โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

กรุงไทยรับลูก "สมคิด" สางหนี้ข้าราชการ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 22 ม.ค. 2563 เวลา 09.34 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. 2563 เวลา 09.34 น.
83095859_108477747261409_2069730231542874112_n

แบงก์กรุงไทย ขานรับนโยบาย “สมคิด” ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการ-อุ้มเอสเอ็มอี เผย เตรียมคุยแบงก์รัฐหาแนวทางช่วยเหลือ ระบุฐานลูกค้าข้าราชการผ่านธนาคารมี 5 ล้านราย พร้อมกางแผนปี 63 โตสินเชื่อ 3-5% ล้อการลงทุนภาครัฐ-หนุนซัพพลายเชน ส่วนรายย่อยชะลอตัว นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้รับมอบนโยบายการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการ และช่วยเหลือธุรกิจธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จากรองนายกสมคิด จาตุศรพิทักษ์ และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งในเรื่องดังกล่าวธนาคารจะนำไปดำเนินการเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือต่อไป อย่างไรก็ดี อาจจะต้องประสานงานพูดคุยกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น เนื่องจากมีลูกจ้างข้าราชการค่อนข้างเยอะ สำหรับธนาคารกรุงไทย มีฐานลูกค้าที่เป็นข้าราชการใช้ใบริการธุรกรรมกับธนาคาร ทั้งในส่วนสวัสดิการเบิกจ่ายรักษาโรงพยาบาล รับเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคาร (Payroll) หรือระบบสวัสดิการอื่นๆ ที่มีอยู่ราว 5 ล้านราย นอกจากนี้อาจจะมีการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคารรัฐแห่งอื่น จึงต้องมีการพูดคุยเพื่อหาแนวทางร่วมกัน “เราต้องคุยกับแบงก์รัฐแห่งอื่นๆ ด้วย เพราะบุคลากรข้าราชการมีกระจายอยู่ จึงต้องหารือร่วมกัน ส่วนแนวทางยังคงไม่ทราบ แต่อาจจะไม่ได้ใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เพราะกรุงไทยนำเงินส่ง 0.47% ของฐานเงินฝาก และเซ็กเมนต์ข้าราชการเป็นเซ็กเมนต์ของเรา” นายผยง กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2563 ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยมองว่าจีดีพีน่าจะขยายตัวได้ระดับ 2.8% คาดว่าสินเชื่อน่าจะเติบโตได้ประมาณ 3-5% ซึ่งทั้งระบบน่าจะโตในระดับดังกล่าว ทั้งนี้ การเติบโตสินเชื่อ 3-5% ยังคงขยายตัวมาจาก 3 ธุรกิจ เนื่องจากธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของระบบสถาบันการเงิน จึงไม่เน้นโฟกัสธุรกิจใดเป็นพิเศษ โดยธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเติบโตล้อไปกับการขยายการลงทุนของภาครัฐและเอกชน เช่น โครงการสร้างถนน ระบบขนส่งคมนาคม และการลงทุนเกี่ยวเนื่อง เป็นต้น อย่างไรก็ดี กรณีที่งบประมาณปี 2563 ที่มีแนวโน้มสะดุด อาจจะส่งผลกระทบการลงทุนบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อการเติบโตสินเชื่อของธนาคารโดยรวม ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังเป็นกลุ่มที่ธนาคารให้ความสำคัญ ทั้งการสนับสนุนการเติบโต และให้ความช่วยเหลือประคองในกลุ่มที่มีปัญหา โดยกลุ่มที่จะเน้นการเติบโตจะเป็นกลุ่มซัพพลายเออร์-ซัพพลายเชน กลุ่มค้าปลีก กลุ่มสุขภาพ และอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายของภาครัฐ (S-Curve) ที่ต้องการเติบโต ส่วนธุรกิจสินเชื่อรายย่อย จะเป็นกลุ่มที่ขยายตัวไม่สูงมากในปีนี้ เนื่องจากตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่ได้เติบโตสูงนัก แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะผ่อนคลายมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ลงมาแล้วก็ตาม “ปีนี้หากดูเศรษฐกิจหลายค่ายมองจะโตได้ 2.7-2.8% ซึ่งสินเชื่อจะโตเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ ดังนั้น สินเชื่อแบงก์คงไม่โตมากประมาณ 3-5% แต่เราคงโฟกัสจะโตกลุ่มไหนเป็นพิเศษไม่ได้ แต่รายย่อยอาจจะไม่โตมากในปีนี้ เอ็นพีแอลก็คงต้องช่วยประคองกันไป”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0