โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

กรณีศึกษา STARBUCKS บริษัทที่มีหนี้ มากกว่า สินทรัพย์

ลงทุนแมน

อัพเดต 16 ม.ค. 2563 เวลา 07.52 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 03.10 น. • ลงทุนแมน

กรณีศึกษา STARBUCKS บริษัทที่มีหนี้ มากกว่า สินทรัพย์ /โดย ลงทุนแมน

เรื่องนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับบริษัททั่วไป
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับคนเรียนบัญชี
โดยทั่วไปสินทรัพย์ของบริษัท จะมีค่าเท่ากับ หนี้สิน บวก ส่วนผู้ถือหุ้น
หลายคนเข้าใจว่า สินทรัพย์ของบริษัทอย่างไรก็ต้องมากกว่าหนี้สิน

แต่รู้ไหมว่า บางบริษัทก็สามารถมีสินทรัพย์ น้อยกว่า หนี้สินได้เช่นกัน

ตัวอย่างในบทความนี้ก็คือ บริษัทสตาร์บัคส์ เชนร้านกาแฟที่ใหญ่สุดในโลก
เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ไม่พลาดวิดีโอสาระน่ารู้จาก ลงทุนแมน
กดติดตามที่ http://www.youtube.com/longtunman
╚═══════════╝
ปี 2019 บริษัทสตาร์บัคส์มีสินทรัพย์ 5.8 แสนล้านบาท
แต่มีหนี้สินมากถึง 7.7 แสนล้านบาท

เรื่องไม่ปกติแบบนี้เกิดขึ้นมาจากส่วนของผู้ถือหุ้น
ที่มีมูลค่าติดลบกว่า 1.9 แสนล้านบาท

ก่อนอื่นเลยก็ต้องบอกว่า เคสนี้ส่วนใหญ่ในสมัยก่อนจะเกิดขึ้นกับบริษัทที่ล้มละลาย
หนี้สินท่วมบริษัท จนกินส่วนของผู้ถือหุ้น

แต่สำหรับสตาร์บัคส์ บริษัทไม่ได้ล้มละลาย..
แต่บริษัทกำลังทำสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากบริษัททั่วไป
นั่นก็คือ
“การซื้อหุ้นคืนมหาศาล”

ปี 2017 สตาร์บัคส์ซื้อหุ้นคืนมูลค่า 0.6 แสนล้านบาท
ปี 2018 สตาร์บัคส์ซื้อหุ้นคืนมูลค่า 2.2 แสนล้านบาท
ปี 2019 สตาร์บัคส์ซื้อหุ้นคืนมูลค่า 3.1 แสนล้านบาท

รวม 3 ปี เท่ากับ 5.8 แสนล้านบาท
มูลค่าดังกล่าวบริษัทสามารถนำไปซื้อธนาคารขนาดใหญ่ของไทยได้ทั้งธนาคาร แถมได้รับเงินทอน

แล้วทำไมการซื้อหุ้นคืนทำให้ หนี้ มากกว่า สินทรัพย์?

การซื้อหุ้นคืนเป็นการใช้เงินสดเข้าไปซื้อหุ้นคืนจากตลาด และเมื่อได้หุ้นคืนมาอยู่กับบริษัทแล้ว บริษัทก็จะลดทุน โดยการตัดจำนวนหุ้นของบริษัทออก และทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง

ดังนั้น เมื่อบันทึกบัญชี จะทำให้ฝั่งสินทรัพย์คือเงินสดหายไป
และฝั่งส่วนผู้ถือหุ้นมีมูลค่าลดลง อย่างในกรณีของสตาร์บัคส์ลดลงจนส่วนผู้ถือหุ้นมีมูลค่าติดลบ

และเป็นสาเหตุให้หนี้ของสตาร์บัคส์มีมูลค่ามากกว่าสินทรัพย์

โดยกรณีของสตาร์บัคส์คือ บริษัทซื้อหุ้นคืนโดยใช้เงินสดร่วมกับการกู้เงินจากธนาคาร

ปี 2017 บริษัทมีเงินกู้ระยะยาว 1.2 แสนล้านบาท
ปี 2019 บริษัทมีเงินกู้ระยะยาว 3.4 แสนล้านบาท

เพียง 2 ปี เงินกู้ระยะยาวของสตาร์บัคส์เพิ่มขึ้นเป็น 2.8 เท่า

ซึ่งอาจเรียกง่ายๆ ว่า สตาร์บัคส์กู้เงินส่วนหนึ่งมาซื้อหุ้นคืน

แม้ว่าจะดูเป็นตัวเลขเงินกู้ธนาคารมหาศาล
แต่สำหรับสตาร์บัคส์ที่ผลิตกำไรได้ 1.1 แสนล้านบาท
ก็สามารถจ่ายคืนเงินต้นที่กู้มาได้หมดภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี

คำถามสำคัญก็คือ..
แล้วสตาร์บัคส์จะซื้อหุ้นคืนมากขนาดนี้ไปทำไม?

คำตอบก็คือ การซื้อหุ้นคืนจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น

กลไกหลังจากการซื้อหุ้นคืนที่เห็นผลทันทีก็คือ จำนวนหุ้นจะน้อยลง ซึ่งส่งผลให้
เงินปันผลต่อหุ้นมากขึ้น
กำไรต่อหุ้นมากขึ้น
และเมื่อกำไรต่อหุ้นมากขึ้น ถ้าตลาดซื้อขายกันที่ P/E เท่าเดิม ราคาหุ้นของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นตาม

และคนที่รับผลประโยชน์เหล่านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ ผู้ถือหุ้น นั่นเอง..

ในโลกของธุรกิจแล้ว ถ้าเรามีเงินสดเหลือ เรามีทางเลือกที่จะใช้มันให้เป็นประโยชน์อยู่ 5 ทางก็คือ

1. กองเงินสดไว้เฉยๆ โดยไปฝากธนาคาร

  1. จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น
  2. นำเงินไปลงทุนเพื่อขยายกิจการตัวเอง
  3. นำเงินไปซื้อกิจการอื่น
  4. นำเงินไปซื้อหุ้นคืน

ในกรณีจ่ายเงินปันผล จะมีข้อเสียคือ มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายด้วย
ส่วนการลงทุนขยายกิจการ หรือไปซื้อกิจการอื่น ก็อาจมีความเสี่ยงที่ไม่รู้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร

การซื้อหุ้นคืนเป็นหนทางในการใช้เงินสดที่เหลืออยู่โดยมีความเสี่ยงน้อย และเพิ่มผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นทันที ซึ่งวอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยกล่าวถึงอยู่หลายครั้งว่าเขาชอบวิธีนี้

เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
เพราะการมีหนี้มากกว่าสินทรัพย์ของสตาร์บัคส์
น่าจะขัดกับงบการเงินของบริษัทในประเทศไทยพอสมควร

พอเราเข้าใจเรื่องนี้แล้ว วันหลังหากมีคนมาบอกว่า
บริษัทไหนส่วนทุนติดลบ หรือ บริษัทมีหนี้มากกว่าสินทรัพย์ก็อย่าเพิ่งตกใจ

เพราะหากเป็นแบบสตาร์บัคส์แล้ว
เราก็อาจเจอกับอีกธุรกิจที่น่าสนใจ ก็เป็นได้..

เกร็ดน่ารู้เพิ่มเติม
ในงบการเงินสตาร์บัคส์ มีรายการหนึ่งที่ถูกบันทึกเป็นหนี้ก็คือ เงินที่ค้างอยู่ในบัตรสตาร์บัคส์แต่ยังไม่ถูกใช้ ซึ่งในเดือนกันยายน ปี 2019 ล่าสุด เงินที่ค้างอยู่ในบัตรสตาร์บัคส์มีมูลค่ามากถึง 38,000 ล้านบาท..
———————-
ไม่พลาดวิดีโอสาระน่ารู้จาก ลงทุนแมน
กดติดตามที่ http://www.youtube.com/longtunman
———————-
References
-Starbucks Annual Report 2019

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0