โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กรมสรรพสามิต เดินหน้าไอเดีย เก็บภาษีความเค็ม

BLT BANGKOK

อัพเดต 16 ต.ค. 2562 เวลา 10.35 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 10.34 น.
184af05a1413f5901cfadf971a900c39.jpg

กรมสรรพสามิต เดินหน้าศึกษาการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าที่มีความเค็ม โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุป และเสนอให้รมว.คลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างเร่งศึกษาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าความเค็ม เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของความเค็ม หรือตามปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้
ทั้งยังระบุว่า ภาษีความเค็มถือเป็นภาษีตัวใหม่ที่กรมฯ กำลังคิดจะจัดเก็บ เพราะไทยยังไม่มีมาก่อน มีแค่จัดเก็บภาษีความหวานเท่านั้น แต่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว มีการจัดเก็บไปหลายประเทศแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนความเค็มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากได้ข้อมูลครบจะพิจารณาได้ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งหากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าต้องจัดเก็บภาษีความเค็มจริง กรมก็จะไม่ประกาศ และจัดเก็บในอัตราเดียวทันที แต่จะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1-2 ปี เพื่อปรับลดปริมาณความเค็มในสินค้า หรือปรับสูตรการผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพออกมาก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ระบุอัตราการจัดเก็บที่ชัดเจน
สำหรับสินค้าที่จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีความเค็ม เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มสินค้าอาหารปรุงสำเร็จ เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่จะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีความเค็มในสินค้าขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็ก เนื่องจากมองว่า ขนมเป็นอาหารที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ที่ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้เอง ส่วนเครื่องปรุงรสที่มีความเค็ม เช่น นํ้าปลา เกลือ ซอสปรุงรสยังไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงร้านขายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง หรือสินค้าชุมชนก็ยังไม่เข้าข่ายที่จะเสียภาษีเช่นกัน
ซึ่งการประชุมองค์การอนามัยโลก(WHO) รวมถึงกลุ่มสหประชาชาติ (UN) ได้พยายามผลักดันให้หลายประเทศมีการออกนโยบายภาษีเพื่อลดการบริโภควัตถุดิบในการปรุงอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะจะเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ตามมา อาทิ โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคความดันโลหิต กรมสรรพสามิต จึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องพิจารณา
นอกจากนี้ยังเปิดเผยถึงการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือเบียร์ 0% ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน ซึ่งยังมีความเห็น 2 ส่วนคือ การมีเบียร์ 0% เป็นทางเลือกให้ผู้ที่ดื่มเบียร์อยู่แล้วหันมาดื่มเบียร์ 0% ได้จะช่วยลดการดื่มแอลกอฮอล์ได้ กับอีกทางมองว่าเป็นการชักจูงให้ผู้ดื่มหน้าใหม่มีเพิ่มมากขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0