โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

10 เรื่องน่ารู้ ก่อน “มวยไทย” จะไป “มวยโลก”

JS100 - Post&Share

เผยแพร่ 16 มี.ค. 2561 เวลา 13.00 น. • JS100:จส.100
10 เรื่องน่ารู้ ก่อน “มวยไทย” จะไป “มวยโลก”
10 เรื่องน่ารู้ ก่อน “มวยไทย” จะไป “มวยโลก”

        ช่วงปลายปี 2559 มีข่าวดีเกิดขึ้นในแวดวงกีฬาเมืองไทย เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ประกาศรับรองให้ “มวยไทย” ได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่จะใช้แข่งขันในมหกรรมกีฬานานาชาติ โอลิมปิก แต่สำหรับคนที่หวังว่าจะได้เห็นนักกีฬามวยไทย บนเวทีมวยโลกในโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 29 หรือ โตเกียว 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ คงต้องผิดหวังและร้องเพลงรอไปก่อน  ไม่แน่ว่า ในปี ค.ศ. 2024 ( พ.ศ. 2567) เราจะได้เห็น  “แม่ไม้มวยไทย” บนเวทีระดับโลกอย่างโอลิมปิกก็ได้
        แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับ “มวยไทย” อย่างน้อยก็ 10 เรื่องนี้…

CR. muaythaionlines.blogspot.com

        1. “อาชีพนักมวย” 
        อาชีพนี้มีมานาน อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 400 ปีแล้ว โดยมีหลักฐานอยู่ในจดหมายเหตุที่เขียนโดย เมอซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ราชฑูตชาวฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งระบุว่า “ผู้คนนิยมชกมวยมาก และบางคนยังยึดเป็นอาชีพด้วย”

Cr.chassp.blogspot.com

        2.“กรมนักมวย” 
        หรือ “ตำรวจหลวง” เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นกรมที่เปิดโอกาสให้ผู้มีฝีมือในการชกมวย ได้รับคัดเลือกเข้ารับราชการ 

Cr. awesomemuaythai.com

        3. “นายขนมต้ม” 
        ถือเป็นนักมวยไทยคนแรกที่สร้างชื่อเสียง ให้ต่างชาติได้รู้จักศิลปะมวยไทยมากขึ้น เมื่อสามารถชกมวยเอาชนะนักมวยพม่าได้ติดต่อกันถึง 10 คน  แม้เวลาจะผ่านมากว่า 200 ปีแล้ว แต่ชื่อของ “นายขนมต้ม” ก็ยังเป็นที่รู้จักในฐานะวีรบุรุษนักชกของคนไทยเสมอ 

Cr.muaythaiinstitute.wixsite.com

        4.“ยุคทองมวยไทย”
        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคที่มวยไทยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย  รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดที่จะศึกษาศิลปะมวยไทย และโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุ “วิชามวยไทย” ในหลักสูตรการศึกษาด้วย 

Cr. pxhere.com

        5. “ญี่ปุ่น” ชาติที่หลงใหลในศิลปะมวยไทย
        คนญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับมวยไทย แต่คนญี่ปุ่นคลั่งไคล้มวยไทยมาหลายสิบปีแล้ว โดยเมื่อปี พ.ศ.2502 นายไคโต เคนกูจิ ผู้นำทางด้านศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นได้เริ่มนำ “มวยไทย” ไปสู่สายตาของคนญี่ปุ่น 

Cr. muaychaiya-phuket.blogspot.com

        6.มวยไทยโบราณ 4 ภาค
        คนทั่วไปรู้จักแค่ “มวยไทย” แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า ศิลปะมวยไทยในแต่ละภูมิภาค มีเอกลักษณ์และชื่อเรียกเฉพาะตัว  ได้แก่ ภาคเหนือ-มวยท่าเสา , ภาคอีสาน-มวยโคราช , ภาคกลาง-มวยลพบุรี และภาคใต้-มวยไชยา  

Cr. rajadamnern.com

        7.“สนามมวยราชดำเนิน” 
        ในปี พ.ศ. 2488 ได้มีการก่อสร้างสนามแข่งขันชกมวยไทยอาชีพขึ้นอย่างเป็นทางการบน ถ.ราชดำเนินนอก  ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อ “เวทีมวยราชดำเนิน” 

cr. muaythai.mcru.ac.th 

        8.“ปริญญาตรี-เอก มวยไทย”
        สำหรับใครที่ชื่นชอบศิลปะ “แม่ไม้มวยไทย” อยากรู้จักและเรียนรู้ศิลปะแขนงนี้อย่างละเอียด ที่วิทยาลัยมวยไทยศึกษาฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี ได้เปิดสอนสาขามวยไทยในระดับปริญญาตรี ถึงปริญญาเอก

cr. kanchanapisek.or.th

        9.ขึ้นทะเบียน “มวยไทย” 
        ในปี พ.ศ. 2553 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “มวยไทย” ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย 

cr.thainews.prd.go.th

       10.“วันมวยไทย” 
        วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันมวยไทย” โดยที่มาของวันนี้ เป็นวันที่สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 8 หรือสมเด็จพระเจ้าเสือ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระบิดามวยไทย เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัตินั่นเอง  

        เป็นอย่างไรบ้าง 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “มวยไทย” เชื่อว่าเมื่อไหร่ที่ “นักกีฬามวยไทย” ได้ประกาศศักดาให้นานาประเทศรู้จักศิลปะวัฒนธรรมของไทยบนเวทีใหญ่ระดับโอลิมปิก ข้อมูลนี้จะทำให้คุณคุยเรื่อง “มวยไทย” กับเขารู้เรื่องมากขึ้น
        ส่วนใครที่อยากเห็นการไหว้ครู รอติดตามได้ในวันพรุ่งนี้ (17มี.ค.61) ทีมข่าว JS100 จะพาไปชมการไหว้ครูที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กันนะคะ
        เรียบเรียงข้อมูลจาก awesomemuaythai.com  , kanchanapisek.or.th , imaes.net , maemaimuaythai.blogspot.com , ich.culture.go.th

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0