โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สถานการณ์ “สิทธิ LGBTQI” ในอาเซียนย่ำแย่

MThai.com - News

เผยแพร่ 11 มิ.ย. 2560 เวลา 05.39 น.
สถานการณ์ “สิทธิ LGBTQI” ในอาเซียนย่ำแย่
สถานการณ์ด้านสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในเอเชียยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชาติอาเซียน ที่ยังคงกีดกันสิทธิของกลุ่มคนเหล่านี้ กระทั่ง ในบางประเทศใช้กฎหมายที่รุนแรงจัดการกับกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน

สถานการณ์ด้านสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในเอเชียยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชาติอาเซียน ที่ยังคงกีดกันสิทธิของกลุ่มคนเหล่านี้ กระทั่ง ในบางประเทศใช้กฎหมายที่รุนแรงจัดการกับกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน

แม้ว่า เมื่อไม่นานมานี้ สังคมเอเชียมีข่าวดีกับชาว LGBTQI หรือ ชาวเลสเบี้ยน  เกย์  ไบเซ็กชวล  คนข้ามเพศ  ผู้ที่ไม่กำจัดกรอบทางเพศ และผู้มีสภาวะเพศกำกวม ซึ่งเกิดขึ้นในไต้หวัน โดยศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันได้ประกาศคำตัดสินที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายสนับสนุนการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งทำให้ไต้หวันจะเป็นดินแดนแรกในเอเชีย ที่ยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ  ส่งผลให้ชาว LGBTQI จำนวนมากตื่นเต้นและดีใจกับความเหลื่อนไหวทางสิทธิดังกล่าวเป็นอย่างมาก

ศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวัน ระบุว่า ทางการไต้หวันต้องออกกฎหมายฉบับใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ภายในเวลา 2 ปี ซึ่งจะทำให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวด้านสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในอาเซียน กลับสวนทางกับกระแสในใต้หวัน

ล่าสุด รัฐบาลมาเลเซียสนับสนุนให้เยาวชนอายุ 13 ถึง 24 ปี สร้างสรรค์คลิปวิดีโอที่มีเนื้อหา “กีดกันการรักเพศเดียวกัน” เพื่อแข่งขันชิงรางวัล

เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย ระบุว่า ผู้ที่ชนะการแข่งขันจัดทำคลิปวิดีโอขจัดความสับสนทางเพศนี้ จะได้รับเงินรางวัลประมาณ 35,000 บาท

โครงการนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้ทางเพศและความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มวัยรุ่น และไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มใด

ขณะเดียวกัน ในสิงคโปร์ ทางการได้ประกาศห้ามไม่ให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่เป็นชาวต่างชาติ หรือ ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิเป็น ผู้พำนักถาวรในสิงคโปร์ เข้าร่วมเดินขบวนเกย์ไพรด์ รวมถึงกิจกรรมพิงค์ด็อท ซึ่งเตรียมจะจัดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ โดยให้เหตุผลว่า สิงคโปร์ไม่ต้องการให้ชาวต่างชาติมีส่วนร่วมกับการเมืองภายในของสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม กฎหมายสิงคโปร์ยังคงกำหนดว่า การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และผู้กระทำผิดต้องรับโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี แม้ว่าจะไม่ค่อยพบเห็นการดำเนินคดีนี้มากนักในปัจจุบัน

ด้านอินโดนีเซีย ทางการท้องถิ่นบางแห่งยังคงเคร่งครัดกับการเอาผิดกรณีมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน โดยเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ตำรวจศาสนาในจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซียเฆี่ยนชาย 2 คน ต่อหน้าสาธารณชนที่มัสยิดในเมืองบันดาอาเจะห์ จากการมีเพศสัมพันธ์กัน โดยทางการจังหวัดอาเจะห์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวชายทั้งสองคน หลังจากทั้งคู่ถูกเฆี่ยนครบ 82 ครั้ง

ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ประณามการลงโทษดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการลงโทษตามกฎหมายต่อต้านการรักเพศเดียวกันที่ประกาศใช้ในจังหวัดอาเจะห์ตั้งแต่ปี 2557 เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดอาเจะห์เป็นเพียงจังหวัดเดียวของอินโดนีเซีย ที่การมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันถือเป็นความผิดอาชญากรรม รวมถึงยังคงใช้กฎหมายอิสลามควบคู่ไปกับการใช้กฎหมายอาญา

ส่วนอีกชาติอาเซียนคือ เวียดนาม ที่มีความเคลื่อนไหวด้านสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ในแง่กฎหมายมาตั้งแต่ต้นปี 2558 โดยบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการแต่งงานและครอบครัวฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งยกเลิกการห้ามแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แต่ก็ยังคงมาตราที่ระบุว่า รัฐจะไม่รับรองสถานะการแต่งงานระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า ในแง่การยอมรับของสังคมนั้น กลุ่ม LGBTQI ในเวียดนามยังคงต้องเผชิญการถูกกีดกันจากสังคม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0