของสึบาสะและมิซากิ หยุดลงที่ 140,000 บาท เขาได้ภาพวาดจากปลายปากกาของโยอิจิ ทาคาฮาชิ ด้วยราคาที่แพงกว่าภาพก่อนหน้านี้ที่ราคาสูงสุดถึง 14 เท่า ซึ่งเป็นราคาที่กฤศธนัชยืนยันมาจนถึงทุกวันนี้ว่า ไม่เสียดายเงินที่จ่ายไปแม้แต่บาทเดียว

“ตอนได้ขึ้นไปรับภาพจากอาจารย์บนเวที ผมรู้สึกเลยว่าเงินทุกบาทที่เสียไป มันกลับคืนมาหมดแล้ว มันเป็นอะไรที่ประทับใจมาก ผมได้รูปนี้จากมืออาจารย์ ได้พูดคุยกับอาจารย์ ได้มองหน้าอาจารย์ เป็นครั้งแรกที่เจอใกล้ๆ มันตื้นตันมาก”

“ผมบอกกับอาจารย์เลยว่า อาจารย์เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผมเป็นอย่างทุกวันนี้ เพราะถ้าผมไม่ชอบการ์ตูน ไม่ได้มีโอกาสได้อ่านกัปตันสึบาสะ ผมก็คงไม่ได้มายืนอยู่จุดนี้ ฝันของผมมันมีหลายอย่างประกอบกัน อาจารย์กับการ์ตูนสึบาสะคือหนึ่งในนั้น ถ้าแกไม่ได้เขียนกัปตันสึบาสะในตอนนั้น ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าชีวิตผมจะเป็นอย่างไร”

“การ์ตูนสึบาสะ ทำให้ผมมีความสุขในการเล่นฟุตบอล ทำให้ผมมีเพื่อนที่คุยกันเรื่องการ์ตูน ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้นี้ชีวิตผมอาจจะเป๋ไปอีกทางหนึ่งเลยก็ได้ แกมีอิทธิพลส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมมาถึงทุกวันนี้ เป็นที่ยึดเหนี่ยวให้ผมเดินต่อไปได้”

 

ทำงานกับสิ่งที่รัก

ทุกวันนี้ กฤศธนัช ยังคงเดินหน้าบนเส้นทางความฝันของตัวเองต่อไป อีกไม่นานจะมีการเปิดแกลลอรี เพื่อจัดโชว์ผลงานภาพของนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างจริงจังในประเทศไทย โดยบริษัท K Productions ที่กฤศธนัชดูแล จะนำนักเขียนการ์ตูนตัวจริงเสียงจริง มาพบปะกับแฟนชาวไทยในอนาคตอันใกล้

ตลอดชีวิตการทำงานที่คลุกคลีกับการ์ตูนมามากกว่า 20 ปี ตั้งแต่นักวาดปกการ์ตูน จนถึง อาชีพ เจ้าของร้านขายของเล่น กฤศธนัช เปิดเผยว่าสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขมากที่สุด ไม่ใช่ผลกำไรที่ได้มาจากการค้าขาย แต่เป็นความสุขที่ได้ตื่นมาทำในสิ่งที่ตัวเองรักทุกวัน โดยไม่คิดหันหลังให้กับมันแม้แต่วินาทีเดียว

“ผมคิดไม่ออก (ว่าจะไปทำงานอย่างอื่น) แล้วผมไม่อยากคิดด้วยนะ แค่ผมคิดว่าผมเป็นทหารเหมือนพ่อผมก็แย่แล้ว (หัวเราะ)” 

“ผมคิดว่าผมโชคดีที่ผมรู้ว่าผมชอบอะไร ผมมีความฝันอะไร มันทำให้ผมอยู่ในเส้นทางนี้ได้ตลอด ผมไม่ได้โดดไปขายประกัน หรืองานอะไรแบบนั้น ผมวาดรูป พ่นสี ระบายสี ขายของเล่น เป็นการ์ตูนมาทั้งชีวิต”

“เมื่อก่อน พูดตามตรง ผมอายนะบอกคนอื่นว่าขายของเล่น เคยบอกคนอื่นว่าขายของสะสม เพราะไม่อยากพูดคำว่าของเล่น แต่สุดท้ายผมรู้ว่า มันเป็นอาชีพที่ผมรัก ถึงคนจะมองว่า ขายของเล่นเพราะไม่มีอะไรอย่างอื่นทำ นึกอะไรไม่ออกก็เปิดร้านขายของเล่น ผมก็กล้าบอกพวกเขาเลยว่า นี่แหละงานของผม”

“ผมสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำงานได้ตลอด 30 วันต่อเดือน เพราะผมทำงานในสิ่งที่ผมชอบ เวลาผมไปญี่ปุ่น ผมก็ไปทำงาน แต่มันเหมือนไปเที่ยว ผมไปซื้อการ์ตูนอ่าน ไปซื้อเสื้อผ้าการ์ตูนสวยๆ ห้องทำงานพี่ก็มีแต่ของเล่น อยู่บ้านผมก็มีอีกเพียบเลยนะ มันก็เหมือนกับทำงานโดยไม่ได้ทำงานตลอด 20 กว่าปี ผมรู้สึกอย่างนั้น”

เรากวาดสายตามองไปรอบห้องทำงานของ กฤศธนัช ความรักที่มีต่อการ์ตูนอยู่ในชีวิตการทำงานอย่างที่เขาว่าไว้ ภาพวาดจากปลายปากกานักเขียนชื่อดัง ยังคงถูกวางใส่กรอบไว้อย่างดี ของเล่นคอบร้าที่ซื้อลิขสิทธิ์มา ยังคงถูกวางไว้บนตู้โชว์ด้านหลัง ของเล่นมากมายถูกวางไว้เต็มห้อง ราวกับเป็นของสะสมไม่ใช่ของที่ซื้อมาเพื่อจำหน่าย

“ผมเปิดร้านขายของเล่น ของเล่นชิ้นไหนที่มันขายไม่ออก ผมก็เล่นมันเอง บางตัวก่อนจะขาย ผมก็จับมันมาประกอบเอง บางคนถามว่าผมไม่ซื้อของเล่นเก็บเหรอ ผมก็บอกเขาว่า ของเล่นที่ร้านนั่นแหละ คือสุดท้ายของเล่นที่ไม่ได้ขาย กลายเป็นของสะสม ส่วนของที่ไม่ได้สะสม ก็คือของที่ขายออกไป”

“ผมแยกชีวิตพี่กับการ์ตูนไม่ออกแล้วอะ สมมติว่าผมปิดร้านขายของเล่น ผมอาจจะไปเปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ แต่มันก็ต้องมีของเล่นตั้งอยู่ในร้าน คือผมหนีจากมันไม่ได้ ถ้าผมมีร้านกาแฟ ภาพวาดที่ผมได้จากอาจารย์ ผมก็คงเอาไปแปะไว้ข้างฝา ผมไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร ถ้าไม่มีของเล่น”

“การ์ตูนมันเหมือนรักแรกพบของผม ผมอ่านสึบาสะมาตั้งแต่มัธยม ทุกวันนี้เวลาผมกลับไปเห็นการ์ตูนพวกนั้น มันเหมือนได้เจอกับญาติ มันเหมือนได้เจอกับครอบครัว ทุกวันนี้มีสินค้าสึบาสะออกใหม่ ผมซื้อเลยนะ ไม่ต้องคิด เพราะผมไม่อยากให้มันหายไป ถ้าผมไม่ชอบสึบาสะจริง ผมคงไม่บ้านั่งวินไปประมูลเสียตั้งเป็นเงินแสน”

“มันเหมือนกับช่วงชีวิตที่ผ่านมา การ์ตูนพวกนี้มันยังอยู่กับผมตลอด มันอาจจะเปลี่ยนจากการ์ตูนเป็นของเล่น หรือกลายเป็นพรีเซนเตอร์ที่แปะอยู่บนสินค้า แต่มันก็ยังเติบโตไปพร้อมกับผม ทุกครั้งที่ผมไปเจอโฆษณาสึบาสะที่ญี่ปุ่น มันให้ความรู้สึกว่า เขายังอยู่นะ เขายังเป็นเพื่อนเราอยู่จนถึงทุกวันนี้ เขาอยู่ในทุกช่วงชีวิตของเราจริงๆ” กฤศธนัช กล่าวทิ้งท้ายถึงอิทธิพลของการ์ตูนสึบาสะ ต่อชีวิตของตัวเขาเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0