โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

THE UGLY TRUTH : ชั่วโมงการทำงาน ค่าแรง และความจริงที่เจ็บปวดของงานกองถ่าย

The101.world

เผยแพร่ 10 ก.ค. 2563 เวลา 05.14 น. • The 101 World
THE UGLY TRUTH : ชั่วโมงการทำงาน ค่าแรง และความจริงที่เจ็บปวดของงานกองถ่าย

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

https://youtu.be/jhoDBGcimIo

 

เมื่อภาพปรากฏบนจอ เรามองเห็นความงดงาม เรารับความรื่นรมย์ที่ภาพยนตร์ ซีรีส์ มิวสิกวิดีโอ ไปจนถึงภาพยนตร์โฆษณา มอบให้ แต่ภาพงดงามจำนวนไม่น้อยนั้น เมื่อกะเทาะออกมาอาจพบกับภาพชีวิตของผู้สรรค์สร้างที่ห่างไกลจากคำว่างดงาม

คนทำงานในกองถ่ายจำนวนมากมีชั่วโมงการทำงานยาวนานเกินกว่า 12 ชั่วโมง และในบางครั้ง การทำงานที่หนักหนาก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่สาสมกับทักษะ ความเหนื่อยล้า ความไม่ปลอดภัยจากการไม่ได้พักผ่อน และความเสี่ยงอันตรายในการออกกอง – ราวกับเวลาและร่างกายไม่มีขีดจำกัด – ราวกับหนังแอ็คชันสักเรื่องที่มักจะมีคำว่า ‘อึด สู้ ฟัด’ พ่วงท้ายเสมอ

101 สนทนากับ สามบุคคลที่ทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ตั้ม-พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ ผู้ออกแบบงานสร้างภาพยนตร์ (Production Designer) ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ และ ปั๊ป-ภิไธย สมิตสุต ผู้กำกับภาพ สะท้อนปัญหาของการทำงานกอง ตั้งแต่เรื่องคิวการทำงาน ค่าตอบแทน และปัญหาที่เกิดจากต้นทุนการถ่ายทำ ไปจนถึงข้อเสนอแนะต่างมุมเพื่อสร้างสวัสดิภาพการทำงานกองถ่ายที่เป็นธรรม

 

จากต้นสายถึงปลายทาง ปัญหาคนกองต้องมองให้เห็นไปถึง ‘ทุน’ : ตั้ม-พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ

 

 

การออกกองอันยาวนาน คิวชนคิว การทำงานที่เหน็ดเหนื่อย และมาตรฐานความเป็นอยู่ในกองถ่ายที่ไม่น่าดูชม อาจเป็นภาพปลายทางที่ปรากฏให้เราเห็นอย่างชัดเจน แต่ ตั้ม-พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ ผู้ออกแบบงานสร้างภาพยนตร์ (Production Designer) ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์มาหลายสิบปีและมีประสบการณ์ทำงานภาพยนตร์ในต่างประเทศ ชวนเราย้อนไปสำรวจต้นทางของปัญหาที่อาจมองไม่เห็นด้วยตา

ตั้มเล่าว่าผลงานและกระบวนการทำงานกองถ่ายที่แตกต่างกันนั้นอาจขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของสื่อที่แตกต่างกัน เช่น ภาพยนตร์สั้น ภาพยนตร์ขนาดยาว โฆษณา สารคดี เป็นต้น แต่อีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ทุน และ ที่มาของทุน

ปัจจุบันทุนการสร้างภาพยนตร์ลดลงอย่างชัดเจน เทียบกับประสบการณ์ของตั้มที่เคยทำงานในยุคที่ภาพยนตร์เฟื่องฟู คนในยุคสมัยนี้ยังมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ไม่ต้องเดินทางไกลไปโรงภาพยนตร์ ไม่ต้องอาศัยป๊อปคอร์นถังโตที่ขายอยู่หน้าโรงหนังก็สามารถรับชมภาพยนตร์อยู่บ้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างสะดวกสบาย ความเปลี่ยนแปลงนี้มีผลให้ทุนในการสร้างภาพยนตร์ลดลงไป กระทบทั้งปากท้อง และเวลาการทำงานของคนกองด้วย

“พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงทั่วโลก แต่ด้วยความที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีขนาดเล็ก พอคนดูเข้าโรงภาพยนตร์น้อยลง ขายตั๋วได้น้อยลง การตั้งงบประมาณในการเปิดกองแต่ละครั้งก็ต่ำลง สมัยก่อนเราเคยเปิดกองอยู่ที่ 20 ล้าน ข้าวกล่องละ 25 บาท ตอนนี้ข้าวกล่องละ 40 บาท แต่เปิดกองด้วยงบที่ลดลงครึ่งนึง ก็น่าจะจินตนาการได้ว่าชีวิตความเป็นอยู่จะเป็นยังไง”

“หนัง 1 เรื่องมีบทประมาณ 100 หน้า เท่ากับความยาวในหนังประมาณ 100 นาที พูดง่ายๆ ว่าบท 1 หน้าต่อหนัง 1 นาที ทีมงานก็จะกำหนดระยะเวลาถ่ายทำ โดยจะต้องรู้ว่าเฉลี่ยแล้วต้องถ่ายให้ได้กี่หน้าต่อวัน และคำนวณว่าการถ่ายทำ 1 วันใช้เงินกี่แสน เช่น หนังมีบท 100 หน้า กำหนดระยะเวลาถ่ายทำ 25 วัน หนึ่งวันถ่ายได้บท 4 หน้า งบประมาณต่อวันเคยอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท เอา 5 แสนคูณ 25 ก็จะได้งบประมาณทั้งหมด

“แต่เมื่องบประมาณน้อยลง ถูกหักไป 20 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะถ่ายได้ 25 วัน ก็ต้องถ่าย 20 วัน นั่นหมายความว่าจากที่เคยถ่าย 4 หน้าต่อวัน ก็ต้องเร่งถ่ายเป็น 5 หน้าแทน วันไหนถ่ายไม่ได้ก็ติดลบไว้ อีกวันก็ไปเฆี่ยน วันนี้ถ่ายได้ 4 พรุ่งนี้ต้องถ่ายได้ 6 สะสมเป็นดินพอกหางหมู

“แล้วถ้าเกิดว่า งบประมาณที่หายไปไม่ใช่แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ล่ะ ถ้ามันลดลงถึงครึ่งนึง เคยถ่ายได้ 25 วันก็ต้องถ่ายให้จบภายใน 12 วัน หนึ่งวันซัดไป 10 หน้า คุณก็จะเห็นเลยว่าทำไมถึงมีการถ่ายเกินคิวเกิดขึ้น”

 

 

แม้เรื่องงบประมาณจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดที่จะละเลยสวัสดิภาพของคนทำงานกองไปได้ สิ่งที่ยังซุกซ่อนมาพร้อมการจัดการภายใต้งบประมาณที่จำกัดคือการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ตั้งแต่การพักเบรกที่ไม่เท่ากัน อาหาร ห้องน้ำ ที่มาตรฐานต่างกันระหว่างผู้จ้างกับคนทำงาน

‘จรรยาบรรณ’ จึงยังเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาไปควบคู่กันเสมอ

“นายทุนจะมีลักษณะที่เป็นธรรมชาติของผู้จ้างคือ เขาจ่ายเงิน เขาก็อยากได้ผลประโยชน์ในงานหรือจากลูกจ้างมากที่สุด แต่สิ่งที่จะบอกได้ว่าในแต่ละกอง คนทำงานจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม คือวิธีคิด วิธีปฏิบัติ จรรยาบรรณ ไปจนถึงวัฒนธรรมของแต่ละที่”

“ในมาตรฐานสากลการไม่เบรกกองกินข้าวถือว่าเป็นเรื่องไม่ดี ต่างประเทศเขาถือว่าทำงานพร้อมกัน เบรกกินข้าวก็ต้องพร้อมกันสิ แต่ที่ผมเจอในไทยหลายๆ กอง คนทำงานต้องคอยผลัดกันกินข้าว ช่างภาพนี่แทบจะเอาข้าวมาวางไว้ข้างๆ หรือแทบจะแบกกล้องกินข้าวไปด้วย”

“ยังมีสิ่งที่คนชอบพูดกันคือ ทำไมกินข้าวไม่เหมือนกัน ทำไมลูกค้าต้องมีโต๊ะแยก มีอาหารที่ดูเหมือนสั่งตรงมาจากภัตตาคาร แล้วทำไมทีมงานได้กับข้าวชนิดนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าคนในกองได้รับการปฏิบัติอีกแบบนึง แต่ก็ไม่มีใครพูดออกมาตรงๆ หรอกว่า ‘นี่คือลูกค้าฉัน ฉันก็ต้องดูแลเขาแบบลูกค้า ส่วนทีมงานฉันก็ดูแลคุณดีนะ’ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ถ้าเกิดการดูแลทีมงานดีจริง บาลานซ์จริง คนในกองถ่ายคงจะไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ”

นอกจากเรื่องความเป็นอยู่ของคนในกองแล้ว ตั้มยังกล่าวถึง ‘ของแสลง’ ที่ไม่ค่อยมีคนอยากพูดถึง นั่นคือ ค่าจ้างในการทำงานที่มักจะได้รับล่าช้า และต้องเจอกับขั้นตอน ‘วางบิล’ หรือการทำก่อนจ่ายทีหลัง

สาเหตุที่ประเด็นนี้กระทบคนทำงานในสายภาพยนตร์ เพราะคนในอุตสาหรรมภาพยนตร์ส่วนมากอยู่ในฐานะ ‘ฟรีแลนซ์’ ค่าจ้างขึ้นอยู่กับคิวการทำงานที่อาจคาดเดาไม่ได้ และไม่มีเงินเดือนรับประกันในช่วงสิ้นเดือนอย่างพนักงานประจำทั่วไป การได้รับเงินช้าอาจหมายถึงชีวิตที่ปราศจากความมั่นคงไปหลายเดือน ขณะที่ค่าใช้จ่ายและภาระต่างๆ ก็ยังดำเนินไป

“ทุกคนที่เป็นฟรีแลนซ์จะเคยเจอปัญหาคือ พอเสร็จงานต้องวางบิลก่อน แล้วรอรับเช็ค 1-2 เดือนถัดมา ซึ่งการวางบิลก็ทำกันเป็นทอดๆ ยกตัวอย่างการถ่ายภาพยนตร์โฆษณา ฟรีแลนซ์วางบิลกับ production house แล้ว production house ก็วางบิลกับเอเจนซี่โฆษณา เอเจนซี่ก็ไปวางบิลกับเจ้าของผลิตภัณฑ์อีกที เป็นวงจรแบบนี้

ใน 4 ตัวละคร ทุกคนวางบิลหมด แต่มีอยู่คนๆ นึงที่ไม่ควรต้องเข้าสู่ระบบการวางบิลคือฟรีแลนซ์ซึ่งอยู่ปลายสุดของวงจร

“การวางบิลเกิดขึ้นได้เพราะมีกำไร เช่น เอเจนซีที่ทำแคมเปญโฆษณาให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ เขามีค่าธรรมเนียม ค่ากระบวนการคิดไอเดีย เหล่านี้เป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนต่างที่หักจากต้นทุนการผลิตแล้ว production house ก็มีค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการที่ถือเป็นกำไรนอกเหนือจากต้นทุนการผลิตเช่นกัน เห็นมั้ยว่าเขามีกำไรอยู่ เขาถึงวางบิลได้ แต่คนในอุตสาหกรรมที่เป็นฟรีแลนซ์เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ มีเพียงค่าวิชาชีพ ค่าตัวเขาก็คือการที่เขามาทำงานให้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่ได้มีช่องว่างที่เป็นกำไรเหมือนระบบบริษัท”

“เรื่องนี้มันเป็นของแสลง ถ้าฟรีแลนซ์ไปทวงถามแบบนี้ก็จะโดนมองว่าเรื่องมาก (หัวเราะ) บริษัทที่จ้างเขาก็จะบอกว่า ‘ก็เงินลูกค้ายังไม่ออก’ แล้วจะทำยังไง มันแสลงไปหมดที่จะพูด แต่ถ้าเอาระบบมาคุยกันจริงๆ การที่คุณเป็นบริษัท จึงเป็นหน้าที่ของคุณไม่ใช่หรือที่จะซัพพอร์ตลูกจ้างเหล่านี้ ถ้าถามว่าทำไมถึงเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในอุตสาหกรรม ก็เพราะอย่างนี้ด้วย”

ในสภาพการทำงานที่มีปัญหาที่มองไม่เห็นหลายอย่างนี้ หลายคนตั้งคำถามว่าการเข้ามาของโควิดจะเปลี่ยนแปลงหรือซ้ำเติมปัญหาของคนกองไหม ตั้มตอบเราอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ซ้ำเติม แน่นอน” นอกเหนือไปจากเรื่องเวลาที่ถูกจำกัดช่วงเคอร์ฟิวแล้ว การรักษาระยะห่างทำให้กระบวนการทำงานกองถ่ายต้องปรับเปลี่ยนไป ส่งผลให้การทำงานล่าช้าลง

“ทั้งโปรดิวเซอร์ ทั้งผู้ช่วยผู้กำกับ เขาพูดเลยว่าโควิดจะทำให้เกิดเวลาที่ล่าช้าขึ้นในกองถ่ายอย่างต่ำ 20-30 เปอร์เซ็นต์ จำนวนฟุตเทจที่ถ่ายได้ต่อวันจะลดลง เพราะสูญเสียเวลาไปกับขั้นตอนที่เพิ่มเข้ามา เช่น ถ่ายเสร็จต้องดึงคนออกก่อนถึงจะเอาคนชุดใหม่เข้ามาได้ นักแสดงต้องแยกห้องแต่งหน้ากัน กว่าจะตามตัวกันมาได้ พวกนี้จะทำให้เกิดความล่าช้า เคยวางแผนวันถ่ายทำไว้ 30 วัน มันจะไม่เสร็จใน 30 วัน”

ภายใต้ข้อจำกัดแบบโลกยุคโควิด สิ่งจำเป็นอันดับแรกคือการเพิ่มงบประมาณ เพื่อใช้จ่ายในขั้นตอนการป้องกันโรค สำหรับเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์  แต่สิ่งจำเป็นอีกอย่างคือ การออกแบบการทำงานใหม่ทั้งหมด เช่น จากไอเดียตั้งต้นที่จะต้องถ่ายทำในระยะเวลา 30 วัน คนทำงานจะต้องออกไอเดียใหม่ให้การถ่ายทำเป็นไปได้ในระยะเวลาน้อยลง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนบางส่วนไม่แก้ที่ไอเดียและการออกแบบการทำงาน แต่ไปเน้นถ่ายให้มากขึ้นต่อวัน

“โลกความเป็นจริงกับอุดมคติไม่เหมือนกัน แล้วเราจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์นี้กันแบบไหน?” ตั้มเอ่ยสรุปด้วยคำถาม

 

 

ในปัญหามากมายที่เกิดขึ้นนั้น หลายฝ่ายพยายามจะรวมตัวกันเพื่อเรียกร้อง หรืออย่างน้อยๆ ก็รวมตัวกันเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับผู้จ้าง ถึงอย่างนั้น เมื่อคนในอุตสาหกรรมพยายามรวมตัวกัน จะมีแรงต้านเกิดขึ้นเสมอ

“สมมติคุณปฏิเสธไม่ทำงานที่งบประมาณและความเป็นธรรมต่ำ ก็มีคนพร้อมจะเดินเข้าทางประตูหลังแล้วบอกว่า ‘ไม่เป็นไร ราคานี้ ผมทำเอง’ หรือที่เรียกกันว่าตัดราคา เพราะฉะนั้นคนจ้างก็จะรู้สึกว่า ฉันยังสามารถหาคนทำงานคุณภาพแบบนี้ในราคาต่ำได้ แต่อย่าลืมว่า คนที่รับงานไปอาจจะทำให้ผลงานของคุณสอดไส้ด้วยสิ่งที่ไม่มีคุณภาพก็ได้

“ผมคิดว่าอุตสาหกรรมไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง จริงๆ แล้วก็ต้องถามว่า คนทำงานพร้อมจะมองเห็นผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ตัวเองรึเปล่า พร้อมที่จะรับแนวความคิดแบบการทำงานมาตรฐานเดียวกันหรือเปล่า เพราะมันหมายความว่า คนที่ได้มากกว่าอาจต้องยอมเสียประโยชน์ลงมา แน่นอน คนที่เคยได้รับผลประโยชน์น้อยก็จะได้รับมากขึ้นเช่นกัน”

 

ต้นทุนการทำงานที่ไม่เป็นจริงของคนกอง : ไก่-ณฐพล บุญประกอบ

 

 

“คนทำงานโปรดักชัน ทำงานอยู่บนต้นทุนที่ไม่เป็นจริงในบางมิติ” ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวถึงปัญหาที่เขาพอจะมองเห็นในสายงาน สำหรับเขาสิ่งที่ทุกคนอาจพูดถึงเป็นเสียงเดียวกันคือ ค่าแรงกับชั่วโมงการทำงานที่สวนทางกัน

“ชั่วโมงการทำงานในไทยค่อนข้างขัดแย้งกับมาตรฐานสากลนิดนึง ยกตัวอย่างอเมริกา เขาจะมีมาตรฐานชัดเจนว่ายูทำงาน 6 ชั่วโมง ต้องเบรก 1 ชั่วโมง และวันนึงทำได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง เป็นการรักษาสิทธิ์ของฝั่งคนทำงาน

“ส่วนของไทยคือทำงาน 6 โมงเช้า อาจจะได้กินข้าวต่อเมื่อถ่ายไปจนผู้ช่วยผู้กำกับบอกว่า ‘โอเค เบรกกินข้าว’ บางคนอาจจะมองว่าคนไทยทำงานคุ้มค่าคุ้มราคา บางคนก็มองว่าเป็นจุดที่ภาคภูมิใจ ในขณะที่บางคนก็มองว่านี่คือการเอาเปรียบคนทำงาน” เขาเล่าและยังยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า โปรดักชันเฮาส์บางแห่งโปรโมตตัวเองที่สามารถถ่ายทำหลายวันติดกันโดยไม่พัก เป็นที่น่าตั้งคำถามว่า การทำงานลักษณะนี้ควรกลายเป็นความภูมิใจหรือไม่ หากต้องแลกมาด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่ของคนทำงาน

‘ต้นทุนที่ไม่เป็นจริง’ ยังสะท้อนผ่านการทำงานที่บางครั้งปริมาณความทุ่มเท ความชอบ การลงแรง ก็สวนทางกับค่าตอบแทน ไก่ยกตัวอย่างกรณีการทำงานมิวสิกวิดีโอ ปัจจุบันรายได้ของค่ายเพลงลดลง ขายเพลงยากลำบากขึ้น การแสดงโชว์มีไม่มาก ขณะเดียวกันก็ยังต้องผลิตผลงานออกมาให้คนได้รับรู้ งบประมาณในการทำมิวสิกวิดีโอจึงมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่ในมุมของคนทำงานโปรดักชัน มิวสิกวิดีโอยังเป็นงานที่ดึงดูดคน ทั้งในฐานะผลงานที่อาจสร้างชื่อเสียง และในฐานะที่เป็นความชอบ ความสนุก กระทั่งความฝันของคนทำงานเอง

“ค่ายที่มีชื่อหน่อย มาตรฐานต้นทุนอยู่ที่สามแสน ค่ายที่ไม่ดังอาจจะอยู่ที่แสนนึง ห้าหมื่น หรือน้อยกว่านั้น ในด้านคนทำงาน หลายคนมองว่านี่เป็นเวทีฝึก ได้ทดลองวิชา งานเอ็มวีก็เป็นงานที่ไปได้ไกล ผู้กำกับหลายคนแจ้งเกิดจากการทำมิวสิกวิดีโอ บางคนก็เลยยอมทำงานในต้นทุนที่ต่ำ หรือบางทีเราอาจจะชอบเพลงนี้ เพราะสนุก หรือเป็นงานที่เราสมัครใจ ชวนเพื่อนๆ มาทำด้วยกัน โดยไม่ไปบังคับใครที่ไม่แฮปปี้ให้มา

“อันนี้แหละคืองานที่ต้นทุนไม่เป็นจริง บางทีงานมันเกิดจากความรักในเพลง รักในศิลปิน รักในสิ่งที่ทำ แต่ถ้ามองในแง่การทำมาหากิน ก็ไม่ควรทำแบบนี้ คนเราทำงานที่ดี หรือทำงานอย่างเต็มที่ ก็ควรได้ค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียม แต่ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการอาจจะมองว่า เฮ้ย นี่ไง คุณเคยทำเอ็มวีได้ในจำนวนเงินเท่านี้ คุณภาพก็ดีจะตาย ก็ต้องทำอีกสิ หรือถ้าคุณไม่ทำคนอื่นก็น่าจะทำได้ แล้วมันก็ผลิตซ้ำวนๆ ไป เป็นเพราะคนทำงานยอมทำ”

 

 

หากมองเป็นภาพ ความแตกต่างระหว่างกองที่มีต้นทุนสมเหตุสมผล และกองที่มีต้นทุนที่ไม่เป็นจริง อาจปรากฏเป็นภาพความเป็นอยู่ในกองถ่าย ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน และการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม

“ชัดอยู่แล้วเรื่องอาหาร ไม่มีตังค์ก็กินข้าวกล่อง กินข้าวราดแกง มีตังค์หน่อยข้าวกองก็จะมีกับเยอะ มีของหวาน ขนมนมเนย อย่างกองโฆษณาจะเห็นชัดเลยว่ากินดีกว่ากองมิวสิกวิดีโอ (หัวเราะ)

“บางทีจะมองเห็นว่ามีความไม่เท่าเทียมในกองเกิดขึ้น เช่นลูกค้าต้องกินหรูๆ  มีปลาสี่ตัวห้าตัว มีของหวานเสิร์ฟตลอดเวลา ในขณะที่ทีมไฟ ทำไมได้กินข้าวกล่อง หรือบางครั้งทีมกล้อง ทีมไฟ ทีมอาร์ต จะถูกปฏิบัติด้วยอีกแบบนึง เราคิดว่าไม่ควรเกิดขึ้น เขามาก่อนกลับทีหลังเราอีก ก็ควรจะถูกปฏิบัติอย่างเท่ากัน ซึ่งเราคิดว่าคนรอบๆ ตัวเราก็ตระหนักในเรื่องนี้กันมากขึ้น”

เมื่อทั้งคนทำงานและผู้จ้างอยู่ในสถานะที่ต่างพึ่งพากันและกัน ฝั่งหนึ่งต้องการค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล อีกฝั่งต้องการผลงานที่มีคุณภาพในราคาที่รับไหว ในสภาพปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้ ไก่มองว่าทางออกที่จะพาทุกคนไปสู่จุดที่เป็นธรรมอาจเป็นการเข้ามาของ ‘บุคคลที่สาม’

“เราไม่เห็นภาพคนทำงานโปรดักชันทุกคนรวมตัวกันแข็งขืน ออกมาบอกว่า ‘ฉันจะไม่ทำงานที่มันเกินเวลา หรืองานที่ไม่เป็นธรรมอีกแล้ว’ ในขณะที่เราก็ไม่เห็นภาพคนให้ทุนมารวมตัวกันเพื่อทำให้สวัสดิภาพการทำงานของทุกคนดีขึ้น จ่ายเงินมากขึ้น เพื่อทุกคนจะได้นอนพักผ่อนเพียงพอ เพราะทั้งสองฝั่งอยู่ในผลประโยชน์ มันเป็นธุรกิจ ไม่มีใครที่จะทุบหม้อข้าวตัวเอง หรือยอมแคร์คนอื่นมากขึ้น

“เราว่าสิ่งสำคัญคือต้องมีบุคคลที่สาม ที่จะเข้ามาบอกเลยว่า ‘ไม่ว่าจะจ่ายเงินเท่าไหร่ก็ตาม ต้องให้คนทำงานแค่นี้พอ’ ต้องมีคนมาเคลียร์ ไม่งั้นก็เหมือนรถที่ขับมาชนกัน แล้วใครจะยอมใครล่ะ”

 

ไม่มีหนังเรื่องไหนสำคัญกว่าความปลอดภัยของมนุษย์ : ปั๊ป-ภิไธย สมิตสุต

 

 

ปั๊ป-ภิไธย สมิตสุต คือผู้กำกับภาพ และหนึ่งคนทำงานที่เลือกออกห่างจากชั่วโมงการทำงานที่เกินขีดจำกัดความเป็นมนุษย์ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือการยืนหยัดใน ‘มูลค่า’--‘คุณค่า’ ของคนทำงาน

“เรารู้สึกว่าทีมงานบางส่วน โดยเฉพาะคนที่โดนเอาเปรียบเยอะๆ ไม่ประเมินมูลค่าตัวเองให้ถูก เขามีมูลค่าสูงมากในเชิงการทำงานด้านภาพยนตร์ ในทักษะและความสามารถของเขา แต่เขาไม่ประเมินว่ามันสำคัญขนาดไหน เราคิดว่าต้องเจอกันตรงกลาง คนจ้างต้องลงมาช่วยกัน ส่วนคนทำงานก็ต้องสร้างจุดยืนให้ตัวเอง”

เมื่อฟังวิธีการของปั๊ปหลายคนอาจรู้สึกว่าการต่อรองและยืนหยัดนั้นเป็นเรื่องยากเมื่อต้องปฏิบัติจริง เพราะความเป็นธุรกิจทำให้เกิดการแข่งขัน และมีผู้ที่พร้อมจะทำงานข้ามวันคืนในค่าแรงที่ต่ำอยู่เสมอ “มันไม่ง่าย” เขาไม่ปฏิเสธ แต่การส่งเสียงและย้ำชัดต่อผู้จ้างถึงความสามารถและการทำงานที่เป็นธรรมคือสิ่งที่ขาดไปไม่ได้

“เราไม่ค่อยชอบคำที่บอกว่า ‘ถ้าเราไม่ทำก็มีคนอื่นทำ’ เท่าไหร่ การวางจุดยืนไม่จำเป็นต้องสุดโต่ง แต่เป็นการคุยกันว่าเราทำอะไรได้บ้าง สิ่งนี้เรายอมได้ สิ่งนี้อย่าให้เรายอมเลย แต่ถ้าไม่มีการสร้างจุดยืนในคุณค่าเลย มันอันตรายมากครับ

“แน่นอน มีนายทุนที่เอาเปรียบ แต่ถ้าอยู่ในวงการนานพอ จะรู้ว่านายทุนที่ให้โอกาสและไม่เอาเปรียบก็มีเหมือนกัน”

 

 

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ปั๊ปเล่าว่าทั้งการจำกัดเวลาหรือเคอร์ฟิว และข้อบังคับจำกัดจำนวนคนในการออกกอง ทำให้หลายคนเห็นภาพความเป็นไปได้เล็กๆ ของชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม หากทุกฝ่าย ตั้งแต่ลูกค้าไปจนถึงโปรดักชันเฮาส์ตีโจทย์การทำงานใหม่ และตั้งคำถามต่อชั่วโมงการทำงานที่เคยไร้ขีดจำกัดในช่วงก่อนหน้า

“ก่อนหน้านี้เหมือนเรากำลังทดลองกันอยู่ว่า มนุษย์หนึ่งคนในอุตสาหกรรมจะทนกันไหวถึงขนาดไหน เพราะการที่มนุษย์หนึ่งคนทำงานนานขนาดนี้ในพื้นที่กองถ่าย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อันตรายกว่าปกติและมีคนหลายคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เป็นเรื่องดี โควิดจึงเป็นช่วงเวลาการทำงานที่ดีสำหรับบางคน เพราะโจทย์ของทุกคนเปลี่ยน ทุกคนต้องคิดว่าทำยังไงให้ถ่ายได้ในเวลาที่โดนจำกัดมา เทียบกับโจทย์ของเมื่อก่อนคือ เราจะขายของให้ได้มากที่สุดยังไง เราจะทำทุกอย่างเพื่อประหยัดเงินได้มากที่สุดยังไง ทีมงานจะรับงานให้ได้มากที่สุดยังไงในเวลาที่มี ซึ่งเป็นเวลาที่เยอะกว่าที่ควรจะต้องทำงานอยู่แล้ว

“เราค้นพบหลายคนในกองที่ชอบทำงานช่วงโควิดมาก เพราะการจำกัดการทำงาน ห้ามจำนวนคนเยอะ ห้ามถ่ายเกินเวลา กลายเป็นช่วงสวรรค์ของทีมงาน โดยเฉพาะทีมเทคนิค หลายคนคุยกันว่า วันนี้ได้เลิกกองกลับไปกินข้าวที่บ้าน ซึ่งนานๆ ทีจะเกิดขึ้น เราเลยรู้สึกว่า บางอย่างที่โดนบังคับให้ทำในช่วงโควิด มันทำให้เห็นภาพที่ควรจะเป็นอยู่เหมือนกัน”

แม้อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะยังร้องหามาตรฐานการทำงานที่คนในอุตสาหกรรมร่วมกันผลักดัน แต่ในโลกความเป็นจริงที่ไร้กฎนี้ ปั๊ปพยายามจะสร้างมาตรฐานให้ตัวเองและทีมเท่าที่ทำได้ ผ่านการสร้างจุดยืนอย่างที่เขากล่าวไว้

“เราสร้างกฎว่า เราไม่รับงานซ้อน ไม่รับงานที่เกินคิว ถ้าเลื่อนไม่ได้ ก็ต้องเซย์กู้ดบายกันไป บางครั้งถ้าเกิดมีเหตุบังเอิญ ต้องถ่ายเกินเวลาเราก็พอจะช่วยเขา แต่สำหรับครั้งที่มีการวางแผนให้เกินเวลา หรือผิดเพี้ยนธรรมชาติ เราจะทำให้เขาเห็นในค่าตัวเลย คือค่าตัวในชั่วโมงการทำงานปกติคือเท่านี้ แต่ถ้าจะให้ถ่ายเกิน 18 ชั่วโมงเนี่ยจะแพงมากนะ เหมือนเราทำโทษในสิ่งที่เราพอจะทำได้ ในโลกที่ไม่มีกฎ

“เราไม่ได้หวังว่าเขาจะมาจ่ายชั่วโมงที่แพงนะ เราหวังว่าเขาจะไม่จ้างเราตั้งแต่แรก และเราก็จะห่างกันไปเรื่อยๆ”

“เราเองมีปากเสียงมากกว่าคนอื่นที่อยู่ในทีม เพราะเป็นหนึ่งในหัวหน้าทีม มีคนที่อยู่ภายใต้การดูแลของเราเยอะ สิ่งที่เราทำคือพยายามหนี ถ่างตัวเองออกมาจากผู้จ้างที่ไม่เข้าใจเรื่องชั่วโมงการทำงาน ในขณะเดียวกัน พอเราถ่างตัวเองออกมา ทีมของเราก็โดนถ่างมาโดยธรรมชาติ"

ภาพยนตร์ คือศิลปะที่ละเอียดละออ ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพ เสียง และการออกแบบที่ใช้ทักษะสูง เหล่านี้ทำให้ภาพยนตร์เรียกร้องการทำงานที่เข้มข้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ความเป็นมนุษย์ย่อมล้ำค่ากว่าความงดงามไหนๆ สำหรับปั๊ปแล้วจึงไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนสำคัญกว่าความปลอดภัยของคนทำภาพยนตร์

“ถึงแม้เราจะโหดและเคร่งครัดในเรื่องเทคนิคการทำงาน แต่เรามีจุดยืนในเรื่องมนุษย์ และแม้เราจะทำงานมาเยอะ ชอบการถ่ายหนังมาก แต่เราไม่เคยให้ความสำคัญกับหนังเรื่องนึงมากกว่าชีวิตคนเลย เราไม่เคยเจอหนังเรื่องไหนที่เราคิดว่าสำคัญพอที่จะให้ใครมาเจ็บ มาตาย เพราะการถ่ายหนังเลย”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0