โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Colorism – คัลเล่อริซึ่ม การเหยียดกันที่ ‘สีผิว’ ไม่ใช่ ‘เชื้อชาติ’ - เพจ Beautiful Madness by Mafuang

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 16 มิ.ย. 2563 เวลา 10.54 น. • เพจ Beautiful Madness by Mafuang

 

 

 ตอนเด็กๆ ในชั่วโมงศิลปะ

เมื่อไหร่ก็ตามที่นักเรียนกำลังวาดรูป ‘คน’ แล้วมีการต้องลงสี

สีที่เราเรียกว่า ‘สีเนื้อ’ นั้นจะเป็นสีเหลืองอมชมพูตุ่นๆ ออกไปในแนวขาว

ทำไมมาตรฐาน ‘สีเนื้อ’ ที่คนทั่วประเทศใช้มันถึงอ่อนจัง?

แล้วถ้าเราอยากระบายสีผิว ‘คน’ ที่เข้มขึ้นล่ะ?

เราก็ต้องเอาสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอ่อนมาลงให้กลายเป็นสีเนื้อแทน

แต่สีพวกนั้น ไม่มีใครที่ไหนเรียกว่า ‘สีเนื้อ’

และแน่นอน

คงไม่มีเด็กคนไหนสนใจจะเลือกหยิบสีโทนนั้นมาใช้

เป็น  ‘สีเนื้อ’

.

.

.

คำว่า ‘Colorism’ หรือ คัลเล่อริซึ่ม ถูกกำหนดขึ้นมาโดย อลิซ วอล์คเกอร์ นักเขียนสาวผิวดำชื่อดังในอเมริกา เธอบอกว่าคำนี้หมายถึง

‘การที่คนใน ‘เชื้อชาติเดียวกัน’ ปฎิบัติตัวอย่างลำเอียงและมีความคิดชื่นชม/นิยมอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าเพียงเพราะ สีผิวของพวกเขา’

พูดง่ายๆ ก็คือ Racism (เรซซิซึ่ม) เป็นเรื่องของ เชื้อชาติ

แต่คำว่า Colorism (คัลเล่อริซึ่ม) นั้นหมายถึง สีผิว โดยตรงเลย

‘ใครก็ตามที่มีสีผิวอ่อนกว่า มักได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคนที่มีสีผิวเข้มกว่าเสมอ’

 

.

.

.

ในกลุ่มคนผิวดำเองนั้น ถึงจะเชื้อชาติเดียวกัน ก็ยังมีการแอบเหยียดกันด้วย

‘คนไหนมีสีผิวที่เข้มกว่า’

นางเอกสาวผิวดำที่ได้รับรางวัลออสการ์อย่าง ลูพิต้า นิยองโก้ เคยกล่าวเอาไว้ว่า

‘คัลเล่อริซึ่ม นั้นเปรียบเสมือนน้องสาวของ เรซซิซึ่ม’

เธอคือเหยื่อของ คัลเล่อริซึ่มนี้ตั้งแต่ยังเด็ก เธอเติบโตที่ประเทศเคนย่า ก่อนย้ายมาสหรัฐอเมริกา

‘ฉันเป็นเด็กที่รู้สึกอึดอัดกับสีผิวของตัวเองมาก ฉันเชื่อว่าโลกรอบตัวของฉันมักให้รางวัลกับคนที่มีสีผิวอ่อนกว่า'

น้องสาวของเธอที่มีสีผิวที่อ่อนกว่า ผู้คนมักชมน้องสาวเธอว่า สวย เสมอ

เธอบอกว่า บางครั้งเธอก็รู้สึก ทำไมตัวเองไม่มีค่าเอาซะเลย

 

.

.

.

นักสังคมวิทยาชื่อมาร์กาเร็ต ฮันเตอร์ เคยเล่าถึงสถิตินี้ว่า คนเชื้อชาติเม็กซิกันในอเมริกาที่มีผิวที่ขาวกว่า มักได้เงินเดือนเยอะกว่า เรียนระดับสูงกว่า อยู่อาศัยในสังคมที่รุ่งเรืองกว่า และมีสุขภาพจิตที่ดีว่าคนเม็กซิกันด้วยกันที่มีสีผิวที่เข้มกว่า

นักวิจัยอีกทีมจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ก็เล่าถึงสถิติในปี 2006 ว่าผู้จ้างงานต่างๆ มักเลือกผู้ชายผิวดำที่มีสีผิวที่ อ่อนกว่า ผู้ชายผิวดำที่สีผิวเข้ม โดยไม่ได้เน้นที่ความโดดเด่นในคุณสมบัติการทำงานอะไรเลย

.

.

.

กลับมาที่ประเทศไทย

นอกจากตัวอย่างของ ‘สีเนื้อ’ ที่พูดไปเมื่อข้างต้น

เราว่าการเหยียดเชื้อชาติน่ะ ไม่ใช่ปัญหาหลักของประเทศไทยหรอก

ถ้าเห็นกันอยู่ทั่วไป มักเป็นการเหยียดสีผิวมากกว่า

ที่มักเกิดจากสิ่งแวดล้อมและบุคคลรอบตัวของเราตั้งแต่เด็ก

  • ทำไมตอนเด็ก เวลาจะออกไปวิ่งเล่นข้างนอก หลายครั้งถึงโดนห้ามแล้วผู้ใหญ่ก็พูดว่า ‘เดี๋ยวดำ!’ วางบทบาทของสีผิวว่าเป็นผู้ร้าย แทนที่จะกลัวว่าเด็กจะเป็นมะเร็งผิวหนัง
  • ทำไมโฆษณาความสวยงามหลายตัวต้องเปรียบสีผิวที่เข้มขึ้นเป็น ‘ความเศร้า’
  • ทำไมคนเราถึงใช้สีผิว เป็นเกณฑ์ในการทั้งด่าและชม ‘ขาวขึ้น ผ่องจังช่วงนี้’ ‘ว้าย ดำขึ้นนะ ไปทำอะไรมา’
  • ทำไมรายการต่างๆ ถึงล้อเลียนคนที่ผิวเข้มเป็น ‘ตัวตลก’
  • ทำไมการตำหนิกันด้วยสีผิวถึงเกิดขึ้นได้ ทั้งจากผู้ใหญ่ที่เคารพรัก ญาติห่างๆ ครอบครัว เลยไปถึงเพื่อนสนิท
  • และทำไม ทุกครั้งคนที่โดนล้อเลียน คนที่ถูกล้อต้องแสร้งทำเป็นขำตามไปกับคำกล่าวหาที่กระทบจิตใจนั้น?

.

.

.

ปัญหาการเหยียดมันฝังรากลึกกว่าที่หลายคนมองเห็น

และหลายครั้งมันไม่ได้เกิดขึ้นจากศัตรูของเรา แต่อาจเกิดขึ้นได้กับคนใกล้ชิด

การห้ามจิตและความคิดของตัวเองนั้น เป็นเรื่องยากเหลือเกิน

เพราะหลายความเชื่อมันผูกติดอยู่ในจิตสำนึกของเราอย่างแน่นหนา

สิ่งที่เราทำได้คือ ‘พยายามรู้ทันใจตัวเอง’

ศึกษาและตัดสินคนให้ลึกซึ้งกว่าสิ่งที่เห็นด้วยสายตา

และที่สำคัญ

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีใครบอกว่า เราทำให้เขาเสียใจ

ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่เราแกล้งเล่นด้วยความสนุกสนาน

เราควร รับฟัง, ขอโทษ, ปรับปรุงตัว

ไม่ใช่บ่ายเบี่ยงและโบ้ยให้คนที่กำลังเจ็บ ‘ต้องทำใจ’

ในพฤติกรรมทำร้ายจิตใจ

ที่เรานั้นเป็นคนทำ

.

.

.

.

.

อ้างอิง

https://time.com/4512430/colorism-in-america/

https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-49976837

อ่านบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคาร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0