โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

23 คณาจารณ์นิติศาสตร์ มธ.ออกแถลงการณ์ ต่อความขัดแย้ง-เสรีภาพชุมนุม

SpringNews

อัพเดต 14 ส.ค. 2563 เวลา 09.02 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2563 เวลา 09.02 น. • SpringNews
23 คณาจารณ์นิติศาสตร์ มธ.ออกแถลงการณ์ ต่อความขัดแย้ง-เสรีภาพชุมนุม

วันที่ 14 ส.ค.63 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 23 คนออกแถลงการณ์ ระบุว่า สังคมไทยได้พัฒนาเป็นสังคมการเมืองพหุนิยมที่มีการแข่งขันกันในทางความคิดเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในแนวทางที่แต่ละฝ่ายต้องการอยู่เสมอ การต่อสู้กันในทางความคิดระหว่างกลุ่มที่ต้องการนำสังคมไปตามฐานคติเสรีประชาธิปไตย และกลุ่มที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับจารีตในทางสังคม วัฒนธรรมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะพัฒนากลายเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ดังมีรายนามท้ายแถลงการณ์นี้เห็นว่าทุกภาคส่วนของสังคมไทยควรพยายามอย่างถึงที่สุดในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และร่วมกันหาทางออกสำหรับปัญหาความแตกต่างและความขัดแย้งทางความคิด และร่วมกันป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาในทุกรูปแบบ

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์เห็นว่า ในสังคมการเมืองเสรีประชาธิปไตย ทุกภาคส่วนของของสังคมมีหน้าที่ต้องยืนยันและยอมรับว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธและการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีภายใต้กรอบของกฎหมายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นนั้นก็ตาม ทั้งนี้เพราะการยืนยันร่วมกันในลักษณะดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ยังเป็นการสร้าง “ฉันทามติพื้นฐาน” หรือ “คุณค่าพื้นฐาน” ร่วมกันของสังคมว่าจะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในทางความคิดและอุดมการณ์ได้อย่างสันติ ด้วยเหตุนี้องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายจึงมีหน้าที่ที่จะต้องให้หลักประกันแก่ประชาชนว่าจะสามารถใช้สิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างอิสระและปลอดภัย ตลอดจนจะต้องงดเว้นไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการขัดขวางหรือตอบโต้การใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ยังมีความเห็นอีกด้วยว่า ในสังคมการเมืองพหุนิยมซึ่งมีความคิดและอุดมการณ์แตกต่างหลากหลาย ทุกภาคส่วนของสังคมควรยอมรับว่าไม่มีคุณค่าใดเป็นคุณค่าสูงสุดเด็ดขาด แต่ควรเปิดโอกาสให้คุณค่าทั้งหลายที่ขัดแย้งกันอยู่นั้นได้มี “พื้นที่ในสังคมการเมือง” และมีโอกาสในการพัฒนาตนเองหรือพัฒนาการอุดมการณ์แห่งคุณค่านั้นด้วย แม้ว่าการเคลื่อนไหวหรือการแสดงออกของผู้ชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้การใช้สิทธิเสรีภาพนั้นบั่นทอนคุณค่าที่คนกลุ่มอื่นของสังคมยึดถือจนพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง การประสานคุณค่าและความต้องการที่แตกต่างหลากหลายจะเป็นหลักประกันของการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมเสรีประชาธิปไตยและช่วยเปิดทางสู่การมีพื้นที่ร่วมเพื่อพัฒนาสังคมไปในทางที่ดีขึ้นดังที่ผู้ใช้สิทธิเสรีภาพพึงประสงค์

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 14 สิงหาคม 2563

1. รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน

2. รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์

3. อาจารย์เมษปิติ พูลสวัสดิ์

4. อาจารย์อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ

5. อาจารย์เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม

6. รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์

7. อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์

8. อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล

9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์

10. อาจารย์มาติกา วินิจสร

11. อาจารย์อภินพ อติพิบูลย์สิน

12. รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์

13. ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ศิริคุณโชติ

14. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง

15. รองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

16. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตามพงศ์ ชอบอิสระ

17. อาจารย์ปทิตตา ไชยปาน

18. อาจารย์ปรีญาภรณ์ อุบลสวัสดิ์

19. ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอฤมต

20. อาจารย์เอื้อการย์ โสภาคดิษฐพงษ์

21. อาจารย์กรกนก บัววิเชียร

22. อาจารย์พัชราภรณ์ ตฤณวุฒิพงษ์

23. อาจารย์ภัทรพงษ์ แสงไกร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0