โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

5​ ประเทศ กับ การปรับตัวและรับมือกับ โควิด-19 - ลัดเลาะรอบโลก

LINE TODAY

เผยแพร่ 16 มี.ค. 2563 เวลา 18.00 น. • Pannaput J.

นับเป็นเรื่องราวหนัก ๆ ของโลกในต้นปีเลยทีเดียว สำหรับ โควิด-19 ที่ได้มีการแพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งนี่ถือวิกฤติการณ์ที่แต่ละประเทศจะต้องรับมือ ซึ่งการรับมือกับวิกฤติของแต่ละประเทศนั้นย่อมมีความแตกต่าง และมีผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน #ลัดเลาะรอบโลก ขอพาทุกคนไปดูมาตรการ การปรับตัว การรับมือกับ โควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ ที่อาจจะนำมาเป็นกรณีศึกษา หรือต้นแบบในการรับมือ ไปดูกันว่าพวกเขามีวิธีการรับมืออย่างไรกับวิกฤติในครั้งนี้

จีน

เป็นประเทศแรกที่เกิดการระบาดของโคโรนาไวรัส หรือโรคโควิด-19 จึงทำให้จีนเป็นประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของโรคนี้ไปโดยปริยาย หลังจากการระบาดของโรคดังกล่าว จีนได้เรียนรู้ รับมือ จนเกิดเป็น “มาตรการ 5 ข้อ” เพื่อรับมือกับโควิด-19 ซึ่งหัวใจหลักสำคัญของการรับมือของจีนในครั้งนี้ก็คือ “ความเร่งด่วนรวดเร็ว” ที่ถือเป็นสิ่งที่จีนยึดในการรับมือกับเหตุการณ์นี้ และสำหรับมาตรการ 5 ข้อที่ทำให้จีนสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้แก่ 

- ปิดเมืองใน 3 วัน

 ฟังดูแล้วอาจจะดูไม่ได้สลักสำคัญอะไร ทว่า อู่ฮั่น ที่อยู่ในหูเป่ยนั้น มีจำนวนประชากรกว่า 14 ล้านคน การตัดสินใจอย่างรวดเร็วของรัฐบาลที่ Lock Down เมืองเมื่อเกิดการระบาดขึ้น ถือเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ และส่งผลอย่างมาก เพราะในช่วงระบาดของโควิด-19 นั้น เป็นช่วงตรุษจีน ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนจะกระจายกลับบ้านเกิด เพื่อไปใช้เวลากับครอบครัว หากรัฐบาลประกาศช้ากว่านี้ การระบาดจะแพร่กระจายไปมากกว่านี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดมาก ๆ 

- สร้างโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยภายใน 10 วัน

 อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า จีนยึดความเร็วในการจัดการปัญหาเป็นหัวใจสำคัญ และเมื่อเกิดการระบาดขึ้น โรงพยาบาลที่มีไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ จึงทำให้จีนสร้างโรงพยาบาลใหม่เพื่อรองรับผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลนั้นใช้เวลาในการสร้างเพียง 10 วัน จากปกติในการสร้างโรงพยาบาลหนึ่งแห่งจะต้องใช้เวลา 6 - 8 เดือน โดยโรงพยาบาลนี้ถูกสร้างขึ้นอู่ฮั่นรองรับผู้ป่วยจำนวน 1000 เตียง และ มีหน่วยการรักษา 30 หน่วย โดยการสร้างโรงพยาบาลนี้ได้เกณฑ์ทั้งทหาร และบุคลากรทางการแพทย์มาจากทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือ 

- การกักตัวจำนวน 14 วัน

 ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมากในการเป็นขั้นแรกของการกรองผู้ติดเชื้อ เพราะว่าจากการรักษาและเรียนรู้พบว่า เชื้อนั้นจะมีระยะฟักตัว และสามารถติดต่อได้ภายใน 14 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ติดเชื้อ จนถึงแสดงอาการ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในจีนเร่งครัดกับการกักตัว หรือที่เรียกว่า Self-Quarantine จำนวน 14 วัน โดยมีเงื่อนไขสำหรับผู้ที่ต้องกักตัวเองก็คือ ไปพบเจอคนที่มาจากหูเป่ย, คนที่ไปเที่ยวต่างประเทศ/ต่างเมือง, คนที่อาศัย/นอนห้องเดียวกับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ/ต่างเมือง, ผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายเกิน 37.3 องศาเซลเซียส และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา

- ควบคุมกิจวัตรประจำวัน

 ในช่วงที่เกิดโรคระบาดนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ที่เดินทางไปต่างถิ่นนั้นจะได้รับผลกระทบ แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง เพื่อการรับมือ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าหลังจากเกิดการระบาด และประกาศจากทางการ ไม่ว่าจะเป็น โรงภาพยนตร์ สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ หรือ ห้องนิทรรศการต่าง ๆ ก็ถูกปิดไปอัตโนมัติ มีเพียงภัตตาคารบางแห่งที่เปิดอยู่ สำหรับธุรกิจนั้น มีเพียงห้างสรรพสินค้า และตลาดที่เปิด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันไปไม่น้อย รวมไปถึงมาตรการต่าง ๆ เช่น การใส่หน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในที่ชุมชน การวัดอุณหภูมิร่างการก่อนที่จะเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ รวมไปถึงการลงชื่อด้วย

- การทำงานจากที่บ้าน

 ถือว่าเป็นการลดการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคทางหนึ่ง เพราะว่าการทำงานจากที่บ้าน หรือ work from home นั้น ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยลง โดยที่ผู้คนก็ไม่ต้องเสี่ยงจากโรคภัยอีกด้วย นอกจากการทำงานจากที่บ้านโดยใช้ระบบออนไลน์แล้ว ยังรวมไปถึงการสั่งอาหาร ช๊อปปิ้งออนไลน์ด้วย หรือแม้กระทั่งการติดต่อสัมพันธ์ต่าง ๆ โดยที่ไม่ได้ออกจากบ้าน

เกาหลีใต้

รวดเร็ว / โปร่งใส / ป้องกันล่วงหน้า

สามสิ่งนี้เป็นหัวใจหลักในการทำงานรับมือโควิด-19 ของเกาหลีใต้ โดยอย่างที่ทราบกันดีว่า ก่อนหน้านี้ เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อมากที่สุด ในช่วงมีนาคมที่ผ่านมามียอดผู้ติดเชื้อที่ยืนยันกว่า 7 พันราย แต่การรับมือของรัฐบาลถือว่าเป็นไปได้อย่างดีเยี่ยม คำว่ารวดเร็วนั้นคือการค้นหาผู้ป่วยในเชิงรุก สำหรับประเทศอื่น ๆ นั้น จะรอ และตรวจเฉพาะกับผู้ที่มีอาการเท่านั้น แต่สำหรับเกาหลีใต้นั้น เลือกจะตรวจ “ทุกคน” ที่มีการติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจาย รวมไปถึงความโปร่งใสในการเปิดเผยยอดของผู้ติดเชื้อ ซึ่งทำให้ผู้คนในประเทศได้ระวังและป้องกันตัวเอง แต่ความย้อนแย้งที่น่าสนใจของเกาหลีใต้ก็คือ แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนกว่า 7 พันคน แต่จากการตรวจเชิงรุกทั้งหมด 2 แสนกว่าเคสนั้น ทำให้เกาหลีใต้มีผู้ป่วยเฉลี่ยแล้วต่ำกว่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งในตอนนี้ยอดของผู้ติดเชื้อก็ได้ลดลงไปเรื่อย ๆ และการติดตามอย่างรวดเร็วและโปร่งใสนี้เอง เป็นมาตรการการป้องกันล่วงหน้าของเกาหลี โดยตอนนี้ติดตามเคสทั้งหมดใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ และพร้อมเดินหน้าจัดการในเรื่องอื่น ๆ แล้ว

จากการตรวจเชิงรุกของเกาหลีนั้น จึงทำให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือในการตรวจสอบหาเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งจะสามารถบอกผลได้ได้ภายใน 30 นาที หากเครื่องมือนี้ได้รับการพัฒนาอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว คงจะเป็นข่าวดีสำหรับโลก เพราะว่าสำหรับโควิด-19 นั้น ยิ่งตรวจพบเร็ว จะมีโอกาสในการรักษาให้หายมากขึ้น นี่ถือว่าเป็นอีกสิ่งที่เป็นผลจากการเดินหน้าอย่างรวดเร็วและโปร่งใสของเกาหลีใต้

ไต้หวัน

แม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็ก ๆ แต่ก็อยู่ใกล้ทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อไวรัสสูง แต่ไต้หวันมีเพียง 42 เคสเท่านั้น ก็เป็นเพราะว่าการมองการณ์ไกลของรัฐบาลที่เริ่มตรวจสอบผู้เดินทางตั้งแต่มีข่าวการแพร่กระจายของไวรัส ถือว่าเป็นความรวดเร็วในการรับมือกับโรคระบาดได้อย่างดีเยี่ยม รวมไปถึงการลดเที่ยวการบิน จนไปถึงขั้นไม่มีการเดินทางไปยังจีนด้วย รวมไปถึงตามตึกสาธารณะต่าง ๆ ของล้วนมีเจลล้างมือฆ่าเชื้อ และคัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าตึกอีกด้วย 

แม้ว่าจะในช่วงเริ่มต้นจะมีวิกฤติหน้ากากอนามัยที่ขาดตลาด แต่ไต้หวันก็แก้ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดสรรหน้ากากให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม โดยการควบคุมจำนวนการซื้อของประชาชน แต่ไม่ได้เพียงแค่ควบคุม เพราะยังใช้เทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยมีแอปพลิเคชันที่สามารถตรวจสอบสต๊อกสินค้า และบอกสถานที่มีสินค้าเพื่อให้ประชาชนสบายใจ และเข้าถึงได้ง่ายอีกด้วย และเนื่องจากไต้หวันเป็นประเทศที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ รัฐบาลก็มีการทุ่มเงินเพื่อพยุงธุรกิจขนาดเล็กในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจไม่แย่ไปมากกว่านี้อีกด้วย

แต่ทั้งหมดทั้งมวล สิ่งที่ไต้หวันยึดในการออกมาตรการ และจัดการกับวิกฤติในครั้งนี้ก็คือ “ความโปร่งใส” เพราะถ้ารัฐบาลทำงานอย่างโปร่งใส มีข้อมูลที่โปร่งใส ถูกต้อง และตรวจสอบได้ให้ประชาชน ก็จะทำให้ประชาชนรู้สึกมั่นคงและพร้อมที่จะตอบสนองและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับนโยบายต่าง ๆ 

สิงคโปร์

มีการใช้เทคโนโลยี เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน รวมไปถึงมาตรการการคัดกรองที่เข้มงวด การตรวจหาโรคเชิงรุก และการกักตัวเองสำหรับผู้ที่เข้าข่ายความเสี่ยง แต่สิ่งที่ต้องยอมรับ และยกนิ้วให้สำหรับสิงคโปร์ ก็คือเรื่องของการสื่อสาร เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่ในช่วงระบาดของโรคภัยนี้ การสื่อสารให้เข้าถึงทุกคนเพื่อความเข้าใจร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ สิงคโปร์เลยได้พัฒนา AI มาช่วยในการแปลภาษา ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายข่าวสารนั่นเอง อีกทั้งยังมีการลดเงินเดือนของผู้นำ เพื่อนำมาเพิ่มเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีกด้วย 

อังกฤษ

อย่างที่ทราบกันดีว่าแต่เดิมที การจับมือทักทาย เป็นสิ่งที่ชาวอังกฤษทำเมื่อพบหน้ากัน ต่อเมื่อมีการระบาดของโควิด-19 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปของอังกฤษก็คือการเปลี่ยนจาก “จับมือ” มาเป็น “ไหว้” ในการทักทาย ซึ่งไม่ได้เพียงแค่ผู้นำที่เปลี่ยนพฤติกรรม แต่ยังมีการปลูกฝังไปยังเด็ก ๆ โดยโรงเรียนแห่งหนึ่งได้ริเริ่มความคิดนำการไหว้แบบไทยไปสอนในโรงเรียน เพื่อที่จะเป็นการทักทายโดยที่ไม่ต้องจับตัวกัน เพื่อลดการติดต่อ และแพร่กระจายไวรัสได้ทางหนึ่ง 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทเรียนและตัวอย่างจากบางประเทศเท่านั้น และอย่างที่ทราบกันว่า แต่ละประเทศ ก็มีความแตกต่างกัน การรับมือ/การปรับตัว ก็ย่อมแตกต่างกัน แต่อย่าลืมว่าชีวิตนั้นมีคุณค่ากว่าที่สูญเสียไป และเราจะผ่านวิกฤติการณ์นี้ไปได้ด้วยกันให้ได้

อ้างอิง

1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6 / 7

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0