โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

 ปลดล็อก!ตัดไม้หวงห้าม เราจะรวยกันทั้งแผ่นดิน

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 22 เม.ย. 2562 เวลา 10.07 น.

นับเป็นข่าวน่ายินดีรับสงกรานต์ที่ผ่านมา  เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562  ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี 2562 โดยหลักสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ มุ่งหวังให้ประชาชน-เอกชน ทำไม้ เคลื่อนย้าย หรือการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการใช้ประโยชน์จากไม้หวงห้าม ไม้มีค่า สามารถทำได้ง่ายขึ้น  ทั้งยังเพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานในการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 

เนื่องจากพ.ร.บ. ป่าไม้ ฉบับเก่านั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการป้องกัน รักษาไม้มีค่า ที่อยู่ในป่าเป็นหลัก จึงเป็นอุปสรรคในการดำเนินการส่งเสริมการปลูก และใช้ประโยชน์จากไม้มีค่า เช่น ไม้สัก ที่เคยมีการส่งเสริมการปลูกมานานหลายสิบปีแล้ว แต่เกษตรกรผู้ปลูกไม่สามารถตัดมาใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากข้อกฎหมาย  และยังใช้ไม้มีค่าได้อย่างมีประโยชน์อย่างยั่งยืนมากขึ้น 

ตามสาระสำคัญที่มีการแก้ไขคือ มาตรา 7 โดยใจความของมาตรา 7 นี้ คือการให้ไม้ทุกชนิด ที่ปลูกในดินที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป ประชาชน-เจ้าของสามารถ ปลูกและนำมาประโยชน์ได้ 

ต้องเน้นย้ำคำว่า “ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์” หรือ “สิทธิครอบครอง” หรือ “ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาต”

รอคอยกันมาเกือบ 80 ปี ประชาชน และเกษตรกร ตลอดจนเอกชน  เริ่มมีความหวังใหม่ เมื่อการแก้ไขกฎหมายปีพศ.2484 ลุล่วง ไม่ว่าจะมีพื้นที่ทำกินแบบกรรมสิทธิ์ นส.3.ก ส.ค.1 นส.3โฉนด หรือที่ดินที่รัฐรับรองสิทธิ์ ส.ป.ก.  สทก. นิคมฯ ที่ราชพัสดุ คทช. ก็ปลูกไม้หวงห้ามได้แล้ว 

ใครที่ปลูกอยู่เดิมก็นำมาขายได้ คนที่ยังไม่ปลูกก็หาพันธุ์มาปลูกได้ ส่วนใครจะปลูกใหม่ต้นอะไร แนะนำให้ปรึกษากรมป่าไม้ หรือผู้รู้ในท้องถิ่นว่าดินเหมาะปลูกต้นไม้อะไร เพื่อให้เหมาะและมีกำลังใจในการดูแล 

การปลูกต้นไม้ใหญ่นั้น นอกจากต้องลงแรง และลงเงินบ้าง ซึ่งก็ไม่น่าจะมากมายอะไร หากเราขอพันธุ์ไม้มาจากกรมป่าไม้ 

สิ่งสำคัญคือ เราต้องรอคอยให้มันเติบโต เพราะใช้เวลามากกว่าพืชล้มลุก แต่มันก็คุ้มค่า อย่างไม้ยืนต้น ที่มีมูลค่ามากขณะนี้คือ ไม้พะยูง ลูกบาศก์เมตรละ500,000 -600,000บาท แต่หากส่งออกมีมูลค่าถึง 2- 3 ล้านบาท รองลงมาคือ สัก , ชิงชัน เป็นต้น  

เห็นได้ชัดว่า ต้นไม้เหล่านี้มีค่ากว่า “ทองคำ”

นอกจากนี้ หากประชาชนช่วยกันปลูกป่าอย่างจริงจังด้วยไม้มีค่า สิ่งที่ประเทศไทยจะได้มหาศาลคือ เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ ได้ต้นไม้มา สิ่งแวดล้อมดีขึ้น รัฐไม่ต้องลงทุนเสียเงินไปปลูกต้นไม้

ไม่มีรัฐบาลชุดไหนกล้าทำอย่างนี้ สร้างความหวังให้คนจน ที่อยู่ในป่าดอยตลอดจนเกษตรกร ส่งเสริมให้ทุกคนช่วยกันปลูกต้นไม้มีค่า ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ ได้มากกว่าที่คิด ที่ดินก็มีมูลค่าสูงขึ้นเพราะปลูกไม้เศรษฐกิจไว้  ที่ดินก็ร่มเย็น ไม่มีมลพิษ 

โดยเฉพาะภูเขาหัวโล้นที่ชาวบ้านถากถางป่า ทำไร่เลื่อนลอยเชื่อว่าจะปกคลุมด้วยสีเขียวภายในเวลาไม่กี่ปี

ผมอยากยกตัวอย่างของคนที่เห็นคุณค่าของการปลูกป่า ผู้ซึ่งสิ้นเนื้อประดาตัวมาก่อน นั่นคือ ดร.เกริก มีมุ่งกิจ แต่โชคดีพ่อแม่ทิ้งที่ดินไว้ให้ แต่ก็ต้องแบ่งกับพี่น้อง 8 คน และต้องเช่าที่ดินน้อง ปลูกต้นไม้ แบบปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยปลูกต้นไม้ไว้ทั้งหมด 470 ชนิดในที่ดิน 35 ไร่ เป็นไม้โตช้า ไม้โตปานกลาง ไม้โตเร็ว แซมด้วย ข้าว 2 ไร่ และ ผัก 16 ชนิด กินและขาย ระหว่างรอไม้ใหญ่โต ผ่านไป 4 เดือน มีรายได้จากพื้นที่ 5 ไร่ถึง 500,000 บาท แล้วทำแบบเดียวกัน อีก 3 ปี พอปีที่ 4 เริ่มปลูกอย่างอื่นแทนเพราะไม้ใหญ่เริ่มสูง เช่น กาแฟ ขิงข่า กระชาย นอกจากนี้ยังมีรายได้ทุกเดือนเดือนละ 50,000 บาท จากไม้ขุดล้อม

“ถ้าคนไทยทุกครัวเรือนมีไม้ 1,000 ต้น ก็พอ เมื่อแก่ตัวลง มีไม้ 20 ล้านบาทรออยู่ แล้วไม่ต้องกลัว ไม้จะขายใคร ต้องการกันทั้งโลก ปีที่แล้วประเทศไทยนำเข้าไม้จากต่างประเทศ เกือบ 4แสนล้านบาท แทนที่จะนำมาซื้อไม้ในประเทศไทย มีไม้พอขายมั้ย  ไม่ต้องกลัวคนจะตัดไม้กันเยอะขึ้น ขนาดตัดไม่ไดก็ยังปลูกกัน ถ้ารู้ตัดได้และราคาดี เขายิ่งตัด 1 ต้น ปลูก 10 ต้น ป่าจะเกิดขึ้นเต็ม”

หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจอย่างน้อย 420,000 บาทต่อคนต่อปี ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคป่าไม้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี เนื่องจากความต้องการใช้ไม้มีเป็นจำนวนมากทั้งเพื่อใช้ภายในประเทศ และผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะประเทศจีนที่แต่ละปีมีความต้องการไม้จำนวนมาก

ต้องขอชื่นชมการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แทนพี่น้องชาวไทยอีกครั้ง ที่ได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง จริงจัง เพื่อประโยชน์สุขของชาวไทยจริงๆ โดยเฉพาะพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้กับการทุ่มเทผลักดันการแก้ไข กฎหมายป่าไม้ฉบับเก่า ที่ทำให้ประชาชนติดกับดักมาเกือบ 80 ปี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0