โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“RMF for PVD” ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องเหมือน... ‘กอง RMF-ปกติ’!!!

Wealthy Thai

อัพเดต 13 ส.ค. 2563 เวลา 08.56 น. • เผยแพร่ 13 ส.ค. 2563 เวลา 08.56 น. • wealthythai
“RMF for PVD” ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องเหมือน... ‘กอง RMF-ปกติ’!!!
ช่วง 5 เดือนแรกของปี20 “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)” เอง มีสินทรัพย์สุทธิลดลง 15,133.15 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.24% มาอยู่ที่ 1.21 ล้านล้านบาท

ช่วง 5 เดือนแรกของปี20 “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)” เอง มีสินทรัพย์สุทธิลดลง 15,133.15 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.24% มาอยู่ที่ 1.21 ล้านล้านบาท

           

แต่ผลกระทบจาก ‘วิกฤติ COVID-19’ ที่ส่งผลให้หลายคนต้องออกจากงาน ลาออกจาก PVD หรือนายจ้างยกเลิก PVD 

           

ทำให้ ‘สมาชิก PVD’ ในระบบลดลง 64,989 ราย ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับสมาชิก PVD ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 3.25 ล้านราย

 

หากคุณอายุยัง ‘ไม่ถึง 55 ปี’ และลงทุนมา ‘ไม่ถึง 5 ปี’ ก็จะ ‘เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี’ ไปบางส่วนตามเงื่อนไข

 

แต่สำหรับใครที่ยังไม่รีบร้อนใช้เงินก้อนนี้ วันนี้ทีมงาน ‘Wealthythai’ มีเรื่องราวดีๆ ที่น่าสนใจจาก “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)” มาฝากกัน

 

 

“RMF for PVD” ตัวช่วย… ‘รักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี’ PVD

สำหรับ “เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)” ภาครัฐส่งเสริมให้แรงงานได้เก็บออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณ จึงให้ ‘ประโยชน์ทางภาษี’ กับนายจ้างและลูกจ้างมาเพื่อจูงใจให้เก็บเงินก้อนนี้กัน เมื่อเป็น ‘เงินเกษียณ’ ก็พึงนำเอามาใช้ ‘ยามเกษียณ’ ตามเป้าหมาย

           

“แต่ ‘วิกฤติ COVID-19’ ก็ส่งผลกระทบไปในวงกว้างทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม หลายคนไม่ได้เตรียม ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ ไว้อย่างเพียงพอ เมื่อมีเหตุต้องออกจากงาน หรือบริษัทที่ทำงานอยู่ต้องปิดตัวลง ก็อาจจำเป็นต้องนำเงินเกษียณก้อนนี้ออกมาใช้ก่อน แต่สำหรับคนที่ยังไม่รีบใช้เงินก้อนนี้และยังต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้นั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน”

 

                     

(ศิษฏศรี นาคะศิริ)

 

โดย “ศิษฏศรี นาคะศิริ” ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แนะนำว่า สมาชิกสามารถคงเงินไว้ในกองเดิม (กรณีไม่ได้เลิกกอง) เพื่อรอโอนย้ายไป PVD ของนายจ้างใหม่ หรือสามารถย้ายเงินจาก PVD ไปยังกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเงินโอนจาก PVD โดยเฉพาะ ที่เรียกว่า “RMF for PVD” ซึ่งถือเป็น ‘ตัวช่วย’ ในการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมีเงื่อนไขการลงทุนเหมือนกับการลงทุน PVD คือต้องลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปี โดยนับต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิก PVD ที่โอนไป และถอนการลงทุนเมื่ออายุ 55 ขึ้นไป

 

เมื่อย้ายไป ‘RMF for PVD’ แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมา PVD ได้อีก แต่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายและกองทุน รวมถึงย้ายกองทุนไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แห่งอื่นได้ด้วย ปัจจุบันมี ‘RMF for PVD’ ให้เลือกลงทุนได้ทั้งหมด 54 กองทุน จาก 10 บลจ. โดยมีนโยบายลงทุนในหุ้น 28 กอง, ตราสารหนี้ 10 กอง, แบบผสม 13 กอง และสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์อีก 3 กอง”

 

 

บริหารพอร์ตเกษียณ…ผ่าน ‘RMF for PVD’ ได้

สมาชิกสามารถเลือกกองทุนที่มีนโยบายสอดรับกับแผนการลงทุนของตนเอง โดยพิจารณาเลือกให้เหมาะสมกับ ‘ช่วงอายุ’ และ ‘ความสามารถในการรับความเสี่ยง’ เช่น คนที่มีอายุ 30 ปี สามารถลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงและมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงได้ เช่น กองหุ้น และกองทุนผสม เป็นต้น ขณะที่คนที่อายุใกล้วัยเกษียณและไม่ต้องการรับความเสี่ยงสูง อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนที่มีพอร์ตความเสี่ยงต่ำ เช่น กองตราสารหนี้ เป็นต้น

 

 

“นอกจากนี้ เมื่อโอนเงินมายัง ‘RMF for PVD’ แล้ว ก็ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องเหมือน ‘กอง RMF-ปกติ’  เพราะกองทุน RMF for PVD เปิดรับเฉพาะเงินโอนย้ายจาก PVD เท่านั้น แต่ยังสามารถบริหารสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation) ของเงินดังกล่าวได้ เพื่อให้ตอบโจทย์การลงทุนได้มากขึ้น โดยการย้ายหรือสับเปลี่ยนไปยังกอง RMF for PVD กองอื่น”

 

ตัวอย่าง กรณีนายจ้างยกเลิก PVD ในขณะที่มีอายุ 35 ปี ซึ่งยังสามารถยอมรับความเสี่ยงได้สูงจึงโอนเงิน PVD ทั้งก้อนมายัง RMF for PVD ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น แต่ต่อมามีความกังวลต่อทิศทางตลาดหุ้นในอนาคตจึงแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนในตราสารหนี้ด้วย โดยขอสับเปลี่ยนไปยัง RMF for PVD ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ได้ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไข และค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนจากตัวแทนขาย

 

สำหรับผู้ที่สนใจจะโอนย้ายเงินจาก “PVD” ไปยัง ‘RMF for PVD’ วันนี้คุณมีทางเลือกแล้ว สามารถติดต่อสอบถามจาก ‘10 บลจ.’ ที่มีบริการนี้อยู่ได้เลย ไม่ต้องกังวลในเรื่องขั้นตอน รายละเอียด เพียงแจ้งความประสงค์ต่อบลจ.ที่คุณสนใจเท่านั้น เชื่อว่าทุกบลจ.พร้อมให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก PVD ทุกท่านที่สนใจเป็นอย่างดีอย่างแน่นอน 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0