โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

5 เทคนิคเตรียมอาหารและสร้างนิสัยการกินที่ดีสำหรับเด็กเล็ก

Mood of the Motherhood

อัพเดต 05 ส.ค. 2563 เวลา 09.10 น. • เผยแพร่ 05 ส.ค. 2563 เวลา 09.10 น. • Features

เมื่อลูกรักพ้นจากวัยทารก เข้าสู่การเป็นเด็กเล็ก (ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป) ส่ิงหนึ่งที่แถมมากับการเติบโตของลูกก็คือลูกเริ่มเป็นเด็กกินยาก คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงรู้สึกเหนื่อยเหมือนออกไปทำสงครามทุกครั้งเมื่อถึงเวลาที่ต้องให้ลูกกินอาหารแต่ละมื้อ  เพราะกว่าภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้แต่ละที ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยปาดเหงื่อกันเลยทีเดียว

การเตรียมอาหารสำหรับเด็กเล็กซึ่งเป็นวัยที่ร่างกายของลูกต้องการสารอาหารที่หลากหลายมากขึ้นและมากกว่าที่อาหารสำหรับทารกจะมีให้เพียงพอ เพราะเป็นช่วงเวลานี้ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต นอกจากจะต้องการสารอาหารมากขึ้นแล้ว ยังเป็นวัยที่ลูกรู้จักการเลือกกินแต่อาหารในสิ่งที่ตัวเองชอบ ถ้าอาหารไม่ถูกใจ เจ้าตัวเล็กก็พร้อมจะเมินเฉยและทิ้งขว้างไปหาการเล่นหรือทำอย่างอื่นแทนที่จะยอมกินอาหารที่คุณพ่อคุณแม่เตรียมไว้ให้แต่โดยดี

ดังนั้นการสร้างสุขนิสัยการกินที่ดีให้กับลูกจึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ เพราะนอกจากควรจะเตรียมสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายและการเติบโตของลูกแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรนึกถึงก็คือ การเลือกวัตถุดิบและวิธีการปรุงอาหารให้ช่วยส่งเสริมพัฒนาการการรับรู้รสชาติและแรงบดเคี้ยวของลูก เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการและการเติบโตทางร่างกายที่แข็งแรงสมวัย

วันนี้เรามีเทคนิคดีๆ จากหนังสือ ลูกน้อยวัยนี้ กินอะไรดีนะ (สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, 2563) มาฝากคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเตรียมอาหารและกำลังพยายามฝึกลักษณะนิสัยการกินให้ลูกในวัยเด็กเล็กได้เติบโตสมวัย

1. ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนอาหารให้ลูกทีละนิด

การที่ลูกจะก้าวข้ามผ่านช่วงวัยทารกไปเป็นเด็กเล็กต้องใช้เวลา การปรับเปลี่ยนรูปแบบอาหารของลูกก็ควรเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ปรับทีละนิดตามการเจริญเติบโตของลูก

และคุณพ่อคุณแม่เองสามารถช่วยฝึกฝนให้ลูกพัฒนาแรงกัดได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการกินอาหารสำหรับเด็กเล็ก เพราะเด็กวัยนี้จะใช้ฟันหน้าในการกัดฉีกอาหาร และใช้ฟันกรามน้ำนมในการบดเคี้ยวอาหารไปจนอายุ 3 ปี และจะสามารถใช้ฟันในการบดเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น เพราะเป็นช่วงวัยที่ฟันน้ำนมขึ้นครบแล้วนั่นเองค่ะ

แต่ที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ ช่วงวัยเด็กเล็ก ประสาทสัมผัสด้านการรับรสชาติอาหารของลูกจะยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นอาหารที่เตรียมให้ลูกจึงควรเป็นอาหารรสอ่อน ไม่ปรุงรสจัด และไม่เติมสารปรุงแต่งต่างๆ

2. ให้ลูกได้รับสารอาหารและพลังงานที่จำเป็น

เด็กแต่ละช่วงวัยมีความต้องการพลังงานที่ในแต่ละวันแตกต่างกัน เช่น เด็กอายุ 1-3 ปี ต้องการพลังงานวันละ 1,050 kcal ในขณะที่เด็กวัย 4-5 ปี ต้องการพลังงานวันละ 1,290 kcal

ทั้งนี้ เด็กเล็กเป็นวัยที่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายด้วย เช่น

คาร์โบไฮเดรต ซึ่งได้จากข้าว แป้ง น้ำตาล ในปริมาณที่เหมาะสม

โปรตีน ร่างกายคนเรามีโปรตีนเป็นส่วนประกอบประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จึงถือว่าโปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นและขาดไม่ได้ ร่างกายจึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อ ปลา ไข่ นม และอาหารจากพืช เช่น ถั่วเหลือง ธัญพืช เป็นประจำทุกวัน

วิตามิน วิตามินที่สำคัญสำหรับเด็กวัย 1-2 ปี ได้แก่ วิตามินเอวิตามินดี วิตามินซี และวิตามินบีรวม ถึงแม้ว่าร่างกายคนเราจะไม่ได้ต้องการวิตามินในปริมาณมาก แต่ก็เป็นสารอาหารที่จำเป็นและขาดไม่ได้  และเพื่อให้ลูกได้รับวิตามินเข้าสู่ร่างกาย ก็ต้องอาศัยการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสมด้วย

แร่ธาตุต่างๆ แร่ธาตุที่เด็กเล็กจำเป็นต้องได้รับ ได้แก่ แคลเซียม โพแทสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม และฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นสารอาหารที่พบได้ในน้ำนม และแร่ธาตุเหล่านี้จะทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างกระดูกและฟัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกวัยนี้จึงควรดื่มนมเป็นประจำทุกวัน

3. การรับรู้รสชาติและการกัดช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากกินอาหาร

คุณพ่อคุณแม่ควรเพิ่มประสิทธิภาพการกัดของลูกด้วยการให้เขาได้กินอาหารที่มีขนาด รูปร่าง และความแข็งที่เหมาะสมตามวัย เป็นอาหารที่กินง่ายและสามารถใช้มือหยิบจับได้สะดวก เพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากลงมือกินอาหารด้วยตัวเอง

นอกจากนั้นยังไม่ควรปรุงอาหารรสชาติจัดจ้านมากเกินไป แต่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้มีพัฒนาการการรับรู้รสชาติที่หลากหลายมากขึ้น

4. เริ่มสอนวิธีใช้อุปกรณ์การกินและมารยาทบนโต๊ะอาหารเพื่อปลูกฝังนิสัยการกินที่ถูกต้อง

การกินอาหารในช่วงของวัยเด็กเล็กนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของพฤติกรรมการกินในอนาคต เพราะฉะนั้นการกินข้าวกับครอบครัวถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่คุณพ่อคุณแม่จะได้สอนลูกในเรื่องของการใช้ช้อนส้อม มารยาทบนโต๊ะอาหาร ได้อย่างถูกต้อง

5. กระตุ้นให้ลูกกินอาหารด้วยตัวเอง

นอกจากคุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจกับสมดุลทางโภชนาการแล้ว ก็ควรส่งเสริมให้ลูกเกิดความอยากกินอาหารด้วยตนเองด้วยค่ะ การจัดจานหรือทำอาหารให้ออกมาน่ารักน่ากิน เลือกวัตถุดิบ เช่น ผักหรือผลไม้ที่มีสีสันสวยงามก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถดึงดูดความอยากกินอาหารให้ลูกได้ หรือคุณพ่อคุณแม่อาจจะลองจัดจานมื้อพิเศษให้สอดคล้องกับฤดูกาลหรือวันสำคัญที่ลูกสนใจ เช่น จัดจานอาหารให้เป็นธีมวันเกิดหรือวันคริสต์มาสดูบ้างก็ได้ค่ะ

อ้างอิง

หนังสือ ลูกน้อยวัยนี้ กินอะไรดีนะ: สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, 2563.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0