โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“โทษเหยื่อ เชื่อใจจำเลย” ปฏิกิริยาทางสังคมเมื่อเกิดคดีข่มขืน - จุดประเด็น

LINE TODAY

เผยแพร่ 17 มิ.ย. 2563 เวลา 17.00 น. • AJ.
ขอบคุณภาพจาก  Romina Farías / unsplash.com
ขอบคุณภาพจาก  Romina Farías / unsplash.com

ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่กลายเป็นประเด็นสังคมอย่างรวดเร็ว ทั้งข่าวแก๊งครูข่มขืนลูกศิษย์ ข่าวตำรวจล่วงละเมิดเด็กหญิงในสถานีตำรวจ คนในเครือญาติข่มขืนลูกหลาน ข่าวข่มขืนกลายเป็นข่าวรายวันที่คนไทยอย่างเราต้องอ่านวนไปไม่รู้จักจบ

ทุกครั้งที่มีข่าวข่มขืน ผลกระทบที่มักเกิดตามมาคือความโกรธแค้นและขุ่นเคืองจากสังคม แต่อีกด้านหนึ่งก็มักมีเสียงสะท้อนข้องใจจากฝั่งผู้กระทำผิด ทั้งตัวจำเลยเองและคนรอบกาย อย่างกรณีที่เห็นได้ชัดเจน คือกรณีแก๊งครูที่มีข้อพิพาทจากการที่เพื่อนครูออกมาเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียในเชิงให้กำลังใจ แม้จะรู้ว่าผู้กระทำมีความผิดก็ตาม เกิดเป็นกระแสวิจารณ์ในแง่ลบถึงความไม่เหมาะสม ทั้งในแง่ของรูปคดี และจรรยาบรรณของความเป็นครู

การเข้าข้างผู้กระทำผิดในฐานะคนกันเองนี้ อธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยาที่เราอยากให้ทุกคนได้อ่าน เชื่อมโยงไปถึงค่านิยม “โทษเหยื่อ” ที่มักเกิดขึ้นควบคู่กันกับทฤษฎี “เพื่อนฉันเป็นคนดี” ที่กล่าวถึงการเลือกข้างอย่างไม่ยุติธรรมต่อผู้ถูกกระทำ ดังที่เห็นอยู่บ่อยครั้งในข่าวล่วงละเมิดทางเพศ

เพราะเพื่อนฉันเป็นคนดี คดีนี้เขาจึงไม่ผิด

บทบาท“เขาเป็นคนดี” ของจำเลยอาจไม่ใช่เรื่องโกหก แต่ผู้เชี่ยวชาญทั้งในทางกฎหมายและจิตวิทยาบอกว่าหากใช้หลักฐานจากปากคำคนใกล้ชิดมายืนยันความบริสุทธิ์ของผู้ก่อเหตุ น่าจะเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมกับผู้ถูกกระทำเท่าใดนัก

เพราะคนที่บอกว่า “เขาเป็นคนดี”ไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเหยื่อเลยสักคน

ขอย้อนพูดถึงคดีล่วงละเมิดทางเพศที่เคยโด่งดังในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2016 คือคดีของบร็อค เทอร์เนอร์ (Brock Turner) นักว่ายน้ำดาวรุ่งจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ถูกแจ้งความในคดีล่วงละเมิดทางเพศนักศึกษาหญิงในปาร์ตี้ขณะที่เธอกำลังหมดสติ คดีความของบร็อคได้รับความสนใจในแง่ที่เขาถูกจำคุกเพียง 3 เดือนทั้ง ๆ ที่อาชญากรรมระดับนี้ควรรับโทษอย่างต่ำ 6 ปี หลายคนกังขาในระบบความยุติธรรมของสหรัฐฯ ที่เอื้อประโยชน์ต่อคนผิวขาวผู้มีสถานะทางสังคม ทั้งยังก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์รุนแรงหลังจากที่พ่อของบร็อค ยืนยันต่อศาลว่า “ชีวิตของลูกชายได้พังทลายลงจากคดีนี้ และเขาไม่ควรได้รับโทษจากการหลงผิดเพียง 20 นาทีของเขาเลย”

น่าเศร้าที่คุณพ่อถือเอาอนาคตของลูกชายเป็นสำคัญ โดยไม่สนใจไยดีต่อความรู้สึก และสิ่งที่เหยื่อของนายบร็อคต้องเผชิญใน “20 นาที” ที่คุณพ่อพูดถึงสักนิดเดียว

บร็อค เทอร์เนอร์ ผู้ต้องหาคดีข่มขืนที่เป็นข่าวโด่งดังในประเทศสหรัฐอเมริกา

คนดีของใคร?

การที่จำเลยมีสถานะทางสังคม อาจเป็นคนมีตำแหน่ง เป็นคนในเครื่องแบบ หรือในบางครั้ง แค่เป็นเพื่อน เป็นน้อง ก็มากพอที่จะทำให้คนรอบตัวไม่เชื่อในความผิดของเขาแล้ว

ชุดความคิดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เจฟ ดีออน (Jeff Dion) รองผู้อำนวยการบริหารองค์กรไม่แสวงผลกำไร National Center for Victims of Crime ให้ความเห็นเพิ่มว่าคนเหล่านี้อาจลวงตาผู้อื่นด้วยการทำความดี เข้าวัดทำบุญ เพราะเชื่อว่าหากวันหนึ่งที่พลั้งพลาด “ความดี” เหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นปราการด่านแรกในการปกป้องตัวเขาเอง

และหากความเชื่อเหล่านี้มี “อารมณ์” เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจเป็นความสนิทสนมกัน เคยไปมาหาสู่กัน ไม่เคยมีเรื่องขัดใจกัน หลักฐานใด ๆ ที่มัดตัวจำเลยก็ไม่อาจแข็งแกร่งพอที่จะทำลายกำแพงความคิดที่ว่า “เขาเป็นคนดี” ของคนรอบตัวเหล่านี้ลงได้ ในหลายครั้ง จึงยิ่งตอกย้ำค่านิยมของการ “กล่าวโทษเหยื่อ” ซึ่งเป็นการทำร้ายผู้ถูกกระทำซ้ำไปซ้ำมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ภาพจาก freepik.com
ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์จริงใด ๆ ทั้งสิ้น / freepik.com

โทษเหยื่อ ง่ายกว่า

ทุกคนที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงหรือเหยื่อข่มขืน ต่างเคยถูกกล่าวโทษด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น “ทำไมแต่งตัวโป๊” “ทำไมไปกับเขา” “ทำไมไม่สู้” “ทำไมต้องออกมาแฉครู” ซึ่ง รอนนี แจนอฟบัลแมน (Ronnie Janoff-Bulman) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซ็ตต์ ให้เหตุผลถึงการ “โทษเหยื่อ” (Victim Blaming) ไว้ว่าต้นเหตุเกิดมาจาก “การมองโลกในแง่ดี” ซึ่งเป็นนิสัยพื้นฐานของมนุษย์เรานี่แหละ

แม้ส่วนหนึ่งของการโทษเหยื่อจะเกิดจากการเพิกเฉย และอุปนิสัยส่วนตัวของคนบางคน แต่มนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานการมองโลกในแง่ดี หรือในภาษาคนขี้ประชดก็คือ “โลกสวย” นั่นเอง มนุษย์เราเชื่อว่าโลกเป็นสถานที่ดีงาม ใครทำดีต้องได้ดี ถ้าฉันเป็นคนดี ฉันย่อมได้รับสิ่งดีงามกลับคืน ดังสุภาษิต “หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น” แม้ลึก ๆ ทุกคนจะมีสติรับรู้ว่าบางครั้งคนดี ๆ ก็เจอเรื่องแย่ ๆ ได้ แต่สมองของคนส่วนมากยังคงเชื่อมั่นในความยุติธรรมของโลก ดังนั้นเมื่อมีเรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้นกับใครสักคน ความเชื่อที่ว่าโลกเป็นสถานที่ดีงามจะถูกสั่นคลอนทันที นั่นทำให้คนบางพวกหาเหตุผลล้านแปดมาสรุปว่าเหยื่อ “ทำตัวเอง” และถ้าฉันไม่ทำตัวแบบเหยื่อ เรื่องเลวร้ายก็จะไม่เกิดขึ้นกับฉัน

หยุด “โลกสวย” แล้วหันมาเคารพในความเป็นมนุษย์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณลักษณะ “โลกสวย” ที่เรามี เป็นทักษะสำคัญที่ช่วยพยุงความเป็นอยู่ของมนุษยชาติมาแต่ไหนแต่ไร จินตนาการดูก็ได้ว่าหากมนุษย์ไม่เชื่อในความดีงามหรือบาปบุญคุณโทษ โลกนี้จะวุ่นวายและโกลาหลขนาดไหน เราต่างอยากอาศัยในโลกที่เต็มไปด้วยความถูกต้องและยุติธรรม ไม่มีใครเสียเปรียบและถูกล่วงเกินในโลกใบนั้น 

ดังนั้นหากมีเรื่องราวที่กระตุกศีลธรรมในตัวคุณเกิดขึ้นอีก ขอให้ถามตัวเองก่อนใครว่าหากเราเป็นผู้ถูกกระทำเสียเอง เราจะรู้สึกอย่างไร? ให้คิดถึงผู้ถูกกระทำด้วยความเข้าใจแทนความข้องใจดูบ้าง เพราะคุณเองก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของวงจร “โทษเหยื่อ” และ “เชื่อใจจำเลย” โดยไม่รู้ตัว

--

อ้างอิง

- mashable.com

- psychologytoday.com

- thaihealth.or.th

- bbc.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0