โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กรณีหัวเว่ยถูกแบน: วัดใจจีนงัด ‘แร่หายาก’ ทำศึกการค้ากับอเมริกา

The Momentum

อัพเดต 26 พ.ค. 2562 เวลา 15.16 น. • เผยแพร่ 26 พ.ค. 2562 เวลา 15.16 น. • สาธิต มนัสสุรกุล

In focus

  • การที่จีนเล็งระงับการส่งออกแร่หายาก หรือ Rare Earth เพื่อกดดันสหรัฐฯ ให้รามือในสงครามการค้า นับเป็นทางเลือกนโยบายที่มีข้อจำกัด นั่นเพราะแร่ในกลุ่มนี้พบกระจัดกระจายทั่วไปบนผิวโลก เพียงแต่ในการรวบรวม แปรรูป และสกัดนั้น ต้องผ่านกระบวนการที่ทำให้เกิดของเสียอันตราย และเกิดกากแร่ที่ปล่อยกัมมันตรังสี จึงมีน้อยประเทศที่เต็มใจจะลงทุน
  • ช่วงหลังมานี้ สหรัฐฯ เองก็พยายามลดการพึ่งพาจีน โดยฟื้นฟูแหล่งผลิตภายในประเทศ ผลักดันการสร้างโรงงานรีไซเคิล คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่ต้องใช้แร่หายากในการผลิตสินค้าต่างๆ พร้อมกับเร่งสำรองแร่หายากในสต็อก
  • ในอดีต จีนเคยใช้การระงับส่งออกแร่หายากเพื่อตอบโต้ญี่ปุ่นมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่่งผลสะท้อนกลับมาที่จีนเอง โดย WTO วินิจฉัยว่า มาตรการของจีนละเมิดกฎการค้า ทำให้จีนเสียรังวัดบนเวทีโลก อีกทั้งการแบนยังทำให้ราคาแร่หายากพุ่งสูง เกิดเหมืองเถื่อนระบาด
  • อันที่จริง การที่สหรัฐฯ สั่งแบนหัวเว่ยเป็นการเล่นงานอย่างจำเพาะเจาะจงไปยังบริษัทเพียงแห่งเดียว ถ้าจีนระงับส่งออกแร่หายาก เท่ากับเป็นการตอบโต้คู่พิพาทแบบเหมารวมทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นการยกระดับสงครามการค้า จีนอาจตกที่นั่งเป็นผู้ร้ายในสายตาชาวโลก

จีนอาจระงับการส่งออกแร่หายาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่อุตสาหกรรมอเมริกันต้องพึ่งพา เพื่อกดดันสหรัฐฯ ให้รามือในสงครามการค้า แต่มองในอีกมุมหนึ่ง การใช้ ‘แรร์ เอิร์ธ’ เป็นอาวุธ นับเป็นทางเลือกนโยบายที่มีข้อจำกัด

นักวิเคราะห์มองว่า กรณีประธานาธิบดีสีจิ้นผิงไปเยือนโรงงานผลิตแม่เหล็กแห่งหนึ่งในมณฑลเจียงซีเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งใช้แร่หายากเป็นวัตถุดิบ ถือเป็นการส่งสัญญาณไปยังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

สัญญาณที่ว่านี้ถอดรหัสได้ว่า “ถ้านายยังแบนหัวเว่ยไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีอเมริกัน และยังเดินหน้าขึ้นภาษีการค้าต่อไป นายต้องคิดให้ดีว่า นายต้องพึ่งพาแร่หายากจากจีนในการผลิตสินค้าไฮ-เทคแทบทุกชนิด”

หลี่หมิงเจียง นักวิชาการของวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัม (RSIS) ในสิงค์โปร์ บอกว่า การที่สีแวะไปตรวจเยี่ยมโรงงานดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เห็นได้ชัดว่าจีนกำลังตรึกตรองที่จะสั่งแบนการส่งออกแร่หายากไปยังสหรัฐฯ

แร่หายากคืออะไร ใช้ทำอะไร สำคัญต่อสหรัฐฯ และห่วงโซอุปทานของโลกอย่างไร อเมริกาต้องพึ่งพาแรร์เอิร์ธจากจีนจริงแท้แค่ไหน ต้องทำความเข้าใจประเด็นเหล่านี้ก่อน

จากนั้นจึงจะประเมินได้ว่า แล้วปักกิ่งจะใช้การระงับการส่งออกแร่หายากเป็นแต้มคูต่อรอง ในเกมช่วงชิงความเป็นเจ้าเทคโนโลยีกับอเมริกา หรือไม่

*เรียกชื่อ ‘แรร์เอิร์ธ’ แต่มีอยู่ทั่วไป *

แร่ที่เรียกว่า แรร์เอิร์ธ (rare earths) หรือที่แปลเป็นไทยว่า แร่หายาก คือ กลุ่มสินแร่ที่สามารถสกัดออกมาเป็นธาตุต่างๆ ได้ 17 ชนิด แต่ละชนิดนำไปใช้ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้แตกต่างกันไป

อันที่จริง แร่ในกลุ่มนี้ไม่เชิงว่าเป็นของหายากเสียทีเดียว เพราะพบกระจัดกระจายทั่วไปบนผิวโลก เพียงแต่ในการรวบรวม แปรรูป และสกัดออกมาเป็นธาตุต่างๆ นั้น ต้องผ่านกระบวนการที่ทำให้เกิดของเสียอันตราย และเกิดกากแร่ที่ปล่อยกัมมันตรังสี จึงมีน้อยประเทศที่เต็มใจจะลงทุนกับกิจการที่ปล่อยมลพิษสูงนี้ จีนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้อยรายที่ ‘ใจถึง’ เวลานี้ จีนจึงครองความเป็นเจ้าตลาด

แร่หายากถูกนำมาสกัดเพื่อให้ได้โลหะมีค่าชนิดต่างๆ และผงแม่เหล็ก ซึ่งเป็นประโยชน์ในการผลิตสินค้ามากมาย ตั้งแต่สินค้าผู้บริโภค อย่างเช่น สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นดีวีดี โทรทัศน์ หลอดไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อย่างเช่น แบตเตอรีและมอเตอร์ในยานยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด กังหันลม เลนส์กล้องถ่ายรูป สารเคมีสำหรับใช้ในโรงกลั่นน้ำมัน ไปจนถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น เครื่องยนต์เจ็ท ดาวเทียม เลเซอร์ และขีปนาวุธ

ห่วงโซ่อุปทาน

ปัจจุบัน จีนครองส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วน 81 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการผลิตแร่หายากในโลก และครองสัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการนำเข้าของสหรัฐฯ

สำนักสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ ประมาณการว่า ทั่วโลกมีแร่หายาก 120 ล้านตัน แหล่งสำรองขนาดใหญ่อยู่ในจีน (44 ล้านตัน หรือราว 37 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสำรองของโลก) บราซิล (22 ล้านตัน) และรัสเซีย (18 ล้านตัน) ประเทศอื่นๆ ที่มีการทำเหมืองแร่ชนิดนี้ คือ อินเดีย แอฟริกาใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย เอสโตเนีย มาเลเซีย บราซิล

วัตถุดิบพื้นฐานที่ว่านี้ มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เป็นอย่างมาก ห่วงโซ่การผลิตทุกวันนี้มีความสลับซับซ้อนสูง เพราะผู้ผลิตทั้งหลายต่างพิจารณาความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantages) ในแง่ของความอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ใกล้ตลาดระบายสินค้า และอื่นๆ ในการตัดสินใจเลือกทำเลที่ตั้งของโรงงานผลิตและโรงงานประกอบ

การผลิตสินค้าแต่ละอย่างต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในระดับโลก ยกตัวอย่างเช่น สมาร์ตโฟนในมือเราซึ่งประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนที่ผลิตในหลายประเทศ ดังนั้น แต่ละประเทศภายในห่วงโซ่อุปทานจึงต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน แน่นอนว่ารวมถึงสหรัฐฯ กับจีนด้วย

‘ทางหนีทีไล่’ ของแต่ละฝ่าย

ด้วยเหตุที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้แร่หายาก รัฐบาลทรัมป์จึงยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้ารายการนี้จากจีน มิฉะนั้นแล้ว ต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงราคาสินค้าในตลาดสหรัฐฯ

ในระยะหลัง อเมริกาพยายามที่จะลดการพึ่งพาจีน โดยฟื้นฟูแหล่งผลิตภายในประเทศ ผลักดันการสร้างโรงงานรีไซเคิล คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่ต้องใช้แร่หายากในการผลิตสินค้าต่างๆ พร้อมกับเร่งสำรองแร่หายากในสต็อก

ข้างฝ่ายจีนนั้น รัฐบาลปักกิ่งคงต้องคิดหน้าคิดหลังหากจะใช้แร่หายากเป็นอาวุธ หรือห้ามส่งออกมอเตอร์ แม่เหล็ก หรือวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้แร่หายากในกระบวนการผลิต ไปยังสหรัฐฯ

ประเด็นหลักที่จีนต้องพิจารณา คือ บทเรียนในอดีตที่จีนเคยใช้ไพ่ใบนี้ตอบโต้ญี่ปุ่นมาแล้วครั้งหนึ่ง และผลสะท้อนกลับต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของจีนเอง

เมื่อปี 2010 จีนระงับการส่งออกแร่หายากโดยอ้างเหตุจำเป็นภายในประเทศ คือ อ้างว่าต้องการจัดระเบียบการทำเหมืองแร่หายาก ซึ่งเกิดเหมืองเถื่อนขึ้นมากมาย การระงับในครั้งนั้นเกิดขึ้นในขณะที่จีนกำลังบาดหมางกับญี่ปุ่นด้วยข้อพิพาทกรรมสิทธิ์เหนือเกาะเตียวหยู หรือเซนกากุ ในทะเลจีนตะวันออก

ญี่ปุ่นเชื่อว่า การแบนดังกล่าวมุ่งตอบโต้ญี่ปุ่น จึงร้องเรียนร่วมกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) ต่อมาในปี 2014 WTO วินิจฉัยว่า มาตรการของจีนละเมิดกฎการค้า ทำให้จีนเสียรังวัดบนเวทีโลก มิหนำซ้ำ การแบนได้ทำให้ราคาแร่หายากพุ่งสูง เหมืองเถื่อนจึงระบาด สวนทางกับนโยบายของจีนเอง

นอกจากนี้ การงดส่งออกของจีนยังส่งผลให้ความต้องการใช้แร่หายากลดลงด้วย ดังกรณีฮอนด้ากับโตโยต้าปรับเปลี่ยนแม่เหล็กที่ใช้จ่ายกำลังไฟฟ้าในรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริด เพื่อให้ใช้แร่หายากของจีนน้อยลง พร้อมกับหันไปซื้อแร่หายากจากประเทศอื่นๆ แทน เช่น ออสเตรเลีย

ผลที่ตามมาอีกอย่างก็คือ บริษัทอเมริกันในจีนอาจย้ายฐานการผลิตกลับไปยังสหรัฐฯ หรือประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เพื่อให้โรงงานอยู่ใกล้กับแหล่งผลิตแร่หายาก

ข้อพิจารณาสุดท้ายเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ กรณีสหรัฐฯ สั่งแบนหัวเว่ยเป็นการเล่นงานอย่างจำเพาะเจาะจงไปยังบริษัทเพียงแห่งเดียว ถ้าจีนระงับส่งออกแร่หายาก เท่ากับเป็นการตอบโต้คู่พิพาทแบบเหมารวมทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นการยกระดับสงครามการค้า จีนอาจตกที่นั่งเป็นผู้ร้ายในสายตาชาวโลก

จีนพร้อมจะเล่นเกมงัดข้อกับสหรัฐฯ หรือไม่ อย่างไร ต้องคอยดูกันต่อไป.

 

อ้างอิง:

AFP via Japan Times 22 May 2019

New York Times, 23 May 2019

Reuters, 23 May 2019

Reuters, 23 May 2019

ภาพ: REUTERS/Francois Lenoir

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0