โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“รำวง” อาวุธของจอมพล ป. ที่ใช้รับมือญี่ปุ่น สู่ภาคปฏิบัติ หยุดราชการครึ่งวันมารำวง?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 23 เม.ย. 2566 เวลา 01.54 น. • เผยแพร่ 23 เม.ย. 2566 เวลา 01.41 น.
ภาพปก-รำวง
“รำวง” ปรับปรุงมาจาก “รำโทน”

“รำวง” อาวุธของจอมพล ป. ที่ใช้รับมือญี่ปุ่น สู่ภาคปฏิบัติ หยุดราชการครึ่งวันมารำวง?

ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484-2488) ทำให้ประเทศไทยข้าวยากหมากแพง สับสน และกำลังเผชิญหน้าอยู่กับการคุกคามทั้งทางแสนยานุภาพและวัฒนธรรม รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งได้เตรียมตัวรับมือกับภาวะเช่นนี้มาก่อนแล้ว ด้วยการประกาศการเตรียมพร้อมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม การค้า ตลอดจนความเป็นอยู่แบบ “พอเพียง” รวมไปถึงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขนานใหญ่ เพื่อสร้างกำหนดเกณฑ์ให้ข้าราชการ และประชาชนถือปฏิบัติอย่างมีแบบแผน ตั้งแต่การ สวมหมวก สวมเกือก และการใช้ภาษา

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้คนในชาติดูมีอารยธรรม ไม่แตกต่างไปจากการปฏิวัติวัฒนธรรมในสมัยของรัชกาลที่ 5 เท่าใดนัก

แต่ดูเหมือนจะมีสิ่งหนึ่งที่แปลกแยกออกมา จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าท่านผู้นำกำหนดขึ้นมาทำไมคือ “รำวง” ทั้งที่ดูจะไม่ไปในยุคนั้น ซึ่งประชาชนทั้งอดอยาก ทั้งเครียด ทั้งยังต้องคอบหลบระเบิดที่มาทักทายอยู่เสมอๆ ญี่ปุ่นเองก็เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด นี่เองที่ทำให้ประชาชนหันมาคลายเครียดกันด้วยการ “รำโทน”

ท่านผู้นำจอมพล ป.พิบูลสงคราม อาศัยแนวคิดที่ว่า เมื่อแสนยานุภาพสู้ไม่ได้ ก็ต้องสู้กันด้วยวัฒนธรรม จึงกำหนดให้เอาการร้องรำทำเพลงในลักษณะนี้เป็นการบำรุงขวัญราษฎร เพื่อมิให้หวาดหวั่นทุกข์ร้อนจนเกินไป ผลพลอยได้ก็คือ ทำให้ญี่ปุ่นเองเห็นว่าคนไทยไม่ได้วิตกกังวลอะไรนักกับการยึดบ้านยึดเมืองในครั้งนี้ ถือเป็นการลดความตึงเตรียดให้กับทั้งสองฝ่าย

เมื่อกำหนดออกมาเป็นนโยบายแล้ว ก็ต้องทำให้เป็นแบบแผนขึ้นมา งานนี้ตกเป็นของ นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งได้เขียนบรรยายไว้ในคำนำหนังสือรำวงของกรมศิลปากร สรุปความว่า ชาวบ้านในพระนครและธนบุรีพากันนิยม “รำโทน” แต่เป็นการรำแบบชาวบ้านเอาสนุกเข้าว่า

ทางการได้มอบหมายให้กรมศิลปากรพิจารณาปรับปรุงการเล่นรำโทนเสียใหม่ในปี พ.ศ. 2487 โดยนำเอาแบบฉบับของนาฏศิลป์ไทยมาทำให้งดงามและมีแบบแผนยิ่งขึ้น เช่น สอดสร้อยมาลา ชักแป้งแต่งหน้า เป็นต้น โดยถือเอาท่าเหล่านี้เป็น “แม่ท่า” นอกจากนั้น ผู้รำสามารถดัดแปลงเอาตามถนัด แล้วเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ว่า “รำวง” เพราะผู้รำมักเล่นกันเคลื่อนไปรอบๆ เป็นวงกลม

นี่คือที่มาของการรำวงมาตรฐานที่เรารู้จักกัน

บุคคลสำคัญอีกผู้หนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการสร้างวัฒนธรรมรำวงอีกท่านก็คือ ท่านผู้หญิงละเอียด ภรรยาท่านผู้นำนั่นเอง ถึงกับแต่งเพลงรำวงไว้ไม่น้อย เพราะท่านมีฝีไม้ลายมือในการแต่งกลอน ที่ดีคนหนึ่งสมกับเป็นหนึ่งในสกุล “พันธุ์กระวี” เพลงที่เรารู้จักกันดีก็คือ ดอกไม้ของชาติ หญิงไทยใจ ดวงจันทร์วันเพ็ญ เป็นต้น เพลงที่ท่านแต่งไว้ได้รับความนิยมในหมู่นักรำเป็นอย่างมาก

แต่ที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ มือขวาทางด้านวัฒนธรรมของท่านผู้นำอย่าง หลวงวิจิตรวาทการ กลับไม่รู้จักการรำวงแม้แต่น้อย เพราะขณะที่มีนโยบายนี้ ท่านเองไปเป็นทูตอยู่ที่ญี่ปุ่น จนกระทั่งถูกอเมริกันจับ และมารู้จักการรำวงเอาในคุกที่ประเทศไทย เมื่อได้ยินนักโทษร้องรำกัน ดังปรากฏอยู่ในบันทึกของท่าน “อังคารที่ 21 มีนาคม…เมื่อคืนได้ยินเสียงร้องเพลงซึ่งแปลกหู มีเสียงกลองตีเป็นจังหวะ ถามคนเฝ้าหน้าห้องเขาบอกว่านี้คือ ‘รำวง’ เราไม่เคยรู้จักรำวง…”

เมื่อการรำวงเป็นที่นิยม ก็เท่ากับกุศโลบายของจอมพล ป. ในการบำรุงขวัญราษฎรประสบความสำเร็จ ซึ่งหน่วยงานที่สนองนโยบายเป็นอันดับแรกก็คือ หน่วยงานของรัฐ ถึงกับกำหนดให้วันพุธครึ่งวันหยุดราชการมารำวงกันเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายต่างๆ ของผู้นำในสมัยที่ชาติประสบปัญหา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และกล้ากระทำ ไม่ว่านโยบายนั้นๆ จะส่งผลเพียงน้อยนิดก็ตาม ยังดีกว่านโยบายที่สวยหรูแต่ไม่ได้ส่งผลในทางสร้างสรรค์ ให้กับประชาชนเลย โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ ซึ่งผู้นำน้อยนักจะให้ความสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “รำวงอาวุธของจอมพล ป. ที่ใช้ต่อสู้ญี่ปุ่น” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2543

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 เมษายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0