โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"กบฏต่างชาติ" ในกรุงศรีอยุธยา แขก-ญี่ปุ่น บุกรุกถึงวังหลวง!

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 14 พ.ย. 2566 เวลา 02.10 น. • เผยแพร่ 13 พ.ย. 2566 เวลา 05.56 น.
ภาพปก-จิตรกรรม
กบฏธรรมเถียร สมัย พระเพทราชา กรุงศรีอยุธยา กบฏ กบฏไพร่ ไพร่

กบฏต่างชาติ ในกรุงศรีอยุธยา มีทั้งแขก ญี่ปุ่น บุกยึดเข้าปล้นถึงใน “วังหลวง” สะท้อนความหละหลวมในราชสำนัก?

ช่วงที่กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรยาวนานกว่าสี่ร้อยปี มีความโกลาหลเกิดขึ้นมากมาย นอกเหนือจากการทำศึกสงครามกับอาณาจักรภายนอกอยู่หลายครั้งแล้ว ยังปรากฏหลักฐานความโกลาหลที่เกิดขึ้นภายใน นั่นก็คือการเกิด “กบฏ”

กบฏในสมัยกรุงศรีอยุธยามีไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง โดย จิตรสิงห์ ปิยะชาติ รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้ในหนังสือ “กบฏกรุงศรีอยุธยา” พร้อมอธิบายการเกิดกบฏแต่ละช่วงในกรุงศรีอยุธยาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ก่อกบฏจะเป็นคนในราชสำนักอยุธยา โดยเฉพาะกลุ่มขุนนาง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติที่ก่อกบฏ เช่น สุลต่านเจ้าเมืองปัตตานี ที่เข้าปล้นพระราชวังสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กบฏแขกมักกะสัน เป็นต้น

กบฏสุลต่านตานี

พ.ศ. 2106 สุลต่านตานีก่อกบฏ เป็นช่วงที่กรุงศรีอยุธยากำลังมีศึกภายนอก พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ บันทึกเหตุการณ์สุลต่านเจ้าเมืองปัตตานีเป็นกบฏ ในช่วงไล่เลี่ยกับพระราเมศวรไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดี

พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ และฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกรายละเอียดคล้ายกันว่า เมื่อพระยาตานียกทัพเข้ามาช่วยสงคราม แต่กลับเป็นกบฏ ยกกำลังเข้าไปในพระราชวัง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องทรงเรือพระที่นั่งหนีออกจากพระราชวังไปเกาะมหาพราหมณ์ เหตุการณ์ภายหลังเป็นกลุ่มเสนาอำมาตย์ที่ขับไล่สุลต่านไปได้

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของเหตุการณ์นี้ในพระราชพงศาวดารไทยหลายฉบับ แตกต่างจากเอกสารภาษามลายู จิตรสิงห์ทำการสืบค้นข้อมูลและพบว่า เอกสาร Hikayat Patani กล่าวว่า การที่สุลต่านตานียกทัพไปนั้น เป็นการยกไปทำสงครามกับอยุธยา ขณะที่พระราชพงศาวดารของไทยระบุว่า เป็นการฉวยโอกาสขณะที่ไทยกำลังเสียเปรียบพม่า

กบฏญี่ปุ่น

กบฏต่างชาติ อีกกลุ่มหนึ่งที่ปรากฏหลักฐานคือ “ญี่ปุ่น” เกิดขึ้นสมัยพระเจ้าทรงธรรม เมื่อ พ.ศ. 2155 จิตรสิงห์อธิบายบริบทในสมัยนั้นว่า มีชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าขายเป็นจำนวนมาก สมัยอยุธยาตอนต้นถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ปรากฏมีพ่อค้าชาวเอเชียเข้ามาตั้งร้านค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ทั้งจีน อินเดีย อาหรับ มลายู ขอม ลาว พม่า มอญ จาม ชวา

สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มีชาวยุโรปเริ่มเข้ามาติดต่อสัมพันธ์ เป็นที่ทราบกันว่า ยุโรปชาติแรกที่เข้ามาคือ โปรตุเกส ตามมาด้วยฮอลันดาในสมัยสมเด็จพระนเรศวร และสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทำการเปิดสถานีการค้าเป็นครั้งแรก ก่อนจะปิดลงชั่วคราวในสมัยพระเจ้าทรงธรรม

จิตรสิงห์ยังระบุอีกว่า การเข้ามาของชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก นอกจากกรุงศรีอยุธยาจะได้ประโยชน์ทางพาณิชย์ และการค้าขายแลกเปลี่ยนแล้ว อยุธยายังได้รับวิทยาการสมัยใหม่อีกมาก นอกจากนี้ อยุธยายังตั้งชาวต่างชาติเป็นขุนนางฝ่ายชำนาญการ ซึ่งจะทวีบทบาทในราชสำนัก นำสู่การเกิด “กบฏต่างชาติ” ในเวลาต่อมา รวมทั้งเกิดกองทหารอาสาจากชาติต่างๆ เช่น ทหารอาสาฝรั่งเศส ทหารอาสามอญ ทหารอาสาญี่ปุ่น เป็นต้น โดยในช่วงอยุธยา มีหมู่บ้านญี่ปุ่น และมีกลุ่มทหารอาสาญี่ปุ่นซึ่งจะเอ่ยถึงในเนื้อหาต่อไป

ญี่ปุ่นเข้ามาติดต่อทางการทูตกับอยุธยาอย่างเป็นทางการในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่ก่อนหน้านี้เชื่อว่า คงมีกลุ่มพ่อค้าญี่ปุ่นเข้ามาทำการค้าขายแล้ว

จิตรสิงห์ระบุว่า ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้บันทึกช่วงแรกของการเป็นกษัตริย์ของพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเกิดความวุ่นวายจากเหตุการณ์กบฏญี่ปุ่นเอาไว้ว่า

“ครั้งนั้นญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายหลายลำ ญี่ปุ่นโกรธว่าเสนาบดีมิได้เป็นธรรม คบคิดเข้าด้วยพระพิมลฆ่าพระมหากษัตริย์เสีย ญี่ปุ่นคุมกันได้ประมาณ 500 ยกเข้ามาในท้องสนามหลวง คอยจะกุมเอาพระเจ้าอยู่หัว อันเสด็จออกมาฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ ณ พระที่นั่งจอมทองสามหลัง

ขณะนั้นพอพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเข้ามา 8 รูป พาเอาพระองค์เสด็จออกมาต่อหน้านี้ญี่ปุ่น ครั้นพระสงฆ์พาเสด็จไปแล้วญี่ปุ่นร้องอื้ออึงขึ้นว่า จะกุมเอาพระองค์แล้วเป็นไรจึงนิ่งเสียเล่า ญี่ปุ่นทุ่มเถียงเป็นโกลาหล ฝ่ายพระมหาอำมาตย์คุมพลได้ แลไล่รบญี่ปุ่นล้มตายเป็นอันมาก ญี่ปุ่นแตกไปจากพระราชวังลงสำเภาหนี”

ส่วนในเอกสารของตุรแปง ระบุว่า ตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ออกญากรมนายไวย ขุนนางท่านหนึ่งคิดก่อการกบฏ เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์จึงให้ประหารชีวิตออกญากรมนายไวย

การประหารครั้งนั้นทำให้ชาวญี่ปุ่นภายใต้การบังคับบัญชาออกญากรมนายไวยจำนวน 280 คน ไม่พอใจจึงยกพวกพากันเข้าไปในพระราชวัง เข้าคุมตัวพระเจ้าทรงธรรมไว้ จากนั้นก็เรียกร้องให้ส่งตัวข้าราชการผู้ใหญ่ 4 คนที่มีส่วนประหารออกญากรมนายไวย ทางฝ่ายอยุธยายินยอม พวกญี่ปุ่นจึงนำตัวขุนนางทั้ง 4 ไปประหารชีวิต

เอกสารของตุรแปง ระบุต่อว่า ภายหลังพระเจ้าทรงธรรมทรงเจรจากับพวกญี่ปุ่นเหล่านี้ได้ ทรงอนุญาตให้พวกญี่ปุ่นกลุ่มนี้ออกจากอยุธยา ส่วนพวกญี่ปุ่นขอนำพระสงฆ์จำนวน 3-4 รูปไปเป็นตัวประกันในการออกจากอยุธยา

ระหว่างทางพวกญี่ปุ่นอาละวาดปล้นสะดมบ้านเรือนราษฎรฉวยทรัพย์สมบัติไปจำนวนมาก แถมยังกำเริบเข้ายึดเมืองเพชรบุรี แต่ในปีเดียวกัน พระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ ให้ทัพอยุธยายกไปปราบ และขับไล่ชาวญี่ปุ่นออกจากเพชรบุรีได้สำเร็จ

จะเห็นได้ว่า ข้อมูลในพระราชพงศาวดารของไทย กับเอกสารของตุรแปง มีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง

กบฏต่างชาติ สะท้อนความหละหลวมในราชสำนัก

จิตรสิงห์ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงการเกิดกบฏญี่ปุ่นในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ชาวต่างชาติอย่างญี่ปุ่นสามารถเข้าสู่เขตพระราชฐานชั้นใน ย่อมสะท้อนถึงความหละหลวมของราชสำนัก อีกทั้งการที่ญี่ปุ่นรวมตัวกันจำนวนมากและก่อเหตุระดับนี้ได้ อาจมองได้ว่า ญี่ปุ่นมีอำนาจและบทบาทในอยุธยาช่วงสมัยนั้นอยู่ระดับหนึ่งทีเดียว

บทบาทของญี่ปุ่นในสมัยอยุธยานั้น ดังที่กล่าวข้างต้นว่า ด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตทำให้เกิดหมู่บ้านญี่ปุ่น และทหารอาสาญี่ปุ่นช่วยอยุธยาทำสงคราม กรณีนี้ยังมีอีกตัวอย่างคือในสมัยพระเจ้าทรงธรรม มีซามูไรนามว่า ยามาดะ นางามาซะ (ภายหลังเป็นออกญาเสนาภิมุข) ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่น และก้าวหน้าในการรับราชการกับกรุงศรีอยุธยา มีความดีความชอบได้รับตำแหน่งถึง“ออกญาเสนาภิมุข” มีทหารในบังคับบัญชาประมาณ 800 คน

บทความ “‘ยามาดะ’ ออกญาเสนาภิมุข ซามูไรแห่งอยุธยา และจุดจบตามข้อมูลประวัติศาสตร์” โดย พัชรเวช สุขทอง อธิบายไว้ว่า“การที่ยามาดะ ดำรงตำแหน่งสำคัญภายในราชสำนักอยุธยา จึงมีบทบาทสำคัญหลังจากที่พระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคต คือเกิดปัญหาเรื่องการสืบราชสมบัติ ยามาดะ นางามาซะ มีความเชื่อเรื่องการสืบสันตติวงศ์ตามระเบียบประเพณีจึงคิดว่า สมเด็จพระเชษฐาธิราช พระโอรสของพระเจ้าทรงธรรม เหมาะสมที่จะขึ้นครองราชย์สมบัติ จึงขัดกับความคิดของออกญากลาโหม ซึ่งต่อมาคือ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” ซึ่งคิดที่จะก่อการกบฏ โดยคิดกลอุบายให้ยามาดะ ไปปราบกบฏที่นครศรีธรรมราช เพื่อที่จะสะดวกในการชิงบัลลังก์จากสมเด็จพระเชษฐาธิราช ในเวลาถัดมา

หลังจากเสร็จศึกที่เมืองนครศรีธรรมราช ยามาดะ ได้ยกทัพไปปราบกบฏที่เมืองปัตตานี และถูกอาวุธจนได้รับบาดเจ็บสาหัส จึงกลับมารักษาตัวที่เมืองนครศรีธรรมราช และมีผู้คิดร้ายได้ลอบวางยาพิษ จนทำให้ ยามาดะ นางามาซะ ถึงแก่กรรมในที่สุด”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

จิตรสิงห์ ปิยะชาติ. กบฏกรุงศรีอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2562.

พัชรเวช สุขทอง. ““ยามาดะ” ออกญาเสนาภิมุข ซามูไรแห่งอยุธยา และจุดจบตามข้อมูลประวัติศาสตร์”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. ปรับปรุงเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2561. เข้าถึง 17 กุมภาพันธ์ 2563. <https://www.silpa-mag.com/history/article_14062>

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2564

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0