โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

8 ก.ค.นี้ตอกเสาเข็มโครงการก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 – ทางด่วนพระราม 3 คาดเสร็จปี 65

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 03 ก.ค. 2563 เวลา 13.07 น. • BLT Bangkok
8 ก.ค.นี้ตอกเสาเข็มโครงการก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 – ทางด่วนพระราม 3 คาดเสร็จปี 65

8 ก.ค.63 เริ่มตอกเสาเข็มสร้างทางยกระดับ พระราม2 - ทางด่วนพระราม3 ใช้เวลาสร้างยาว3 ปี คาดแล้วเสร็จปี2565 "ศักดิ์สยาม" คุมเข้มงานก่อสร้าง เน้นย้ำให้ปิดถนนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ยืนยันหลังเปิดใช้ทั้ง2 โครงการในปี2565 แล้ว จะไม่มีการก่อสร้างบนถนนพระราม2 อีก เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน 

คุมเข้มก่อสร้างทางยกระดับพระราม2 - ทางด่วนพระราม3

ตั้งแต่วันที่8 กรกฎาคม2563 เป็นต้นไป บนถนนพระราม2 จะมีการก่อสร้าง2 โครงการจาก2 หน่วยงาน คือ โครงการก่อสร้างทางยกระดับพระราม2 สาย ธนบุรี– ปากท่อ ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน– เอกชัย ของกรมทางหลวง(ทล.) และ โครงการทางพิเศษสาย พระราม3 – ดาวคะนอง– วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ซึ่งทั้ง2 โครงการจะใช้เวลาในการก่อสร้าง3 ปี โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี2565

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ผู้รับเหมาทั้ง 2 โครงการจะเข้าพื้นที่เริ่มการก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.นี้ โดยในส่วนของกรมทางหลวงจะเริ่มก่อสร้างใน 2 จุดคือบริเวณ กม. 14+000 – กม.15+000 ก่อน โดยใช้พื้นที่บริเวณเกาะกลางถนนฝั่งละ1 ช่องจราจร ซ้าย-ขวา ในการก่อสร้าง ซึ่งจะไม่มีการปิดช่องจราจร แต่จะใช้วิธีปรับลดขนาดความกว้างของช่องจราจรจาก 3.50 เมตร เหลือ 3 เมตร ซึ่งยังอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย เพราะขนาดรถยนต์มีความกว้างที่ 2.80 เมตร เท่ากับถนนพระราม 2 จะยังคงมี 14 ช่องจราจรไป-กลับเท่าเดิม

ในการก่อสร้างได้กำชับให้มีการปิดการจราจรตามความจำเป็นเท่านั้น โดยจะเปิดผิวจราจรเพื่อก่อสร้างทางด่วน และทางยกระดับตามแนวถนนพระราม 2 เป็นช่วง ช่วงละประมาณ 1 กม. ตามความพร้อมของเครื่องจักร และจะทยอยก่อสร้างจุดที่ไม่มีสะพานกลับรถจนเสร็จก่อน จากนั้นจึงจะกลับมาทำในส่วนของสะพานกลับรถ ซึ่งมีประมาณ6 จุดในช่วงหลังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคอขวด

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ทั้ง2 หน่วยงาน คือ ทล. และ กทพ. รวมถึง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแบบจำลองSimulation เพื่อเก็บข้อมูลปริมาณจราจรและประเมินผลกระทบเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และลดผลกระทบที่มีต่อประชาชน รวมถึงให้ทำประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบ และติดตั้งป้ายจราจรและสัญญาณไฟตลอดพื้นที่ก่อสร้างให้เห็นชัดเจน พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนให้เหลื่อมเวลาในการเดินทางมายังถนนพระราม2 หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงในช่วงเวลาเร่งด่วน และขอให้ขับรถอยู่ในช่องทางที่ถูกต้อง เพื่อลดการตัดกระแสการจราจร และสามารถตรวจสอบสภาพการจราจรผ่านแอปพลิเคชั่น Thailand Highway Traffic ของ ทล. เพื่อวางแผนการเดินทางได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ทั้ง2 โครงการจะใช้เวลาในการก่อสร้าง3 ปี โดยมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี2565 ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยให้การจราจรบนถนนพระราม2 ดีขึ้นเป็นอย่างมาก และหลังจากที่ทั้ง2 โครงการแล้วเสร็จ จะไม่มีการก่อสร้างโครงการใดๆ บนถนนนพระราม2 อีก แต่จะพัฒนาแนวเส้นทางใหม่เพื่อใช้ลงพื้นที่ภาคใต้ เช่น มอเตอร์เวย์นครปฐม– ชะอำแทน

โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวง 35 สาย ธนบุรี– ปากท่อ

ขณะที่ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.)  เปิดเผยว่า กรมทางหลวง จะเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สาย ธนบุรี– ปากท่อ ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน– เอกชัย ระยะทางประมาณ 8.335 กิโลเมตร โดยจะเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างจำนวน 2 จุดก่อน ได้แก่ กม.14+000 ถึง กม.15+000 และ กม.18+000 ถึง กม.20+295 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประสานงานด้านการจัดการจราจรกับท้องที่และตำรวจทั้งกองบังคับการตำรวจนครบาล 9 และสน.แสมดำ พร้อมประชุมเชิงบูรณาการกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระหว่างการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ยังมีช่องจราจรจำนวน 12 ช่องจราจรเช่นเดิม(ทิศทางละ 6 ช่องจราจร) เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับผลกระทบน้อยที่สุด  พื่อรองรับปริมาณจราจรปกติบนพระราม 2 ประมาณ 2 แสนคัน/วันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทาง

ด้านนายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง- วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีจุดเริ่มต้นโครงการฯ ที่ กม. 13+000 ของถนนพระราม 2 เชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างทางยกระดับ บนทางหลวงหมายเลข 35 ตอนทางแยก ต่างระดับบางขุนเทียน– เอกชัย ของ กรมทางหลวง ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน อันเป็นจุดบรรจบกันของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกกับถนนพระราม 2

รูปแบบการก่อสร้างโครงการฯ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นระยะทางประมาณ 11.6 กิโลเมตร จนถึงทางแยกต่างระดับดาวคะนอง หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาเข้าซ้อนทับกับแนวทางพิเศษ เฉลิมมหานครเป็นระยะทางประมาณ 5.1 กิโลเมตร และมีสะพานขึงคู่ขนานกับสะพานพระราม 9 จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการฯ ที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ระยะทางรวมประมาณ 18.7 กิโลเมตร

สำหรับทั้ง2 โครงการ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รองรับปริมาณรถที่เพิ่มสูงขึ้นเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับพื้นที่ภาคใต้ อีกทั้ง ยังช่วยประหยัดเวลาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้การเดินทางสู่ภาคใต้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0