โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Bloomsday เทศกาลที่ฉลองให้กับวรรณกรรม Ulysses และตัวละคร

The101.world

เผยแพร่ 03 ก.ค. 2563 เวลา 03.44 น. • The 101 World
Bloomsday เทศกาลที่ฉลองให้กับวรรณกรรม Ulysses และตัวละคร

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล เรื่องและภาพ

ธนภรณ์ สร้อยภู่ระย้า ภาพประกอบ

 

วันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้เขียนพลาดนัดสำคัญแห่งปีในปฏิทินวรรณกรรม

เวลา 8 โมงเช้า ผู้เขียนควรได้ไปยืนอยู่หน้าบ้านเลขที่ 7 Eccles Street ในกรุงดับลิน เมืองหลวงของประเทศไอร์แลนด์ เพื่อเดินตามรอยเท้าของตัวละครที่ชื่อ Leopold Bloom ชายวัยกลางคนเชื้อสายยิวจากเรื่อง Ulysses ของ James Joyce ความจริงผู้เขียนเคยไปยืนที่จุดนั้นแล้ว แต่ตอนนั้นเป็นช่วงอากาศหม่นหมองฟ้ามัวของเดือนกันยายน เกือบสามปีที่แล้ว บรรยากาศต่างไปจากกลางฤดูร้อนที่เป็นฉากหลังของเหตุการณ์ต่างๆ ใน Ulysses นวนิยายที่ติดอันดับต้นๆ ของลิสต์หนังสือที่ทรงคุณค่าตลอดกาลทุกลิสต์ในโลก

Ulysses เป็นเรื่องราวที่เกิดกับชายคนหนึ่งในวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 1904 ตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึงเวลาประมาณตีสองครึ่ง Leopold Bloom (ต่อไปนี้ขอเรียกว่าบลูมหรือมิสเตอร์บลูม) เดินทางไปยังที่ต่างๆ ในดับลินและ Sandycove ซึ่งอยู่ในเขตชานเมือง เพื่อไปทำธุระเล็กๆ น้อยๆ ร่วมพิธีศพ รับประทานอาหาร (และเครื่องดื่ม) หลบชายที่เขาเชื่อว่าเป็นชู้กับภรรยาของตน พบปะพูดคุยกับคนรู้จัก และคิดโน่นคิดนี่ระหว่างเดินเตร่ทั่วเมือง

วันนั้นพาเขาไปยังสถานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายเนื้อ ร้านขายยาและเครื่องสำอาง ที่ทำการไปรษณีย์ สำนักงานหนังสือพิมพ์ ห้องสมุด โรงพยาบาล ซ่อง โรงแรมและบาร์หลายแห่ง เรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่แสนธรรมดาวันหนึ่งที่ได้รับการจารึกยาวถึง 700-800 หน้า หนาเท่าคัมภีร์ไบเบิล และเรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่อ่านยากที่สุดเล่มหนึ่ง

ยังมีตัวละครอีกตัวหนึ่ง นาม Stephen Dedalus ซึ่งก่อนหน้านี้ปรากฏตัวในนวนิยายอิงชีวประวัติของ Joyce ชื่อ Portrait of an Artist as a Young Man สตีเฟนก็เดินทางไปที่ต่างๆ ในดับลินและใกล้ดับลินในวันเดียวกันนั้น มิสเตอร์บลูมกับสตีเฟนเดินเฉียดกันหลายครั้งตามสถานที่ต่างๆ ที่พวกเขาไป กว่าจะพบกันซึ่งๆ หน้าก็เป็นเวลาสี่ทุ่มในโรงพยาบาลผดุงครรภ์ มิสเตอร์บลูมผู้แก่กว่าเป็นตัวแทนของคนเป็นพ่อ 11 ปีก่อนหน้านั้นเขาเองสูญเสียลูกชายหลังเกิดได้เพียงสองวัน ส่วนสตีเฟนเป็นตัวแทนของคนเป็นลูก เขามีพ่อที่เรียกได้ว่าทำหน้าที่พ่อได้ไม่ดีนัก ทั้งสองคนต่างตามหาผู้ที่จะมาเติมเต็มบทบาทที่ขาดหายไปจากชีวิตของตน

บลูมคือยูลิซิสผู้เดินทางตามหาบุตรนามเทเลมาคัสผู้ซึ่งพลัดพรากจากกันไปนาน ล้อกับโอดิสซีอุสของโฮเมอร์ แต่ในฉบับของโฮเมอร์ เทเลมาคัสเป็นผู้ออกเดินทางตามหาบิดาที่ไปร่วมรบในสงครามกรุงทรอยตั้งแต่ครั้งที่เขายังเป็นเด็ก นอกจากนี้ Ulysses ยังใช้โครงสร้างเหมือนกับ Odyssey  ของโฮเมอร์ โดยแบ่งเป็นสามตอน ทั้งหมดมี 18 บท แต่ละบทใช้ชื่อตามตัวละครและสถานที่ในการเดินทางกลับบ้านของโอดิสซีอุส

Ulysses เล่าถึงวันหนึ่งในชีวิตของผู้คนที่แสนธรรมดาในดับลิน ชีวิตที่มีทั้งความสนุกสนาน เศร้าโศก เบื่อหน่าย ระแวง การผจญภัย ความเข้าใจผิด ความหยาบโลน ความโสมมของมนุษย์ หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้สึกและบรรยากาศของดับลินและแสดงถึงธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งที่ไม่ธรรมดาเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้คือวิธีการเล่าที่แสนพิศดาร เทคนิคหนึ่งที่ใช้คือ streams of consciousness หรือกระแสเสียง-ความคิดของตัวละครที่ดังขึ้นแทรกเสียงเล่าของผู้ดำเนินเรื่อง ในบทที่ 10 ซึ่งอยู่ประมาณค่อนเล่ม การเล่าเรื่องเริ่มเปลี่ยนเป็นเรื่องซุบซิบนินทาชาวบ้าน กล่าวถึงชีวิตของผู้คนหลากหลายในดับลิน บทที่ 15 เขียนแบบบทพูดในละครพร้อมคำสั่งกำกับฉาก บทที่ 17 เขียนแบบปุจฉาวิสัชนาโดยมีคำถาม 309 ข้อ เลียนแบบการสอนตามขนบท่องจำ บทที่ 18 เป็นกระแสเสียงล้วนๆ เปลี่ยนเป็นเสียงของมอลลี ภรรยาของมิสเตอร์บลูม ซึ่งอยู่บ้านตลอดทั้งวัน ทั้งนี้ยังมีการเล่นคำทั้งระดับความหมายและเสียง แทรกด้วยภาษาละตินและภาษาต่างประเทศ รวมทั้งภาษาปากและสำนวนพูดของชาวไอริชด้วย

นอกจากผลงานของโฮเมอร์แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังเต็มไปด้วยสัญลักษณ์และอ้างถึงวรรณกรรมคลาสสิกและศิลปะแขนงต่างๆ เช่น กล่าวถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ อ้างถึงคัมภีร์ไบเบิลและเชคสเปียร์ เพลงพื้นบ้านและเพลงคลาสสิก เรียกได้ว่ามีความซับซ้อนและรุ่มรวยในหลายแง่มุม ทั้งยังสอดคล้องกับเหตุการณ์และบุคคลในชีวิตจริงของจอยซ์ด้วย

จอยซ์ตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ให้เป็นปริศนาที่สร้างความพิศวงให้แก่ผู้อ่านและเป็นหัวข้อให้นักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยถกกันนานอีกนานในภายภาคหน้า Ulysses เป็นปริศนาจริงๆ ผู้อ่านมักค้นพบความหมายใหม่ๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัวบท แม้ว่าความจริงแล้วจอยซ์ตั้งใจแต่งเรื่องไม่เป็นเรื่องเพื่อหยอกล้อคนที่ชอบหาความหมายลึกซึ้งและบทเรียนจริงจังจากวรรณกรรม

Ulysses ได้สร้างความเป็นอมตะแก่วันที่ 16 มิถุนายน 1904 นครดับลิน และตัวมันเอง ทุกปีนักอ่านจะเดินทางมาเยือนดับลินเพื่อเดินตามรอยเท้าตัวละครใน Ulysses  และมาดหมายที่จะมายืนหน้าบ้านเลขที่ 7 Eccles Street ซึ่งเป็นบ้านที่มีชื่อเสียงที่สุดในวรรณคดีอังกฤษ แต่ทว่าบ้านหลังที่ว่าหายไปแล้ว ถนนทั้งแถบปัจจุบันกลายเป็นโรงพยาบาลเอกชน อีกฟากหนึ่งของถนนตรงกับเลขที่ 78 ตั้งชื่อบ้านว่า Bloom House เพื่อเป็นเกียรติแก่เพื่อนบ้านผู้เลื่องชื่อในวรรณคดี และยังคงอนุรักษ์ประตูแบบเดียวกับบ้านเลขที่ 7 ส่วนประตูบ้านของจริงนั้นแฟนมิสเตอร์บลูมเห็นได้ด้วยตาที่ James Joyce Centre ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก

 

บ้านอีกฟากหนึ่งบนถนน Eccles St

 

ประตูบ้านเลขที่ 7 Eccles St บานเดิม

 

บลูมส์เดย์ คือ เทศกาลเฉลิมฉลองวรรณคดีชิ้นเอกของโลกเล่มนี้ โดยปกติมีกิจกรรมทั้งสัปดาห์ ทั้งการพาเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในนวนิยาย การบรรยาย การแสดงดนตรี ร้องเพลง เล่นละคร ฉายภาพยนตร์ นักเขียนและนักแสดงผลัดกันอ่านหนังสือทั้งเล่มโดยกินเวลาทั้งหมดประมาณ 30 ชั่วโมง

ตามท้องถนน สาวกของจอยซ์และแฟนหนังสือหรือกลุ่มที่เรียกว่า Joyceans จะแต่งกายย้อนยุคตามฉากของเรื่องเพื่อสร้างบรรยากาศ ผู้ชายสวมชุดสูทสามชิ้น แว่นตากลม และหมวกสาน ผู้หญิงสวมกระโปรงยาว เสื้อมีระบาย แต่งด้วยผ้าคลุมไหล่ รองเท้าบูตหุ้มข้อ อาจถือร่มด้วย แต่ที่ขาดไม่ได้คือหมวกฟาง ตามผับเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มตามหนังสือ เช่น มื้อเช้ามีเครื่องในสัตว์ (มิสเตอร์บลูมกินตับแกะที่รสชาติเหมือนฉี่อ่อนๆ และทิ้งไว้บนเตานานไปนิด) มื้อกลางวันมีแซนด์วิชชีสกอร์กอนโซลากับไวน์เบอร์กันดี (ถ้าจะให้ดีต้องไปกินที่ร้าน Davy Byrnes ร้านเดียวกับในหนังสือ) ตกดึกก็ดื่มโกโก้ร้อนเพื่อช่วยผ่อนคลายหลังจากเดินเท้ามาทั้งวันและจากปริมาณแอลกอฮอลที่บริโภคเข้าไปตามผับต่างๆ ที่แวะระหว่างทาง

กิจกรรมบลูมส์เดย์ปีนี้จัดออนไลน์ หนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น The Guardian ของอังกฤษและ The New Yorker เรียกว่า Zoomday มีการอ่าน ร้องเพลง แสดงละคร มีนิทรรศการศิลปะและภาพยนตร์ผ่านอินเทอร์เน็ตให้คนทั้งโลกได้ติดตาม หลายคนก็ยังแต่งกายฉลองบลูมส์เดย์และส่งภาพถ่ายของตนมายังเว็ปไซต์และเฟซบุ๊กของบลูมส์เดย์ ดูเหมือนว่าไวรัสก็หยุดชาวจอยเซียนไม่ได้

 

ด้านข้างอาคารบลูมส์โฮเตล โรงแรมที่ใช้ชื่อเป็นเกียติแก่มิสเตอร์บลูม ประดับด้วยภาพตัวละครจาก Ulysses

 

James Joyce Centre ศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับจอยซ์ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของจอยซ์ มีการบรรยายและสัมมนาตามโอกาส รวมทั้ง walking tour ตามสถานที่สำคัญๆ

 

ภาพวาดฝาผนังที่ James Joyce Centre เล่าถึงเรื่องราวในนวนิยาย - ตอนเช้ามิสเตอร์บลูมให้นมแมว นำอาหารไปเสริฟให้ภรรยาถึงเตียง อ่านจดหมายจากลูกสาว และเดินผ่านโบสถ์เซนต์จอร์จใกล้บ้านเพื่อไปยังที่ทำการไปรษณีย์ก่อนเดินทางไปร่วมงานศพของเพื่อนที่สุสานนอกเมือง

 

ภาพวาดฝาผนังที่ James Joyce Centre เล่าถึงเรื่องราวในนวนิยาย

 

Ulysses ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1922 จะฉลองครบรอบ 100 ปีในอีกสองปี ตอนแปดโมงเช้าของวันที่ 16 มิถุนายน 2022 คุณคงรู้ใช่ไหมว่าจะพบผู้เขียนได้ที่ไหน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0