โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“เฟซบุ๊ก-ติ๊กต็อก”เจอด้วย อินโดฯเก็บ VAT 10%

Businesstoday

เผยแพร่ 10 ส.ค. 2563 เวลา 01.45 น. • Businesstoday
“เฟซบุ๊ก-ติ๊กต็อก”เจอด้วย อินโดฯเก็บ VAT 10%

อินโดฯเก็บ VAT 10% จากบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติอีก 10 รายที่ให้บริการและขายผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ประเดิมเดือนหน้า เฟซบุ๊ก ดิสนีย์ ติ๊กต็อกเจอด้วย สรรพากรแจงต้องการสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมสำหรับทุกธุรกิจ ขณะโควิด-19 ทำรายได้รัฐหดหาย

สรรพากรอินโดนีเซียประกาศรายชื่อบริษัทดิจิทัลต่างชาติ 10 แห่งที่จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 10% จากการให้บริการและขายผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในอินโดนีเซีย เริ่มตั้งแต่เดือนก.ย. หลังจากเพิ่งออกกฎจัดเก็บ VAT จากบริษัทต่างชาติ 6 แห่ง ได้แก่ Amazon Web Services, Netflix, Spotify, Google Asia Pacific, Google Ireland และ Google LLC เริ่มเมื่อเดือนส.ค.

10 บริษัทเพิ่มเติมที่จะต้องจ่าย VAT ได้แก่ Apple Distribution International, Amazon.com Services, Alexa Internet, Audible Inc, Audible Ltd, Facebook Ireland, Facebook Technologies International, Facebook Payment International, Walt Disney Company Southeast Asia และ TikTok

การเคลื่อนไหวล่าสุดทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติที่ถูกเก็บ VAT มีจำนวน 16 แห่ง โดยในรายชื่อใหม่นี้รวมถึงหน่วยงานของเฟซบุ๊ก 3 แห่งและบรรดาบริษัทลูกของแอมะซอน อย่าง Audible กับ Alexa

โฆษกกรมสรรพากรระบุว่า จะเดินหน้าค้นหาและแจ้งบริษัทดิจิทัลต่างชาติที่ดำเนินงานในอินโดนีเซียให้ทราบ โดยหวังว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีจากบริษัทอื่นได้มากขึ้นเร็วๆ นี้ พร้อมเสริมว่าบริษัทเทคโนโลยีที่มียอดขายปีละ 600 ล้านรูเปียะห์ (ประมาณ 1,200,000 บาท) ควรไปแสดงตัวต่อกรมสรรพากร

โฆษกกล่าวว่าการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นความพยายามส่วนหนึ่งของรัฐบาลในการสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกธุรกิจที่ดำเนินงานในอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทท้องถิ่นหรือต่างชาติ บริษัททั่วไปหรือดิจิทัล

ขณะเดียวกัน รัฐบาลพยายามจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม หลังจากขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 6.34% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เนื่องจากโควิด-19 กระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจ การตัดสินใจเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทเทคโนโลยีที่มีการดำเนินงานในประเทศ มีขึ้นในช่วงที่ผู้คนหันไปชอปปิง ทำงาน และเรียนทางออนไลน์มากขึ้น

 

ทั้งนี้ กฎใหม่ของอินโดนีเซียระบุว่า บริษัทต่างชาติที่ขายผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลในอินโดนีเซีย มูลค่าอย่างน้อยปีละ 600 ล้านรูเปียะห์ หรือมีแทรฟฟิกจากยูสเซอร์อย่างน้อย 12,000 ยูสเซอร์ต่อปี จะต้องจ่าย VAT 10%

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบรรดายักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ต เพราะองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ยังตกลงกันไม่ได้ว่าควรจัดเก็บภาษีอย่างไร

เป็นที่เข้าใจกันว่าการถูกเก็บ VAT 10% จะกระทบต่อกำไรของบริษัทเหล่านี้ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการส่งต่อภาระดังกล่าวให้แก่ผู้บริโภคในรูปของการปรับขึ้นราคาสำหรับสินค้าและบริการหรือไม่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0