โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

PLANET อนาคตเทคฯสาย ‘Cloud’ กับโอกาสในวิกฤติโควิด ลุ้นปี 63 พลิกกำไร-รายได้ All Time High

อินโฟเควสท์

อัพเดต 06 ส.ค. 2563 เวลา 06.16 น. • เผยแพร่ 06 ส.ค. 2563 เวลา 06.16 น. • สำนักข่าวอินโฟเควสท์

นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่นเอเชีย (PLANET) ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมแบบครบวงจร เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทใช้เวลาเตรียมความพร้อมด้วยการปรับโมเดลธุรกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเน้นขยายการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud Technology) ในด้านต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยี Cloud Office นำมาต่อยอดใช้กับระบบ "Video conference" ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ

https://youtu.be/en0KDY04yjY

แม้จะทำให้ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาผลประกอบการไม่ได้เติบโตและมีผลขาดทุน เนื่องจากองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยนิยมใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานกันมากนัก ทำให้รายได้เติบโตไม่ทันกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่การปรับโมเดลธุรกิจดังกล่าวจะช่วยผลักดันสัดส่วนธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) และเพิ่มความสามารถทำกำไรให้ดีขึ้น

นายประพัฒน์ กล่าวว่า ในปี 63 บริษัทเริ่มมองเห็นโอกาสการเติบโตที่ชัดเจน เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 เป็นตัวแปรที่เร่งให้องค์กรธุรกิจต้องหันมาใช้บริการระบบ "Cloud Service" เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ส่งผลโดยตรงต่อแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีนี้ จึงเชื่อมั่นว่าภาพรวมผลประกอบการทั้งปี 63 จะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง หลังจากสิ้นปี 62 มีผลขาดทุนสุทธิประมาณ 1 ล้านบาท

"แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 1/63 มีผลขาดทุนสุทธิมากกว่า 15 ล้านบาท ยอมรับว่าบริษัทมีผลกระทบจากการบันทึกตั้งสำรองลูกหนี้และสต็อกสินค้าตามมาตรฐานบัญชีใหม่ และผลกระทบการชะลอโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ แต่เริ่มกลับมาเห็นสัญญาณดีขึ้นแล้วในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 2/63 จะไม่มีผลกระทบจากการปรับมาตรฐานทางบัญชีใหม่แล้ว และผลการดำเนินงานธุรกิจด้านต่างๆ ก็ส่งสัญญญาณดีขึ้นเป็นลำดับ ส่วนหนึ่งเกิดจากผลบวกของวิกฤติโควิด-19 ทำให้องค์กรเริ่มกลับมาพัฒนาระบบเทคโนโลยีด้านการสื่อสารมากขึ้น"

นายประพัฒน์ กล่าว

นายประพัฒน์ เปิดเผยอีกว่า แนวโน้มรายได้รวมทั้งปี 63 จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย เบื้องต้นคาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 15-20% ตามการทยอยรับรู้รายได้จากปริมาณงานในมือ (Backlog) ที่มีกว่า 300 ล้านบาท และบริษัทอยู่ระหว่างรอความชัดเจนผลการประมูลงานใหม่ที่คาดว่าจะรู้ผลในไตรมาส 3/63

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทชนะงานประมูลดังกล่าวก็มีความเป็นไปได้ว่าภาพรวมรายได้ปี 63 จะเติบโตมากกว่า 1 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ประมาณ 849 ล้านบาท เป็นการเติบโตทุบสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทด้วย

"ทุกครั้งที่บริษัทจะเติบโตต้องมีวิกฤติเข้ามาตัวเร่งเสมอ ขณะที่ตลอดหลายปีที่ผ่านบริษัทมีอัตราเติบโตปกติ ส่วนผลประกอบการปีก่อนบริษัทเดินหน้าผลักดันธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคลาวด์ส่งผลให้มีการลงทุนต่างๆ แต่เมื่อปีที่แล้วองค์กรขนาดใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสนใจกันมาก แตกต่างกับปีนี้หลังจากเกิดโควิด-19 ที่ได้รับความนิยมใช้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

แม้ว่ารายได้บริษัทจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมุ่งเน้นควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมศักยภาพทำกำไรอย่างมั่นคง ขณะเดียวกันขยายธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring income) เช่น Cloud Service เป็นสัญญาระยะยาวอย่างน้อย 1-3 ปี และบริการหลังการขาย เป็นต้น ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าธุรกิจขายอุปกรณ์"

นายประพัฒน์ กล่าว

นายประพัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 มีผลกระทบใกล้เคียงกับเหตุการณ์วิกฤติไข้หวัดนก ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศและเข้ามาในไทยได้ ทำให้บริษัทมีโอกาสขยายตลาดเทคโนโลยี "Video Conference" การประชุมทางไกลผ่านระบบ "Cloud Meeting Platform" ที่มีความปลอดภัยขั้นสูงเป็นธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ สะท้อนได้จากตัวเลขส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของธุรกิจ Video conference ที่มีมากกว่า 50% ของมูลค่าตลาดในประเทศทั้งหมด

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในยุค Social Distancing ตอบโจทย์กับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่บริษัทได้พัฒนาแพลตฟอร์มมาตลอดช่วง 2-3 ปี คือ อุปกรณ์ประเภท "Telemedicine" หรือเครื่องมือรักษาทางไกล ซึ่งสามารถส่งผ่านข้อมูลแบบ Real Time ทำให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหตุการณ์โควิด-19 จะทำให้ระบบการรักษาทางการแพทย์ของไทยหันมาใช้นวัตกรรมดังกล่าวกันมากขึ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้พัฒนาระบบ IoT Platform ที่สามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลที่เตรียมเดินหน้าโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ลักษณะเป็นเสารวบรวมการให้บริการหลายประเภท ภายใต้ชื่อ Smart Pole เช่น เครื่องมือตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ เครื่องมือตรวจค่าความเข้มข้นของฝุ่น ระบบสัญญาณโทรศัพท์ และที่ชาร์ทรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กล้องวงจรปิด (CCTV) เป็นต้น

นายประพัฒน์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างนำเสนอให้กับพันธมิตรและองค์กรภาครัฐ เบื้องต้นจะนำไปให้บริการในพื้นที่หัวเมืองท่องเที่ยวส่วนกลางสามารถสะสมบิ๊กดาต้าเพื่อมาใช้วิเคราะห์การเข้าใช้บริการลูกค้า หรือแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีความชัดเจนจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทในระยะต่อไป

ขณะเดียวกันยังมีระบบ Cyber Security Platform เพื่อรองรับกฎหมายด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่เชื่อมั่นว่าจะเป็นส่วนผลักดันสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้กับบริษัทในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ส.ค. 63)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0