โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ง่ายๆ สบายกระเป๋า ยืดอายุเกียร์ออโต้ ถ้าไม่อยากโง่ต้องใช้ให้เป็น

ไทยรัฐออนไลน์ - Lifestyle

เผยแพร่ 13 ส.ค. 2559 เวลา 23.05 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ความสะดวกสบายคลายปวดเมื่อยของระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติหรือเกียร์ออโต้เข้ามาเพิ่มความง่ายในการขับใช้งานรถยนต์จนบางทีทำให้คุณหลงลืมการขับใช้งานที่ถูกต้อง หรือลืมตรวจสอบการดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งาน เกียร์ออโต้ยุคใหม่ไม่ว่าจะเป็นเกียร์ CVT สายพานโลหะที่คล้องอยู่กับพูเล่ย์ต่างขนาดหรือเกียร์ออโต้แบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์ที่ใช้เฟืองต่างขนาดสำหรับการทดกำลัง ต่างต้องการวิธีขับที่ถูกต้อง รวมถึงการดูแลรักษาเปลี่ยนถ่ายของเหลวหล่อลื่นตามระยะทางที่ได้วิ่งใช้งานในชีวิตประจำวัน ยิ่งวิ่งเยอะเท่าไรเกียร์ยิ่งต้องการการบำรุงรักษามากขึ้นเท่านั้น ไม่มีเกียร์ออโต้ยี่ห้อใดที่ทนทานนานจนคุณลืม หากใช้งานผิดวิธีหรือไม่เคยเปลี่ยนถ่ายของเหลวที่ใช้สำหรับหล่อลื่นชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวในเกียร์ ขึ้นรถมาได้ก็กระแทกปังๆ ทั้งกดคันเร่งขับแบบซิ่งเปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงไปมาตลอดเวลาไม่ปล่อยให้ระบบอัตโนมัติในเกียร์ทำหน้าที่ ชอบขับแบบลากรอบคาเกียร์ที่ให้แรงบิดสูงสุดนานๆ เพื่อความมันในอารมณ์ ชอบใช้ตำแหน่ง +/- หรือตำแหน่งแมนนวลเพื่อเปลี่ยนเกียร์เองบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะวิ่งทางเขาหรือทางราบธรรมดาพ่อเจ้าประคุณก็ยัดเกียร์เล่นเป็นนักแข่งรถ ออกตัวแรงโคตรชอบแรงบิดที่ปล่อยออกมาจากเครื่องเทอร์โบยุคใหม่ หรือเห็นใครมาประกบข้างเป็นไม่ได้ต้องท้ารบท้าซิ่งไปตลอดทาง บางทีนึกว่าตำแหน่งเกียร์ที่ตัวเองเลือกเป็นตำแหน่งที่ถูกต้องแต่จริงๆ แล้วเป็นตำแหน่งที่ทรมานเกียร์สุดๆ เจอเข้าไปแบบนี้ต่อให้เกียร์ในรถถังก็ไม่รอดสันดอนอย่างแน่นอน

- เข้าเกียร์ D ไว้ตลอดไม่เปลี่ยนเกียร์เองบ่อยๆ ในการใช้งานขับทั่วไปคุณจะต้องลดความเป็นคนใจร้อนลงบ้าง หรือต้องสลัดวิญญาณนักซิ่งออกไปจากร่างเสียก่อน ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนเกียร์เองบนทางราบ ทางในเมืองหรือแม้แต่การขับบนไฮเวย์ ปล่อยให้สมองกลไฟฟ้าของเกียร์ทำงานไปตามที่ถูกโปรแกรมมาจะดีกว่ามาก

- อย่าขับแบบลวกๆ เมื่อต้องการเปลี่ยนมาสู่เกียร์ขับเคลื่อนทั้งเดินหน้าในตำแหน่ง D หรือถอยหลังในตำแหน่ง R ควรเหยียบเบรกให้รถจอดสนิทจริงๆ ไม่ใช่รถกำลังไหลพวกก็ยัดเกียร์สวนทันที ทำแบบนี้บ่อยๆ ต่อให้เกียร์รถแข่งมันก็พังนะครับ เพื่อการยืดอายุการใช้งานของเกียร์เลิกทำตัวเป็นคนใจร้อนได้แล้ว

- อย่าใส่เกียร์ว่างขณะวิ่งขับลงเนินยาวๆ อยู่ดีๆ ขณะขับลงเนินเกิดความคิดประหยัดขึ้นมาก็ยัดเกียร์ว่างหรือเกียร์ D คิดว่าจะช่วยให้ประหยัดแต่เกียร์อาจสึกหรอ ขณะที่รถกำลังวิ่งแล้วทำการปลดเกียร์จาก D ไปเป็น N ของเหลวหล่อลื่นท่ีเคยหมุนวนในตำแหน่งเกียร์ D จะหยุดการหมุนวนแต่เกียร์ยังคงหมุนเร็วเนื่องจากรถกำลังไหลลงเนิน ชิ้นส่วนของเกียร์ที่ทำงานแต่ไม่มีของเหลวไปหล่อลื่นจะทำให้เกียร์สึกหรอเร็วกว่าปกตินะครับ

- แรงดันในระบบเกียร์อัตโนมัตินั้น เมื่อเลื่อนคันเกียร์จากเกียร์ว่างในตำแหน่ง N ไปที่ตำแหน่งขับเคลื่อนเดินหน้าหรือ D จะเกิดแรงดันขึ้นเพื่อดันของเหลวหรือน้ำมันเกียร์ให้มีการไหลเวียนเพื่อหล่อลื่นการทำงาน การขับใช้งานแบบเลื่อนคันเกียร์บ่อยๆ จะทำให้เกียร์สึกหรอโดยใช่เหตุจริงหรือไม่จริง !!

- ช่างหรือผู้เชี่ยวชาญเกจิอาจารย์ด้านรถยนต์ส่วนใหญ่จึงแนะนำวิธีการใช้งานเกียร์ออโต้ โดยมักจะบอกกันว่าตั้งแต่สตาร์ตเครื่องยนต์ใส่เกียร์ D ขับออกจากบ้าน เมื่อเจอสภาพจราจรที่ติดขัดไม่ว่าจะสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน ก็ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์เลื่อนไปเลื่อนมาระหว่าง D และ N โดยบอกให้เหยียบเบรกแช่เอาไว้พร้อมกับคาเกียร์ในตำแหน่ง D ตลอดเวลา ไม่ควรเลื่อนไปที่เกียร์ว่างหรือ N แม้จะเจอเข้ากับสภาพการจราจรที่คล้ายที่จอดรถมากกว่าจะเป็นถนนหนทาง ไม่ว่ารถจะติดโหดจนขาแทบพลิกต้องเหยียบแป้นเบรกเอาไว้ไม่ควรเปลี่ยนไปเป็นเกียร์ว่าง หากคุณเป็นคนมีอายุ เมื่อเหยียบเบรกยาวนานอาจเกิดตะคริวกินขาเลือดไม่เดินได้ง่ายๆ แทนที่เกียร์จะพังกลับเป็นขาของคนขับที่พังแทน ลองไปรถติดในเย็นวันศุกร์สิ้นเดือนแล้วมาเยือนด้วยพายุฝนฟ้าคะนองดูซิครับ ว่าคุณจะทนเหยียบเบรกสองสามชั่วโมงไหวหรือไม่ แถมไฟเบรก LED พลังสูงยังไปแยงตารถคันหลังเค้าอีกนะครับ

- เกจิในวงการบางท่านหรือนักเลงรถรวมถึงเจ้าของอู่ที่เชี่ยวชาญในด้านระบบส่งกำลังต่างออกมาบอกกันว่า ทอร์กคอนเวอร์เตอร์ ในเกียร์อัตโนมัติจะหยุดส่งถ่ายแรงดันเมื่อผู้ขับขี่เข้าเกียร์ว่างหรือเกียร์ N และหากเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่งขับเคลื่อนหรือ D เพื่อขับเคลื่อน แรงดันจากระบบเกียร์จะทำงานต่อทันทีที่เข้าเกียร์ D ทำให้ภายในระบบเกียร์และวาล์วภายในมีแรงดันไม่ต่ำกว่า 2-5 บาร์ สำหรับให้กำลังในการออกตัว หากทำแบบนั้นบ่อยๆ จะทำให้เกียร์สึกหรอ ซึ่งพิสูจน์กันแล้วว่าไม่จริงเสมอไปนะครับ เกียร์พังหรือสึกหรอเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุครับ

- รถติดหนักจัดไม่เคลื่อนตัวก็เลื่อนคันเกียร์อัตโนมัติจาก D ไปที่ N แล้วดึงเบรกมือเพื่อป้องกันรถไหล เกียร์ออโตที่มีการดูแลรักษาเปลี่ยนถ่ายของเหลวหรือน้ำมันเกียร์ตามระยะทาง ไม่ค่อยขับแบบลากเกียร์หรือยัดเกียร์เองในโหมดแมนนวล ไม่ว่าจะติดนานแค่ 1-2 นาที หรือนิ่งสนิทลากกันยาวจนแทบจะหลับคารถ ผมมักเลื่อนคันเกียร์ไปยังเกียร์ว่างหรือ N แล้วดึงเบรกมือเพื่อพักเท้าป้องกันรถไหล ในส่วนของการสึกหรอนั้น เกียร์ออโต้จะเกิดการสึกหรอเสียหายนอกจากการเลื่อนคันเกียร์ไป-มา ซึ่งเป็นวิธีใช้งานในชีวิตประจำวันอยู่แล้วที่คุณต้องเลื่อนจาก P ไป R ไป N ไปที่ D หรือแม้แต่ D1-D2 หากพบเจอกับทางขึ้นเขาลงเนิน

- การสึกหรอเสียหายยังเกิดขึ้นได้จากการใช้งานที่ผิดวิธี เช่น ไม่เคยเปลี่ยนของเหลวหล่อลื่นมานานจนจำไม่ได้ว่าครั้งล่าสุดเปลี่ยนไปเมื่อไหร่ ชอบขับแบบลากรอบลากเกียร์ เปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงด้วยตัวเองบ่อยครั้งแทนที่จะให้ ECU ของเกียร์ทำงานไปตามเรื่องตามราวของมัน รถยังไม่ทันหยุดก็ทำตัวเป็นเด็กแว้นใจร้อนรนยัดเกียร์ถอยซะแล้ว แบบนั้นแหละครับที่เป็นตัวการในการทำให้เกียร์ออโต้ของคุณกระจาย ไม่ใช่แค่การเลื่อนคันเกียร์จาก D ไป N เพื่อพักเท้าพักขาเมื่อเจอเข้ากับรถติดหนักๆ แถมยังเป็นการพักการทำงานของชุดคลัตช์ไปในตัวขณะจอดรอสัญญาณไฟ เลือกเอาไว้ชอบแบบไหน.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th

Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom

https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0