โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

6 ซีรีส์ว่าด้วยการเปิดโปงสีเทาๆ ที่ซ่อนใน กระบวนการยุติธรรม และกฎหมาย

Sarakadee Lite

อัพเดต 04 ส.ค. 2563 เวลา 19.09 น. • เผยแพร่ 04 ส.ค. 2563 เวลา 06.44 น.

การตั้งคำถามถึงความขาวสะอาดของ กระบวนการยุติธรรม ไม่ได้มีเพียงการนำเสนอผ่าน “ข่าว” เท่านั้น ช่วง 2-3 ปีมานี้ ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าในซีรีส์เองก็มีการตั้งคำถาม ทวงถาม และกระตุ้นเตือนการทำงานของกระบวนการยุติธรรมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในฟากเกาหลีนั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เป็นต้นมา มีซีรีส์ที่แฉความเทาๆ ของกระบวนการยุติธรรมถูกผลิตออกมาอย่างรัวๆ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เปิดโปงทั้งเรื่องสินบน การคอรัปชัน ลากตั้งแต่วงการตำรวจ ทนายความ อัยการ รวมทั้งรัฐบาลที่ควรจะรับใช้ประชาชนแต่กลับใช้กฏหมายในมือจัดการกับประชาชนเหมือนหมากในกระดาน เช่นเดียวกับ 6 ซีรีส์เหล่านี้ที่เรารวมมาให้ได้ปักหมุดดูกันยาวๆ

กระบวนการยุติธรรม
กระบวนการยุติธรรม

Stranger

Stranger (หรืออีกชื่อว่า Forest of Secrets) ซีรีส์เกาหลีว่าด้วยการทุจริตในแวดวงอัยการและตำรวจ ที่ใช้อำนาจ หน้าที่ในทางผิดเพื่อช่วยเหลือผู้มีอิทธิพลจนเกิดการฆาตกรรมและโศกนาฏกรรมตามมา ในขณะที่สังคมเหมือนจะสิ้นหวังยังมีน้ำดีในองค์กรที่พยายามเข้ามาแก้ไขและต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เช่น อัยการฮวังชีมก (รับบทโดย โชซึงอู) อัยการหนุ่มไฟแรงของกรมอัยการเจ้าของใบหน้าเรียบเฉย เย็นชาเพราะในวัยเด็กเขาเคยมีอาการทางสมองจนต้องผ่าตัดและผลข้างเคียงคือมีความบกพร่องด้านอารมณ์ความรู้สึก

แต่นั่นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจใฝ่ดีที่พยายามสืบสวนคดีต่างๆ อย่างรอบคอบและพร้อมชนกับอำนาจเบื้องหลัง แม้จะเกี่ยวข้องกับองค์กรที่เขาทำงานและคนใกล้ชิดก็ตาม เขาได้ประกาศกร้าวผ่านรายการข่าวโทรทัศน์ว่าเขาจะหาผู้กระทำผิดให้ได้ภายใน 2 เดือน อัยการฮวังชีมกไม่ได้ต่อสู้ตามลำพังแต่ยังได้รับความร่วมมือจากตำรวจสาวมือสะอาด ฮันยอจิน (รับบทโดย แบดูอา) เพื่อสืบหาผู้มีอิทธิพลที่ชักใยอยู่เบื้องหลังซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจระดับชาติ ตำรวจและอัยการ

กระบวนการยุติธรรม
กระบวนการยุติธรรม

เมื่อการไขคดีคลี่คลาย และนักข่าวถามอัยการฮวังชีมกว่าเขาคิดว่าอัยการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง อัยการหนุ่มผู้ยังคงเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมกล่าวอย่างไม่ลังเลว่า

“ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่แก้ไขความอยุติธรรม พวกเราล้มเหลวครับ พวกเราที่สำนักงานอัยการมองเรื่องของความบริสุทธิ์ในมุมมองที่จะเกิดแต่ผลดีต่อผู้มีอิทธิพลและคนรวย เราปกป้องอาชญากรมากกว่าประชาชน แต่กระนั้นผมเชื่อว่าเรายังมีโอกาส อาวุธที่ทรงพลังที่สุดที่ผู้รักษากฎหมายจะมีได้คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราจะยังคงสู้ต่อไปได้ตราบใดที่รัฐธรรมนูญยังคงอยู่”

Stranger ได้รับการยกย่องจาก The New York Times ว่าเป็น Best TV Shows of 2017 และได้รับรางวัลจากงาน Baek Sang Art Awards ครั้งที่ 54 ถึง 3 รางวัลคือ รางวัล Grand Prize (Daesang), รางวัลบทละครยอดเยี่ยม (เขียนโดย อีซูยอน) และนักแสดงชายยอดเยี่ยม (โชซึงอู)

  • รับชมได้ที่ Netflix ในชื่อเรื่อง Stranger และ ที่ Viu ในชื่อเรื่อง Forest of Secrets และเตรียมพบกับซีซั่น 2 กลางเดือนสิงหาคมนี้ที่ Netflix
กระบวนการยุติธรรม
กระบวนการยุติธรรม

Itaewon Class

ซีรีส์ขวัญใจชาวสตาร์ทอัพและผู้ที่ กำลังท้อในชีวิตอย่างสุดๆ โดย Itaewon Class ไม่ได้มีดีแค่แนวทางทำธุรกิจฉบับ ปลาเล็กกินปลาใหญ่ หรือ สูตรการมีชีวิตอยู่ฉบับคนสู้ชีวิต แต่เบื้องหลังที่ทำให้เกิดปมมากมายของเรื่องนี้คือเมื่อพ่อรวยสอนลูกชายคนโตของภรรยาเอก ทายาทของบริษัทอาหารชางกา ให้พัฒนาจากเด็กชายธรรมดาผู้เอาแต่ใจ กลายเป็นคนเลวผู้น่ารังเกียจและน่าสงสารในคราวเดียวกัน

ประธานซางกาใช้ทั้ง อำนาจ และ เงิน ช่วยลูกชาย ชางกึนวอน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ชกต่อยกันในโรงเรียน ไปจนถึงการปกปิดความผิดที่ลูกชายขับรถชนคนตายซึ่งนั่นก็คือพ่อของพระเอก พัคแซรอย ในเรื่องจะเห็นชัดเจนว่าอำนาจและเงินนั้นทำได้ทุกอย่างแม้แต่ซื้อความศักดิ์สิทธิ์ของ กระบวนการยุติธรรม การสอบสวน รวมทั้งการปิดปากพยานคนสำคัญ โดยใช้คำขู่สั้นๆ ที่สอนให้เขาทำงานใน กระบวนการยุติธรรม ควรคิดถึงตัวเองให้มาก

“คิดให้ดีถ้ายังอยากทำอาชีพนี้อยู่ อย่าให้ความยุติธรรมไร้สาระมาทำให้เสียเรื่องเลย นายควรนึกถึงครอบครัวตัวเองสิ”

แต่ไม่ว่าประธานซางกาจะใช้อำนาจล้นฟ้าทำให้ พัคแซรอย ต้องยอมจำนนสักกี่ครั้ง แต่พัคแซรอยก็ไม่เคยหันออกจากความคิดของตนเองนั่นคือ ยืนหยัดทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าถูกต้อง และจะไม่ยอมหยวนๆ ให้กับอำนาจมืด เหมือนอย่างที่เขาตะโกนใส่หน้านางเอกที่เกลี้ยกล่อมให้เขายอมให้ลูกชายคนโตของประธานชางกาใช้อำนาจบารมีติดสินบนตำรวจแลกกับการที่ร้านของเขาต้องไม่โดนปิดว่า

“เมื่อมีครั้งที่หนึ่ง ก็ต้องมีครั้งที่สอง และครั้งต่อไปเรื่อยๆ”

ใช่แล้วถ้าเรายอมหยวนหรือละเลยให้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเช่น ความไม่ถูกต้อง ความอยุติธรรม ความหยวนนั้นก็จะกลายเป็นนิสัย สุดท้ายความไม่ถูกต้อง ความอยุติธรรมที่เราละเลยก็จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคม

  • ติดตามชมได้ทาง Netflix

Trial by Media (2020)

“ในฐานะทนายความผมรู้แต่เนิ่นๆ ว่า กฎหมายไม่สำคัญหรอก ที่สำคัญ คือ ความสามารถในการเล่าเรื่อง”

ประโยคหนึ่งจากภาพยนตร์สารคดี Trial by Media ซีรีส์สารคดีความยาว 6 ตอนเฉลี่ยตอนละ 1 ชั่วโมงที่มีเนื้อหาในการตีแผ่กระบวนการเบื้องหลังศาลยุติธรรม และการทำคดีที่ซับซ้อนและมี “สื่อสารมวลชน” เป็นกลไกหนึ่งของกระบวนการในแง่ที่ทำให้ผู้คนในสังคมเห็นและเข้าใจในคดีความนั้นๆ บางคดีความผู้ชมแทบไม่รู้เลยว่ากำลังรับข่าวซึ่งถูกบรรณาธิการข่าว ตัดต่อระดับในที่ทำให้คดีความในศาลเป็นเสมือนละครที่มีการลำดับการเล่าเรื่องและเนื้อหาขึ้นเพื่อให้เกิดกระแสในทางที่สื่อต้องการ

ในซีรีส์นี้จึงจะได้เห็นว่าทนายความนอกจากต้องว่าความแล้วยังต้องให้สัมภาษณ์และนั้นหมายถึงว่านอกจากทักษะทางกฏหมาย ทนายที่รับมือกับสื่อได้คือทนายที่ต้องแสดงเก่งอีกด้วย เพราะนั้นคือสิ่งที่ผู้ชมได้เห็นในโทรทัศน์ สารคดีเรื่องนึ้จึงชวนให้ตระหนักและพินิจถึงการรับรู้ของผู้ชมเกี่ยวกับคดีความผ่านจอโทรทัศน์ว่า“ละครแห่งอาชญากรรม” แต่ละคดีนั้นมีที่มาที่ไปจัดวางมาให้เราเข้าใจอย่างไร และความเข้าใจที่ถูกยื่นให้นี้เป็นจริงหรือไม่

  • ติดตามชมได้ทาง Netflix

Innocent Defendant

ซีรีส์สืบสวนว่าด้วยเรื่องราวของอัยการหนุ่มน้ำดี พัคจองอู (รับบทโดย จีซอง) จากสำนักอัยการกลางประจำกรุงโซล เขาเป็นคนที่รักครอบครัวและเชื่อมั่นในความยุติธรรม ไม่เคยอ่อนข้อให้กับความจริง และเงินก็ไม่เคยซื้อความจริงไปจากเขาได้ ทว่าวันหนึ่งเขาเผลอหลับไปในวันเกิดของลูกสาว และตื่นมาพบว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางนักโทษในเรือนจำ พร้อมคดีฆาตกรรมลูกเมียตัวเอง และของแถมคือความทรงจำที่สูญหาย

นั่นช่างบังเอิญเป็นช่วงที่เขากำลังตามสืบคดีฆาตกรรมหญิงสาวโดยมี ซางมินโฮ รองประธานบริษัทชามยองกรุ๊ป เป็นผู้ต้องสงสัยที่มีหลักฐานมัดตัวเชื่อมโยงได้มากที่สุด แต่ชามยองกรุ๊ปก็เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีทั้งอิทธิพลและเงินมหาศาล ทำให้การสืบสวนสอบสวนครั้งนี้ไม่ง่าย แน่นอนว่าเรื่องนี้นอกจากจะเข้มข้นลุ้นกับการตามสืบสวนและแหกคุกแล้ว ยังมาเต็มทั้งเรื่องการใช้อำนาจเทาๆ ของเหล่ามหาเศรษฐีที่มีเงินเป็นอาวุธ รวมทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลายที่คอรัปชันรับสินบนจนเรื่องนี้แทบจะกลายเป็นสิ่งปกติของสังคมที่หลายคนต่างก็รู้ๆ กันอยู่

  • ติดตามชมได้ทาง Netflix และ Viu

Judge vs Judge

หรืออีกชื่อคือ Nothing to Lose ซีรีส์สืบสวนสอบสวนที่เน้นแง่มุมการทำงานของผู้พิพากษา โดยเฉพาะฉากเชือดเฉือนกันในศาลที่เดือดจนคนที่ไม่ได้ทำงานในแวดวงทนายความ ผู้พิพากษายังรู้สึกสนุกไปด้วย

เรื่องนี้เป็นไม่กี่เรื่องที่เจาะว่าอาชีพผู้พิพากษาเขาทำงานอย่างไร โครงสร้างการทำงานเป็นอย่างไร ซึ่งในซีรีส์กระยวนการยุติธรรมทั้งหลายที่มีมามักจะใส่แค่ตำรวจ การสืบสวน ทนายความ และแตะอัยการในฐานะผู้ชี้ขาดเพียงเล็กน้อย Judge vs Judge จึงเป็นเรื่องแรกๆ ที่เปิดให้เห็นทั้งกระบวนการทำงานของเหล่าผู้พิพิกษาผ่านตัวเอกคือ ผู้พิพากษาสาวจอมเดือด อีจองจู (รับบทโดยปาร์คอึนบิน) ที่ต้องกลับไปรื้อความจริง ฟื้นคดีเมื่อ 10 ปีก่อนเพื่อคืนความจริงให้ผู้ที่ถูกกล่าวหา

Vagabond

หลายคนจำภาพของซีรีส์ Vagabond ในแนวแอ๊คชั่นสืบสวนสอบสวนตามหาความจริง แต่ลึกๆ แล้วภายใต้ความน่าตื่นเต้นของบทบู๊คือ การดิ้นรนของประชาชนคนหนึ่งในการตามหาและทวงถามถึงความยุติธรรมให้ตนเองและครอบครัว ลึกลงไปอีกคือความรักชาติ และการใช้อำนาจรัฐของฝั่งรัฐบาล เกมการเมืองที่เห็นชีวิตประชนชนเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งที่สามารถสั่งตาย หยิบออกจากกระดานไปเมื่อไรก็ได้เพียงเพราะ

“เป็นคำสั่งของรัฐ ถ้าไม่ทำ นายจะเป็นคนขายชาติ”

และเมื่อประชาชนต้องต่อสู่กับอำนาจรัฐและฟากรัฐบาล ที่พึ่งที่จะเป็นทางออกของเรื่องก็คือความอิสระและกลไกการทำงานของกระบวนการยุติธรรม

  • ติดตามชมได้ทาง Netflix

The post 6 ซีรีส์ว่าด้วยการเปิดโปงสีเทาๆ ที่ซ่อนใน กระบวนการยุติธรรม และกฎหมาย appeared first on SARAKADEE LITE.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0