โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

Food Delivery แข่งเดือด เข้าสู่ภาวะอิ่มตัว

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 08 ส.ค. 2563 เวลา 01.18 น. • เผยแพร่ 08 ส.ค. 2563 เวลา 01.15 น. • Thansettakij

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา มีการใช้มาตรการเข้มข้นในการปิดกิจการหรือจำกัดการให้บริการของภาคธุรกิจเป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ที่จำกัดการให้บริการ เหลือเพียงช่องทางการซื้อกลับและการจัดส่งอาหารไปส่งยังที่พัก (Food Delivery) ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้กลายเป็นช่องทางที่สำคัญของทั้งผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและผู้บริโภค

จากข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ พบว่า มีจำนวนร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง สมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ไม่น้อยกว่า 20,000 ร้านต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จำนวนครั้งของการจัดส่ง อาหารไปยังที่พักเติบโตสูงถึงประมาณ 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และทำให้เกิดการเข้ามาแข่งขันของผู้บริการรายใหม่มากขึ้น นอกเหนือจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารไปยังที่พัก 4 รายหลัก เช่น Food Panda, LINEMAN, Grab Food, GET Food เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ให้เห็นว่า ทิศทางของตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะมีการแข่งขันที่รุนแรงและสร้างความตื่นตัวต่อธุรกิจจัดส่งอาหารมากขึ้น ทั้งจากการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ทั้งต่างชาติและไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน และผู้เล่นจากนอกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผู้ให้บริการรายใหม่ของไทยได้เข้ามาในตลาดนี้ ด้วยรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ ที่ต่างจากเดิม อาทิ การไม่จัดเก็บค่าบริการต่างๆ จากร้านอาหาร การเพิ่มคุณสมบัติและระบบการทำงานของแอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน หรือการออกแบบวิธีการทำงานของแอพพลิเคชั่นการจัดส่งที่ให้ร้านอาหารสามารถเปรียบเทียบราคาค่าส่งอาหารจากผู้ให้บริการส่งอาหารได้ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภค

อีกทั้ง สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลายร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ รวมถึงผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและกลับไปใช้บริการนั่งรับประทานในร้านมากขึ้น ทำให้ปริมาณผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ชะลอลง จะส่งผลให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ต้องกระตุ้นตลาดอย่างหนักเพื่อรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่ รวมถึงดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ให้เข้ามาใช้งาน และการทำการตลาดร่วมกับพันธมิตรร้านค้ารายเดิมมากยิ่งขึ้น

 

 

 

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธุรกิจร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการ จะทำให้ปริมาณความหนาแน่นของการสั่งอาหารไปยังที่พักจะไม่ได้สูง เมื่อเทียบกับช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังสูงกว่าก่อนที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากความนิยมในการใช้บริการการสั่งอาหารไปส่งยังที่พักยังมีต่อเนื่อง และความกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ที่จะกลับมาก็อาจจะทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มยังคงเลือกสั่งอาหารมายังที่พัก

ส่งผลให้ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารน่าจะเติบโต 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศกลับมา ระบาดอีกครั้ง ก็มีโอกาสที่ธุรกรรมจะปรับสูงขึ้นได้ และทั้งปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารจะมีการขยายตัวสูงถึง 78.0-84.0% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองของการเติบโตของธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้ธุรกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวเร็วขึ้น เพราะหากมองไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าจำนวนครั้งการสั่งอาหารมายังที่พักจะหดตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ยังขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 4-7% เมื่อเทียบกับปี 2562 รวมถึงการจัดโปรโมชั่นลดราคาของผู้ประกอบการในบางช่วงเวลา ประกอบกับการเข้ามาทำตลาดของ Cloud Kitchen ที่น่าจะช่วยลดข้อจำกัดของการสั่งอาหารข้ามพื้นที่ให้บริการ

อีกทั้ง ด้วยจำนวนผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามามากขึ้น ขณะที่รูปแบบการทำธุรกิจยังไม่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้เล่นบางรายที่ไม่สามารถปรับตัวได้ อาจจำเป็นต้องออกจากการแข่งขันไปหรือถูกควบรวมกิจการ ในภาวะ Shake-out stage รวมถึงกฎระเบียบของทางการที่จะเข้ามาควบคุมอัตราค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าจัดส่งอาหาร ใน พ.ร.บ.สินค้าและบริการควบคุม พ.ศ. 2563 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารบางรายได้

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,599 หน้า 10 วันที่ 9 - 12 สิงหาคม 2563

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0