โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Sanshu no Jingu (สามสิ่งล้ำค่า): ของวิเศษอันลี้ลับแห่งราชสำนักญี่ปุ่น - เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

TALK TODAY

เผยแพร่ 21 พ.ย. 2562 เวลา 17.30 น. • เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

ช่วงที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ เป็นเวลาไม่นานหลังพระราชพิธีราชาภิเษก ของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะแห่งประเทศญี่ปุ่น

นอกจากพิธีการแล้ว สิ่งที่ดึงดูดความสนใจคอประวัติศาสตร์ทั่วโลก (รวมถึงผู้เขียน) ก็คือการปรากฏของ “Sanshu no Jingu (สามสิ่งล้ำค่า)” เครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งราชวงศ์ยามาโตะ ที่นับเป็นสิ่งลี้ลับที่สุดชื่อหนึ่งของประวัติศาสตร์

“สามสิ่งล้ำค่า”ดังกล่าว ไม่เพียงอยู่คู่ราชสำนักที่ยืนยาวที่สุดในโลก แต่ยังปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ทุกยุคทุกสมัย ถือเป็นของคู่บ้านคู่เมือง ระดับศูนย์รวมจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นทั้งหมด

แม้กระนั้นนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักวิชาการทุกสาขา ไปจนถึงประชาชนทั่วไป กลับแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับของล้ำค่า 3 ชิ้นนี้เลย

แม้แต่หน้าตาเป็นอย่างไร ก็ยังไม่เคยมีใครเห็นด้วยซ้ำ ?

แล้วอะไรคือ “สามสิ่งล้ำค่า” กันแน่ ?

ศาลเจ้าอัทสิตะ จังหวัดนาโกย่า สถานที่ (ที่เชื่อกันว่า) เก็บดาบคุซานางิ
ศาลเจ้าอัทสิตะ จังหวัดนาโกย่า สถานที่ (ที่เชื่อกันว่า) เก็บดาบคุซานางิ

สามสิ่งล้ำค่ามีความสำคัญอย่างไร ?

ตามตำนานโบราณของญี่ปุ่น เทพสูงสุดคือเทพธิดาแห่งดวงอาทิตย์มีนามว่า Amaterasu (อามาเทราสึ) เทพธิดาอามาเทราสึมีน้องชายอยู่องค์หนึ่ง คือเทพแห่งสายลมและท้องทะเล นามว่า Susanoo (ซูซาโนะโอ)

อามาเทราสึและซูซาโนะโอทะเลาะกันด้วยเรื่องบางอย่าง บาดหมางจนพี่สาวเสียใจ หลบเร้นกายเข้าในถ้ำศักดิ์สิทธิ์ เหตุนี้ทำให้โลกขาดดวงอาทิตย์และตกอยู่ในความมืด

ข้างฝ่ายน้องชาย ตามตำนานได้ลงไปผจญภัยยังโลก และช่วยเหลือเทพบนผืนโลก สังหารมังกรแปดเศียรตัวหนึ่ง (ชื่อ “ยามาตะ โนะ โอโรจิ” ที่พบในเกมส์และการ์ตูนบ่อย ๆ นั่นเอง) ในการสังหารนั้น ซูซาโนะโอะพบดาบเล่มหนึ่ง ซ่อนอยู่ในหางของมังกรตัวนั้น

เพื่อให้พี่น้องคืนดีกัน และโลกกลับมาผาสุขอีกครั้ง เหล่าเทพทั้งหลายจึงช่วยกัน หลอกล่ออามาเทราสึออกจากถ้ำ โดยใช้ของ 2 อย่างช่วย ได้แก่ อัญมณีรูปหยดน้ำ และกระจก

เมื่ออามาเทราสึออกจากถ้ำ ซูซาโนะโอได้โอกาสปรับความเข้าใจ ก่อนจะมอบดาบเล่มนั้นให้ เป็นของขวัญแทนคำขอโทษ เป็นอันจบตำนานเทพพี่น้องตีกัน อย่างน่ารักและอบอุ่นเพียงเท่านี้

อย่างไรก็ดี ของวิเศษตามตำนาน 3 สิ่งนี้ ได้กลายเป็นของรักของอามาเทราสึ

ต่อมาพระนางมอบสามสิ่งนี้แก่หลานชาย ก่อนจะบัญชาให้เทพผู้หลาน ลงมาปกครองโลกสร้างอาณาจักรสืบไป เทพผู้หลานนี้คือต้นสายราชวงศ์ยามาโตะตามตำนานนั่นเอง

“เห็นสามสิ่ง เสมือนเห็นข้า”

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ของวิเศษทั้งสาม ได้แก่

1. อัญมณีรูปหยดน้ำยาซาคานิ (Yasakani no Magatama)

2. ดาบคุซานางิ (Kusanagi no Tsurugi)

3. กระจกยาตะ (Yata no Kagami)

ก็อยู่ในสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ และกลายเป็นของอันจะขาดเสียมิได้ ในการสืบสายแห่งราชวงศ์

หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะถูกลดฐานะจนมิใช่สมมติเทพอีกต่อไป กระนั้นพระจักรพรรดิในตอนนั้น ก็ยังมีบัญชาให้ปกป้อง 3 สิ่งนี้ ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่ญี่ปุ่นยังเหลืออยู่

เทพอามาเทราสึปรากฏกายออกจากถ้ำ (painted by Kunisada, 1855. Source: Wikipedia) 
เทพอามาเทราสึปรากฏกายออกจากถ้ำ (painted by Kunisada, 1855. Source: Wikipedia) 

สามสิ่งล้ำค่ามีความเป็นมาอย่างไร ?

ไม่เคยมีใครเห็นของทั้งสาม และสำนักพระราชวัง ก็ปฏิเสธการให้ข่าวสาร ทุกแง่ ทุกมุม ทุกรูปแบบ แก่ทุกกลุ่มผู้สนใจ

ความลับของสามสิ่งล้ำค่า ถือเป็นสุดยอดความลับมาทุกยุคทุกสมัย บนแผ่นดินที่ผู้คนยินดีตายไม่ยินดีเปิดปาก ความลับที่ว่า จึงกลายเป็นสุดยอดความลับเหนือกาลเวลาในที่สุด

จากประวัติเท่าที่มี แรกเริ่มเดิมที สามสิ่งล้ำค่านี้ถูกเก็บไว้ในพระราชวัง ครั้งหนึ่งในรัชสมัยจักรพรรดิซูจิน (97-30 BC) ด้วยเชื่อว่าพลังของกระจกทำให้พระองค์ประชวร พระองค์จึงย้ายดาบและกระจก ออกจากพระราชวังไปยังศาลเจ้าชินโตแห่งหนึ่ง และสร้างรูปจำลองของดาบและกระจกขึ้น เก็บรักษาเคียงคู่กับอัญมณีหยดน้ำของแท้ในพระราชวัง

ณ จุดนี้ สิ่งล้ำค่าในพระราชวัง จึงมีเพียงอัญมณีที่เป็นองค์จริง

ในเวลาต่อมา กระจกและดาบ ตกมาอยู่ในการดูแลของเจ้าหญิงฮิมิโกะ เชื้อพระวงศ์และนักบวชชินโตระดับสูง เจ้าหญิงเมื่อดูแล 2 ใน 3 สิ่งล้ำค่า ก็รับบัญชาตามหาสถานที่อันเหมาะสม สร้างศาลบูชาอามาเทราสึ เพื่อเก็บรักษากระจกและดาบ

ศาลดังกล่าวนี้ ปัจจุบันคือศาลเจ้าใหญ่แห่งอิเสะ จังหวัดมิเอะ ซึ่งมีอายุกว่าสองพันปี

ในขณะนั้นเอง เจ้าชายยามาโตะ ทาเครุ (AD 72-114) โอรส(ซึ่งเป็นลูกชัง)ของพระจักรพรรดิในขณะนั้น รับบัญชานำทัพต่อสู้กับต่างอาณาจักร การสู้รบรุนแรงและอันตราย เจ้าหญิงฮิมิโกะผู้มีศักดิ์เป็นป้า จึงมอบดาบแก่เจ้าชาย

ด้วยอานุภาพของดาบ ยามาโตะ ทาเครุ กลายเป็นวีรบุรุษไร้พ่าย อาณาจักรยามาโตะกลับยิ่งใหญ่ เป็นรากฐานของญี่ปุ่นในปัจจุบัน

น่าเสียดายในการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ยามาโตะ ทาเครุ กลับดื้อแพ่งไม่ยอมนำดาบติดตัวไป แม้ชนะแต่บาดเจ็บเกินไป สิ้นพระชนม์ในที่สุด

เวลาต่อมา ชายาม่ายของเจ้าชาย มอบเถ้ากระดูกพร้อมดาบนี้แก่ศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ซึ่งคือศาลเจ้าอัทสึตะ จังหวัดนาโกย่าในปัจจุบัน

ศาลดังกล่าว “น่าจะ” เก็บรักษา ดาบคุซานางิมาจนปัจจุบัน

ขณะที่ศาลใหญ่แห่งอิเสะ “น่าจะ” เก็บกระจกยาตะมานานกว่านั้น

ส่วนอัญมณียาซาคานิ “น่าจะ” อยู่ที่พระบรมหาราชวัง ตามติดจักรพรรดิทุกพระองค์

จุดเปลี่ยนของความสับสน เกิดขึ้นในอีกพันปีต่อมา

เจ้าชายยามาโตะ ทาเครุ (painted by Yoshitoshi, 1886. Source: Wikipedia) 
เจ้าชายยามาโตะ ทาเครุ (painted by Yoshitoshi, 1886. Source: Wikipedia) 

เข้าสู่ยุคขุนนางเรืองอำนาจ ตั้งปลดจักรพรรดิตามใจ ขณะนั้นเกิดสงครามกลางเมือง ระหว่างขุนนางสองฝ่าย เรียกว่า “สงครามเก็มไป” ขึ้น

จักรพรรดิขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 6 ชันษา พระมารดาเป็นบุตรสาวขุนนางกลุ่มไทระ สงครามครั้งนั้นฝ่ายไทระแพ้ พระอัยกี (ยายซึ่งเป็นฝ่ายไทระ) ตัดสินใจพาองค์จักรพรรดิ กระโดดน้ำปลิดชีพพร้อมกัน และเพื่อป้องกันมิให้อีกฝ่ายราชาภิเษกจักรพรรดิองค์ใหม่ได้โดยง่าย นางจึงพกสิ่งล้ำค่าทั้งสามติดตัวจมน้ำไปด้วย

เนื้อหาจุดนี้สับสน แรกสุดกลุ่มไทระหนีออกมา จากพระบรมมหาราชวังในเฮอัน สามสิ่งล้ำค่าที่พกมานั้น ควรเป็นชุดที่ซ่อนไว้ในวัง ซึ่งมีเพียงอัญมณีหยดน้ำที่เป็นของจริง แต่การที่พระอัยกี ถึงขั้นฆ่าตัวตายพร้อมเครื่องราช (และจักรพรรดิองค์น้อย) ทำให้คอประวัติศาสตร์บางส่วนมองว่า หรือที่ไทระพกติดตัวมา จะคือ 3 สิ่งล้ำค่าชุดที่เป็นของจริงทั้งหมด!

อย่างไรก็ดี ว่ากันว่าพระอัยกีถือไหวเพียงดาบและอัญมณี ส่วนกระจกน่าจะอยู่ที่นางในซึ่งฆ่าตัวตายไม่ทัน และถูกจับเป็นก่อน

ถ้าเชื่อตามนี้นั่นคือกระจกไม่ได้จมน้ำไป จะจริงหรือปลอมยังคงอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่อัญมณี “ว่ากันว่า” มีคนงมกลับมาได้ทัน ส่วนดาบคุซานางินั้น“ว่ากันว่า”กลับขึ้นฝั่งเอง

ทั้งนี้จดหมายที่บันทึกเหตุ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีข้อกังขาหลายจุด

นอกจากเหตุการณ์การเมืองแล้ว ยังมีเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นหลายครั้ง กระทั่งกระจกยาตะที่อยู่ในพระบรมมหาราชวังเสียหายไป ซึ่งน่าจะเป็นกระจกจำลองแรกสุด

ในยุคหลัง กระจกยาตะค่อยๆขยับขึ้น จนมีสถานะสูงสุดในหมู่ 3 สิ่งล้ำค่า และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา ว่าจะไม่เคลื่อนย้ายออกจากศาลใหญ่แห่งอิเสะเด็ดขาด

พิธีราชาภิเษกที่เพิ่งผ่านไป จากข่าวและลักษณะห่อผ้า เชื่อกันว่ามีเพียงดาบคุซานางิ และอัญมณียาซาคานิเท่านั้น ที่ถูกอัญเชิญมาในพระราชพิธี สอดคล้องกับธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา

จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีผู้ใดสรุปได้ว่า สามสิ่งล้ำค่า บัดนี้ยังอยู่ดีหรือไม่ แล้วบัดนี้อยู่ที่ใดกันแน่

ภาพจินตนาการของสามสิ่งล้ำค่า (Source: Wikipedia) 
ภาพจินตนาการของสามสิ่งล้ำค่า (Source: Wikipedia) 

สามสิ่งล้ำค่ามีลักษณะแบบไหน ?

สำหรับอัญมณียาซาคานินั้น คำเรียกในภาษาญี่ปุ่นคือ “มากาทามะ” หมายถึงเครื่องประดับชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายหยดน้ำ มันจึงควรเป็นเช่นนั้น เพียงแต่ขนาดเล็กใหญ่ไม่อาจทราบได้

ด้านดาบคุซานางินั้นลี้ลับกว่า จากเอกสารในยุคเอโดะ นักบวชชินโตนามว่ามัทสึโอกะ มาซานาโอะ อ้างว่าได้เห็นดาบคุซานางิ ขณะช่วยนักบวชสูงสุดทำการบำรุงรักษา มัทสึโอกะเล่าว่า ดาบมีความยาว 82 เซนติเมตร มีคมสองด้าน มีสันตรงกลาง โดยรวมคล้ายกระดูกปลา บรรจุอยู่ในกล่องไม้หอม ซ้อนด้วยกล่องหิน และซ้อนอีกทีด้วยกล่องไม้นอกสุด

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการยุคหลังไม่อาจยืนยันความถูกต้องของเอกสารได้ ทั้งมีเรื่องเล่ากันว่า กลุ่มนักบวชที่ทำการดูแลรักษา แต่กลับเผยความลับออกมากลุ่มนี้ ล้วนเสียชีวิตด้วยเหตุสลดแตกต่างกัน

ภาพที่คาดว่าคัดลอกจากด้านหลังของกระจกยาตะ 
ภาพที่คาดว่าคัดลอกจากด้านหลังของกระจกยาตะ 

ด้านกระจกยาตะ ต้องถือว่าลึกลับที่สุด ช่วงยุคเมจิมีบุคคล 2 คน อ้างว่าได้เห็นกระจกยาตะ หนึ่งคือรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ อีกหนึ่งชื่อ ยาโนะ ยูทาโร่ เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ เขาศรัทธาศาสนาชินโตมาก ภายหลังถึงกับก่อตั้งนิกายใหม่ที่เคร่งครัดกว่าเดิมขึ้น

ยาโนะเชื่อว่าวันหนึ่ง อามาเทราสึจะกลับมายังโลก โดยผ่านกระจกยาตะอีกครั้ง เมื่อได้เห็นกระจกยาตะ (ตามที่เขาอ้าง) ก็คัดลอกรูปลักษณะ และนำมาเป็นของบูชาสูงสุดของนิกายตน

ข้อมูลเหล่านี้แม้ไม่อาจยืนยันได้ว่าจริงหรือไม่ แต่นักวิชาการบางท่านก็ทุ่มความสนใจ พยายามตีความอักษรที่ปรากฏบนกระจก

พวกเขาพบว่า อักษรทั้งหมด มีลักษณะคล้ายทั้งฮิรากานะ(ซึ่งญี่ปุ่นใช้มาแต่โบราณ) ฮิบรู บาลี และสันสกฤต เมื่อตีความตามภาษาฮิรากานะ จะได้ออกมาเป็นการเรียงตัวของดวงดาว ในขณะที่เมื่อตีความตามหลักภาษาอื่นๆ บ้างได้เป็นคำพยากรณ์ บ้างเป็นบทสวดเรียกหา แต่ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการกลับมาของเทพแห่งดวงอาทิตย์

ซึ่งคือ อามาเทราสึ นั่นเอง

#####################################

ความลับจะคงอยู่ตลอดไปหรือไม่ ?

เหตุผลของความลับยังเป็นความลับ

นักวิชาการมองว่า ความลับที่เก็บซ่อนมา ศรัทธาที่ก่อตัวขึ้น นั้นต่างหากคือสิ่งล้ำค่าที่แท้ แม้จะอยากเห็น อยากวิจัยใจแทบขาด แต่นักวิชาการตลอดจนชาวญี่ปุ่นส่วนมาก ยังพึงพอใจให้ความลับเป็นความลับตลอดไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งจิตวิญญาณแห่งความเป็นญี่ปุ่น

ทว่าจากพระราชพิธีที่เพิ่งผ่านไป เมื่อสอบถามคนรุ่นใหม่ พวกเขากลับลดความสนใจที่มีต่อสามสิ่งนี้ลง ไม่แน่ทิศทางในอนาคต อาจแตกต่างไปจากที่คาดไว้

แต่ ณ เวลานี้ ความลับยังจะคงเป็นความลับต่อไป

#####################################

อ้างอิง

Atsushi, K. (2006). ``Myths, rites, and icons: three views of a secret''. The Culture of Secrecy in Japanese Religion. London and New York: Routledge, 269, 83.

Göttler, C., & Mochizuki, M. (Eds.). (2017). The Nomadic Object: The Challenge of World for Early Modern Religious Art. Brill.

Wado, Kosaka. (2017). Takeuchi Documents II. LULU COM.

The Mirror of Yata Inscription - Designed by Shinto, Taoist, Hindu and Hebrew Sages. (n.d.). Retrieved from https://www.scribd.com/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0