โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

Loon บริษัทในเครือกูเกิล เริ่มให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ทางบอลลูนครั้งแรกในเคนยา

The Momentum

อัพเดต 08 ก.ค. 2563 เวลา 14.38 น. • เผยแพร่ 08 ก.ค. 2563 เวลา 14.38 น. • THE MOMENTUM TEAM

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ประสบภัยที่โครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมภาคพื้นดินเสียหายจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา Loon บริษัทลูกของ Alphabet เจ้าของเว็บไซต์ Google ได้เริ่มให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์โดยปล่อยสัญญาณผ่านทางบอลลูนเป็นครั้งแรกในประเทศเคนยาหลังจากใช้เวลาทดลองร่วม 2 ปี

ตลอดเดือนมิถุนายน Loon ปล่อยบอลลูนกว่า 35 ลูกเหนือน่านฟ้าเคนยา ณ ระดับความสูงราว 25 กิโลเมตรในชั้นสตราโทสเฟียร์แต่จะอยู่เหนือจากระดับการบินของสายการบินพาณิชย์ โครงข่ายบอลลูนดังกล่าวจะส่งคลื่นสัญญาณ 4G LTE ให้กับผู้ใช้บริการของ Telkom Kenya เครือข่ายคู่สัญญาครอบคลุมพื้นที่ราว 80,300 ตารางกิโลเมตรทางภาคกลางและภาคตะวันตกของเคนยารวมถึงเมืองหลวงไนโรบี

บอลลูนสัญญาณอินเทอร์เน็ตดังกล่าวสร้างจากพลาสติกพอลิเอธิลีนขนาดเท่าสนามเทนนิส ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และควบคุมโดยการสั่งการภาคพื้นดินที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่อิงจากฐานข้อมูลการเคลื่อนที่ในช่วงเวลาทดสอบกว่าหนึ่งล้านชั่วโมงเป็นระยะทางร่วมสี่สิบล้านกิโลเมตร ทำให้อัลกอริธึมสามารถทำนายกระแสลมและขยับบอลลูนขึ้นลงเพื่อให้โครงข่ายมีพื้นที่ครอบคลุมมากที่สุด

Loon สามารถปล่อยบอลลูนหนึ่งลูกทุก 30 นาที แต่ละลูกมีอายุการใช้งานราว 100 วันก่อนที่จะทิ้งตัวลงสู่พื้นดินเพื่อนำไปซ่อมแซมแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ บอลลูนดังกล่าวไม่ต่างจากเสาสัญญาณโทรคมนาคมลอยได้ แต่สามารถส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ราว 10,000 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นราว 200 เท่าของเสาสัญญาณภาคพื้นดินโดยผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อสัญญาณด้วยวิธีปกติ

จากการทดสอบล่าสุด อินเทอร์เน็ตจากบอลลูนมีความเร็วในการอัปโหลดราว 5 เมกะบิตต่อวินาที ความเร็วดาวน์โหลด 19 เมกะบิตต่อวินาที ขณะที่ความเร็วในการตอบสนองระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการอยู่ที่ 19 มิลลิวินาทีเท่านั้น

การให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านบอลลูนครั้งนี้ของ Loon ถือเป็นครั้งแรกของการให้บริการเชิงพาณิชย์ เพราะนับตั้งแต่มีนวัตกรรมดังกล่าว โครงข่ายบอลลูนจะถูกใช้ในภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งทำให้โครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตภาคพื้นดินไม่สามารถใช้การได้ เช่นเมื่อปีที่ผ่านมา Loon สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตฉุกเฉินในประเทศเปรูหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เพียง 2 วัน รวมถึงให้ชาวเปอร์โตริโกใช้อินเทอร์เน็ตได้หลังเผชิญกับพายุเฮอร์ริเคนมาเรียเมื่อ พ.ศ. 2560

ปัจจุบัน มีประชากร 3.8 พันล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้และเหล่านวัตกรต่างแข่งขันกันเพื่อสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตยุคใหม่บนท้องฟ้า โดยมีบริษัทที่น่าจับตามองอย่าง SpaceX ที่หวังสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตดาวเทียม ณ ความสูง 550 กิโลเมตร บริษัทที่ล้มเหลวอย่างโครงการ Aquila อินเทอร์เน็ตผ่านโดรนของเฟซบุ๊ก ขณะที่ Loon เป็นทางเลือกกลางๆ ที่ไม่ได้ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลอย่างการยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ แต่ก็ไม่ได้มีอายุการใช้งานแสนสั้นเหมือนโดรน อินเทอร์เน็ตผ่านบอลลูนจึงเป็นทางเลือกที่น่าจับตามองว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

ที่มา:

https://www.nytimes.com/2020/07/07/world/africa/google-loon-balloon-kenya.html

https://www.forbes.com/sites/johnkoetsier/2020/07/07/googles-internet-balloons-use-ai-to-deliver-web-voice-video-from-12-miles-high

https://www.theverge.com/2020/7/7/21315961/alphabet-loon-balloons-internet-kenya-telkom-4g-remote-areas

ภาพ: https://loon.com/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0