โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

3 คำพูดโลกสวยของผู้บริหาร ที่ทำได้ยากในความเป็นจริง

ไทยรัฐออนไลน์ - Lifestyle

เผยแพร่ 28 ก.พ. 2560 เวลา 22.01 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ในทุกๆ ปี โดยเฉพาะช่วงต้นปีนั้นจะเป็นเวลาที่เหล่าผู้บริหาร ผู้จัดการทั้งหลายจะวางนโยบายหรือกำหนดกลยุทธ์ วิธีการทำงานใหม่ๆ ให้กับบริษัทของตัวเองเพื่อรองรับกับปีใหม่ที่เข้ามา ไหนจะเป็นเรื่องยอดที่เพิ่มขึ้นหรือเป้าหมายทางธุรกิจใหม่ๆ

เอาจริงๆ มันก็คงเป็นเรื่องดีอยู่เหมือนกัน เวลาผู้บริหารพูดเรื่องวิสัยทัศน์หรือพยายามทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม แต่จากประสบการณ์ของผมที่มีการพูดคุยกับคนมากมายนั้น  เรากลับพบว่ามีหลายๆ คำพูดที่เวลาพูดนั้นดูดี แต่พอทำจริงแล้วกลับไม่สามารถทำได้  มันมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันครับ
1. เราต้องทำอะไรใหม่ๆ
แน่นอนว่าคำพูดแรกๆ ที่มักพูดกันบ่อยมากๆ คือ ทุกคนล้วนมองว่าถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลง ต้องทำอะไรที่เราไม่เคยทำ เพื่อจะทำให้เราดีขึ้น ไปได้ไกลกว่าเดิม ผลงานดีกว่าเดิม
แต่ที่น่าเศร้าคือ พอเอาเข้าจริงแล้วเรากลับพบว่าเรื่องจำนวนมากที่เรามักพูดว่า “ต้องเปลี่ยนแปลง” กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างที่พูดไว้ หลายๆ อย่างก็ยังเข้าวัฏจักรเดิมๆ ทำงานแบบเดิมๆ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดไม่ใช่เรื่องระบบและขั้นตอนการทำงาน หากแต่เป็นตัวคนที่ทำงานนี่เอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนได้ยากมาก (หากคนไม่ยอมรับ) นอกจากนี้แล้ว เรายังมักพบว่าคนจำนวนมากนั้นอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หวังว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นโดยที่ตัวเองไม่ต้องลงมือทำ หรือพูดง่ายๆ คือ ตัวเองไม่ต้องเปลี่ยนนั่นแหละ ซึ่งพอเป็นแบบนี้แล้ว มันก็เลยไม่มีอะไรที่ต่างไปจากเดิมในท้ายที่สุด
2. เราต้องกล้าลองผิดลองถูก
ในโลกที่กำลังตื่นเต้นกับเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ นั้น เรามักพูดกันว่าธุรกิจต้องกล้าที่จะลองผิดลองถูก กล้าที่จะเสี่ยงกับอะไรที่ตัวเองยังไม่เคยได้ลอง แน่นอนว่าแนวคิดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาบอกให้กับคนต่างๆ ว่าเราต้องกล้าลองผิดลองถูก ต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองผิดพลาดเพื่อจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บางทีก็จะพูดด้วยคำคมประเภทผิดให้เร็วกว่าคนอื่น เพื่อจะได้เก่งกว่าคนอื่น
แต่พอมาถึงการทำงานจริง มันกลับกลายเป็นเรื่องตลกอยู่เสียหน่อย เมื่อมีพนักงานคนไหนพยายามจะทดลองหรือเสี่ยงทำอะไรที่ไม่เคยทำนั้น ก็จะถูกจับตา ถูกเพ่งเล็ง และถูกวิจารณ์จากคนที่ไม่ได้อยากเสี่ยงไปด้วย ครั้นพอผิดพลาดขึ้นมาก็จะกลายเป็นเป้าถูกวิจารณ์ ถูกตำหนิไปเสีย
พอเป็นอย่างนี้แล้ว มันเลยเป็นการยากที่พนักงานและองค์กรจะกล้า “ลองผิดลองถูก” แบบที่พูดๆ กัน เพราะดูเหมือนคนจะสนใจแต่ “ลองถูก” แต่ไม่ยอมให้ “ลองผิด” แต่อย่างใด สุดท้ายแล้วพนักงานก็จะกลัวความผิด กลัวจะต้องรับผิดชอบ แล้วก็เลยไม่ลองอะไรสักอย่างในท้ายที่สุดนั่นแหละ

3. เราต้องพูดความจริง
เวลาผมไปบรรยายตามงานสัมมนานั้น ผมมักเจอคนมากมายบอกกับผมว่า ต้องถึงเวลาพูดความจริงกันในบริษัท เพราะไม่อย่างนั้นปัญหาจะคาราคาซัง ไม่ได้รับการแก้ไข ผู้บริหารบางคนก็พูดกับพนักงานว่า เราต้องเปิดอกพูด ยอมรับความจริงกันได้แล้ว  เพราะไม่อย่างนั้นก็จะแก้ไขอะไรกันไม่ได้เสียที
แต่ถ้าเรากลับมาดูความจริงนั้น เราจะเห็นว่า พอมีการพูดความจริงแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
สิ่งที่ผมมักเห็นมาจากการพูดความจริงคือ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ อย่างถ้ากรณีพนักงานพูดวิจารณ์ผู้บริหาร ก็จะกลายเป็นว่าไม่ให้เกียรติผู้บังคับบัญชา ไม่รู้จักมารยาท ก้าวร้าว ฯลฯ บางคนก็โดนว่าว่า ไม่เห็นใจคนอื่น ไม่แคร์ความรู้สึกคนฟัง ฯลฯ
ความตลกร้ายอย่างหนึ่งคือ ความจริงหลายๆ อย่างเป็นสิ่งที่บริษัทต้องเผชิญหน้า แต่ปัญหาคือ ความจริงเหล่านั้นหลายๆ อย่างเลวร้ายและน่าหดหู่เกินกว่าที่หลายๆ คน (รวมทั้งผู้บริหาร) จะเผชิญหน้าและยอมรับ ผลสุดท้ายคือ การพยายาม “ประนีประนอม” เลี่ยงจาก Ugly Truth กลายเป็น Comfort Lie ไป
สิ่งที่ผมเขียนเล่าในวันนี้ ไม่ได้ต้องการจะแซะผู้บริหารอะไรหรอกนะครับ หากแต่ถ้าเรามองกันดีๆ แล้วแนวคิดของ 3 อย่างข้างต้นนั้นไม่ใช่เรื่องไม่ดีเลย แต่มันมีปัญหาเวลาไปปฏิบัติงานจริง ถ้าเราจะทำให้มันเกิดขึ้นจริง ก็ต้องคิดและพิจารณาให้ถี่ถ้วนประกอบกับการตัดสินใจที่จะผลักดันเพื่อให้มันเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่แค่การพูดไปเรื่อยๆ
เพราะถ้าพูดแล้วทำไม่ได้ สุดท้ายพูดอีกทีก็จะไม่มีใครเชื่อนั่นแหละครับ

Facebook : Nuttaputch

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0