โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

The Catcher in the Rye กับ ‘มาร์ก เดวิด แชปแมน’ ผู้สังหาร ‘จอห์น เลนนอน’

The Momentum

อัพเดต 11 ก.ค. 2563 เวลา 03.05 น. • เผยแพร่ 11 ก.ค. 2563 เวลา 03.05 น. • บุญโชค พานิชศิลป์

In focus

  • ‘The Catcher in the Rye’ หนังสือของ เจ.ดี. ซาลิงเจอร์ เผยแพร่ครั้งแรกในปี1951 เรื่องราวของ‘โฮลเดน คอลฟิลด์’ เด็กหนุ่มผู้ถูกไล่ออกจากโรงเรียน แปลกแยกต่อสังคมและขัดแย้งในตัวเอง มันเคยเป็นหนังสือต้องห้ามของนักเรียนในสหรัฐอเมริกา แต่ที่สุดได้กลายเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมและเผยแพร่ไปทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้(ฉบับแปลภาษาไทยล่าสุดคือ‘จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น’ โดย ปราบดา หยุ่น)
  • หนังสือเล่มนี้เป็นที่สนใจและถูกตั้งคำถามหนักอีกครั้ง เพราะ ‘มาร์ก เดวิด แชปแมน’ ผู้ลั่นกระสุนปืนสังหาร ‘จอห์น เลนนอน’ หนึ่งในอดีตเดอะ บีเทิลส์ผู้ยิ่งใหญ่ กล่าวอ้างว่า มันเป็นหนังสือเล่มโปรดของเขา และเป็นแรงดลใจให้ก่อเหตุฆาตกรรมในครั้งนั้น—ที่เขาคิดว่าเป็นสิ่งสมควรทำ
  • ผลพิพากษาคดีของแชปแมน คือการจำคุกยี่สิบปีถึงตลอดชีวิต และคำกล่าวสุดท้ายก่อนเข้าห้องขังของเขา คือการลุกขึ้นยืนและอ่านประโยคข้อความจากหนังสือ ‘The Catcher in the Rye’

มาร์ก เดวิด แชปแมน(Mark David Chapman) เดินทางไปนิวยอร์กเป็นรอบที่สอง และเช็กอินเข้าพักในโฮสเทลของวายเอ็มซีเอ แต่ที่นั่นเขาถูกรบกวนจากคู่เกย์ วันถัดมาเขาจึงย้ายเข้าไปพักในโรงแรมเชอราตัน เซ็นเตอร์ และเดินไปเตร็ดเตร่ที่อพาร์ตเมนต์ดาโกตา เพื่อทำความมักคุ้นกับแฟนคลับของจอห์น เลนนอนในบริเวณนั้น

หนึ่งในนั้นคือ พอล กอเรช(Paul Goresh) ช่างภาพมือสมัครเล่นจากนิวเจอร์ซีย์ ที่มักไปยืนรออยู่บริเวณด้านหน้าอาคารเป็นประจำและรู้จักมักคุ้นกับเลนนอน กอเรชพูดคุยกับแชปแมน ในเวลาต่อมาให้ความเห็นว่า ชายแปลกหน้ารู้เรื่องราวเกี่ยวกับจอห์น เลนนอนและวงเดอะ บีเทิลส์น้อยมาก แม้ว่าเขาจะกล่าวอ้างว่าเป็นแฟนตัวยงก็ตาม

ในตอนเช้าของวันที่8 ธันวาคม1980 แชปแมนสวมเสื้อกันหนาวก่อนผละออกจากห้องพัก เก็บ‘สัมภาระสำคัญ’ ที่วางบนโต๊ะซึ่งเขาจัดวางคล้ายแท่นบูชา นอกจากอาวุธปืนแล้ว ยังมีคัมภีร์พระคริสตธรรมใหม่ ที่เขาบันทึกชื่อ‘โฮลเดน คอลฟิลด์’ (ตัวละครใน The Catcher in the Rye—1951 ของ เจ.ดี. ซาลิงเจอร์/ จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น ฉบับแปลไทย โดย ปราบดา หยุ่น) และชื่อเลนนอน ต่อท้ายคำว่า‘Gospel According to John’

ครั้นก้าวพ้นออกจากโรงแรม เชปแมนแวะซื้อหนังสือ The Catcher in the Rye เล่มใหม่ และเขียนประโยคหนึ่งว่า‘This is my statement’ ลงบนปกหนังสือ แผนการของแชปแมนคือ จะไม่กล่าวอะไรกับตำรวจหลังการกระทำ เขาเพียงแต่จะส่งหนังสือเล่มนั้นให้เพื่อเป็นคำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด

แชปแมนถือหนังสือและแผ่นเสียง‘Double Fantasy’ ซึ่งเป็นผลงานใหม่ของจอห์น เลนนอน เดินตรงไปที่อาคารดาโกตา ทักทายและพูดคุยกับพอล กอเรช ไม่นานแม่บ้านของเลนนอนก็เดินออกมาพร้อมกับฌอน เลนนอน—ลูกชายของจอห์นที่ขณะนั้นอายุห้าขวบ ระหว่างเดินผ่านกอเรชแนะนำทั้งสองให้รู้จักเชปแมน ในฐานะแฟนคลับ ที่อุตส่าห์เดินทางจากฮาวายมารอพบหน้าศิลปินคนโปรด แชปแมนได้จับมือกับฌอน ในใจเขายังนึกถึงเพลง‘Beautiful Boy (Darling Boy)’ ของเลนนอนอยู่เลย

จอห์น เลนนอนมีคิวงานวุ่นทั้งวันที่อพาร์ตเมนต์ หลังจากเขากับโยโกะ โอโนะเสร็จงานถ่ายภาพกับแอนนี ลีโบวิตซ์แล้ว เลนนอนก็ตัดผม จากนั้นนั่งคุยสัมภาษณ์กับเดฟ โชลิน เป็นครั้งสุดท้าย

ราว17 นาฬิกา เลนนอนเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าเขายังมีคิวถ่ายที่สตูดิโอ เขาจะต้องเคลียร์งาน‘Walking On Thin Ice’ ซิงเกิลใหม่ของโยโกะ โอโนะให้แล้วเสร็จ โชลินเสนอให้เลนนอนติดรถลีมูซีนของเขาไป ระหว่างกำลังขับออกจากอาคาร พอล กอเรชโบกมือดักรถทักทาย พร้อมทั้งแนะนำแชปแมนให้รู้จัก

แชปแมนยืนแผ่นเสียง‘Double Fantasy’ ให้เลนนอนเซ็น กอเรชถ่ายภาพช่วงเวลานั้นไว้ เป็นภาพสุดท้ายของจอห์น เลนนอนซึ่งเห็นหน้าคนที่ลงมือสังหารเขาด้วย

ไม่มีคำอธิบายชัดเจนนักว่า ทำไมแชปแมนถึงไม่ใช้โอกาสช่วงนั้นลงมือฆ่าเลนนอน เขาทบทวนความในเวลาต่อมาว่า คล้ายเกิดความขัดแย้งขึ้นในใจเขา กระทั่งความคลุ้มคลั่งอยากยิงศิลปินนักร้องหายไปในชั่วพริบตา แต่ถึงที่สุดความรู้สึกนั้นไม่ได้หายไปไหน เขายังคงมุ่งมั่นจะทำอยู่ เชปแมนจึงยืนรอที่ด้านหน้าอาคารต่อไป รอให้จอห์น เลนนอนหวนกลับมาอีกครั้ง

รถลีมูซีนที่จอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะนั่งมา แล่นเข้าจอดที่ด้านหน้าอาคารราว22.50 นาฬิกา โยโกะก้าวลงจากรถเป็นคนแรก ตามด้วยจอห์น แชปแมนกล่าวทักทายสั้นๆ กับโยโกะเมื่อเธอเดินผ่าน แล้วจอห์นก็เดินผ่านในเวลาถัดมา แชปแมนก้าวตามไปที่ประตูทางเข้าอาคาร ทรุดเข่าลงกับพื้น ตะโกนเรียก“มิสเตอร์จอห์น เลนนอน?” และลั่นกระสุนปืนห้านัดในระยะห่างหกเมตร เป้าคือแผ่นหลังของจอห์น เลนนอน…ที่ทิ้งร่างร่วงลงกับพื้น

เลนนอนพยายามตะเกียกตะกายไปที่เคาน์เตอร์ต้อนรับของอาคาร แล้วไปทรุดตัวกองอยู่กับพื้น โยโกะ โอโนะตื่นตระหนก รีบปรี่เข้าไปหาเลนนอน ยามรักษาการณ์ของอพาร์ตเมนต์ดาโกตาเข้าใจว่าเป็นเรื่องเล่นตลก จนกระทั่งมองเห็นเลือดที่ไหลจากปากและหน้าอกของเลนนอน จึงรีบโทรศัพท์แจ้งเหตุร้าย และคลุมร่างเลนนอนไว้ด้วยชุดเครื่องแบบของเขา

ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาถึง แชปแมนกำลังนั่งอยู่ใต้เสาไฟด้านหน้าประตู อ่านหนังสือ The Catcher in the Rye อย่างสงบ ฆาตกรไม่ได้พยายามหลบหนี ซ้ำยังกล่าวขอโทษตำรวจที่เขาเป็นต้นเหตุของเรื่องเลวร้ายนี้ เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวแชปแมนและนำขึ้นรถ ในตอนนั้นตำรวจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนถูกยิงคือจอห์น เลนนอน อีกทั้งยังมองว่าบาดแผลจากกระสุนรุนแรงเกินกว่าจะรอรถพยาบาล จึงช่วยกันยกตัวเลนนอนขึ้นท้ายรถสายตรวจอีกคัน และพาไปส่งยังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลรูสเวลต์ เลนนอนยังมีลมหายใจ แต่ไม่สามารถตอบคำถามใดๆ ของตำรวจได้

กระสุนสามนัดนัดเจาะเข้ากลางหลังทะลุปอด หนึ่งนัดเข้าที่บริเวณไหล่ซ้าย และอีกหนึ่งนัดเข้าที่บริเวณต้นคอ มันทำลายหลอดเลือดใหญ่ และตัดหลอดลม แพทย์กู้ชีพไม่สามารถช่วยชีวิตเลนนอนไว้ได้

จอห์น เลนนอนเสียชีวิตในคืนวันที่8 ธันวาคม1980 เวลา23.07 นาฬิกา

…..

มาร์ก เดวิด แชปแมน เกิดเมื่อวันที่10 พฤษภาคม1955 ในเมืองฟอร์ต เวิร์ธ รัฐเท็กซัส แต่โยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในดีเคเตอร์ รัฐจอร์เจีย ตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ เดวิด—พ่อของเขารับราชการอยู่ในกองทัพอากาศ ส่วนแม่—ไดแอนมีอาชีพเป็นพยาบาล น้องสาวของแชปแมนเกิดหลังเขาเจ็ดปี 

ดูจากภายนอกครอบครัวแชปแมนไม่ต่างจากครอบครัวอเมริกันทั่วไป แต่ภายในเต็มไปด้วยปัญหายุ่งยาก พ่อของมาร์กเป็นคนเก็บตัว ไม่สุงสิงและไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกใดๆ แม้กระทั่งกับลูก เขาตบตีภรรยาบ่อยครั้ง ลูกชายเห็นแต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้

ที่โรงเรียน แชปแมนไม่ชอบเล่นกีฬา รูปร่างอวบอ้วนของเขามักเป็นที่ล้อเลียนของเพื่อนร่วมชั้น ความคับแค้นและสิ้นหวังทั้งหมดพาเขาไปสู่จินตนาการแปลกๆ ตั้งแต่วัยเด็ก ตอนอายุสิบขวบ เขาจินตนาการถึงอารยธรรมของคนตัวเล็กๆ ที่เขาเชื่อว่า มันใช้ชีวิตอยู่ในผนังห้องนอนของเขา เแชปแมนจึงพูดคุยกับพวกมัน ต่อมาให้พวกมันเป็นทาสรับใช้ และตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ผู้ปกครอง จินตนาการเหล่านี้ยังติดตามเขาไปจนถึงวัย25 ในวัยที่เขายิงจอห์น เลนนอน

มาร์ก แชปแมนรู้จักควบคุมตัวเอง ปฏิบัติตัวเหมือนเด็กวัยรุ่นปกติทั่วไป และเหมือนวัยรุ่นคนอื่นๆ ในช่วงทศวรรษ1960s ที่ริลองสารเสพติดแอลเอสดี กระทั่งอายุครบ17 ปี เขาก็เริ่มประกาศตัวเป็นพระคริสต์กำเนิดใหม่ วางมือจากสารเสพติดและวิถีชีวิตแบบฮิปปี เริ่มเข้ากลุ่มสวดมนต์และคบหาแต่คนเคร่งศาสนา

ไม่ช้า แชปแมนก็ได้งานเป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงในวายเอ็มซีเอ งานที่เขาทำด้วยความเสน่หา และเขาเป็นพี่เลี้ยงที่เด็กๆ รักใคร่ จนเกิดเป็นความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งเขาจะได้เป็นผู้อำนวยการของวายเอ็มซีเอ และเป็นมิชชันนารีในต่างแดน แม้จะปฏิบัติงานหน้าที่ได้ประสบความสำเร็จ แต่แชปแมนกลับไม่มีระเบียบวินัยและไม่มีความกระตือรือร้น เขาเคยเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยชุมชนในดีเคเตอร์ในช่วงสั้นๆ ต้องลาออกมากลางคันเพราะรู้สึกกดดันกับการบ้านและงานวิชาการ

ในที่สุดแชปแมนได้เดินทางไปกรุงเบรุต เลบานอน ในฐานะพี่เลี้ยงของวายเอ็มซีเอ แต่ไม่ทันไรก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นที่นั่น ทำให้ต้องรีบถอนตัว เดินทางกลับบ้าน หลังจากไปทำภารกิจในค่ายผู้อพยพชาวเวียดนามในรัฐอาร์แคนซอส์ไม่นาน เขาก็ตัดสินใจเรียนต่อระดับอุดมศึกษาอีกครั้ง

ปี1976 มาร์ก แชปแมนลงทะเบียนเรียนในวิทยาลัยศาสนาแห่งหนึ่งตามคำแนะนำของแฟนสาว—เจสสิกา แบลงเคนชิป(Jessica Blankenship) ทั้งสองรู้จักคุ้นเคยกันตั้งแต่ชั้นประถมฯ แต่ก็เหมือนเดิม แชปแมนฝืนเรียนอยู่ได้เพียงเทอมเดียว ความล้มเหลวด้านการเรียนส่งผลให้บุคลิกและพฤติกรรมของเขาเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เขาเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาของชีวิตและการอุทิศตนให้กับความศรัทธาของตนเอง บรรยากาศที่เปลี่ยนไปมีผลต่อความสัมพันธ์กับเจสสิกา ในไม่ช้าทั้งสองก็แยกทางกัน

แชปแมนเริ่มฝ่อ มองตนเองเป็นคนขี้แพ้ มีความคิดอยากฆ่าตัวตายบ่อยครั้งขึ้น จนเพื่อนรอบกายเริ่มเป็นห่วง เขาพยายามมองหาความเปลี่ยนแปลง กระทั่งไปพบความเร้าใจใหม่กับดานา รีฟส์(Dana Reeves) แฟนสาวที่เป็นตำรวจ เขาจึงตัดสินใจสมัครเรียนยิงปืน และทำใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน ไม่ช้าหลังจากนั้นรีฟส์ได้หางานใหม่ให้แชปแมนเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

แต่ความมืดมนยังขึงคลุมแชปแมน เขาตัดสินใจเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ ปี1977 โดยโยกย้ายไปฮาวาย และพยายามฆ่าตัวตายอีกหลายครั้ง แต่ไม่เคยสำเร็จ ท้ายที่สุดต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตในคลินิก ผ่านพ้นการบำบัดรักษาแบบกรณีฉุกเฉินอยู่นานสองสัปดาห์ เขาก็ได้งานในโรงพิมพ์ของคลินิก

เมื่ออารมณ์ความรู้สึกคงที่ แชปแมนตัดสินใจจะเดินทางรอบโลก เขาตกหลุมรักกลอเรีย เอบ(Gloria Abe) พนักงานในบริษัทท่องเที่ยวที่จัดการเรื่องตั๋วและการเดินทางของเขา ทั้งสองติดต่อกันทางจดหมายหลายครั้ง และเมื่อเดินทางกลับถึงฮาวาย แชปแมนก็ขอกลอเรียแต่งงาน ทั้งคู่เข้าพิธีแต่งงานในฤดูร้อนปี1979

ดูเหมือนว่าชีวิตของแชปแมนจะดีขึ้น แต่วงจรเดิมๆ ยังคงหวนกลับมา ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของเขาเริ่มทำให้ภรรยาเป็นกังวล กลอเรียเล่าว่า แชปแมนเริ่มดื่มจัด และเริ่มปฏิบัติตัวไม่ดีกับเธอ บางครั้งพูดจาขึงขังข่มขู่คล้ายคนแปลกหน้า แต่ก็ไม่เคยใช้ความรุนแรง เธอยังสังเกตเห็นด้วยว่า แชปแมนเริ่มคลั่งไคล้นิยาย The Catcher in the Rye ของเจ.ดี. ซาลิงเจอร์อย่างหัวปักหัวปำ

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า แชปแมนค้นพบนิยายของซาลิงเจอร์ตั้งแต่เมื่อไร แต่ที่แน่ๆ คือมันส่งผลต่อความคิดของเขาในช่วง1970s เขาแสดงตัวว่ามีความเชื่อมโยงกับตัวละครโฮลเดน คอลฟิลด์ เด็กหนุ่มผู้แปลกแยกและต่อสู้กับความผิดพลาดของการเป็นผู้ใหญ่ และแชปแมนมองตัวเองเป็นโฮลเดน คอลฟิลด์ เขาเคยพูดกับภรรยาด้วยซ้ำว่า เขาอยากจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโฮลเดน คอลฟิลด์ เขาโกรธเกลียดความผิดพลาดของผู้คน โดยเฉพาะผู้คนที่เป็นบุคคลมีชื่อเสียง

ความโกรธเกลียดในตัวจอห์น เลนนอนในช่วงเวลานั้นฝังลึกในใจเขาไปแล้ว จากคำกล่าวที่ว่า‘เดอะ บีเทิลส์เป็นที่นิยมกว่าพระเยซู’ นั้น สั่นคลอนผู้ที่ศรัทธาในศาสนา และแฟนคลับเดอะ บีเทิลส์เช่นมาร์ก แชปแมนอย่างรุนแรง 

ในเดือนตุลาคม1980 นิตยสารเอสไควร์ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเลนนอน อดีตสมาชิกวงเดอะ บีเทิลส์ สะท้อนให้เห็นภาพมหาเศรษฐีขี้ยา ที่กำลังหลุดออกจากวงโคจรของแฟนๆ และดนตรีของเขา แชปแมนอ่านบทความนั้นด้วยความโกรธเป็นทวี เขามองเลนนอนเป็นคนหน้าซื่อใจคดอย่างที่บรรยายไว้ในนิยายของซาลิงเจอร์

เมื่อแชปแมนรู้ข่าวว่าเลนนอนวางแผนออกผลงาน‘Double Fantasy’ อัลบัมแรกของเขาหลังจากเวลาผ่านมาห้าปี การตัดสินใจบางอย่างจึงเกิดขึ้น เขาอยากเดินทางไปนิวยอร์กซิตี เพื่อดักยิงไอคอนแห่งวัฒนธรรมป็อปคนนี้

แชปแมนลาออกจากงาน และซื้อปืนคาลิเบอร์.38 หนึ่งกระบอกจากร้านขายปืนในโฮโนลูลู พร้อมทั้งซื้อตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวปลายทางนิวยอร์ก ร่ำลาภรรยา และเดินทางถึงนิวยอร์กในวันที่30 ตุลาคม1980 เขาเตร็ดเตร่อยู่บริเวณอาคารดาโกตาหลายครั้ง เพื่อสอบถามเกี่ยวกับห้องพักของจอห์น เลนนอนจากเจ้าหน้าที่เฝ้าประตู แต่ไร้ผล พนักงานของดาโกตาคุ้นเคยกับคำถามของบรรดาแฟนคลับดี และปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลมีชื่อเสียงที่พักอาศัยอยู่ภายในอาคาร

แชปแมนพกปืนลูกโม่ของเขาติดตัวมานิวยอร์กด้วย และเมื่อเขาต้องการซื้อกระสุนปืน ก็เพิ่งรู้ว่าคนที่จะซื้อได้ต้องเป็นประชากรมีชื่อในทะเบียนราษฎร์ของรัฐนิวยอร์กเท่านั้น ในช่วงสุดสัปดาห์แชปแมนจึงบินไปยังถิ่นฐานเก่าที่รัฐจอร์เจีย ไปหาดานา รีฟส์ แฟนเก่าที่ระหว่างนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนายอำเภอ เพื่อขอให้เธอช่วยในสิ่งที่เขาต้องการ เขาเล่าให้เธอฟังว่า เขารู้สึกไม่ปลอดภัยในนิวยอร์ก จึงคิดอยากป้องกันตัว

แชปแมนเดินทางกลับไปนิวยอร์กอีกครั้งพร้อมกับกระสุนปืน เขาเคยเล่าไว้—หลังจากเวลาผ่านไปนาน ว่าความตั้งใจเดิมของเขาเริ่มถดถอย คล้ายกับแรงดลใจจากประสบการณ์ทางศาสนาชี้นำว่า แผนการของเขาเป็นเรื่องผิด เขาโทรศัพท์หาภรรยา และเล่าให้เธอฟังเป็นครั้งแรกว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่

กลอเรียรู้สึกกลัวกับคำสารภาพของแชปแมน ถึงกระนั้นเธอก็ไม่ได้แจ้งตำรวจ หากแต่พูดขอร้องสามีให้เดินทางกลับไปฮาวาย แชปแมนยอมทำตาม และเดินทางกลับไปในวันที่12 พฤศจิกายน แต่ไม่นานพฤติกรรมแปลกๆ และความคิดเดิมๆ ก็หวนกลับมาอีกหน วันที่5 ธันวาคม เขาเดินทางกลับไปนิวยอร์กอีกครั้ง คราวนี้เขาไม่มีโอกาสได้หวนกลับไปหาภรรยาของเขาอีกเลย

…..

ข่าวการเสียชีวิตของจอห์น เลนนอนแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ช้าบรรดาแฟนคลับจากทั่วมหานครพากันมุ่งหน้าไปที่อาคารดาโกตา เพื่อร่วมกันไว้อาลัยไอคอนผู้จากไป หลังจากนั้นข่าวการสูญเสียนี้ก็ช็อกคนทั้งโลก

การพิจารณาคดีของมาร์ก เดวิด แชปแมนดำเนินไปอย่างรวบรัด เนื่องจากเขารับสารภาพผิด เขาให้การว่า พระผู้เป็นเจ้าเรียกร้องให้เขาทำเช่นนั้น ก่อนการพิพากษาศาลถามแชปแมนว่าเขายังมีอะไรจะกล่าวเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่

แชปแมนลุกขึ้นยืน และอ่านประโยคข้อความจากหนังสือ The Catcher in the Rye เขาถูกตัดสินโทษจำคุกยี่สิบปีถึงตลอดชีวิต

 

อ้างอิง:

https://www.greelane.com/geisteswissenschaften/geschichte–kultur/the-assassination-of-john-lennon-1779404/

https://www.spiegel.de/geschichte/mord-an-john-lennon-die-kranke-welt-von-mark-david-chapman-a-1065402.html

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0