โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

SCC ฟื้นแรงกว่ากลุ่ม แต่ราคานี้ซื้ออนาคต!

efinanceThai

เผยแพร่ 10 ก.ค. 2563 เวลา 06.45 น.

นับจากที่ลงไปทำจุดต่ำสุดในเดือนมี.ค.63 ราคาหุ้น SCC ก็ฟื้นขึ้นมาแรงต่อเนื่อง จนทำนิวไฮรอบ 7 เดือนไปไม่กี่วันก่อน หน้า ขณะที่หุ้นในกลุ่มอย่าง TPIPL และ SCCC ยังคงแกว่งตัวไร้ทิศทาง แต่ผลประกอบการกับอัพไซด์ที่เหลือน้อยยังทำให้ SCC น่าสนใจอยู่หรือไม่?

*** ราคาหุ้นฟื้นแรงมาก จนทำนิวไฮรอบ 7 เดือน

ราคาหุ้นของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC วันนี้ฟื้นขึ้นมาต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยราคาวันนี้ทำจุดสูงสุดรอบเช้าไปที่ 387 บาท พยายามขึ้นไปทดสอบระดับนิวไฮรอบ 7 เดือนที่ 393 บาทอีกครั้ง หลังจากที่ทำได้ในวันที่ 7 ก.ค. 63 โดยราคาหุ้นปิดตลาดเช้านี้ไปที่ 386 บาท เพิ่มขึ้น 4 บาท หรือ +1.05% มูลค่าการซื้อขาย 293.89 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากเทียบกับหุ้นในกลุ่มตัวอื่นๆ โดยใช้จุดต่ำสุดในช่วงเดือนมี.ค.63 ที่ราคาหุ้นได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กับราคาสูงสุดเช้านี้ พบว่า ราคาหุ้น SCC ฟื้นมาแล้วถึง 58.60% ขณะที่หุ้นตัวอื่นๆอย่าง SCCC เพิ่มขึ้น 41% และ TPIPL ที่ฟื้นมาเพียง 12.14% เท่านั้น

สิ่งที่พอจะนำมาอธิบายเรื่องนี้ได้ก็คือ อัพไซด์จากการนำธุรกิจแพคเกจจิ้งอย่าง บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SGCP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)นั่นเอง ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุไว้ว่าการ IPO ธุรกิจแพคเกจจิ้ง SGCP จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับ SCC อีก 11-19 บาท/หุ้น

*** ข้อดีคือ "กำไร" หดน้อยกว่ากลุ่มมาก

ราคาหุ้น SCC ที่ปรับตัวขึ้นมาได้โดดเด่นกว่ากลุ่มยังมีอีกสาเหตุที่สำคัญ คือ จากการสำรวจผลประกอบการทั้ง 3 รายจาก บล.เอเซีย พลัส พบว่า SCC มีกำไรสุทธิหดตัวน้อยที่สุดในกลุ่ม โดย TPIPL กำไรสุทธิปี 63 หดตัวหนักสุดถึง 11.33% รองลงมาคือ SCCC กำไรสุทธิหดตัว 7.7% และ SCC หดตัวน้อยสุดเพียง 1.09% เท่านั้น

ซึ่งก็เป็นผลดีจากความแข็งแกร่งของ Supply Chain ที่โดดเด่นกว่าคู่แข่ง ทั้งการจัดหาวัตถุดิบ ฐานลูกค้าหลายระดับ และความสามารถในการขายสินค้ามาร์จิ้นสูง ทำให้สามารถรักษาอัตรากำไรของธุรกิจไว้ได้แม้ตลาดซีเมนต์รวมจะหดตัวก็ตาม 

ขณะที่ TPIPL ได้รับผลกระทบทั้งจากตลาดซีเมนต์ที่หดตัว และการปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่แม้จะได้ธุรกิจไฟฟ้าที่เพิ่งติดตั้ง Boiler เพิ่มอีก 3 ลูกเข้ามาหนุนก็ตาม  ส่วน SCCC ยังได้ธุรกิจในเวียดนามที่เติบโตค่อนข้างดีช่วยชดเชยยอดขายซีเมนต์ที่หดตัวได้

*** ดีสุดในกลุ่ม แต่ดีสุดสำหรับนักลงทุนจริงหรือ?

เริ่มต้นด้วยผลประกอบการไตรมาส 2/63 จะเติบโตทั้ง YoY และ QoQ เพราะธุรกิจปิโตรเคมีที่สเปรดปรับตัวดีขึ้นมาก  บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/63 จะมีกำไรสุทธิ 9.1 พันล้านบาท ขยายตัว +31% QoQ และ +30% YoY แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ผลกระทบสามารถชดเชยได้ด้วยการกระจายธุรกิจหลากหลาย ประกอบกับการเลื่อนแผนปิดซ่อมบำรุงโรงงานไปไตรมาส 4/63 แทน และส่วนต่างราคาปิโตรเคมีสูงขึ้น

ระวังไตรมาส 2/63 อาจเป็นจุดพีคสุดของปีนี้แล้ว

บล.ยูโอบีเคย์เฮียน ระบุไว้ว่า กำไรสุทธิในไตรมาส 2/63 จะออกมาเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นจุดที่ดีที่สุดของปีนี้ไปแล้ว ครึ่งปีหลังจะต้องเจอกับปริมาณการขายที่ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุง MOC ในไตรมาส 4/62 ดังนั้นราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางตลาดมาเช่นนี้ แสดงว่าราคาหุ้นสะท้อนข่าวดีไปหมดแล้ว

บล.กรุงศรี ระบุว่า ปริมาณขายเคมีภัณฑ์และซีเมนต์จะเริ่มอ่อนตัวลงในไตรมาส 3/63 เริ่มต้นจากบริษัทจะจัดสรรสินค้าคงคลังภายในไตรมาส 3/63 เพื่อที่ขายในไตรมาส 4/63(ที่ต้องปิดซ่อมบำรุงโรงงาน) ดังนั้นเราคาดว่าปริมาณขายเคมีภัณฑ์จะเริ่มลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3/63 และจะลดลงต่อในไตรมาส 4/63 

ขณะที่กำลังการผลิตใหม่ HDPE และ PP ของบริษัทเพิ่มขึ้น 3.7 ล้านตันและ 6.2 ล้านตันตามลำดับในปี 63 ขณะที่กำลังการผลิตทั่วโลกอยู่ราว 48.2 ล้านตันและ 80 ล้านตันตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้น 7% และ 7.5% เทียบกับอัตราการเติบโตของความต้องการที่อยู่เพียง 4% ต่อปี คาดว่ากำลังการผลิตใหม่จะกดดันให้สเปรดปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ยาก 

ส่วนธุรกิจซีเมนต์ความต้องการจะอ่อนตัวลงในไตรมาส 3/63 เนื่องจากฤดูฝนและวัดหยุดที่เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยวันสงกรานต์ 

*** โบรกฯ แนะมองข้ามไปปี 64 มีลุ้นกำไรโตครั้งแรกในรอบ 4 ปี

บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ระบุไว้ว่า หากมองข้ามไปยังปี 64 เราคาดผลประกอบการจะสามารถเติบโต YoY ได้ครั้งแรกนับที่หดตัวมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 60 ปัจจัยหนุนก็คือ SCC ได้ประโยชน์ทางตรงจากการผลักดันโครงการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องใน 1 - 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยทั้งส่งออก และท่องเที่ยวยังมีอุปสรรคจากต่างประเทศ 

ซึ่งโครงการที่คาดว่าจะเปิดประมูลภายในปี 2563 - 2564 มีมูลค่ารวม 6.3 แสนล้านบาท เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี, รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้, รถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย, รถไฟทางคู่เฟส 2 โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มเห็นการก่อสร้างจริงปี 64 และมีประเด็นบวกจากการนำ SCGP เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยปลดล็อคมูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจนขึ้น

โดยประเมินว่ากำไรสุทธิปีนี้จะอยู่ที่ราว 33,000 หมื่นล้านบาท ก่อนที่จะโตอีกรอบในปี 64 อยู่ที่ 37,159 ล้านบาท โต +12.60% พลิกกลับมาเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีนั่นเอง

ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอง คาดกำไรสุทธิปี 63 ของ SCC จะอยู่ที่ 30,497 ล้านบาท ลดลง 5% YoY ก่อนจะฟื้นตัวในปี 64 ซึ่งคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 34,263 ล้านบาท เติบโตขึ้น 12% YoY

*** นักวิเคราะห์เสียงแตก แต่มอง"อัพไซด์เหลือน้อย"เหมือนกัน

สิ่งที่ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนแนะนำเพียง "ถือ" หรือ "ขาย" เป็นเพราะความกังวลผลประกอบการในไตรมาส 3 - 4/63 ที่อาจหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่นักวิเคราะห์รายแนะนำซื้อมองว่ากำไรสุทธิปี 64 จะฟื้นตัวได้ดี แต่ส่วนใหญ่ให้ราคาเหมาะสมต่ำมาก แม้จะปรับไปใช้ราคาเหมาะสมปี 64 แล้วก็ตาม นั่นหมายความว่าซื้อขณะนี้อาจหมายถึงการซื้ออนาคตข้างหน้าไปแล้ว

 

บล.แนะนำราคาเหมาะสมปี 64 (บ.)เคจีไอขาย360โนมูระ พัฒนสินถือ362ทรีนีตี้ถือ380เมย์แบงก์ กิมเอ็งซื้อ400

หากนักลงทุนต้องการซื้อหุ้นในขณะนี้โดยยอมรับได้ว่าผลประกอบการจุดที่ดีที่สุดในปีนี้จะอยู่ในไตรมาส 2/63 ก็อาจเป็นจุดเก็งกำไรจากการประกาศงบได้ แต่หากต้องการลงทุนยาวอาจต้องคำนึงไว้ด้วยว่าราคานี้ซื้ออนาคตปี 64 ไปแล้ว และยังต้องทนทุกข์กับกำไรสุทธิที่จะหดตัวในไตรมาส 3- 4/63 อีกด้วย แม้ SCC จะปรับตัวได้ดีกว่ากลุ่ม แต่หุ้นในตัวอื่นๆ ก็ยังมีอัพไซด์ที่น่าสนใจเหมือนกัน … 

ดูข่าวต้นฉบับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0