โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“เหล้าจ๋า โควิดมา งดก่อนซิ” ว่าด้วยการแบนเหล้าในวิกฤตโรคระบาด - จุดประเด็น

LINE TODAY

เผยแพร่ 06 พ.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • AJ.

หลังผ่อนปรนมาตรการงดขายเหล้าวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา เราเห็นข่าวคนไทยจำนวนมากเข้าคิวแห่ซื้อแอลกอฮอล์ เรียกเสียงวิจารณ์ถึงพฤติกรรมไม่เว้นระยะดังกล่าว พร้อมตั้งคำถามถึงมาตรการงดขายเหล้าเบียร์ด้วยว่าเหมาะสมแค่ไหน ส่งผลอย่างไร และรัฐบาลควร “งด” ต่อไปหรือไม่

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ใช้การแบนสุราในวิกฤตโควิด19 หลายประเทศก็ยกมาตรการนี้มาเพิ่มความแข็งแกร่งให้มาตรการป้องกันการระบาด กระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็เคยออกมาเตือนให้จำกัดการเข้าถึงแอลกอฮอล์ โดยชูประเด็นสุขภาพ ผลกระทบจากเหล้า พร้อมแก้ข่าวที่เป็นไวรัลว่าแอลกอฮอล์ในเหล้าสามารถฆ่าเชื้อโควิด19 ได้ ซึ่งไม่จริง!

แต่ “ของมึนเมา” เป็นปัญหาจริง ๆ หรือ? ถ้าเหล้าไม่ดีแล้วทำไมเรายังดื่ม? มาสำรวจสถานการณ์แอลกอฮอล์ของผู้คนกันหน่อย ว่าประชากรโลกเขามีพฤติกรรมการดื่มอย่างไร ในยุคโควิด19

ยิ่งระบาด ยิ่งอยากดื่ม

แอลกอฮอล์กับความวิตกกังวลมีความเกี่ยวพันกันอยู่ หลายครั้งผู้ดื่มเลือกใช้ความมึนเมาขจัดความกลุ้มใจ ความเครียด โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาด ที่ทั้งโลกถูกล็อกดาวน์ ผู้คนถูกบังคับให้ปฏิบัติตนอยู่ในกฎระเบียบ (บางครั้งก็กฎหมาย) เคร่งครัดเพื่อหยุดโรคระบาด

ผลวิจัยของ Alcohol Change UK จากประเทศอังกฤษบอกเราว่า 1 ใน 5 ของประชากรอังกฤษยอมรับว่าดื่มมากขึ้นในสถานการณ์แบบนี้ โดยเฉพาะนักดื่มวัยทำงานที่มักกลับบ้านมาจิบหลังเลิกงานเป็นกิจวัตร

ที่สหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์นแคลิฟอร์เนียชี้ว่ายอดขายเหล้าพุ่งขึ้นกว่า 50% ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาฯ หลังจากหลายรัฐเริ่มมีมาตรการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะยอดขายทางออนไลน์ ร้านอาหารหลายที่ก็มีการปรับตัวให้ซื้อเหล้ากลับบ้านพร้อมอาหารได้

กลับมาใกล้ ๆ บ้านเราบ้าง ประเทศอินเดียก็วุ่นกับการขึ้นภาษีเหล้าหลังผ่อนมาตรการล็อกดาวน์จนเกิดความชุลมุนไม่สน Social Distance โดยรัฐบาลท้องถิ่นในกรุงนิวเดลี ประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิต 70% สำหรับการซื้อเหล้าเบียร์ทุกประเภททันที พร้อมเตือนประชาชนว่าหากตรวจพบการฝ่าฝืนมาตรการเว้นระยะห่างอีก จะยกเลิกการผ่อนคลายล็อกดาวน์ทันที โหดสมเป็นอินเดีย!

ส่วนไทย เราเห็นข่าวประชาชนแห่ซื้อเหล้าหลังจากผ่อนปรนมาตรการเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากผลสำรวจเมื่อปี 2562 จะเห็นได้ว่าคนไทยดื่มเหล้าติดอันดับโลกอยู่เหมือนกัน โดยพบว่าประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 55.9 ล้านคน เป็นผู้ดื่มสุรา อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายหากผู้ดื่มมีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป (แต่แน่นอนว่าถ้าผู้ดื่มใช้ความมึนเมาในการกระทำมิชอบ อันนั้นไม่ต้องเมาก็ผิด!) ในกรณีนี้ รัฐจะดูสถานการณ์ต่ออีก 14 วันเป็นระยะทดลองการผ่อนปรน โดยหวังว่าโรคจะไม่ระบาดร้ายแรงไปกว่านี้

เหล้า VS สุขภาพช่วงโควิด

น่าจะคาดเดากันไม่ยาก ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินพอดียิ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ(ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโควิด 19 โดยตรง แต่หมายถึงเชื้อโรคทั่วไป) เพราะการดื่มเหล้าติดต่อกันบ่อย ๆ อาจทำลายระบบภูมิคุ้มกันเราให้อ่อนแรง เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปเร่งโปรตีนในภูมิคุ้มกันให้ทำงานผันผวนผิดระบบที่ร่างกายต้องการ

และแม้คนส่วนหนึ่งจะใช้เครื่องดื่มมึนเมาปลอบประโลมจิตใจยามวิกฤต คนอีกกลุ่มก็เปลี่ยนการกักตัวให้เป็นการเลิกเหล้าเสียเลย โดยเรียกการมุ่งมั่นไม่ดื่มเหล้าว่า “Dry Covid” คนกลุ่มนี้ใช้ประโยชน์จากการไม่ได้ออกจากบ้านเป็นการหยุดตัวเองไม่ให้ซื้อเครื่องดื่มมึนเมา ซึ่งจำนวนคนที่เปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มของตนเองระหว่างโควิด 19 ระบาดในประเทศอังกฤษก็มีมากถึง 1 ใน 3 ของคนที่ดื่มเหล้าอยู่แล้วเลยทีเดียว

สำหรับใครที่ตั้งใจเลิกเหล้าอยู่แล้ว ลองเปลี่ยนวิกฤตโควิดให้เป็นโอกาสในการงดเหล้า ก็ฟังดูเข้าท่านะ!

“ภาวะขาดเหล้า” ที่เราควรทำความเข้าใจ

ในขณะที่หลายฝ่ายเห็นพ้องว่าของมึนเมาเป็นตัวการทำให้ โควิด19 ยิ่งระบาด จากมาตรการห้ามขายเหล้าเบียร์ทุกชนิด เริ่มประกาศจากในกทม.เมื่อกลางเดือนถึงปลายเดือนเมษาฯ ที่ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมืองให้เหตุผลว่าต้องการลดกิจกรรมรวมตัวสังสรรค์ที่อาจเกิดขึ้นช่วงวันสงกรานต์ จนอาจทำให้โควิด19 ระบาดรุนแรงอีก

แต่การหยุดจำหน่ายเหล้ากะทันหันก่อให้เกิดผลกระทบกับคนไทยหลายภาคส่วนอยู่เหมือนกัน ทั้งกับเจ้าของร้านสะดวกซื้อรายย่อยและเจ้าของผับบาร์ที่ขาดรายได้สำคัญ รวมถึงผู้ป่วยสุราเรื้อรัง ที่เมื่อขาดเหล้า จะมีอาการทางกาย เช่น มือสั่น เห็นภาพหลอน บางรายรุนแรงถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตด้วยซ้ำไป หากคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวมีอาการดังกล่าว อย่าลืมสังเกตอาการและพาไปพบแพทย์ด่วน

ปัญหานี้ภาครัฐเองก็ไม่ได้ปล่อยผ่าน โดย กทม. มีโครงการเปิดให้ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรังเข้ารับการรักษาฟรีได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกทม. และศูนย์บริการสาธารณสุขกทม.ด้วย นอกจากนี้สายด่วนปรึกษาปัญหาสุรายังออกมาเปิดเผยด้วยว่า ช่วงเวลาที่มีการแบนเครื่องดื่มมึนเมา จำนวนผู้ที่โทรเข้ามาขอคำแนะนำมีจำนวนมาก เกือบเท่าช่วงรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาที่ปกติกินเวลา 3 เดือนทีเดียว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมองในภาพรวม ปัญหาที่ตามมากับของมึนเมามีทั้งความรุนแรง ประเด็นเมาแล้วขับ หรือการตั้งวงมั่วสุมในช่วงเวลาที่ทุกคนยังจำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคม เห็นได้จากสถิติการชุมนุมมั่วสุมในเคหสถาน ซึ่งได้แก่การดื่มสุราถึงร้อยละ 60 จากจำนวนผู้กระทำผิด 129 คน (สรุปยอดเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2563) ดังนั้นเหล่านักดื่มควรหลีกเลี่ยงการตั้งวงใด ๆ ขอให้ดื่มห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ จากเพื่อนฝูงไปก่อน แล้วเราค่อยกลับมาเจอกันหลัง โควิด19 แล้วกัน

หากคุณ คนรู้จัก หรือคนที่คนรัก ต้องการคำปรึกษา ไม่ว่าจะเรื่องการเลิกเหล้า หรือเรื่องภาวะถอนแอลกอฮอล์ ติดต่อ 1413 สายด่วนเลิกเหล้าได้เลย

--

อ้างอิง

1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0