โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กรณ์ จาติกวณิช: ‘พรรคกล้า’ ไม่ซ้ายไม่ขวา เรามาเพื่อลงมือทำ

a day BULLETIN

อัพเดต 27 ก.พ. 2563 เวลา 12.22 น. • เผยแพร่ 27 ก.พ. 2563 เวลา 12.02 น. • a day BULLETIN
กรณ์ จาติกวณิช: ‘พรรคกล้า’ ไม่ซ้ายไม่ขวา เรามาเพื่อลงมือทำ

เมื่อ ‘กรณ์’ ตั้งพรรค ‘กล้า’ ก็เป็นหน้าที่ของ a day BULLETIN ที่จะต้องสานบทสนทนากับเขา เพื่อดูว่าความ ‘กล้า’ ที่ว่ามีทิศทางมุ่งหน้าไปทางไหน พรรคการเมืองใหม่นี้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร และจะเหมือนหรือต่างจากสิ่งเดิมๆ ที่เคยมีอยู่มากน้อยแค่ไหน

        อุณหภูมิการเมืองที่ระอุต่อเนื่องตั้งแต่การเลือกตั้งปีที่ผ่านไป ไล่มาจนถึงข่าวยุบพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจ งูเห่าในสภาฯ ไปจนถึงอาชญากรรมฟอกเงินใหญ่ระดับโลก และนักศึกษาออกมารวมตัวเคลื่อนไหว ฯลฯ การนัดหมายของ a day BULLETIN กับ กรณ์ จาติกวณิช เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ 

        เขาเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรองหัวหน้าพรรคการเมืองที่เขาอยู่ร่วมชายคามานานกว่า 15 ปี แต่ตำแหน่งเหล่านี้กลายเป็นอดีตไปแล้ว เมื่อเขาประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่เปิดตัวไปในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

        พรรคกล้า -  ที่เขาบอกว่าอยากใช้เป็นแพลตฟอร์ม พื้นที่รวมตัวกันของคนมีของ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาชีพต่างๆ 

        พรรคกล้า - ที่ประกาศว่าไม่ยึดติดกับอุดมการณ์หากเป็นไปตามแนวทางปฏิบัตินิยม มุ่งเน้นผลสำเร็จ และประสิทธิภาพในการทำงาน 

        พรรคกล้า - ที่เขาเชื่อว่าจะนำไปสู่การดิสรัปชันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องรื้อรากถอนโคนสิ่งเก่า แต่สร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเสริมเข้าไปจนสิ่งใดที่ใช้การไม่ได้แล้วก็จะต้องเปลี่ยนตามไปโดยปริยาย 

        แต่เขาจะสลัดภาพจำมากมายที่ผู้คนมีต่อเขา โดยเฉพาะในวันที่ขานชื่อเลือกนายกรัฐมนตรีให้รัฐบาลชุดนี้ได้ไหม แม้การตัดสินใจที่ผ่านมาอาจสะท้อนคุณค่าด้าน ‘ปฏิบัตินิยม’ ที่เขาว่าไม่จำกัดการแบ่งขั้วตราบใดที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ  

        แต่ก็ต้องยอมรับว่า บรรยากาศการเมืองเช่นนี้ ผู้คนตั้งคำถามลึกลงไปถึงระดับอุดมการณ์ของพรรคและนักการเมือง ไม่ใช่เพียงระดับนโยบาย หลายคนตั้งคำถามถึง ‘กระบวนการ’ ระหว่างทางไม่ใช่แค่ ‘ผลลัพธ์’

        กรณ์ จาติกวณิช เตรียมคำอธิบายเรื่องเหล่านี้ไว้เช่นไร ที่จะทำให้ผู้คนจดจำเขาในภาพใหม่ ในนามของพรรคกล้า ที่พวกเขาบอกว่ามาเพื่อลงมือทำ

        นมเย็นสีชมพูสดที่อยู่ตรงหน้าชวนเปิดบทสนทนา ใครจะไปคิดว่าผู้นำจัดตั้งพรรคใหม่จะเลือกสั่งเครื่องดื่มสีชมพูสดใสอย่างนมเย็นเป็นเครื่องดื่มดับกระหายยามบ่าย

        “ถ้าเช้าก็กาแฟ แต่ถ้าเป็นกาแฟก็ต้องใส่นม หลังๆ เริ่มเปลี่ยนมาเป็นนมอัลมอนด์ตามลูก” 

        และบทสนทนาระหว่างเราก็เริ่มจากตรงนั้น…

 

        “ลูกผมหันมาเป็นวีแกนด้วยเหตุผลทางสิ่งแวดล้อมล้วนๆ เลยไม่ใช่เรื่องสุขภาพ เขามองว่าอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์มีผลทางลบกับสิ่งแวดล้อม มันกินพื้นที่การเกษตรเยอะ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมเรียนรู้จากเขา คนรุ่นผมไม่ต้องเป็นวีแกน แค่มังสวิรัติคนก็คิดว่าเพี้ยนหรือเปล่า แต่วีแกนมันไปไกลกว่านั้น แม้แต่ไข่ก็ไม่กิน

        “มันมีรายการสารคดี Netflix (The Game Changers) เกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาก็บอกให้ลองไปดู พอดูแล้วมันก็มีเหตุผลของมัน ในสารคดีเขาพูดเรื่องประโยชน์ของวีแกนต่อร่างกาย นักกีฬาอย่าง โนวัก ยอโควิช หนึ่งในนักกีฬาเทนนิสที่เก่งที่สุดที่เคยมีมา หรือนักวิ่งอีกหลายคนก็เป็นวีแกน มันไม่ใช่แค่ฮิปปี้ที่จะมีชีวิตแบบนี้ รายการนี้ไม่ได้ชี้ให้เห็นผลแค่ต่อร่างกาย แต่วีแกนยังมีผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย พอมันมีสองปัจจัยบวกกันก็เลยปฏิเสธไม่ได้ และนำไปสู่การยอมรับ 

        ผมจะไม่ทำอะไรที่ผมไม่ชอบ แต่พอได้ลองไปทานอาหารวีแกนกับลูก แล้วมันอร่อย รู้สึกดีด้วย หลังๆ ผมไม่กินเนื้อวัวมายี่สิบปีแล้ว แต่ผมทานเนื้อชนิดอื่น แต่พอมาลองทานบางมื้อที่เป็นวีแกนเลยก็รู้สึกว่าไม่ลำบากอะไร เวลาอยู่กับลูกก็กินวีแกนกับลูก แต่พออยู่กับตัวเองก็ทานปกติ อย่างล่าสุดผมไปเดินป่ากับเขาที่แม่สอด แล้วมันไม่ได้มีทางเลือกอาหารมากนัก ก็บอกกับเขาว่าถ้าอยู่กับตัวเอง เลือกได้ก็เลือกทางที่เชื่อไป แต่ถ้าไม่มีเราก็ต้องอยู่ให้ได้ ก็ต้องกิน สำคัญคือต้องมีความพอดี

เพราะรักลูกถึงลองเปลี่ยน หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับคนรุ่นใหม่

        ถ้าสิ่งที่เขาชอบ สิ่งที่เขาทำมันไม่มีเหตุผล ผมก็ไม่ทำตาม แต่เขาสะท้อนให้เห็นว่าหลายเรื่องที่เขาคิดมันมีที่มาที่ไป มีเหตุผลของมันอยู่ เขาเปิดให้เห็นวิธีคิดและข้อเท็จจริงหลายๆ อย่างที่คนรุ่นผมอาจไม่ได้ให้ความสำคัญ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่เราไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบของมันเท่าที่คนรุ่นลูกเขาต้องเจอ ซึ่งก็สมเหตุสมผลดีที่เขาจะกังวลต่ออนาคตของเขา 

        คนรุ่นผมได้เอนจอยกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มันมีผลข้างเคียงมากมายซึ่งส่งผลกระทบต่ออนาคตของรุ่นลูกรุ่นหลานเรา ถ้าเราปรับได้ก็ควรจะปรับ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เคยสร้างความมั่งคั่งให้คนรุ่นผม วันนี้ก็ไม่ตอบโจทย์คนรุ่นปัจจุบันแล้ว เศรษฐกิจไทยทุกวันนี้เห็นได้ชัดว่าไม่โตแล้ว มันยังอิงอยู่กับระบบเดิมที่คนรุ่นผมสร้างขึ้นมาเมื่อ 30-40 ปีก่อน แย่ไปกว่านั้นคือนอกจากจะไม่โตแล้ว ยังสร้างขยะ สร้างปัญหาให้กับคนรุ่นปัจจุบันต้องเดือดร้อนอีกต่างหาก ผมว่ามันเป็นหน้าที่ที่เราต้องปรับตัวเพื่อคนรุ่นต่อไป

อยากให้ลองมองโลกปัจจุบันผ่านสายตาของ ‘The Last Baby Boomer’  

        มันต่างกันฟ้ากับดิน แค่ของใกล้ตัว (หยิบโทรศัพท์มือถือ) นี่ก็เปลี่ยนทุกอย่างแล้ว เราโตมาในโลกที่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการประหยัด เราโตมาในช่วงที่ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ชัดเจนขนาดนี้ สมัยก่อนคนที่มีเงินกับไม่มีเงินไม่ต่างกันเท่าวันนี้ ชีวิตลูกข้าราชการกับลูกนักธุรกิจไม่ต่างกันมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน การเข้าถึงโอกาส โครงสร้างระบบเศรษฐกิจมันเปลี่ยนไปมาก

        ปีแรกที่ผมทำงาน ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังโต ส่วนแบ่งรายได้ของประเทศไทยมาจากภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคการเกษตรเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจบูมมาก ผมโชคดีที่เริ่มชีวิตการทำงานในช่วงที่ทุกอย่างรุ่งโรจน์ไปหมด พอมาถึงวันนี้ สถานะความได้เปรียบของเศรษฐกิจไทยมันหายไปเกือบหมดแล้ว สมัยนั้นมีทุกอย่าง ใครๆ ก็อยากมาลงทุนในไทย ผมจำได้ว่าในตอนนั้นในฐานะนักลงทุน ผมนั่งประเมินว่าผมควรจะกระจายความเสี่ยงออกตลาดหุ้นไทยหรือไม่ สุดท้ายผมตัดสินใจว่าไม่มีประโยชน์ที่ผมจะกระจายความเสี่ยงเพราะว่าประเมินแล้วไม่มีที่ไหนในโลกที่ให้โอกาสมากกว่าที่จะลงทุนในประเทศของตัวเองที่เรารู้จักดีที่สุดด้วยอีกต่างหาก แต่มาวันนี้นี่คือห่างไกล มันคนละโลกเลย

        เลยเป็นคำถามว่าแล้วคนที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดการทำงานในปัจจุบัน ทำอย่างไรเขาจะมีโอกาสอย่างที่รุ่นผมเคยมีมา เขาจะมีโอกาสอย่างนั้นได้อีกไหม หรือต้องทำใจว่ายุคทองของเศรษฐกิจไทยมันผ่านไปแล้ว จะไม่มีทางกลับมาอีก 

        ไม่นานมานี้ผมไปเวียดนาม บรรยากาศที่โฮจิมินห์ซิตีนั้นคล้ายกับกรุงเทพฯ เมื่อสามสิบปีที่แล้ว มันมี ‘Animal Spirit’ ในฐานะนักธุรกิจทุกอย่างเป็นไปได้หมด คิดจะทำอะไรก็เป็นไปได้ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่เลย ตอนนี้ไม่มีใครกล้าลงทุน ไม่มีใครกล้าทำอะไร นอกจากไม่กี่คนในวงการสตาร์ทอัพ แม้แต่ในวงนี้เองก็ไม่เหมือนสามสี่ปีที่แล้ว ตอนนี้คนเห็นความจริงมากขึ้นเยอะว่าข้อจำกัดสตาร์ทอัพในไทยมันมีมากกว่าที่เขาคิดไว้เยอะ

 

กรณ์ จาติกวณิช
กรณ์ จาติกวณิช

ที่ออกมาตั้งพรรคเพราะเคยเห็นความเป็นไปได้ในอดีต หรือสัญชาตญาณความเป็นพ่อที่เป็นห่วงต่ออนาคตลูกหลาน

        ทั้งสองอย่าง มันเห็นว่าเราทำได้มากกว่านี้แน่นอน แต่ถ้าคิดว่าทำแบบเดิมจะแก้ปัญหาได้ นั่นแหละจะเป็นปัญหา มันไม่มีอะไรดีขึ้นเพราะชุดความคิดนั้น หลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นคำว่ารัฐราชการซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบันยังพยายามอิงกับตัวอย่างของรัฐบาลสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์อาจจะมองว่ามีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกัน เคยเป็นนายทหารมา เคยปฏิวัติมา ผันตัวมาเป็นนักการเมือง บริหารรัฐบาลที่ผสมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ถ้ามองเผินๆ มันก็มีบางอย่างที่คล้ายกับยุคป๋าเปรม ซึ่งสมัยนั้นก็นับว่าเป็นยุคที่ประเทศประสบความสำเร็จค่อนข้างมากในเชิงเศรษฐกิจ เป็นยุคเทคโนแครตอิงกับระบบราชการ ยุคนี้ก็เลยมีความคล้ายกันในแง่นั้น แต่โลกมันเปลี่ยนไป ระบบราชการเองก็เปลี่ยนไปเยอะ บทบาทภาคเอกชนในปัจจุบันกับในสมัยป๋าเปรมมันเทียบกันไม่ได้ ประเทศไทยเป็นประเทศเปิดทางเศรษฐกิจมากกว่าเมื่อสามสิบปีก่อนหลายเท่า เราพึ่งพาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศมากกว่าสมัยนั้นอยู่มากทั้งในแง่การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ

ถ้ามองว่าการคิดแบบเดิมไม่แก้ปัญหา ทำไมยังเลือกโซลูชันเป็นพรรคการเมืองอยู่

        เพราะผมคิดว่านโยบายเป็นเรื่องสำคัญ เราสามารถช่วยสังคมได้ในหลายบทบาทหน้าที่ จะเป็นเอกชน เอ็นจีโอ ก็ได้ทั้งนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายระดับรัฐนั้นมีผลโดยตรง ถ้ายุทธศาสตร์ระดับประเทศผิด มันยากที่ประเทศจะพัฒนาได้ ผมว่าตรงนี้ยังสำคัญที่สุด จากประสบการณ์ยี่สิบปีในภาคเอกชน สิบห้าปีในเวทีการเมือง ผมมองว่าผมยังสามารถช่วยขับเคลื่อนให้เรามีนโยบายที่เหมาะสมกับความต้องการของประเทศได้ ผ่านการจัดตั้งพรรคใหม่ร่วมกับคนที่คิดคล้ายกัน

ถ้าเชื่อในพรรคการเมือง ทำไมไม่เข้าร่วมกับพรรคที่มีอยู่แล้ว จุดต่างของพรรคกล้าที่หาไม่ได้ในพรรคอื่นคืออะไร 

        เรามองตัวเองเป็นแพลตฟอร์ม เราจะพึ่งพานักการเมืองอาชีพเหมือนในอดีตไม่ได้ ดีเอ็นเอของนักการเมืองในอดีตมักจะไต่เต้ามาจากสายกฎหมาย จากนักการเมืองท้องถิ่น แต่ความต้องการและปัญหาที่เรามีตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม มันต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ผู้ที่เป็นมืออาชีพแต่ละด้าน ไม่ใช่เป็นแค่ผู้เสนอแนวทาง แต่ต้องเป็นผู้บริหารที่สามารถแก้ไขปัญหาในแต่ละเรื่องได้

        “ยกตัวอย่างไม่นานมานี้ กลุ่มสมาคมสตาร์ทอัพไทยเขามีข้อเสนอไปยื่นให้กับกรรมาธิการในสภา เพื่อที่จะบอกว่าทำไมสตาร์ทอัพไทยไม่โต มีอุปสรรคอย่างไร และต้องการอะไรจากภาครัฐ ผมก็ดูว่ากรรมาธิการชุดนั้นมีใครบ้างที่มารับเรื่องของสมาคม หลายๆ คนก็เป็น ส.ส. ที่ดี แต่เป็น ส.ส. ที่ดีในรูปแบบเดิม คือใส่ใจประชาชนในพื้นที่ของเขา ใกล้ชิดชาวบ้าน ไปงานศพ งานบวช งานแต่ง แต่ถามว่านี่คือบุคคลที่รับรู้เรื่องปัญหาสตาร์ทอัพแล้วจะเข้าใจ จะเห็นความสำคัญไหม และถ้าเห็นแล้วจะมีความสามารถผลักดันเสนอข้อแก้ไขให้กับผู้มาร้องเรียนไหม ไม่มีทาง ผมถามสมาคมว่าพูดแล้วเป็นอย่างไร เขาบอกว่าสุดท้ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในยุคสมัยนี้ถึงเวลาที่คุณต้องเข้ามาเป็นผู้เล่นเอง ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องทิ้งสตาร์ทอัพของตัวเองแล้วมาเป็น ส.ส. แต่ว่ามันต้องมีคนรู้เรื่องจริงจากแต่ละวงการเข้ามาในสภา ถึงจะทำให้สภารับรู้ถึงปัญหาในวงการคุณได้

        แต่สตาร์ทอัพเป็นแค่เรื่องเดียว ยังมีอีกหลายปัญหาที่มีความสำคัญ เช่น ทำอย่างไรถึงจะยกระดับเกษตรกรรมให้เป็นเกษตรพรีเมียมได้ ทำอย่างไรถึงจะปฏิรูประบบสหกรณ์ให้เป็นมืออาชีพและตอบโจทย์ความต้องการของสหกรณ์ได้ ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาการศึกษา สาธารณสุข เหล่านี้ล้วนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่คนเหล่านี้เข้าไม่ถึงการเมือง อยู่ดีๆ จะให้เขาไปสู้กับนักการเมืองอาชีพ เขาสู้ไม่ได้ ผมเลยอยากให้พรรคกล้าเป็นแพลตฟอร์มให้กลุ่มคนเหล่านี้ เราเรียกพวกเขาว่าคนมีของ เป็นการรวมพลคนมีของที่จะใช้แพลตฟอร์มนี้ในการช่วยคิด ช่วยทำ และมาเป็นผู้เล่นบนแพลตฟอร์มของเรา

ประเด็นการระดมทุนพรรคการเมืองเป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ วางแผนจัดการเรื่องนี้ไว้อย่างไร 

        เราระดมทุนจากผู้ศรัทธาในความตั้งใจของเรา ผู้ที่อยากเห็นประชาชนมีทางเลือกทางการเมืองที่มีความสร้างสรรค์ ผู้ที่เข้าใจและเห็นด้วยกับแนวคิดปฏิบัตินิยมของเรา และแน่นอนที่สุดก็ต้องทำในวิธีที่ถูกกฎหมายเท่านั้น

        ตอนนี้ยังแค่เริ่ม เรายังไม่ได้จดทะเบียนเป็นพรรค ยังได้แค่ตั้งชื่อ ขั้นตอนต่อไปต้องรวบรวมรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอย่างน้อย 500 คน แล้วค่อยประชุมเลือกกรรมการบริหารแล้วค่อยไปจดทะเบียนกับ กกต. อีกทีหนึ่ง ซึ่ง กกต. จะใช้เวลาอย่างมากที่สุด 180 วันก่อนที่จะอนุมัติ เมื่อถึงวันนั้นเราถึงจะเป็นพรรคการเมืองที่หาสมาชิกได้

ทำไมผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ถึงจะสนใจหันมาเล่นการเมือง และเข้าร่วมกับพรรคใหม่ อะไรเป็นสิ่งที่คุณกรณ์มองว่าจะดึงดูดใจพวกเขาได้ 

        ผมสัมผัสได้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าถ้าการเมืองยังเป็นอย่างนี้อยู่ อาชีพเขาก็ไปไม่ได้ ระบบเศรษฐกิจโดยรวมไปไม่ได้ เมื่อวานผมประชุมกับสายเทคโนโลยี เราคุยกันเรื่องความยากจนว่าเราจะแก้เรื่องนี้โดยใช้เทคโนโลยีได้ยังไง เขาจะเอาความเชี่ยวชาญของเขามาแก้ปัญหาใหญ่นี้อย่างไร ก็ออกมาสี่ข้อ หนึ่งคือการเข้าถึงตลาดของผู้ผลิตรายย่อยหรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก เราคุยกันเรื่องการสร้าง National e-Commerce Platform ที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตมาเจอกันได้โดยตรง สองคืออุปสรรคจากรัฐ ทั้งกฎระเบียบต่างๆ ต้นทุนในการขอใบอนุญาต การประสานงานกับทางภาครัฐ เลยมีการเสนอ GovTech ต้องดิจิไทซ์การเข้าถึงรัฐ ซึ่งทีมงานเราก็ได้ไปดูงานในหลายประเทศ เช่น เอสโตเนีย สวีเดน ที่เรามาคิดกันต่อว่าจะประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้ยังไง สามคือเรื่อง Data ทำอย่างไรรัฐจะทำให้ข้อมูลครบถ้วน ผู้คนเข้าถึงได้ เพื่อที่จะเอามาช่วยทำงานเชิงพาณิชย์ และสุดท้ายคือ Financial Literacy ให้ประชาชนมีความเข้าใจด้านการเงิน การลงทุนโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย นี่ก็เป็นบทบาทของทีมเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเรา 

        หรือแม้แต่เรื่องอย่าง Soft Power ล่าสุดผมดูซีรีส์ Crash Landing on You ของเกาหลี ที่ไม่ต้องบอกให้คนรักหรือสามัคคีกันเลย ความรู้สึกมันมาเอง หรือร้านไก่ทอดในหนังที่ตอนนี้ได้ข่าวว่ามันเฟื่องฟูมาก ถ้าเกาหลีทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ เราเรียนรู้ได้จากหลายประเทศ ร่วมมือกับหลายวงการที่พร้อมช่วยคิดช่วยทำ หลายคนพร้อมจะมาเป็นผู้เล่น บางคนยังไม่แน่ใจแต่ก็พร้อมช่วยคิด แนวคิดการทำงานของเรากับผู้เชี่ยวชาญมันมีความยืดหยุ่น หลากหลาย แต่ไม่มีปัญหาเลยกับผู้ที่มีความเชื่อ ความตั้งใจ และอยากให้ประสบการณ์ของเขามีประโยชน์ต่อการปฏิบัติต่อยอดในอนาคต

        ซึ่งตรงนี้ก็อาศัยเครดิตของพวกเราในการทำงานการเมืองมา ไม่มีเครดิตก็ทำงานการเมืองยาก แต่เราก็ต้องการันตีว่า ถ้าเราใช้เครดิตมันต้องไม่เสียของ

คุณเคยบอกว่าพรรคการเมืองที่ยึดติดกับบุคคลนั้นไม่ยั่งยืน การใช้เครดิตตัวคุณเองมันยั่งยืนหรือเปล่า ทำอย่างไรพรรคกล้าถึงจะมีตัวตนขึ้นมาโดยไม่ยึดอยู่กับคุณ

        จุดเริ่มต้นของทุกพรรคคือคนที่มารวมตัวกันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สุดท้ายตัวตนของพรรคจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการกระทำ วัฒนธรรมมันมาจากการกระทำที่สะท้อนถึงตัวตนของพรรค เวลาผ่านไป การกระทำที่เสมอต้นเสมอปลายจะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรเอง

 

กรณ์ จาติกวณิช
กรณ์ จาติกวณิช

คุณพูดถึงหนทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีต่างๆ มากมาย แต่จะเป็นไปได้จริงหรือถ้าไม่จัดการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างก่อน 

        ดิสรัปชันเกิดขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนของเก่าและสร้างของใหม่มาแทน แต่โดยทั่วไปเราจะเข้าใจว่าต้องออกมาสร้างใหม่ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ความจริงผมก็คิดแบบนั้นกับพรรคการเมืองผมถึงออกมาตั้งเอง เพราะถ้าจะเปลี่ยนข้างในองค์กรที่คุ้นเคยกับรูปแบบการทำงานสะสมมาเจ็ดสิบกว่าปีมันยากไป เวลาเราพูดถึงการปรับโครงสร้างไม่ได้แปลว่าเราต้องทุบของเก่าที่มีอยู่ ทำลายแล้วสร้างของใหม่ขึ้นมาเสียทีเดียว แต่เราสามารถสร้างของใหม่ที่ดีกว่าขึ้นมาคู่ขนาน และสุดท้ายด้วยเหตุที่มันดีกว่า มันก็จะมาทดแทนของเก่าเองโดยปริยาย

        ยกตัวอย่างในทางปฏิบัติ การที่เราบอกว่าเราจะแก้ระบบราชการ เวลาพรรคการเมืองพูดแบบนี้ ผมไม่เคยเห็นใครมีข้อเสนอชัดเจนว่าจะทำอย่างไร แต่หลายๆ เรื่อง ผมเชื่อว่าเราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการสร้างระบบคู่ขนานขึ้นมา ซึ่งมันต้องทำอย่างนั้น เช่น เวลาราชการเอาเทคโนโลยีไปใช้ เขาเอาเทคโนโลยีไปดิจิไทซ์ระบบเดิมที่เขามีอยู่แล้ว ทั้งที่จริงเทคโนโลยีสามารถเอาไปใช้สร้างสิ่งใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม นี่คือปัญหาว่าทำไมธนาคารใหญ่ๆ เอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น ปรับการกรอกแบบฟอร์ม แต่สุดท้ายก็ยังมีแบบฟอร์มอยู่ดี แต่เวลามี Digital Bank ขึ้นมาใหม่ เขาจะมีแนวคิดว่าทำไมต้องมีแบบฟอร์มแต่แรก ส่องหน้าเลยได้ไหม มันก็จะเป็นระบบใหม่เลย ในขณะที่ถ้าเราแก้จากสิ่งเก่ามันก็จะแค่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอยู่ดี

        ผมไม่เชื่อในวาทกรรมที่ฟังแล้วมันดุเดือดดีว่าจะไปทุบนั่น ยุบนี่ แต่คุณลองดูสิ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงมันเกิดได้เพราะมีสิ่งอื่นที่ดีกว่าเกิดขึ้นมา ไม่มีใครไปทุบ Kodak แค่เพราะกล้องดิจิตอลดีกว่า ไม่มีใครทำลายซีดี แผ่นเสียง ดีวีดี เพียงแค่ Spotify กับ Netflix มันดีกว่า คนเลยไม่ฟังจากช่องทางเดิม

        ผมถึงให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ไม่ได้หมายความเราเลี่ยงประเด็นเรื่องโครงสร้างได้ ยกตัวอย่าง วันก่อนไปฟังการบรรยายโดยอาจารย์ท่านหนึ่งพูดเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ สุดท้ายแกมีข้อเสนอยี่สิบข้อ สิบข้อแรกคือข้อเสนอว่าจะทำอย่างไรให้คนรวย รวยน้อยลง ซึ่งโอเคมันก็เป็นวิธีหนึ่ง และสุดท้ายมีนิดหน่อยว่าทำอย่างไรให้คนจนรวยขึ้น แต่ผมมองว่าเราจะเพิ่มโอกาสให้คนด้อยโอกาสอย่างไร มากกว่าจะมาพูดว่าจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นให้คนรวยๆ น้อยลง บางเรื่องต้องทำถ้าจะทำให้การเข้าถึงโอกาสมีมากขึ้น เช่น พรบ. การแข่งขันที่เป็นธรรม หรือต่อต้านการผูกขาด อันนี้ผมว่าเรื่องใหญ่มาก ตราบใดที่มีอำนาจผูกขาด เราจะดันธุรกิจขนาดเล็กให้โตยากมาก รัฐเลยมีหน้าที่ต้องปกป้องไม่ให้หลายธุรกิจใหญ่ทำลายเขาได้ และต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีโอกาสโต

        “ผมกล้าพูดในฐานะนักการเมืองที่มีความชัดเจนมากที่สุดคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน ผมชัดเจนมากในเรื่องนี้ ที่ผมออกมาต่อต้าน ปตท. ทำกาแฟ หรือไปซื้อโรงไฟฟ้าของเอกชน ผมมองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการที่เล็กกว่า และยังเป็นการที่รัฐเอาเปรียบเอกชนอีกต่างหาก ในมุมมองของผมมองว่ามันขัดถึงขั้นรัฐธรรมนูญเลย

        หลายคนบอกว่าไม่เห็นเป็นไร อย่างน้อยก็เป็นแบรนด์ไทยที่มาแข่งกับสตาร์บัคส์ แต่มันไม่ใช่เลย มันคนละราคา คนละกลุ่มลูกค้ากัน ที่มันไปแข่งคือมันไปแข่งกับกาแฟรายย่อย ท้องถิ่น ผมบอกว่าถ้า ปตท. มีร้านอเมซอนในปั๊มน้ำมันยังพอว่าเพราะนั่นเป็นที่ของเขา แต่ดีที่สุดคือ ปตท. เปิดปั๊มน้ำมันและเปิดพื้นที่ให้เอกชน ให้ผู้ประกอบการอื่นๆ ไปเปิดร้านกาแฟในพื้นที่นี้

ให้เป็น ‘แพลตฟอร์ม’ คล้ายที่คุณเสนอต่อพรรค 

        ถูกต้อง ต้องเป็นแพลตฟอร์ม ผมเพิ่งเจอผู้บริหารบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง คุยกันประเด็นนี้เลยเรื่องโมเดิร์นเทรดที่ไปเปิดตามหัวเมืองต่างๆ เขาไปพร้อมกับเคเอฟซี เอ็มเค สเวนเซ่นส์ กลายเป็นว่าทุกที่ที่เขาไปเปิดผู้ประกอบการท้องถิ่นตายหมด แข่งไม่ได้ ถามว่าเรื่องอย่างนี้รัฐควรมีมาตรการควบคุมไหม ผมตอบเลยว่าควร มันเป็นการรักษาความหลากหลาย รักษาทางเลือกของโอกาสในการทำมาหากิน 

        ผมคุยกับผู้บริหารว่าถ้าเขามองตัวเองเป็นแพลตฟอร์ม รับบทบาทเป็นผู้เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเวียนเข้ามาค้าขายในพื้นที่ของเขา นั่นแหละคือการทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่เรื่องแบบนี้มันต้องอาศัยคนที่คิดแบบนี้เข้ามากำหนดนโยบาย ต้องเรียนตามตรงว่าน่าเสียดายที่คนคิดแบบนี้ในวงการการเมืองมีน้อยมาก 

 

กรณ์ จาติกวณิช
กรณ์ จาติกวณิช

คุณพูดเรื่องปฏิบัตินิยมเยอะมาก นิยามคำนี้ในความหมายของคุณคืออะไร

        ผมตั้งพรรคการเมืองนี้มาเพื่อให้คนที่รู้สึกว่าไม่มีทางออกในประเทศนี้ ตั้งขึ้นมาให้กับคนที่มองว่าการเลือกด้วยปัจจัยแบ่งแยกขั้วการเมืองเป็นหลักไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น

        คำว่าปฏิบัตินิยมหมายความว่าในทุกๆ เรื่องเราจะตัดสินใจว่าทำอย่างไรดีโดยใช้หลักของ Design Thinking บนรากฐานของความจริง ศึกษาที่มาของปัญหาและสภาพแวดล้อมทั้งหมดว่าปัญหานั้นควรแก้อย่างไร โดยไม่อิงอุดมการณ์ทางใดทางหนึ่งในการกำหนดคำตอบว่าขวาหรือซ้าย ถ้าจะเทียบให้ชัดก็ดูสิงคโปร์ บางเรื่องเขาซ้ายมาก เป็นรัฐสวัสดิการ คนสิงคโปร์มีบ้านที่รัฐจัดให้ บางเรื่องขวามากจนแทบจะเป็นเผด็จการ เช่น การควบคุมสื่อ หรือจำกัดคู่แข่งทางการเมือง เป็นความคิดที่ยึดผลลัพธ์ที่กำหนดไว้เป็นที่ตั้ง ตัดสินใจด้วยการประเมินตามข้อเท็จจริง

แต่ในสิงคโปร์เองก็มีการตั้งคำถามถึงบทบาทของรัฐที่มากเกินไป การไม่สนใจกระบวนการก่อนไปถึงผลลัพธ์ 

        รัฐสิงคโปร์มีบทบาทต่อเศรษฐกิจและสังคมที่สูงมาก สูงมากเกินกว่าที่จะเป็นไปได้ในประเทศไทย ผมพูดเช่นนั้นได้เลย นั่นคือความต่าง แต่ผมว่าบทบาทของรัฐไทยยังมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ได้อีกเยอะ ทัศนคติต่อบทบาทของรัฐในสายตาภาคเอกชนและประชาชนนั้นต้องเปลี่ยน และหนทางที่จะเปลี่ยนได้มากที่สุดคือใช้เทคโนโลยี

        เช่น เอสโตเนียที่ประชาชนทุกคนของเขามี Digital ID ทุกธุรกรรมจะผ่านโทรศัพท์มือถือ ในชีวิตหนึ่งชาวเอสโตเนียนจะเข้าไปพบรัฐบาลหนึ่งครั้ง หลักคิดของเขาคือการแสดงตนต่อรัฐ ให้ประชาชนทำครั้งเดียวพอ หน่วยงานรัฐบาลไม่มีสิทธิจะขอให้ประชาชนแสดงตนต่อรัฐมากกว่าหนึ่งครั้ง ถ้าครั้งต่อไปหน่วยงานราชการอื่นๆ ต้องการข้อมูลก็สามารถใช้ข้อมูลส่วนกลางได้โดยไม่ต้องรบกวนประชาชน ถ้าเป็นอย่างนั้นจะดีเพียงใด และด้วยเทคโนโลยีมันทำได้ ไม่ว่าจะประชากรหลักล้านหรือสิบล้านก็ตาม

        อีกหลักคิดหนึ่งคือประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ข้อมูล อันนี้มีความหมายมาก คำถามใหญ่คือหน่วยราชการจะคุ้มครองข้อมูลประชาชนอย่างไร หลักการสำคัญคือเรื่องความโปร่งใสที่ประชาชนสามารถตรวจเช็กได้ว่ามีใครเข้ามาตรวจดูข้อมูลของเขาบ้าง ซึ่งถ้ามีการก้าวก่ายดูข้อมูลอย่างไม่จำเป็น ประชาชนสามารถฟ้องร้องได้ ลองคิดดูว่าถ้าเราจะปฏิรูประบบราชการเดิมโดยไม่มีเทคโนโลยีนี่แทบเป็นไปไม่ได้เลย ผมเลยมองว่าบทบาทของรัฐไม่ต้องมีมากขึ้นหรอก เพียงแค่ที่มีอยู่ต้องไม่เป็นต้นทุนถ่วงการทำงานของเอกชนและประชาชนก็พอแล้ว

เราได้ฟังถึงแนวคิด (Head) แนวทางการทำงาน (Hand) แต่หัวใจ สปิริต จิตวิญญาณ (Heart) ของความเป็นพรรคกล้าคืออะไร  

        ตอบตามตรงว่านี่เป็นเรื่องที่จะต้องมาหล่อหลอมกันอีกที แต่ถ้าถามตัวตนผม โดยสัญชาตญาณผมเป็นลิเบอรัล ทั้งจากการศึกษา และทุกๆ อย่าง ผมรู้ตัวเอง คนที่รู้จักผมก็จะรู้ว่าผมเป็นอย่างนั้น และผมมีหลักฐาน ผมเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายชุดสุดท้ายของประชาธิปัตย์ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ฉะนั้น นโยบายของประชาธิปัตย์นั้นออกโดยคณะของผม ก็จะเห็นความก้าวหน้าแฝงชัดในนโยบาย เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าในทุกจังหวัด เรื่องของ LGBTQ+ เราไปสุดโต่งเลย เราเสนอให้มีการแก้กฎหมายให้สิทธิคู่สมรสที่เท่าเทียมกับชายหญิง หลายคนสนับสนุน พรบ. ความเท่าเทียมในชีวิต แต่เราบอกว่าแค่มี พรบ. แยกก็สะท้อนแนวคิดความไม่เสมอภาคแล้ว ฉะนั้นต้องแก้ที่ พรบ. หลัก เปลี่ยนการสมรสว่าเป็นพิธีกรรมระหว่างชายหญิงให้เป็นพิธีกรรมระหว่างบุคคลและบุคคล อันนี้เป็นตัวอย่าง แต่ยังมีอีกหลายเรื่อง 

        โดยสัญชาตญาณผมมีแนวคิดเชิงลิเบอรัล แต่ผมไม่ได้จำกัดว่าทุกคนต้องเชื่อเช่นนี้ อันนี้คือหลักคิดของความเป็นนักปฏิบัตินิยม เราจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่สำคัญที่สุดคือต้องประเมินตามสภาพแวดล้อม ข้อเท็จจริง ตัดสินใจตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดในเวลานั้น

แต่ปีที่ผ่านมาคุณขานชื่อให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

        นั่นเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่ง ผมเป็นหนึ่งในคนที่โหวตให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ปกติแล้วคนคนหนึ่งจะมีความคิดเป็น Binary หมายความว่าดำขาวตลอดเวลา คนจะถามว่าโหวตให้พลเอกประยุทธ์จะเป็นลิเบอรัลได้อย่างไร ผมจะไม่แก้ตัวว่าเป็นมติพรรคด้วย ผมเป็นหนึ่งในคนที่เสนอพรรคว่าเราควรมีมติแบบนี้ เพราะอะไร มันมีหลายเหตุผล อันนี้สะท้อนแนวคิด Pragmatic ปฏิบัตินิยมที่ผมมีเหนืออื่นใด อันดับแรกผมมองตัวเลือก เราเลือกใครกับใคร ถ้าต้องเลือกระหว่างคุณประยุทธ์และคุณอภิสิทธิ์ เราก็ต้องเลือกคุณอภิสิทธิ์อยู่แล้ว แต่นี่เรามองตามตัวเลือกที่มี ถ้าจะให้ผมเลือกคุณธนาธร ก็ต้องถามว่าทำไมผมถึงต้องเลือกคุณธนาธร มองในแง่ความเป็นประชาธิปไตย พรรคของคุณประยุทธ์ได้คะแนนมากกว่าพรรคคุณธนาธร มองในแง่ความต้องการของคนที่เลือกผมมา ผมบอกได้เลยว่าโดยส่วนใหญ่ผมเชื่อว่าหลายคนที่เลือกผมมาไม่ได้อยากให้ผมสนับสนุนคุณประยุทธ์ แต่ผมก็เชื่อว่าเกือบทุกคนที่เลือกผมมาไม่ได้อยากให้ผมสนับสนุนคุณธนาธร ซึ่งนั่นเป็นข้อเท็จจริง แล้วมองในแง่อนาคตบ้านเมืองผมก็มองว่าด้วยเหตุผลทั้งปวงคุณประยุทธ์ในขณะนั้นน่าจะทำให้บ้านเมืองไปได้มากกว่าถ้าคุณธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรี 

        ซึ่งมันก็อาจมีทั้งผิดทั้งถูก ไม่ได้บอกว่าเลือกคุณประยุทธ์มาแล้วทุกอย่างจะดีไปหมด มันเป็นสิ่งที่เราต้องเลือกระหว่าง ก. และ ข. มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียก็มีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีข้อเสีย ป่านนี้แทนที่จะมาตั้งพรรคใหม่ ผมก็คงเข้าร่วมกับพลังประชารัฐ แต่ที่ผมต้องตั้งพรรคใหม่ ไม่ได้เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ มันก็มีเหตุผลอยู่ว่าทำไมผมถึงตัดสินใจเช่นนี้

        แต่ถ้าดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น รวมถึงคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ มันก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับบทโทษการยุบพรรคหรือไม่ แต่เรื่องของการละเมิดกฎหมายผมคิดว่าชัดเจนในกรณีของพรรคอนาคตใหม่ มันแสดงให้เห็นว่าความไม่ไว้วางใจที่มีในบางเรื่องบางประเด็นที่ทำให้ผมให้น้ำหนักกับการเลือกคุณประยุทธ์มากกว่ามันก็ปรากฏให้เห็น พูดง่ายๆ ว่าในการตัดสินใจ ถ้าเรายึดหลักปฏิบัตินิยม ยึดผลลัพธ์เป็นที่ตั้งมันจะนำมาซึ่งคำตอบที่ดีที่สุดเสมอตามสถานการณ์ แต่ไม่ได้บอกว่าคำตอบนั้นจะทำให้คนที่ยึดหลักแบ่งขั้วจะพึงพอใจ และไม่ได้หมายความว่าเราจะตัดสินใจเลือกคนนี้ในทุกสถานการณ์ เพราะว่าสถานการณ์เปลี่ยน ข้อเท็จจริงเปลี่ยน สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศอาจเป็นอีกคำตอบในอนาคตก็ได้

ผิดหวังในการตัดสินใจครั้งนั้นหรือไม่

        พูดตามตรง ผมไม่ได้หวังมาก คือเราเห็นอยู่แล้ว เพราะท่านก็เป็นนายกรัฐมนตรีมาสี่ห้าปี ตอนแข่งกันในช่วงหาเสียง เราก็ชูหัวหน้าพรรคเราว่าน่าจะทำได้ดีกว่าในหลายๆ เรื่อง เพราะว่าในขณะที่มีอำนาจเต็มที่เราก็ยังไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงการปฏิรูปตามที่ควร ก็พอนึกภาพได้ว่าเมื่ออยู่ในสภาพนายกรัฐมนตรี ในสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มีพรรคร่วมมาแบ่งตำแหน่งแบ่งอำนาจแล้ว โอกาสที่จะทำในเรื่องที่ตอนมีอำนาจยังทำไม่ได้มันแทบจะไม่มี ก็เลยตอบได้ชัดเจนว่าไม่ผิดหวังเพราะไม่ได้หวังมาก

 

กรณ์ จาติกวณิช
กรณ์ จาติกวณิช

ความรู้สึกหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ หวั่นใจกับการตั้งพรรคบ้างไหม

        มีหลายเรื่องที่ผมรู้สึกว่ามันบั่นทอน หนึ่งในเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้จากกรณียุบพรรคอนาคตใหม่คือความรู้สึกว่ามันขาดความเป็นธรรม ผมเข้าใจและเห็นด้วยกับอารมณ์นี้ ไม่ได้แปลว่าคำพิพากษาของศาลไม่เป็นธรรม ผมว่าคำพิพากษาของศาลนี่ถูกต้องเลย กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าพรรคการเมืองห้ามรับประโยชน์จากคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้บอกว่าเป็นเงินกู้หรือเป็นเงินอะไร ขอแค่ประโยชน์ที่ได้รับคิดเป็นเงินห้ามเกินสิบล้านบาทต่อคนต่อปี อันนี้มองอย่างไรมันก็ใช่ มันเป็นประโยชน์ที่ได้รับแน่นอน เพราะเป็นเงินที่กู้เขามา เขาก็ไปใช้ทำการเมือง มากกว่าสิบล้านไหม ถ้ามากกว่าก็จบ ไม่ได้สลับซับซ้อน

        แต่ถามว่าสัญญาณที่สังคมได้รับจากเรื่องนี้คืออะไร สัญญาณมันควรเป็นว่าพรรคการเมืองห้ามทำผิด แต่สัญญาณที่ได้รับกลับเป็นถ้าทำผิดก็ต้องปกปิดให้ดี มันไม่ใช่สัญญาณที่ควรจะได้รับ ถามว่ามีใครเชื่อบ้างว่าไม่มีพรรคการเมืองอื่นที่มีคนบริจาคเงินให้มากกว่าสิบล้าน ไม่มีใครเชื่อ แล้วทำไมถึงไม่มีการจับใครอื่นได้ 

แล้วคุณมองว่าผลการตัดสินครั้งนี้ยุติธรรมเพียงใด การยุบพรรคเป็นบทลงโทษที่เหมาะสมแล้วหรือไม่

        มันต้องยึดตามกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งมันต้องทำให้ทุกคนมีความรู้สึกว่าเป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลนี้คือการตอกย้ำความรู้สึกของคนจำนวนมากว่าแต่ละพรรคการเมืองอยู่ภายใต้มาตรฐานที่ต่างกัน ซึ่งตรงนี้เลยเป็นเหตุให้คนมีอารมณ์ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันไม่แฟร์ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ผิด แต่ไม่แฟร์เพราะว่าจริงๆ เขาไม่ได้ผิดอยู่คนเดียว เพียงแต่ว่าเขาโจ่งแจ้ง เขาไม่ฉลาดในการปกปิด และผมมองต่อว่าโทษการยุบนี่เป็นเรื่องที่โทษศาลไม่ได้ ทำผิดแบบนี้ก็ต้องได้รับผล แต่ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการยุบพรรค ตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักไทย เราไม่เคยยื่นให้พรรคคู่แข่งถูกยุบด้วย พรรคคู่แข่งเคยยื่นให้เราถูกยุบ แต่เราไม่เคยยื่นใคร คิดกันแล้วมันก็ขัดๆ กันอยู่ในกรณีของพรรคอนาคตใหม่ คือเป็นกฎหมายป้องกันพรรคการเมืองไม่ให้มีใครมีอิทธิพลเหนือพรรค แต่กลายเป็นว่าผลของการกระทำผิดนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง มันขัดกันอยู่ 

        มันน่าจะมีวิธีอื่น อย่างทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีถูกปรับ ด้วยความผิดเรื่องการเงินเหมือนกัน เขาถูกปรับเงินสามสิบล้านยูโร และก็ถูกห้ามแข่งแชมเปียนลีกส์สองปี ถ้าลองเปรียบเทียบดูว่าแฟนคลับแมนฯ ซิตีจะรู้สึกอย่างไรถ้าบทลงโทษคือการยุบสโมสรของพวกเขา และครั้งหน้าเขาต้องไปเชียร์แมนยู ลิเวอร์พูลแทน มันไม่ใช่ความผิดของแฟนคลับ ทำไมเขาต้องสูญเสียสโมสรเขาด้วย ถ้าเทียบกับพรรคการเมือง มันไม่ใช่ความผิดของแฟนคลับพรรคอนาคตใหม่ แต่มันคือความผิดของกรรมการบริหาร หรือคุณจะลงโทษตัวองค์กรเหมือนที่แมนฯ ซิตีถูกลงโทษ คือห้ามลงแข่ง มันก็อาจมีวิธีห้ามลงเลือกตั้งบ้างอะไรบ้าง แต่ไม่ใช่การยุบพรรค

        และถ้าในมุมของนักปฏิบัตินิยม ในสิบปีที่ผ่านมา การยุบพรรคต่างๆ มันเคยทำให้การเมืองไทยดีขึ้นไหม มันดูจะทำให้แย่ลงด้วยซ้ำไป ผลลัพธ์ของมาตรการนี้ไม่ได้สนับสนุนการรักษามาตรการนี้ นี่คือมุมมองของนักปฏิบัตินิยม เมื่อมันชัดเจนว่ามาตรการนี้ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น มันไม่ใช่เวลามาทบทวนหรือว่าเราควรมีมาตรการอื่นที่เป็นประโยชน์กว่า สร้างสรรค์กว่า ทำให้การเมืองเราดีขึ้น 

ในฐานะนักปฏิบัตินิยม คุณจะมีเกณฑ์วัดผลอย่างไรว่าบทบาทนี้สำเร็จแล้ว 

        ไม่อยากระบุจำนวนปี แต่คนเราทุกคนมีเวลาที่จำกัด และสาเหตุที่ผมไม่ทำงาน รอเวลาพรรคเดินต่อไปเพื่อทำสิ่งที่อยากทำ เพราะผมรู้สึกว่าเวลามันไม่รอใคร ไม่รอประเทศในเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหา รวมถึงตัวผมเองที่มองว่าผมไม่ควรอยู่นานเกินไป นานเท่าไหร่ก็ต้องคอยส่องกระจกเงาดูตัวเองเป็นครั้งคราว 

        มันมีสองวิธีที่จะมอง หนึ่งคือทำได้แล้ว สองคือทำไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าอันไหนมาก่อน การทำงานเพื่อประเทศชาติมันไม่มีวันสิ้นสุดอยู่แล้ว ใช้สิ่งนี้เป็นเกณฑ์จะอันตราย และมนุษย์เรามักจะประเมินความสำคัญของตัวเองสูงเกินไป ผมจะตระหนักในสัจธรรมนี้ แต่ผมมีภรรยาที่คอยบอกผมอยู่เสมอ ตรงนี้คงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ก็ต้องคอยประเมินตัวเองไม่ให้ติดกับดักให้ความสำคัญตัวเองสูงเกินไป

ทำไม่ได้เลยคืออะไร สัญญาณอะไรจะบอกว่าหนทางนี้ไปต่อไม่ได้

        ก็คือไม่มีใครเลือก ไม่มีผลตอบรับจากผู้คน ตัวชี้วัดอันนี้จะประเมินง่ายที่สุด และภรรยาจะสนับสนุนด้วย (ยิ้ม)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0