โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

5 สัญญาณเตือน คุณพ่อคุณแม่เข้มงวดมากเกินไปหรือเปล่านะ?!

Mood of the Motherhood

เผยแพร่ 10 ส.ค. 2563 เวลา 02.38 น. • Features

ความรักและความคาดหวังว่าอยากให้ลูกเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนพยายามปลูกฝังและขัดเกลาลูกน้อยด้วยวิธีต่างๆ เท่าที่พอจะทำได้

คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากรู้กันดีกว่าการตามใจ เอาใจ และทะนุถนอมลูกเกินไปไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก หลายครอบครัวก็เลยเลือกใช้วิธีเลี้ยงลูกด้วยความเอาจริงเอาจังและเข้มงวด แต่ถึงอย่างนั้น การเข้มงวด กำหนดกรอบ กฎเกณฑ์ หรือกติกาเคร่งครัดกับลูกมากเกินไป ลูกอาจจะเป็นเด็กที่มีระเบียบวินัยสมใจคุณพ่อคุณแม่ แต่สภาพจิตใจของลูกอาจจะห่อเหี่ยวเพราะเครียดและกดดันจากความเข้มงวดที่คุณพ่อคุณแม่มีให้

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า เรากำลังเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยความเข้มงวดมากเกินไป ลองมาสำรวจพฤติกรรมของตัวเองกันค่ะ

1. มีข้อห้ามและกฎเกณฑ์กับทุกเรื่อง

การที่คุณพ่อคุณแม่เข้มงวดเรื่องระเบียบวินัยกับลูกเป็นเรื่องดี แต่แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะใช้วิธีตั้งกฎ กติกา หรือข้อห้ามกับทุกอย่างที่ลูกทำ แต่แทนที่จะออกกฎห้าม ลองเลือกเปลี่ยนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นข้อตกลงร่วมกันภายในครอบครัวและบอกเหตุผลของการสร้างข้อตกลงนั้นๆ แทน เช่น คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกกินขนมก่อนกินข้าว แทนที่จะออกกฎว่า ห้ามลูกกินขนมก่อนที่จะกินข้าวเด็ดขาด ลองเปลี่ยนเป็นการพูดให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุผล ว่าถ้าลูกกินขนมก่อนกินข้าว ลูกก็จะอิ่มจนกินข้าวไม่ไหว และถ้าลูกกินข้าวได้น้อย ก็จะหิวก่อนเวลาของมื้อต่อไป เพราะฉะนั้นเราไม่กินขนมก่อนกินข้าวกันดีกว่า

2. คำพูดของคุณพ่อคุณแม่เกินความจริง

หากคุณพ่อคุณแม่ชอบใช้คำพูดเกินจริงกับลูก เพื่อให้ลูกเชื่อฟังหรือหวั่นกลัวผลของการฝ่าฝืนคำสั่ง “ถ้าไม่หยุดเล่นแท็บเล็ตแม่จะโยนทิ้ง” หรือ“ถ้าเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บพ่อจะเอาไปคนอื่นให้หมดเลย” อาจเป็นสัญญาณบอกว่าคุณพ่อคุณแม่เริ่มจะเข้มงวดกับลูกมากเกินไปจนต้องพยายามพูดจาเกินจริง เพราะหวังให้ลูกเชื่อฟังโดยง่าย แต่เมื่อลูกรู้ว่าสุดท้ายคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ทำอย่างที่พูด จะยิ่งทำให้ลูกไม่เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นไปอีก

3. ลูกเริ่มมีพฤติกรรมโกหก

มีงานวิจัยของนักจิตวิทยาชาวแคนาเดียน Victoria Talwar (Professor, Department of Educational and Counselling Psychology) ได้เลือกเด็กๆ จากสองโรงเรียนในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก เด็กกลุ่มแรกมาจากโรงเรียนที่ไม่เข้มงวดเรื่องกฎระเบียบมากนัก ส่วนเด็กอีกกลุ่มมาจากโรงเรียนที่เข้มงวดในกฎระเบียบมาก มาทดสอบโดยการให้เด็กอยู่ในห้อง และทายว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเกิดจากอะไร

เมื่อผู้ใหญ่กลับมาและเฉลยว่าสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงก็คือลูกบอล และมีใครแอบดูสิ่งของนั้นหรือไม่ ผลการทดสอบออกมาว่าเด็กที่มาจากโรงเรียนที่ไม่เข้มงวดกฎระเบียบมีทั้งโกหกและพูดความจริงปะปนกันไป ในขณะที่เด็กที่มาจากโรงเรียนที่เข้มงวดเลือกที่จะพูดโกหกว่าไม่ได้แอบมอง

นี่คือสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าหากคุณพ่อคุณแม่เข้มงวดกับลูกมากเกินไป อาจทำให้เขารู้สึกกดดันและไม่กล้าพูดความจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตำหนิและทำโทษ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กติดนิสัยโกหกไปโดยไม่รู้ตัว

4. เร่งให้ลูกทำอะไรเร็วๆ

ความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่การจัดตารางกิจกรรมให้ลูกจนแน่นตลอดทั้งวัน และยังคอยกระตุ้นให้ลูกทำกิจกรรมด้วยความรีบเร่ง จะทำให้เด็กรู้สึกเครียดและกดดัน เพราะกลัวโดนต่อว่า และไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมนั้นๆ

5. คุยแต่เรื่องที่เป็นทางการกับลูก

เวลาที่ครอบครัวได้อยู่ร่วมพูดคุยกันส่วนใหญ่อาจเป็นช่วงเวลากินอาหารร่วมกัน แต่คุณพ่อคุณแม่มักจะชวนลูกพูดคุยเกี่ยวกับผลการเรียน เรื่องการเรียนแต่ละวิชา แทนที่จะเป็นการพูดคุยเรื่องทั่วไปหรือเรื่องที่ลูกอย่างเล่า นี่ก็เป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังเข้มงวดกับลูกมากเกินไปแล้ว

อ้างอิง

dailymail

th.rajanukul

hellokhunmor

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0