โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“ปีเสือดุ”...แนะกระจายการลงทุนทั่วโลก-พร้อมให้น้ำหนัก “หุ้นตปท.” เพิ่มขึ้น !!!

Wealthy Thai

อัพเดต 10 ส.ค. 2566 เวลา 00.02 น. • เผยแพร่ 04 ม.ค. 2565 เวลา 03.24 น. • สรวิศ อิ่มบำรุง

ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ของ “ปีขาล-2022” อย่างเต็มตัว ท่ามกลางสถานการณ์ของ Omicron” ในประเทศและต่างประเทศที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
และยังเป็นคำถามใหญ่ต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและการลงทุนในปีนี้ ว่า…ผลกระทบนี้จะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน
แต่การลงทุนยังคงต้องดำเนินต่อไป “The Show Must Go on” และ “Stay Invested” ด้วยการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการลงทุนในทุกยุคทุกสมัย ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน
วันนี้ ทีมงาน ‘Wealthythai’ มีมุมมองการลงทุนและคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดพอร์ตรับ“ปีเสือดุ 2022” มาฝากกัน

เปิด “3 ปัจจัย” ที่ยังมีผลต่อศก.-การลงทุนในปี2022

“ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ” ผู้อำนวยการอาวุโส SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกถึงปัจจัยที่ยังต้องจับตา 3 อย่างในปี2022 ว่า COVID-19 จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน โดยผลกระทบแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ยังไม่หายไป ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศเริ่มมีความแตกต่างน้อยลง แต่ทั้งนี้การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการข้อจำกัดต่างๆ เช่น การเดินทางระหว่างประเทศ
นโยบายทางเศรษฐกิจจะเริ่มตึงตัวขึ้น “นโยบายการเงิน” เริ่มตึงตัวขึ้นแบบ ค่อยเป็นค่อยไป โดย “ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)” น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี22 โดยทยอยขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี แต่จะมีการสื่อสารให้ตลาดรับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินโลก แม้จะเกิดขึ้นในช่วงสั้นแต่น่าจะอยู่ในระดับที่จัดการได้ ส่วน “นโยบายการคลัง” ในประเทศพัฒนาแล้วจะเริ่มเห็นการออกนโยบายเพิ่มรายได้ภาครัฐมากขึ้น เช่น การขึ้นภาษี แต่อาจจะไม่มากพอที่จะชดเชยการขาดดุลขนาดใหญ่ในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูง

(ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ)

“นอกจากนี้ ‘ต้นทุนทางการเงินเริ่มสูงขึ้น’ และค่าเงิน บาทแม้ว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในครึ่งหลังของปีแต่มาพร้อมความผันผวน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่น่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนบางประเทศขัยบเร็วจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้น ในขณะที่ ‘ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ’ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี22 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัด แต่จากการปรับนโยบายการเงินในประเทศต่างๆ และความไม่แน่นอนของการกลายพันธุ์ COVID-19 ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนสูง ดังนั้นการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีความสำคัญ”

ปี22 “Real Yield” ต่ำ…ทำ “หุ้น” ยังน่าสนใจกว่า “ตราสารหนี้”

เศรษฐกิจโลกในปี2019-2020 ชะลอตัวมาก ปี21 ที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ‘ต่างกัน’ แต่ในปี22 ประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าจะไล่กลับขึ้นมาได้ ประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นมาก่อนหน้าจะเริ่มใช้นโยบายตึงตัว ดังนั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี22 จะ ‘ไม่แตกต่างกันมาก’ แล้ว
แต่คำถามที่ยังคงต้องติดตามต่อเนื่อง คือ Omicron” ที่กลับมาระบาดช่วงสิ้นปี21 จะมีผลยังไงต่ออัตราเงินเฟ้อในปีนี้ และปัญหาซัพพลายจำกัดจะยืดยาวไปนานขึ้นมั้ย ตลอดจนกำลังซื้ออาจไม่ฟื้นตัวเร็ว
“พร้อมกับการมาของเงินเฟ้อ ทำให้ ‘อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield)’ ยังอยู่ในระดับต่ำ นั่นยังทำให้ในปี22 นี้ ‘หุ้น’ยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุนอยู่นั่นเอง”

ให้น้ำหนัก “หุ้นตปท.” มากกว่า “หุ้นไทย”…ชอบตลาดพัฒนาแล้วโดยเฉพาะ ‘สหรัฐ-ยุโรป’

ทั้งนี้ “หุ้นตลาดพัฒนาแล้ว (DM)” ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ ‘สหรัฐ’และ ‘ยุโรป’ แม้ว่าในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา หุ้นสหรัฐจะปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนนักลงทุนรู้สึกว่าราคาแพงไปแล้วหรือไม่ แต่กำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐก็ยังเติบโตดีทำให้มูลค่าของหุ้นสหรัฐน่าจะปรับตัวลงได้ ในส่วนของหุ้นยุโรปไม่ได้แพงเท่าสหรัฐและดีกว่า ‘หุ้นญี่ปุ่น’ โดยยุโรปยังได้ประโยชน์จากมาตรการทางการคลังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนก็ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลาง COVID-19 ส่วนญี่ปุ่นค่อนข้างถูกในกลุ่ม DM สามารถเล่นเป็น Laggard ในกลุ่มเพราะราคาไม่แพงได้ หุ้น DM สามารถใช้เป็น ‘Core Port’ ได้เลย

“หุ้นตลาดเกิดใหม่ (EM) ‘หุ้นเวียดนาม’ ยังเป็นตลาดหุ้นที่น่าสนใจสุดแม้ราคาจะปรับตัวขึ้นมามากในช่วงปีที่ผ่านมา แต่มูลค่ายังคงถูกกว่า ‘หุ้นไทย’ โดยมี P/E ที่ 14 เท่า ในขณะที่หุ้นไทยอยู่ที่ 17 เท่า และค่อนข้างเต็มมูลค่าแล้ว ส่วน ‘หุ้นอินเดีย’ มาจากฐานที่ต่ำ ถ้ามองโดยเปรียบเทียบแล้วยังแพงกว่า ‘หุ้นจีน’ ค่อนข้างมาก โดยหุ้นจีน ‘A-Share’ ยังโตได้ดี ในขณะที่ ‘H-Share’ ฟื้นตัวได้ช้าหน่อย”
สำหรับ “การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)” ในปี22 นี้ ยังคงให้น้ำหนักของ“หุ้น” มากกว่า“ตราสารหนี้” โดยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง สามารถลงทุนในหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40% เพราะพันธบัตรจะไม่ Perform ในช่วงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้นเช่นนี้ โดยในส่วนของหุ้นนั้น แนะนำให้กระจายลงทุน ดังนี้
-1 ใน 5 เป็น “หุ้นไทย”
-4 ใน 5 เป็น “หุ้นต่างประเทศ” เน้นตลาดพัฒนาแล้วสหรัฐ, ยุโรป, Thematic, จีน และเวียดนาม
เปิดศักราช “ปีขาล-2022” ปีเสือดุ “หุ้น” ยังเป็นสินทรัพย์ที่ยังคงโดดเด่นตอเนื่องในปีนี้มากกว่า “ตราสารหนี้” ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ใครที่กำลังมองหาโอกาสการลงทุนเพื่อจะได้ “จัดสรรเงินลงทุน” รับมือได้อย่างเหมาะสมนั้น เชื่อว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0