โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

AirAsia หุ้นร่วงจนต้องระงับการซื้อขายในตลาดหุ้นมาเลเซีย หลังถูกตั้งข้อสงสัยในการบินฝ่าวิกฤตโควิด-19

THE STANDARD

อัพเดต 08 ก.ค. 2563 เวลา 13.41 น. • เผยแพร่ 08 ก.ค. 2563 เวลา 13.41 น. • thestandard.co
AirAsia หุ้นร่วงจนต้องระงับการซื้อขายในตลาดหุ้นมาเลเซีย หลังถูกตั้งข้อสงสัยในการบินฝ่าวิกฤตโควิด-19
AirAsia หุ้นร่วงจนต้องระงับการซื้อขายในตลาดหุ้นมาเลเซีย หลังถูกตั้งข้อสงสัยในการบินฝ่าวิกฤตโควิด-19

เรียกว่าพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกอย่างแท้จริงสำหรับ AirAsia หลังจากเมื่อวันจันทร์ (6 กรกฎาคม) เพิ่งออกมารายงานผลประกอบการซึ่ง ‘ขาดทุน’ อันเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด-19 มาวันนี้ (8 กรกฎาคม) กลับถูกตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียระงับการซื้อขาย เพราะหุ้นร่วงอย่างหนักหลังผู้ตรวจสอบภายนอกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของสายการบินราคาประหยัด ในการดำเนินงานท่ามกลางการระบาดครั้งใหญ่

 

Ernst & Young ผู้ตรวจสอบภายนอกของ AirAsia ได้ตั้งข้อสงสัยถึงทิศทางต่อไปของสายการบินหลังจากตรวจพบว่า AirAsia มีผลขาดทุนสุทธิ 283 ล้านริงกิต หรือประมาณ 2 พันล้านบาท สำหรับปีงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2019 และหนี้สินหมุนเวียนเกินสินทรัพย์หมุนเวียน 1,843 ล้านริงกิต หรือประมาณ 1.35 หมื่นล้านบาท

 

“ข้อจำกัดด้านการเดินทางและการปิดชายแดนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกทำให้ความต้องการเดินทางทางอากาศลดลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประกอบการทางการเงินและกระแสเงินสดของกลุ่มบริษัท”

 

หุ้น AirAsia ลดลงมาที่ 0.76 ริงกิตต่อหุ้น เมื่อกลับมาซื้อขายอีกครั้งในเวลา 14.30 น. ก่อนจะลดลงเหลือ 0.71 ริงกิตเวลา 16.30 น. ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ AirAsia ลดลงเหลือ 1.99 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 1.45 หมื่นล้านบาท ก่อนที่จะปิดตลาดด้วยราคาหุ้นอยู่ที่ 0.70 ริงกิต ลดลง 17.5% จากราคาปิดของวันอังคาร

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา AirAsia เพิ่งออกมารายงานผลประกอบการประจำไตรมาส โดยมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 804 ล้านริงกิต ประมาณ 5.88 พันล้านบาท พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งทำกำไร 96 ล้านริงกิต ประมาณ 700 ล้านบาท

 

การขาดทุนของ AirAsia เป็นผลมาจากการปิดประเทศของตลาดสำคัญๆ อย่าง มาเลเซีย, ไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, จีน และอินเดีย เป็นผลให้สายการบินราคาประหยัดมีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 9.85 ล้านคน ลดลง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

“นี่เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราประสบมาตั้งแต่เราเริ่มต้นธุรกิจในปี 2001” โทนี เฟอร์นานเดส (Tony Fernandes) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AirAsia กล่าวในแถลงการณ์ พร้อมกับเสริมว่า กำลังเจรจาเรื่องการร่วมทุนและความร่วมมือที่อาจส่งผลให้มีการลงทุนเพิ่มเติม ตลอดจนการขอสินเชื่อจากธนาคาร และกำลังชั่งน้ำหนักข้อเสนอเพื่อระดมทุน

 

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า SK Group กลุ่มธุรกิจจากแดมกิมจิได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้นของ AirAsia โดยมีการเปิดเผยว่า AirAsia ต้องการเงินมากถึง 2 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 1.46 หมื่นล้านบาท สำหรับการประคองธุรกิจให้บินฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0