โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

7 ข้อคิดที่เราควรเข้าใจก่อนปล่อยชีวิตไปตาม Passion - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 05 ส.ค. 2563 เวลา 08.41 น. • หมอเอิ้น พิยะดา
ภาพโดย Ian Schneider / unsplash.com
ภาพโดย Ian Schneider / unsplash.com

เด็กหลายคนตามหา Passion

ผู้ใหญ่หลายคนกำลังบ่นว่า Passion หายไป

ในขณะที่บางคนกำลังเหนื่อยเพราะมี Passion มากจนเกินไป

แล้วตอนนี้คุณเป็นอย่างไรกันบ้าง?

Passion (แพชชั่น) คำนี้คนไทยเราใช้กันติดปากจนแทบจะเป็นทับศัพท์ที่พูดแล้วเป็นอันเข้าใจกันว่า คือการที่เราเกิดความหลงใหลเพลิดเพลินในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างไม่ย่อท้อ บางคนเลยเข้าใจว่าเราต้องเจอ Passion ก่อนจึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ

Passion เป็นภาษาอังกฤษที่แปลว่า “แรงผลักดัน” มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินคำว่า“Passio” ซึ่งมีความหมายว่า “Pain” จะว่าไปแรงผลักนี้น่าจะเกิดจากการที่เราไม่อยากมีความทุกข์และอยากมีความสุข เลยอยากที่จะมีแรงผลักดันให้ตัวเองนั้นสนุกสนานเพลิดเพลินตลอดเวลา

หมอเองโชคดีหน่อยที่ตั้งแต่เป็นเด็กไม่เคยต้องตามหา passion เพราะรู้ว่าตัวเองชอบที่จะทำอะไร นั่นคือ ชอบและหลงใหลในการแต่งเพลง จนกลายเป็นเคยทุกข์ใจเพราะต้องผ่อนแรงผลักดันที่มีมากเกินไป จากคำห้ามปรามของคุณพ่อที่บอกว่า “บางทีชีวิตเราต้องแยกระหว่างความฝันกับความจริง”

การเลือกเรียนนิเทศศาสตร์และมุ่งเป้าเป็นนักแต่งเพลงอาชีพอาจเป็นสิ่งที่หมอรู้ว่า ตัวเองมีความสามารถ ชอบและหลงใหล การเรียนแพทย์ในวันนั้นอาจเป็นสิ่งที่ตัวเองทำได้แต่รู้สึกเฉย ๆ และไม่ได้หลงใหล แต่พอถึงวันนี้ เวลาผ่านมา 20 ปี ทุกครั้งที่หมอนั่งทบทวนตัวเอง หมอยังคงรู้สึกขอบคุณพ่อที่ให้ข้อคิด และขอบคุณตัวเองที่ไม่ใช้ชีวิตเดินตามสิ่งที่เราบอกตัวเองว่า “มันคือ Passion ของฉัน”

วันนี้ทุกคนรับรู้ว่าหมอคือนักแต่งเพลง ในขณะที่หมอเองกลับรู้สึกว่าตอนนี้ตัวเองหลงไหลในการเป็นจิตแพทย์มากกว่าการเป็นนักแต่งเพลงเสียอีก ดังนั้นคงมีหลุมพรางของคำว่า Passion ที่เราน่าทำความเข้าใจก่อนที่จะให้ความสำคัญ

ตกลง Passion นั้นสำคัญจริงมั้ย? เราจำเป็นต้องหามันให้เจอหรือรักษามันไว้เสมอหรือเปล่า ?

เพื่อให้ได้มุมมองที่เปิดกว้างและหลากหลายมากขึ้น หมอเลยชวน ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม พูดคุยกันถึงเรื่องนี้

ที่ต้องเป็นป๋าเต็ด เพราะป๋าเต็ดไม่ใช่แค่คนที่ต้องทำงานกับคำว่า Passion มาอย่างยาวนาน จากบทบาทการเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานบันเทิงมากมาย ป๋ายังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังศิลปินมากมายในเมืองไทย เห็น Passion ของผู้คนที่หลากหลาย สิ่งที่เราสองคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับคำว่า Passion ร่วมกันคือ  

1. Passion สำคัญแต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด

Passion เกิดจากสมองส่วนของอารมณ์ที่มีความต้องการอยากจะได้รับการตอบสนองเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกมีความสุข (Intrinsic Motivation) ธรรมชาติของ Passion จึงเป็นแรงผลักดันที่เกิดขึ้นเองในตัวเรา มีพลังแต่เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เกิดขึ้นเมื่อรู้สึกชอบและต้องการทำอะไรสักอย่างที่ชอบให้สำเร็จ เมื่อได้รับความสำเร็จก็จะหายไปหาเป้าหมายใหม่

แต่ความสำเร็จไม่ใช่เป้าหมายในชีวิตของทุกคน บางคนมีความสุขเวลาเห็นเงินเข้าบัญชีเยอะ ๆ บางคนมีความสุขกับการมีความสัมพันธ์ที่ดี บางคนมีความสุขกับการได้แชร์ประสบการณ์ความรู้กับคนอื่น และบางคนมีความสุขกับการอยู่เงียบ ๆ คนเดียว เป็นต้น passion จึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการกลับมาถามตัวเองว่า“ชีวิตนี้เราให้คุณค่ากับอะไร?” พี่เต็ดยกตัวอย่างหนังฟอร์เรสท์ กัมพ์ อัจฉริยะปัญญานิ่ม (Forrest Gump) เป็นภาพยนตร์แนวชีวิต - เบาสมอง ที่ออกฉายใน ค.ศ. 1994 แสดงนำโดย ทอม แฮงส์

ฟอร์เรสท์ กัมพ์ เป็นเด็กพิเศษด้านออทิสติก ดังนั้นเค้าจะบกพร่องในเรื่องการรับรู้อารมณ์แต่จะหมกมุ่นกับการลงมือทำ โชคดีที่แม่ดูแลและสอนให้เค้ารู้ว่าสิ่งที่กัมพ์ไม่ควรทำคือทำให้คนอื่นเดือดร้อน การที่สมองรับรู้สิ่งกระตุ้นภายนอกได้น้อยทำให้กัมพ์ให้คุณค่ากับสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ทำตรงหน้า สุดท้ายกัมพ์กลายเป็นคนที่สำเร็จกับทุกอย่างที่ทำทั้งการเป็นทหาร เป็นนักปิงปอง โดยไม่เคยรู้จักคำว่า Passion

2. Passion ไม่ใช่สิ่งที่ต้องตามหาแต่ต้องสังเกต

“ป๋าเต็ด และศิลปินที่ประสบความสำเร็จรอบตัวป๋ามีวิธีการค้นหา Passion อย่างไร?”

ป๋าเต็ดตอบได้กวนแต่จริงว่า “ถ้าต้องหาก็แสดงว่าไม่ใช่ Passion”

Passion เป็นความรู้สึกที่ไม่ต้องพยายาม แต่เราต้องรู้จักสังเกตตัวเองเพราะมันมีอยู่แล้วในตัวเรา แต่การที่เราใช้ชีวิตกับการมองชีวิตคนอื่นแล้วเกิดการเปรียบเทียบโดยอัตโนมัติมากเกินไป อาจทำให้เราไม่ได้ยินเสียงภายในของตัวเอง หรือได้ยินแล้วอาจรู้สึกว่ามันยังไม่เท่พอ เช่น รู้ว่าตัวเองเจียวไข่เก่งมาก ทุกคนที่ได้ทานต่างชื่นชม เราก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำไข่เจียว แต่มันดูไม่เท่อวดใครไม่ได้ ดังนั้นการเปรียบเทียบและตัดสินตัวเอง คืออุปสรรคสำคัญของการมองเห็น passion ที่มีอยู่แล้วในตัวเรา

3. Passion ไม่มีรูปแบบตายตัวสามารถเปลี่ยนสภาพไปได้มากมาย แต่แก่นของความหลงใหลยังคงอยู่

ปัจจุบันป๋าเต็ดเป็นเจ้าของบริษัทแก่น ซึ่งจัดอีเว้นท์ใหญ่ ๆ ในประเทศมากมาย เช่น Big mountain เมื่อโควิดเกิดขึ้น ธุรกิจอีเว้นท์คือธุรกิจแรกที่ต้องหยุด และเป็นธุรกิจสุดท้ายที่จะกลับมาเปิด ฟังเท่านี้เราก็รู้สึกเหนื่อยแทนป๋าเต็ดมาก ๆ แล้ว แต่สิ่งที่ป๋าเต็ดบอกคือ “เราอาจจะรู้สึกเครียดช่วงแรกแต่ก็กลับมาคิดได้อย่างรวดเร็วว่าเราจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร แล้วพี่ก็ชอบที่ชีวิตไม่ใช่การขับรถทางตรงแล้วเปิดแอร์เพราะพี่อาจจะหลับในได้ ชีวิตต้องเจอทางคดเคี้ยวบ้างก็สนุกดี”

“ป๋ามองปัญหาแบบนี้ได้เพราะมี Passion กับการทำอีเว้นท์รึเปล่า”

คำตอบคือ “เปล่า” สิ่งนี้คือผลลัพธ์จากการแปลงสภาพของ Passion ให้มีประโยชน์กับชีวิตเพราะ Passion ของป๋าเต็ดคือการหลงใหลในการดูหนังและมีความฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นผู้กำกับ ทุกวันนี้ผ่านมา 53 ปีก็ยังไม่ได้เป็นผู้กำกับ แต่สิ่งที่ได้จากการหลงใหลในการดูหนังคือเทคนิคการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนใคร แล้วการเป็นนักเล่าเรื่องก็ทำให้ป๋าเต็ดได้มีโอกาสทำงานดีเจ ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ได้เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากมาย จนกลายเป็นทักษะที่ยังคงใช้ในงานและชีวิตตลอดมา รวมถึงการที่ยังคงดูหนังอยู่ด้วย

4. Passion ที่ดีมักเปลี่ยนแปลงได้ตามช่วงชีวิต

“ผ่านมา 53 ปี Passion ในแต่ละช่วงชีวิตเปลี่ยนไปมั้ย ประสบการณ์มีผลรึป่าว?”

คำตอบคือ “เปลี่ยนแปลงได้ เพราะประสบการณ์มีผลและบางคนก็เปลี่ยนแล้วชีวิตจะดีกว่า” ป๋าเต็ดยกตัวอย่าง น้าเน็ก ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำรายการทีวีในช่องหลัก ทำให้คนสนุกสนาน แต่เมื่ออายุเปลี่ยนน้าเน็กมีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น โลกของสื่อเปลี่ยนเป็นออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมของประสบการณ์ของช่วงชีวิต ก็ยังคงทำให้น้าเน็กทำงานอย่างมีคุณค่าในการเป็นคนให้สาระบันเทิงที่เป็นประโยชน์กับน้อง ๆ รุ่นใหม่

5. เจอ Passion แล้วเราก็ยังต้องเจอความทุกข์อยู่ดี แต่มีความอดทนมากขึ้น

มีคนส่งคำถามมาว่า “เคยคิดว่าตัวเองโชคดีที่ได้ทำงานตาม Passion แต่วันนี้กลับไม่มีความสุขแสดงว่างานนี้ไม่ใช่ใช่มั้ย?" Passion แค่ทำให้เรามีความอดทนต่อเรื่องนั้นมากขึ้นเวลาที่เกิดปัญหา เกิดการตั้งคำถามและวิธีการในการรับมือแต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เหนื่อย ไม่ทุกข์ ไม่ท้อ สิ่งเหล่านี้เรายังคงเจอเหมือนเดิม

6. มี Passion ไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จ

เมื่อเจอแรงผลักดันที่ดีแล้ว ต้องลงมือทำ ทำแล้วทำอีก พลาดแล้วเรียนรู้อีก เราจึงจะประสบความสำเร็จ ไม่เช่นนั้น Passion จะกลายเป็นความอยากที่เป็นภาระ

7. การหาจุดสมดุลระหว่าง Passion กับความจริง คือการใส่เงื่อนไขของชีวิตจริงเข้าไปให้มากที่สุด แล้วใช้ passion ในการสร้างความเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขนั้น

การเจอ Passion ไม่สำคัญเท่าการเจอจุดสมดุลระหว่างความปรารถนาในใจกับเงื่อนไขของชีวิตจริง เพราะไม่มีชีวิตไหนไม่มีเงื่อนไขของชีวิต

จะรู้ได้อย่างว่ากังวลแค่ไหนไม่ปกติ

--

ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0