โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“สวดมนต์” อาการเสื่อมถอยของพุทธศาสนา

สยามรัฐ

อัพเดต 14 ส.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • สยามรัฐออนไลน์
“สวดมนต์” อาการเสื่อมถอยของพุทธศาสนา

คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น

มีชาวพุทธเป็นจำนวนมาก หันมาเอาดีทาง “สวดมนต์” แม้แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ดูเหมือนจะเห็นการสวดมนต์เป็นกิจกรรมที่ดี ได้มีการปลูกฝังการสวดมนต์ตั้งแต่ที่หน้าเสาธงของเด็กๆทุกเช้า และพระสงฆ์ก็มีการสวดมนต์ในการ “ทำวัตรเช้า-ค่ำ”

ก่อนนอน พ่อแม่ก็มักจะสอนลูกหลานให้ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน

ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่มีพิธีสงฆ์เป็นด้านหลัก ก็มีการสวดมนต์ (“สวดมนต์” ใช้กับงานอวมงคล ถ้าเป็นงานมงคลใช้คำว่า “เจริญพระพุทธมนต์”)

กลายเป็นว่า ทุกงานพิธีของพุทธศาสนา จะขาดการสวดมนต์ไม่ได้เลย

การสวดมนต์ของพระสงฆ์ไทย มีจังหวะจะโคนเป็นท่วงทำนองพร้อมเพรียงกัน ฟังไพเราะ ต่างจากการสวดมนต์ในหลายประเทศที่ต่างคนต่างสวด ไม่พร้อมเพรียงกัน

สมัยผมเป็นพระภิกษุ จำได้ว่า ไม่มีการสวดให้พรหลังรับบิณฑบาต คือรับบิณฑบาตแล้ว พระสงฆ์(และสามเณร) ก็เดินจากไปเฉยๆ ระยะหลังมานี้(ไม่รู้ว่าเริ่มเมื่อไร) พระเณรมีการสวดยถาสัพพี (ให้พร) แก่ญาติโยมผู้ใส่บาตร(ตักบาตรนั่นแหละ)ด้วย

เมื่อเห็นคำสั่งของมหาเถรสมาคมเรื่องไม่ให้พระเณรสวดให้พรหลังรับบิณฑบาต ก็เลยนึกได้ว่า แต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยมีการสวดให้พรหลังรับบิณฑบาต เมื่อมีคำสั่งอย่างนั้น ก็เห็นเป็นเรื่องแปลก(ทั้งๆที่เป็นธรรมเนียมนิยมมาแต่ไหนแต่ไรว่าไม่มีการสวดให้พรแก่ญาติโยมหลังรับบิณฑบาต)

นานเข้าก็กลายเป็นธรรมเนียมว่า เมื่อใส่บาตรแล้วโยมต้องประนมมือคอยรับพรจากพระเณร โยมบางคนถึงกับทวงคำพรจากพระเณร ต้องได้รับพรก่อนจึงถือว่าได้ใส่บาตรแล้ว เมื่อครั้งในหลวง ร.9 ทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศ ตอนเช้าเสด็จออกบิณฑบาต ก็ไม่ปรากฏว่า ทรงสวดยถาสัพพีแก่ผู้ถวายบิณฑบาตแต่อย่างใด

เคยเห็น “สมเด็จพระญาณสังวรฯ” ทรงบิณฑบาตแถวๆบางลำพู(ใกล้วัดบวรนิเวศ) ก็ไม่เคยเห็นว่าทรงสวดให้พรแก่ญาติโยมแม้แต่ครั้งเดียว

ก็เลยคิดว่า ธรรมเนียมการสวดให้พรหลังรับบิณฑบาตน่าจะเพิ่งมีเมื่อไม่กี่ปีมานี้ (และคงจะเป็นที่นิยม จนกลายเป็นธรรมเนียมนิยมในที่สุด)

ที่ซอยที่ผมอยู่อาศัย มักจะได้ยินเสียงสวดให้พรจากหลวงตารูปหนึ่ง ท่านสวดเสียงดังมาก ได้ยินกันทั้งซอย และปรากฏว่า มีญาติโยมนิยมใส่บาตรกับท่านมากขึ้นทุกวัน แสดงว่าคำสวดให้พรของท่านได้ผล เรียกศรัทธาให้คนออกมาใส่บาตรมากขึ้น

แต่จำได้ว่า พระพุทธเจ้าเคยห้ามพระสงฆ์ “ให้พร” เพราะการให้พร เป็นอาการประจบประแจงอย่างหนึ่ง และเป็นการขัดกับคำสอนเรื่อง “กรรม” ของพระพุทธเจ้าที่สอนว่า คนเราจะเจริญหรือเสื่อมเป็นเพราะการกระทำ(กรรม) ของตน พรใดๆก็บันดาลให้เกิดความเจริญและความเสื่อมได้

ในทางพุทธศาสนา ถ้าจะมีการสวดของพระสงฆ์ ก็เป็นการ “สาธยาย” ซึ่งเป็นการทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่การ “สวดมนต์” อย่างที่ฝรั่งใช้คำว่า pray

เมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ พระพุทธเจ้านำหลักธรรม “ปฏิจจสมุปบาท” ขึ้นสาธยาย (เหมือนสวดทบทวน) แต่นั่นก็ไม่ใช่การสวดมนต์ แต่เป็นการทบทวนหลักธรรม “ปฏิจจสมุปบาท” ที่ทรงพิจารณาเห็นต่างหาก

บทสวดมนต์ที่พระสงฆ์ใช้สวดในพิธีต่างๆ ล้วนแต่หรือส่วนมากเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

แม้แต่บทสวด “พาหุง” (หรือ “ชัยมงคลคาถา”) ก็เป็นเรื่องราวในพุทธประวัติตอนหนึ่ง ที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้ามีชัยชนะอะไรบ้าง เพื่อจะบอกว่า พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญบารมี(ทำกรรม) อะไรบ้าง จึงส่งผลให้พระองค์มีชัยชนะอย่างไร พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า พระองค์จะไม่มีใครปลงพระชนม์ได้ (จะไม่สิ้นพระชนม์ด้วยอาวุธใดๆ) เพราะในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ไม่เคยทำร้ายใครๆ นั่นเอง

เมื่อคุณสนธิ ลิ้มทองกุล รอดตายจากการถูกยิงถล่มที่บางขุนพรหมคราวนั้น ท่านบอกว่าได้แขวนพระ(หลวงพ่อ,หลวงตา) องค์นั้นองค์นี้ แต่ท่านก็บอกว่าคุณแคล้ว ธนิกุล แขวนพระสมเด็จฯ ราคาเป็นสิบๆล้าน ก็ต้องถูกยิงตาย พระสมเด็จฯในคอช่วยอะไรไม่ได้ เพราะกรรมมาถึง

อยากจะบอกว่า คุณสนธิ ลิ้มทองกุล รอดตายคราวนั้น ก็ไม่ใช่เพราะ “หลวงพ่อ,หลวงตา” ใดๆ ช่วยท่านไว้หรอกเป็นเพราะ “กรรม” ต่างหาก แต่กรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นกรรมในสังสารวัฏฏ์ (ไม่รู้ว่าเป็นกรรมแต่ปางไหน) คงเป็นเพราะว่าคุณสนธิ ไม่มีกรรมชนิดถูกฆ่าด้วยอาวุธมากกว่า

เรื่อง “ผลของกรรม” (กัมมวิบาก) เป็น “อจินไตย” อย่างหนึ่ง เกินกว่าจะนึกคิดเอาได้

ถ้าของขลังและการสวดมนต์สามารถบันดาลผลต่างๆได้ตามที่ปรารถนา เรื่อง “กรรม” ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ก็คงไม่มีความหมาย

ขึ้นหัวเรื่องว่า “สวดมนต์ อาการเสื่อมถอยของพุทธศาสนา” วันนี้ เพื่อเตือนสติชาวพุทธว่า การสวดมนต์ อาจจะเป็นเรื่องดี แต่พระพุทธเจ้าไม่ยกย่อง “พิธีกรรม” ต่างๆ ซึ่งน่าคิดว่าความหมายในคำสวดของศาสนาต่างๆนั้น ล้วนแต่เป็นการอ้อนวอนขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลโชคลาภและความสวัสดีทั้งสิ้น แต่ในบทสวดของพระสงฆ์ในพุทธศาสนามีแต่คำสอนที่สัมพันธ์กับเรื่องกรรม พระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลอาจจะมีการ “สาธยาย” บ้างแต่ก็เพื่อการพิจารณาธรรม (คำสอน) ในบทสวดนั้นๆ เท่านั้น

การสาธยาย(ท่องบ่นคำสอน) กับการสวดมนต์ (pray)ต่างกัน แม้แต่บทสวดที่พระสงฆ์นำมาสวดอย่าง “ขันธปริตต์” และ “เมตตสูตร” หรือบทสวด กรณีฯซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่สวดเพื่อขับไล่หรือป้องกันภัยอันตรายใดๆ ในทางศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นคำสอนให้พระสงฆ์มีเมตตาจิตทั้งสิ้น

เข้าใจว่า การสวดมนต์คงได้แบบอย่างมาจากการสวด “พระเวท” ของศาสนาพราหมณ์ในยุคเสื่อมถอยแล้ว

(ใช้คำว่า “เสื่อมถอย” เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า “เสื่อม” ซึ่งมีผู้ทักท้วงว่า คำสอนทางศาสนาหรือธรรมะไม่มีการเสื่อม มีแต่คนเท่านั้นแหละที่เสื่อม!)

อันที่จริง การสวดมนต์เป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับพุทธศาสนา การสวดมนต์อาจจะเป็นความงมงายก็ได้ ถ้าเป็นการสวดเพื่อความศักดิ์สิทธิ์หรือเพื่อความขลัง หรือเพื่อการอ้อนวอนขอฤทธิ์อำนาจจากพระพุทธเจ้า-พระธรรม หรือแม้แต่จากพระสงฆ์ (หลวงปู่,หลวงพ่อ,หลวงตา)

บางสำนักหรือบางวัด จึงพยายามให้มีคำแปลในแต่ละบทสวดด้วย เพื่อให้ผู้สวดและผู้ฟังรู้ความหมายของคำสวดมนต์ แต่ก็ดูเหมือนว่า การสวดมนต์ของชาวพุทธ มุ่งเพื่อความขลัง-ความศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อขออ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามศาสนาอื่นๆ มากขึ้น-มากขึ้น

การสวดมนต์ก็เลยทำให้ชาวพุทธลืมคำสอนของพระพุทธเจ้า คือคำสอนเรื่อง “กรรม” โดยสิ้นเชิง แม้แต่คนระดับ “ปัญญาชน” ของสังคมก็ลืมเรื่องกรรม หันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆกันมากขึ้น

แม้แต่คำว่า “พุทโธ” ที่พระสายกรรมฐานใช้บริกรรมเพื่อกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ก็เท่ากับเป็นบทสวด ทั้งๆที่คำว่า “พุทโธ” ไม่มีในวิธีอานาปานสติในพุทธวจน (มีแต่การให้กำหนดลมหายใจยาวและสั้น เข้าและออกเท่านั้น)

อย่างไรก็ตาม การบริกรรม(สวด) ว่า “พุทโธ” ก็เป็นอุบายที่ดี แต่ก็จะเป็นความงมงายเมื่อยึดถือ (เชื่อ) ตามๆกัน เหมือนการสวดมนต์นั่นเอง

อยากจะให้ชาวพุทธหันมาหาความหมายของบทสวดมนต์ ซึ่งล้วนแต่สอนเรื่อง “กรรม” ให้คนเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมันในการกระทำ (กรรม) ของตัวเองให้มากขึ้น

แม้แต่คำว่า “พรหมจรรย์” ที่พระพุทธเจ้าเอาคำสอนในยุคสมัยมาใช้ ก็ไม่ใช่พรหมจรรย์อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน แต่หมายถึงอริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเริ่มตั้งแต่การมีความคิดเห็น (ทิฏฐิ หรือ ศรัทธา) ที่ถูกต้อง จนถึงการมีสมาธิและปัญญา (อันเกิดจากศีลหรือความประพฤติที่ถูกต้อง) ไม่ใช่แค่การบวชนุ่งห่มจีวรอย่างพระสงฆ์เท่านั้น

เมื่อความงมงายมีอยู่ในการสวดมนต์ การกระทำต่างๆก็ค่อยๆ เป็นไปตามกัน แม้แต่การบวช ก็มีพิธีกรรมบวชเพื่อสะเดาะห์เคราะห์ต่างๆแล้ว อย่างที่ทุกวันนี้มีการบวช 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน เป็นต้น อันเป็นการบวชชั่วคราว ก็ดูเหมือนจะเป็นความเชื่ออย่างการสวดมนต์นั่นเอง แท้จริงแล้ว การบวชเป็นการประพฤติเพื่อตัวเองทั้งสิ้น จึงมีคำว่า “เพื่อนิพพาน” คือเพื่อดับทุกข์(การเกิด,การแก่,การตาย) ของตัวเองทั้งสิ้น

ได้ฟังคนระดับ “ปัญญาชน” แนะนำให้คนนั้นคนนี้บวชเพื่อจะได้หมดเวรหมดภัย หรือสิ้นเคราะห์ ให้ชีวิตดีขึ้น ก็รู้สึกไม่สบายใจ เช่นเดียวกับการสวดมนต์ ที่กลบเกลื่อนคำสอนของพระพุทธเจ้า (เรื่องกรรม) โดยสิ้นเชิง

ความเชื่อแบบการสวดมนต์ มีหลายอย่าง แม้แต่การร้องเพลงชาติที่หน้าเสาธง ดั้งเดิมก็เพื่อให้เกิดความสามัคคี ความรักชาติเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ปรากฏว่า นานไปการร้องเพลงชาติก็กลายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ไปถึงผืนผ้าที่สมมติว่าเป็น “ธงชาติ” ในที่สุด

แล้ววันหนึ่ง ก็เห็นธงชาติเป็น “สถาบัน” อันศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง และใช้แบ่งแยก สร้างความแตกแยก แตกสามัคคี จนได้ ทั้งๆที่แก่นสารของเพลงชาติ ล้วนแต่เป็นการสร้างจิตสำนึกให้คนเรารักกัน สามัคคีกัน ทั้งสิ้น

อยากให้การสวดมนต์ของชาวพุทธไม่เป็นความงมงาย บดบังคำสอนเรื่อง “กรรม” ของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะสายเกินไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0