โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

3 ธุรกิจที่ไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ช่วยมอบโอกาสในการทำงานให้กับคนเหล่านี้ - ดีกับใจ

LINE TODAY

เผยแพร่ 10 ก.ย 2562 เวลา 17.00 น. • @mint.nisara

จากคาเฟ่ที่เปิดรับผู้สูงวัยเข้าทำงานในญี่ปุ่นสู่สตาร์บัคส์ในเม็กซิโกที่รับสมัครบาริสต้าอายุเกิน 60 ปี สู่คริสปี้ ครีมและเทสโก้ โลตัสในไทยที่เปิดรับพนักงานอาวุโส ข่าวเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่าธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลิตรายได้แต่ในขณะเดียวกันก็ให้อะไรกลับไปสู่สังคมยังมีอยู่อีกเยอะแยะบนโลกและในบ้านเรา "ดีกับใจ" ในสัปดาห์นี้ ผู้เขียนเลยพาทุกคนไปรู้จักกับเหล่าธุรกิจเพื่อสังคมแสนใจดีที่ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อโฟกัสแต่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่เปิดโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาสจากหลากหลายพื้นที่ได้สร้างรายได้และเพิ่มคุณค่าให้กับพวกเขาด้วย จะมีธุรกิจอะไรบ้าง ลองอ่านกันดูได้เลย!

ยิ้มสู้ คาเฟ่ที่สร้างงานให้ผู้พิการ 

<i>รูปจากเพจ Yimsoo Café</i>
รูปจากเพจ Yimsoo Café

ชื่อร้านน่ารัก ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และคอนเซปต์ที่ดีกับใจยิ่งกว่าเพราะที่นี่ว่าจ้างเฉพาะผู้พิการเท่านั้นเข้ามาทำงาน ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้งร้านและผู้ก่อตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการบอกเอาไว้ในบทสัมภาษณ์กับ EDTGuide.com ว่า

“คาเฟ่ยิ้มสู้เกิดจากความคิดที่ว่ามีคนพิการจำนวนมาก อยู่ในวัยทำงานประมาณ 8 แสนคน แต่มีงานทำแค่ 2 แสนคน ทีนี้เราจะทำยังไงเพื่อสร้างงานให้กับคนพิการ ก็คือต้องฝึกตั้งแต่การเปิดร้าน ถูพื้น ทำความสะอาด เตรียมกาแฟเพื่อสามารถเอาไปประกอบอาชีพเองได้ ให้ท่องคาถาไว้ ทำได้ทุกอย่าง ไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคหรือปัญหา”  

ความต้องการของอาจารย์ในการสร้างร้านนี้ขึ้นมาคือการเพิ่มช่องทางในการทำงาน เพื่อที่พวกเขาจะได้สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้และฝึกใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปด้วย โดยด้านล่างเปิดเป็นคาเฟ่ขายอาหารและกาแฟ ส่วนด้านบนเป็นพื้นที่ของหอศิลป์ที่ใช้โชว์ผลงานภาพวาดด้วยปากและเท้าของผู้พิการ

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุคเพจ Yimsoo Café ยิ้มสู่คาเฟ่และไปอุดหนุนคาเฟ่ยิ้มสู้ได้ที่ 2 สาขาต่อไปนี้:

- สาขาแรกที่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ซอยอรุณอมรินทร์ 39 อรุณอมรินทร์ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ

- สาขาที่ 2 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

Artstory by AutisticThai งานศิลปะใส่ได้ที่มีชิ้นเดียวในโลกจากเด็กพิเศษ 

<i>รูปจากเพจ Artstory by AutisticThai</i>
รูปจากเพจ Artstory by AutisticThai

ธุรกิจที่โฟกัสกลุ่มเด็กพิเศษและบุคคลออทิสติกและใช้ผลงานศิลปะบนหมวกผ้าดิบและเสื้อยืดของพวกเขามาสร้างเป็นรายได้ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ Artstory คือธุรกิจเพื่อสังคมที่อยู่ภายใต้มูลนิธิออทิสติกไทยในการดูแลของอาจารย์ชูศักดิ์ จันทยานนท์ โดยโปรเจกต์นี้เป็นผลผลิตจากสถานีฝึกศิลปะซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมบำบัดและฝึกทักษะให้กับเด็ก ๆ ในมูลนิธิ

ครูพิงค์ - เพียงกาญจน์ สุวรรณปัทม คุณครูสอนศิลปะให้กับเด็ก ๆ บอกไว้ในสัมภาษณ์บนเว็บไซต์ของ ICONSIAM ว่าการที่เด็ก ๆ เริ่มวาดรูปและระบายสีบนกระดาษเปล่า คือการที่เขาสามารถเลือกได้ด้วยตัวเองว่าอยากให้รูปออกมาเป็นแบบไหน และสามารถถ่ายทอดตัวตนออกมาได้อย่างมีความหมาย “มันสำคัญมากนะ ทุกคนต้องมีสิทธิเลือกมีสิทธิตัดสินใจ ถ้าเขาตัดสินใจเป็น มันก็เท่ากับเขามีชีวิตที่เลือกได้ มันช่วยเยียวยาเด็กเหมือนกัน และทำให้เด็กรู้จักการเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก ทั้งที่จริงเด็กออทิสติกไม่ได้มีปัญหาเรื่องการตัดสินใจนะ แค่ไม่เคยมีใครให้โอกาสพวกเขาตัดสินใจ”

Artstory นำผลงานที่มีอยู่บนชิ้นเดียวในโลกของน้อง ๆ มาพิมพ์ลงบนหมวก เสื้อยืด กระเป๋า แล้วขายเพื่อนำรายได้กลับมาสู่มูลนิธิและในอีกส่วนก็ซัพพอร์ตเป็นรายได้ที่มั่นคงให้กับกลุ่มเด็กพิเศษที่มากไปด้วยความสามารถกลุ่มนี้ด้วย 

สามารถอุดหนุนผลงานของพวกเขาได้ที่เฟซบุคเพจ Artstory by AutisticThai 

PaintJai ซื้อกระเป๋าแลกทุนการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ชายขอบ

<i>รูปจากเพจ PaintJai กระเป๋าเพ้นท์โดยน้องสังขละบุรี</i>
รูปจากเพจ PaintJai กระเป๋าเพ้นท์โดยน้องสังขละบุรี

โปรเจกต์เล็ก ๆ ที่เริ่มต้นด้วยหัวใจของเด็กสาวอายุ 20 ต้น ๆ ที่เห็นต้นแบบการทำ CSR มาจากคุณแม่ จีน-จิรสิริ กังวานนวกุล ได้ไอเดียริเริ่มแบรนด์กระเป๋า PaintJai จากการที่เธอได้มีโอกาสไปรู้จักกับเด็ก ๆ และคุณครูที่โรงเรียนบ้านห้วยมาลัยในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

 

"แต่ก่อนเวลาให้น้อง ๆ ทำงานศิลปะ เราก็จะให้เขาวาดบนกระดาษ วาดบนเฟรมผ้าใบ ซึ่งพอเอาไปขาย บางทีคนก็ไม่ได้อยากได้รูปไปติดผนัง เพราะทุกวันนี้บ้านคนก็เล็กลง ๆ ทุกวัน จีนเลยคิดว่าถ้าเป็นกระเป๋า คนก็ได้ถือและได้ใช้ในชีวิตประจำวัน พอเป็นของที่ได้ใช้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนซื้อ และก็ไม่ได้จำกัดว่าศิลปะต้องอยู่บนผนังเท่านั้น มันอยู่ที่ไหนก็ได้" จีนเล่าให้เราฟังถึงตัวสินค้าของเธอ กระเป๋าใบเล็กใบใหญ่ของ PaintJai ก็คือผ้าใบที่เด็ก ๆ จากสังขละบุรีได้บันทึกจินตนาการและความฝันของพวกเขาไว้ จีนนำกระเป๋าเหล่านี้มาโพสต์ขายบนเพจและรายได้ทั้งหมดก็ถูกส่งกลับไปหาเด็ก ๆ เป็นทุนการศึกษาให้พวกเขาได้เรียนต่อ

"เด็กๆ มีความรับผิดชอบมากขึ้น ช่วยเรื่องการเข้าสังคมของพวกเขาด้วย มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพราะโมเดลของเราไม่ใช่แค่ครูสอนนักเรียน แต่ก็มีเด็กที่โตกว่า วาดรูปเก่งกว่าเข้ามาสอนน้อง ๆ ให้วาดได้ด้วย เรื่องการใช้จ่าย เมื่อก่อนตอนแรก ๆ เขาวาดรูปมาก็เอาเงินไปซื้อขนม แต่หลัง ๆ เขาทำงานเยอะ เหนื่อยด้วยตัวเอง พอได้เงินมาน้องก็บอกว่าจะเก็บหมดเลย ไม่ซื้อขนมแล้ว"

อุดหนุนกระเป๋าของ PaintJai ได้ที่เฟซบุคเพจ PaintJai กระเป๋าเพ้นท์โดยน้องสังขละบุรี และอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  https://today.line.me/th/pc/article/XWrmEO

*ที่มาข้อมูล: *

http://www.iconsiam.com/th/the_stories/the-amazing-art-story-of-autistic-thai

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0