โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ไฮด์ปาร์ค” วิถีแห่งประชาธิปไตย กล้าวิจารณ์การเมือง-โจมตีรัฐบาล มีที่มาจากไหน?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 26 ธ.ค. 2565 เวลา 04.43 น. • เผยแพร่ 23 ธ.ค. 2565 เวลา 16.54 น.
บรรยากาศไฮด์ปาร์ควิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลจอมพล ป.
บรรยากาศไฮด์ปาร์ควิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลจอมพล ป.

“ไฮด์ปาร์ค” เป็นที่รู้จักของคนไทยในช่วงไม่กี่ปีก่อนปี พ.ศ. 2500 โดยเป็นการออกมาร่วมชุมนุมเพื่อ พูด-ปราศรัย-ถก-วิจารณ์ เรื่องต่าง ๆ ในสังคม และส่วนมากในไทยก็มุ่งเน้นไปที่เรื่องการเมือง

ไฮด์ปาร์คในไทยนั้นดูเป็น “การชุมนุมทางการเมือง” ซึ่งแตกต่างจากไฮด์ปาร์คเวอร์ชันต้นฉบับที่มีที่มาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งชาวอังกฤษไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว พวกเขาให้ความสำคัญและเน้นย้ำบนรากฐาน “เสรีภาพแห่งการพูด” จึงพูดทุกเรื่องในสังคม เช่น สิทธิสตรี แรงงาน การทหาร ศาสนา มังสวิรัติ สิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ฯลฯ

อุทยานไฮด์ปาร์ค (Hyde Park) สวนสาธารณะในอังกฤษจะมีพื้นที่หนึ่งที่เรียกว่า Speakers’ Corner ซึ่ง Speakers’ Corner ใช้เรียกพื้นที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอุทยาน ซึ่งมักมีคนมาชุมนุมกันเพื่อพูดคุย/วิพากษ์วิจารณ์/เรียกร้อง หรืออะไรก็ตามแต่ที่พวกเขาต้องการที่จะ “พูด”

ที่มาที่ไปของ Speakers’ Corner นี้ มีจุดเริ่มห่างจากมุมนั้นไม่กี่ก้าว ตรงบริเวณที่เรียกว่า Tyburn Gallows ซึ่งเป็นตะแลงแกงไว้ประหารชีวิตนักโทษโดยการแขวนคอมาเนิ่นนานหลายร้อยปี คาดการณ์ว่า นับตั้งแต่อดีตถึง ค.ศ. 1783 มีผู้ถูกแขวนคอไปกว่า 50,000 คน

ก่อนที่นักโทษจะถูกแขวนคอนั้น พวกเขาจะกล่าว “Final Speech” บ้างยอมรับสารภาพความผิด บ้างสวดอ้อนวอนพระเจ้า บ้างกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ บ้างก็สาปแช่งอย่างเคียดแค้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดปราศรัยในที่สาธารณะต่อหน้าประชาชนที่มาชุมนุมอย่างเนื่องแน่น

รูปแบบของ Speakers’ Corner ในปัจจุบันนี้ เริ่มต้นในกลางศตวรรษที่ 19 จากเหตุการณ์ที่ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐสภาที่ออกกฎหมาย Sunday Trading Bill ห้ามการซื้อ-ขายของในวันอาทิตย์ ซึ่งตรงกับวันหยุดเพียงวันเดียวของแรงงานอังกฤษ

ความไม่พอใจต่อกฎหมายนี้จึงนำมาสู่การรวมตัวชุมนุม ซึ่งต่อมากลายสภาพเป็นการจราจล โดยกลุ่มหัวรุนแรงที่เรียกว่าสมาคมปฏิรูป (Reform League) สุดท้ายรัฐบาลก็ปราบปรามการขุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมไว้หลายคน

ในปี ค.ศ. 1872 รัฐสภาอังกฤษจึงออกพระราชบัญญัติระเบียบอุทยาน (Parks Regulation Act) ให้สิทธิแก่ประชาชนในการพบปะและพูดอย่างอิสระในอุทยานไฮด์ปาร์ค แต่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขและกฎระเบียบต่าง ๆ รวมไปถึงการขอใบอนุญาตในการปราศรัย

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการเดินขบวนชุมนุมกันขนาดใหญ่ทั่วอุทยาน ซึ่งชาวอังกฤษออกมาเรียกร้อง“สิทธิสตรี” ให้สตรีมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง มีการชุมนุมมาเรื่อย ๆ ทุก ๆ สัปดาห์ตั้งแต่ ค.ศ. 1906 จนเมื่อถึงวันสตรีแห่งชาติ ในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1908 ผู้หญิงออกมาเดินขบวนชุมนุมกันมากกว่า 250,000 คน แล้วกระจายตัวกันไปฟังปราศรัยในจุดต่าง ๆ ในอุทยานซึ่งมีกว่า 20 แห่ง

การปรากฏขึ้นของ “ไฮด์ปาร์ค” และ Speakers’ Corner ในกรุงลอนดอน ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ชาวอังกฤษในเมืองอื่น อีกทั้งยังแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ในการพูดหรือการปราศรัย ผู้พูดต้องยืนอยู่ในจุดที่มองเห็นได้ง่าย เมื่อขบวนการไฮด์ปาร์คเริ่มแพร่หลายไปทุกท้องที่ ในช่วงทศวรรษ 1930 ผู้พูดจึงนิยมใช้ Soapbox หรือลังสบู่มาวางเป็นเวทีเพื่อให้ง่ายและสะดวก โดยมักพบมากในบริเวณตลาดสด

แม้เสรีภาพของการพูดจะได้รับการยอมรับจากฝ่ายรัฐ แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะพูดได้เสมอไป เจ้าหน้าที่รัฐมักสอดส่องดูแลการปราศัยเสมอ ซึ่งบางครั้งก็อาจหาเหตุจับกุมประชาชน กล่าวโทษว่าวาทกรรมทางการเมืองที่รุนแรงนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการปลุกเร้าอาชญากรรม ความรุนแรง และเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อย

เสรีภาพแห่งการพูดนี้จึงเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวอังกฤษที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานจวบจนได้รับการยอมรับให้เป็นกฎหมายในที่สุด ถือเป็นชัยชนะของประชาชนที่เรียกร้องสิทธินี้มาอย่างยาวนาน บุคคลสำคัญ ๆ ทางประวัติศาสตร์ เช่น คาร์ล มาร์ซ (Karl Marx) และวลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ต่างก็เคยมาพูดที่ Speakers’ Corner แล้วทั้งนั้น

อุทยานไฮด์ปาร์คนอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรม พักผ่อน และออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นสถานที่สำหรับ “ออกกำลังฝีปาก” ของชาวอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การกล่าวโจมตีให้ร้ายกันอย่างเดียวเท่านั้น แต่ด้วยการพูดที่ถูกวางบนหลักของเสรีภาพ นั่นจึงก่อให้เกิด “การวิพากษ์วิจารณ์” อย่างมีเหตุมีผลบนหลักการของ “ประชาธิปไตย”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

Marble Arch London. (2017). The History of Speakers Corner, from marble-arch.london/culture-blog

The Royal Parks. (2019). Speakers’ Corner, from www.royalparks.org.uk

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ กุมภาพันธ์ 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0