โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

7 ความรู้ที่ได้จากการสังเกตใจตนเอง | พศิน อินทรวงค์

พศิน อินทรวงค์

เผยแพร่ 07 ส.ค. 2562 เวลา 10.36 น.

1. ชีวิตเป็นสิ่งคลุมเครือไม่อาจเข้าใจได้แจ่มชัด แต่การพยายามทำความเข้าใจชีวิตนั้น คือจุดเริ่มตนของการปฏิบัติธรรม ชีวิตของเราจะเป็นเช่นไร ความจริงแล้ว ดำเนินผ่านทางความคิดล้วน ๆ ความคิดเป็นสิ่งประหลาด มันเคลื่อนไหวเรื่อยไป 

เมื่อเรามีความทุกข์ เราพยายามตั้งคำถามว่าทำอย่างไร จึงเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น นั่นคือกลลวง เพราะแท้จริง เราไม่ได้ต้องการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆหรอก เราต้องการหยุดความทุกข์ที่ผ่านมาทางความคิดต่างหาก ทว่า ความคิดมิใช่สิ่งควบคุมได้อย่างใจ หนทางที่มนุษย์คนหนึ่ง พยายามทำความเข้าใจชีวิต ผ่านความคิด พยายามทำความเข้าใจความคิดผ่านความคิดอีกชั้น จึงเป็นสิ่งที่ผิดพลาดใหญ่หลวง 

หลักปรัชญาใด ๆ ก็มิอาจนำพาให้เข้าใจความคิดอย่างถ่องแท้ได้เลย เพราะแท้จริงแล้ว การเข้าใจความคิดได้มีเพียงหนทางเดียว นั่นคือการตระหนักลึกซึ้งในระดับจิตส่วนลึกว่า ความคิดใด ๆ ทั้งดีร้าย มิใช่อื่น เป็นเพียงปรากฏการเกิดและดับ ดับและเกิด การเห็นนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผ่านกระบวนการเจริญภาวนาเท่านั้น ทางอื่นใดนอกจากนี้ไม่มีปรากฏ

2. สุขทุกข์ที่เราเห็น เป็นผลพวงมาจากการยึดมั่นถือมั่นล้วน ๆ การยึดติดซึ่งเคยสร้างความสุข กลับก่อตัวเป็นหมอกควันกำเนิดเกิดเป็นความทุกข์ในอนาคต ทุกข์และสุขเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกจากกัน สิ่งหนึ่งจะสะท้อนสิ่งหนึ่งให้ชัดเจนขึ้น 

แม้มนุษย์พบพานแต่ความสุข ความสุขที่ว่าก็จะกลายเป็นความทุกข์ในที่สุด นี่คือสิ่งลึกลับ เหมือนเราเดินทางไปซ้ายสุดแต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของทางด้านขวา หากเราไม่สังเกต ใจย่อมติดกับความสุขชนิดถอนตัวไม่ขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ก็จะนำความทุกข์มาให้ในเวลาต่อมา 

ทว่าความรู้ชนิดนี้ แม้รู้ทั้งรู้ แต่ใจส่วนลึกกลับไม่ยอมรับ หนทางที่จะเห็นสุขทุกข์เสมอกัน จะผ่านการขบคิด วิเคราะห์เป็นไปไม่ได้ แม้เราคิดว่า สุขทุกข์คือสิ่งเดียวกัน แต่ลึก ๆ ใจยังเรียกหาความสุข ความสุขคือภาพลวงตามโหฬาร ที่ทำให้คนทั้งโลกกอดทุกข์ไว้ไม่สิ้นสุด

3. ในชีวิตประจำวัน เราไม่ควรวางจิตไว้ที่การคิดดีโดยส่วนใหญ่ แต่ควรวางจิตกำหนดรู้ภาวะอย่างกลาง ๆ การคิดดีคือเงาสะท้อนการคิดลบ เป็นสิ่งเดียวกัน เป็นสิ่งที่ยึดโยงกันไว้อย่างแน่นหนา จิตจะจดจำความเคยชินแห่งการยึดติดความคิด ทั้งคิดดี คิดร้าย จำเป็นต้องละทิ้งสองไว้ไว้เสมอกัน หนทางเปลี่ยนความเคยชินของจิตจึงพอเป็นไปได้

4. สมาธิทำให้มีกำลังรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง แต่ความเมตตาในจิตใจ ช่วยให้การภาวนาเกิดความยืดหยุ่น ลื่นไหล หากมีสมาธิมากเกินไป การพิจารณาย่อมเชื่องช้า ไม่ฉับไว จำเป็นต้องประกอบด้วยกำลังของเมตตาฌาน จึงเห็นอาการต่าง ๆ ของรูป นามตามความเป็นจริง สมาธิคือพลัง เมตตาคือความลื่นไหล วิปัสสนาคือท่วงท่ากระบวนยุทธ

5. ผู้ภาวนาไม่จำเป็นต้องกำหนดรู้อยู่ตลอดเวลา การทำเช่นนั้นเป็นไปไม่ได้ และไม่ส่งผลดี ควรปล่อยให้จิตทำงานตามความเป็นจริง การเห็นความจริงจะเกิดต่อเมื่อจิตใจเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ อันดับแรกเราจะเห็นความจริงของกาย อันดับต่อมา เราจะเห็นความจริงของความคิด ถัดมาเราจะเห็นความจริงของจิต มากไปกว่านี้ เราอาจรู้เห็นความจริงของสัจธรรมใหญ่เป็นระยะ ๆ คล้ายกับเราแลเห็นสายฟ้ายามฝนพรำเป็นพัก ๆ ช่างเป็นปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์

6. สิ่งปกปิดความจริงมิได้มาจากภายนอก ทว่ามาจากความเสพติดของใจ เราคุ้นชินกับความสุขอันผ่านจากความคิด และเสพติดความเศร้าที่ผ่านทางความคิด รวมความว่า เราเสพติดความคิดของเราเอง สติไม่อาจเกิดได้ผ่านความคิด และความคิดก็ไม่อาจเรียกได้ว่าสติ ยิ่งเราพยายามตีความมากเท่าไหร่ ความสับสนยิ่งบังเกิดแก่ใจตน จำต้องทิ้งความต้องการที่จะเข้าใจอะไร ๆ จึงรู้เห็นอะไร ๆ ได้เป็นลำดับ

7. บางครั้งรู้สึกราวกับว่าฝันไป เป็นความฝันงดงามในความฝัน บางครั้งรู้สึกเหมือนกับว่า เราได้เชื่อมโยงกับทุกสิ่งในโลก ความสุขแท้มิได้เกิดจากครอบครองซึ่งวัตถุเงินทองชื่อเสียง มันเกิดขึ้นในวิถีอันน่าฉงน ประหนึ่งว่า เราตามหาหมวกใบโปรดที่หายไปจนสุดโลก ทั้งที่เราสวมหมวกใบนั้นอยู่บนหัว ความสุขแท้ไม่เคยจากไปไหน ไม่รู้จะพูดว่ายากหรือง่าย เป็นอะไรที่อธิบายยากเหลือเกิน…

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0