โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

กรมสุขภาพจิตร่วมมือกับอูก้า (ooca) เพิ่มช่องทางให้คำปรึกษาออนไลน์ผ่านวีดีโอคอล เพื่อดูแลจิตใจในวัยรุ่น

LINE TODAY

เผยแพร่ 19 ก.ค. 2562 เวลา 10.47 น.

กรมสุขภาพจิต ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับอูก้า (Ooca) ในการดูแลนักศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยของรัฐในโครงการกำแพงพักใจ อูก้า (Ooca) หน่วยงานภาคเอกชนที่นำเทคโนโลยีมาช่วยให้บริการด้านสุขภาพจิต เพิ่มช่องทางให้การปรึกษาออนไลน์ ลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่น

กิจกรรมครั้งนี้มีผู้สนใจร่วมงานมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนที่สนใจรวมทั้งสื่อมวลชน จำนวน 130 คน ในงานเชิญนักพูดสร้างแรงบันดาลใจเรื่องสุขภาพจิตกับวัยรุ่น ได้แก่ คุณทราย เจริญปุระ นักแสดง นักเขียน และผู้ป่วยซึมเศร้าที่ต้องดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าอีกด้วย นายแพทย์อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น [หมอตั้ม เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ”] รวมทั้งการเสวนาโดยผู้แทนจากภาครัฐที่มีส่วนกำหนดนโยบาย เจ้าของแอพพลิเคชั่นการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตออนไลน์ ผู้แทนจากภาคธุรกิจที่ให้การสนับสนุนโครงการ และตัวแทนเด็กและเยาวชน

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการกำแพงพักใจ (Wall of Sharing) ระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กับ อูก้า ในปัจจุบันสถานการณ์โรคซึมเศร้าในสังคม เป็นปัญหาที่สำคัญทางสุขภาพ ซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจนนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายโดยผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า ในปี 2562 อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรไทยรวมทุกกลุ่มอายุอยู่ที่ 6 รายต่อชั่วโมง ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายของเด็กและวัยรุ่น กลุ่มอายุ 15-24 ปี มีสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 300 กว่ารายต่อปี นอกจากนี้ มีข้อมูลตัวเลขสถิติพบว่า ในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า 100 คน จะเป็นวัยรุ่น 11 คน ในวัยรุ่น 100 คน จะมีภาวะซึมเศร้า 3 คน 

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตได้มีการให้บริการปรึกษาผ่านทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 มาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดบริการให้ได้ปีละประมาณ 200,000 สาย จากการโทรเข้ามากว่า 800,000 สาย คิดเป็น 1 ใน 4 โดยกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ในปี 2561 พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่ทำให้เด็กและเยาวชนโทรศัพท์มาขอรับการปรึกษามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ภาวะเครียดหรือรู้สึกกดดัน 2.ปัญหาความรัก 3.ปัญหาเรื่องเพศหรือการใช้สารเสพติด 4.ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ทำร้ายคนอื่น และ 5.ครอบครัวไม่เข้าใจ โดยภาพรวมวัยรุ่นยังเป็นกลุ่มที่มีการเข้าถึงบริการน้อย โดยในปี 2561 ให้บริการได้ประมาณ 9,000 สาย ดังนั้น การค้นหาช่องทางในการช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญของหน่วยงาน และเป็นที่มาในการพัฒนาความร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการกำแพงพักใจ กับ อูก้า (Ooca) หน่วยงานภาคเอกชนที่จะนำเทคโนโลยีมาให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ซึ่งจะส่งผลให้เด็กและวัยรุ่น สามารถนัดและพบกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยาได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่สามารถใช้ได้ทั้งบนมือถือแบบสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ โดยจะเป็นโรงพยาบาลเสมือน (virtual hospital) หรือโรงพยาบาลออนไลน์ที่สะดวกกว่า ไม่ต้องเดินทาง เลือกขอรับการปรึกษาเมื่อไรก็ได้ และมีความเป็นส่วนตัวสูง อีกทั้งยังมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยามากกว่า 50 คน เพื่อให้การปรึกษา

  แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการกำแพงพักใจ เป็นโครงการที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ร่วมมือกับภาคเอกชน ที่เริ่มจากนักศึกษาเป็นกลุ่มแรกและมีแผนจะขยายบริการให้ครอบคลุมเด็กและเยาวชน อายุ 10-24 ปี กลุ่มอื่นต่อไปในอนาคต นักศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐสามารถรับบริการให้คำปรึกษาผ่านระบบโรงพยาบาลออนไลน์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งสามารถให้เด็กและวัยรุ่นได้พูดคุยระบายความรู้สึกและความเครียดได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ตามหลักทางวิชาการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา สามารถรับฟัง ชวนวิเคราะห์ โดยไม่ออกความเห็นส่วนตัว และไม่ตัดสิน รวมทั้งยังมีการพัฒนาระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหรือคลินิกสุขภาพจิตเพื่อให้การดูแลต่อเนื่องในรายที่อาการรุนแรงหรือเรื้อรังอีกด้วย โดยมีหน่วยงานภาคเอกชน มูลนิธิ องค์กรภาคประชาสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมให้การสนับสนุน

ทันตแพทย์หญิงกัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Ooca กล่าวว่าการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตออนไลน์ที่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้แก่เด็กและวัยรุ่นสามารถเข้าปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้อย่างง่ายสบายใจเหมือนเพื่อนสนิท เพราะปัญหาของสังคมของเรื่องสุขภาพจิตไม่ได้เกิดจากการแค่เรื่องซึมเศร้า แต่ยังรวมไปถึงตั้งแต่ก่อนคนจะซึมเศร้า เรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันก็สามารถเข้ามาคุยได้เราอยากให้การเข้าหาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเป็นเรื่องปรกติของสังคม ซึ่งการปลูกฝังตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษาจะสามารถสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ การดำเนินโครงการมีความจำเป็นที่ต้องระดมทุนจากภาคธุรกิจให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณเพื่อนำมาเป็นค่าตอบแทนให้แก่จิตแพทย์และนักจิตวิทยา ในขณะนี้มีภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนแล้ว คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ทันตแพทย์หญิงกัญจน์ภัสสร กล่าวว่า “อูก้า เป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้จากการขยายบริการทางเทคโนโลยีของเรา เงินส่วนหนึ่งของผู้ที่เข้ามาปรึกษาในช่องทางปรกติจะถูกแบ่งสัดส่วนเพื่อไปสนับสนุนค่าใช้จ่ายของนักศึกษาจากโครงการกำแพงพักใจ เราภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตและเป็นส่วนหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมอย่างแท้จริง”

นอกจากนี้ หากมีมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่สนใจและต้องการเข้าร่วมโครงการกำแพงพักใจ เพื่อจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตออนไลน์แก่นักศึกษา สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ contact@wallofsharing.com 

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องบริจาคเพื่อขยายและเพิ่มการบริการให้ครอบคลุมนักศึกษาจำนวนมากขึ้น สามารถบริจาคออนไลน์ได้เลย ผ่าน www.wallofsharing.com

เก็บตกจากช่วงนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ แสดงทัศนะ “ซึมเศร้า เราเข้าใจได้”

คุณทราย อินทิรา เจริญปุระ นักแสดง นักเขียน และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเช่นกัน

ในฐานะคนที่ดูแลคนที่ป่วย และตัวเองก็ป่วย พบว่าคนที่พยายามช่วยเหลือคนที่เป็นซึมเศร้าแต่ช่วยได้ไม่สำเร็จ เค้าก็ตีตราตัวเองเหมือนกัน แต่จะไม่ช่วยเลยก็ไม่ได้อีก สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ฟังเท่าที่ทำได้ ถ้าไม่ไหวไปรับการรักษา หาหมอ กินยา หานักจิตวิทยา สิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า คือต้องมีความกระตือรือร้นที่จะหาย ปัญหาสุขภาพจิตที่พบมาไม่น้อยมีสาเหตุมาจากที่บ้าน เพราะพ่อแม่คือคน แนะนำให้น้อง ๆ ที่เป็นวัยรุ่นประคองตัวเองไปจนกว่าจะพึ่งตัวเองได้  

นายแพทย์อัศวิน นาคพงศ์พันธ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น [หมอตั้ม เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ]

หมอตั้มเล่าให้ผู้เข้าร่วมงานฟังว่า คนไข้ซึมเศร้าอายุน้อยที่สุดที่พบคือ อายุ 11 ปี ปัจจุบันเด็กเราค่อนข้างเครียด และมีปัจจัยใหม่ๆ ที่สมัยก่อนไม่เคยมี ซึ่ง 3 ปัจจัยที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย 1) รู้สึกไร้ค่า เช่น สอบได้คะแนนไม่ดี 2) ไร้ที่พึ่ง คือรู้สึกว่าพ่อแม่ก็ช่วยไม่ได้ ครูก็ช่วยไม่ได้ เพื่อนก็ช่วยไม่ได้ ทั้งหมดจะนำไปสู่ความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของครอบครัวและสังคม 3) ไม่มีอนาคต แต่ข่าวดี คือ ถ้าช่วยข้อใดข้อหนึ่งได้ อาจไม่ช่วยให้หาย แต่จะช่วยให้สามารถมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้ หมอตั้มกล่าวว่า ถ้าเรามีคนใกล้ชิดอาการซึมเศร้า สิ่งที่จะช่วยได้ คือ การชม หาสิ่งที่เป็นข้อดีสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้ป่วย การปลอบในแง่ที่เข้าใจความเจ็บปวดของผู้ป่วยและการให้ความมั่นใจ คือ มั่นใจว่าจะมีคนช่วยอยู่ฟังนะ จะมีใครสักคนอยู่ข้าง ๆ

เก็บตกจากเวทีเสวนา “วัยรุ่นเศร้า เขาจะคุยกับใคร?”

แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ (หมอป้อ) ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพจิตของวัยรุ่นไทยว่า 3 ใน 100 คนของวัยรุ่นไทยมีภาวะซึมเศร้า ในวัยรุ่นสังเกตอาการได้ยากกว่าในผู้ใหญ่ วัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าอาจแสดงออกผ่านอาการหงุดหงิดหัวร้อน ใช้สื่อหรือสารเสพติดเบี่ยงเบนความสนใจ กฎหมาย พรบ.สุขภาพจิต เป็นกฎเดียวที่ยังเป็นอุปสรรคให้เยาวชนเข้าถึงการรักษา และกรมสุขภาพจิตกำลังหาทางแก้ไขให้เยาวชนเข้าถึงการรักษาได้ การจับมือกับ Ooca: Wall of Sharing คำนวณแล้วว่างบประมาณต่อหัวเพื่อใช้ในการป้องกันถูกกว่าช่องทางปกติมาก (ในการรักษาต่อคอร์ส เป็นหมื่น หลายหมื่น แต่ในการปรึกษาเพื่อป้องกัน ใช้หลักร้อยเท่านั้น)

ทันตแพทย์หญิงกัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ (หมออิ๊ก) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Ooca และโครงการกำแพงพักใจ (Ooca Wall of Sharing)

ทันตแพทย์หญิงกัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้น่าจะช่วยให้ลดช่องว่างในการใช้บริการได้มากขึ้น โดย Ooca มีหน้าที่ในการดูแลคุณภาพการให้บริการและบริหารงบประมาณให้ตอบแทนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้ในราคาที่เข้าถึงได้ที่สุด การที่สังคมไทยขาดความรู้ด้านสุขภาพจิต พอไม่รู้ก็เข้าใจผิดหรือเกิดตราบาป (stigma) แต่ถ้าเรามีความรู้ ยิ่งเรารู้เร็วก็ยิ่งรับมือได้เร็ว Ooca แอพพลิเคชั่นเปิดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศรับคำปรึกษาออนไลน์ได้ แต่มหาวิทยาลัยที่ลงนามในข้อตำลงความร่วมมือเรียบร้อยแล้วจะมีช่องทางที่เข้าถึงง่ายขึ้น คือมีการตกลงความเป็นส่วนตัว ใช้อีเมล์มหาวิทยาลัยก็สามารถรับคำปรึกษาได้เลยโดยไม่ต้องยื่นเรื่องขอใช้สิทธิผ่านอาจารย์ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินอาจถึงชีวิต จะมีการประสานไปกับทางมหาวิทยาลัยให้ให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ข้อดีอีกหนึ่งข้อที่คิดบริการนี้คือ สามารถรับคำปรึกษาสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญทางออนไลน์ได้ ไม่ต้องลาเรียนไป รอหลังเลิกเรียนก็คุยได้ และปรึกษาได้หลายประเด็น ในปีนี้ตั้งเป้ารองรับการให้บริการฟรีแก่นักศึกษาจำนวน 50,000 คน และต้องการระดมทุนเพื่อเป็นค่าตอบแทนให้แก่จิตแพทย์และนักจิตวิทยา ซึ่งผู้ที่ต้องการสนับสนุนโครงการสามารถร่วมบริจาคได้ที่ www.wallofsharing.com 

คุณวิโรชา ดุลยางกูร ผู้จัดการโครงการพิเศษ สายงานกิจกรรมเพื่อสังคมและสื่อสารภายในองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 

คุณวิโรชา กล่าวในเวทีเสวนา ว่าธนาคารมีภารกิจสนับสนุนภารกิจด้านการเยาวชน โดยเน้นการสนับสนุนเยาวชนที่มีศักยภาพ มีความสามารถ แต่เมื่อทราบว่ามีโครงการกำแพงพักใจก็ได้เปิดโลกว่าในวัยรุ่นที่คนคิดว่าเด็กๆ น่าจะสดใส แท้จริงแล้วมีเด็กที่ประสบปัญหา ไม่มีทางออก และมีช่องทางช่วยเหลือ โครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ SCB เข้ามาสนับสนุนประเด็นสุขภาพจิต 

นายไชยวัฒน์ จิรกิจไพบูลย์ (น้องบอย) ตัวแทนเด็กและเยาวชน

คุณไชยวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาจากภาคเยาวชนจะพบทั้งความกดดันจากการเรียน การปรับตัวกับเพื่อน ความรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น ๆ อุปสรรคในการเข้าถึงการรักษาคือมุมมองว่าโรคซึมเศร้าไม่สำคัญ สำออย ไม่ต้องรักษาก็ได้ บวกกับไม่มีความรู้ก็เลยปฏิบัติต่อกันแบบผิดๆ ไปกันใหญ่ การป้องกันคือออกไปใช้ชีวิตข้างนอกห้องเรียนให้เยอะขึ้น ทำในสิ่งที่เราสนใจ สำหรับตนเองในฐานะที่มีเพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า สิ่งที่พอทำได้คือการฟัง ไม่ต้องเชียร์อะไรมาก ฟังให้รู้สึกว่าเพื่อนมีคุณค่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0